ดร.รอยล จิตรดอน ชี้คลื่นยักษ์สูง 12 เมตรจากขั้วโลกใต้เข้าไทย เผยมีข้อดี ช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อน และแก้ปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ได้ วันที่ 24 มิถุนายน 2558 ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริเวณกลางทะเลในขั้วโลกใต้เกิดคลื่นสูงขนาด 10-12 เมตร โดยคลื่นลูกดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ "ไคลเมทเชนจ์" และจากการตรวจสอบพบว่า คลื่นลูกนี้กำลังเคลื่อนที่ไปใน 2 ทิศทาง คือ
1. เคลื่อนที่อ้อมทางด้านใต้ของทวีปออสเตรเลีย แล้ววกเข้าทางมหาสมุทรแปซิฟิก
2. เคลื่อนที่มาทางมหาสมุทรอินเดีย เข้ามาทางภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยจะหอบเอาความชื้น และฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาพร้อมกัน
สำหรับลมมรสุมดังกล่าว จะเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคตะวันตก ซึ่งจะส่งผลให้ จ.ระนอง, จ.กาญจนบุรี และ จ.ตาก เกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมากติดต่อกันอีก 2-3 วัน เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ได้ ทั้งยังเป็นการบรรเทาวิกฤตภัยแล้งในหลายพื้นที่อีกด้วย
นายรอยล กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2554 ก็เคยเกิดคลื่นลูกเดียว จากแหล่งกำเนิดเดียวกันนี้ เข้ามาในประเทศไทย และได้สร้างความเสียหาย โดยทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี ซึ่งในตอนนั้นทำให้สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่ และในครั้งนี้คาดว่า จะมีฝนตกหนักอีกทีช่วงวันที่ 25 มิถุนายนเป็นต้นไป
..เมื่อถามว่า ความสูงของคลื่นที่สูงถึง 10-12 เมตร ที่เคลื่อนที่เข้าทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยนั้น จะสร้างความเสียหายมากแค่ไหน นายรอยล เปิดเผยว่า ความสูงของคลื่น 10-12 เมตรนั้น จะสูงบริเวณจุดกำเนิด คือ กลางทะเลในบริเวณขั้วโลกใต้ ยิ่งคลื่นมีความสูงมากเท่าใด ที่มีกำลังแรง และจะหอบนำเอาความชื้นมาได้เยอะ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของลมมรสุมในทิศทางที่คลื่นนั้นเคลื่อนที่ไป ซึ่งขนาดความสูงดังกล่าวนี้มีแรงส่งและพลังค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ฝั่ง ความสูงของคลื่นก็จะลดลงตามลำดับ อาจจะอยู่แต่ 2 เมตร เท่านั้น แต่อิทธิพลที่เหนี่ยวนำเอาลมมรสุมเข้ามานั้นไม่ได้ลดลงเหมือนความสูงของคลื่น
นอกจากนี้ นายรอยล ยังกกล่าวถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นว่า ปัญหาภัยแล้งหรือเรื่องของการขาดแคลนน้ำที่พบในขณะนี้ ล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทาน ซึ่งทางจากระบบชลประทานก็ต้องพึ่งพาน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ เมื่อเขื่อนไม่สามารถส่งน้ำมาให้ได้ก็ย่อมเกิดปัญหา ดังนั้น ตนจึงอยากแนะนำทุกพื้นที่การเกษตรจัดทำแหล่งน้ำสำรองเอาไว้ใช้ แทนการพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานอย่างเดียว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดน้ำและแย่งน้ำกันใช้อีก.
ขอบคุณ
http://www.108kaset.com/