ขบวนการป้องกันสนิม ทั้งคนทำรถขายและคนซื้อรถมาใช้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ไม่อยากให้รถถูกสนิมกัดกิน ทางบริษัทรถจึงสรรหาวิธีและขบวนการต่าง ๆ มาช่วยปกป้องตัวรถให้ห่างไกลจากสนิม หรือมีความสามารถในการต่อด้านสนิมได้นานที่สุด เรื่องการป้องกันสนิมถามหา ทางบริษัทผู้ผลิตรถลงทุน และลงแรงไปไม่น้อย เพื่อให้มีผลในการปกป้องสนิมสูงที่สุด ซึ่งมีวิธีการ และขั้นตอนหลายอย่าง เรื่องของรายละเอียดและเทคโนโลยีก็แตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท สำหรับส่วนใหญ่แล้วโดยทั่วไปมักจะมีขั้นตอนดังนี้
ขบวนการกำจัดสิ่งสกปรก น้ำมัน และการเคลือบสารเคมี อันดับแรกขงการป้องกันสนิมโครงสร้างตัวรถ จะต้องผ่านขบวนการกำจัดสิ่งสกปรกและน้ำมัน จากชิ้นส่วนของตัวรถ ที่มีการเคลือบสารกันสนิมมาก่อนการประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน วิธีการนั้นเค้าจะจับเอาโครงสร้างรถจุ่มลงไปในบ่อน้ำยาเคมี ซึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 35-60 องศาเซลเซียส เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกและคราบน้ำมันต่าง ๆ ออกให้หมด เพื่อให้ผิวงานมีความสะอาด มิฉะนั้นอาจสร้างปัญหาในการพ่นสีภายหลัง เช่น ทำให้สีไม่ติดผิวงานเกิดการหลุดล่อนในภายหลังได้
หลังจากชำระคราบไคล สิ่งสกปรกเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปทำความสะอาดอีกครั้งด้วยน้ำบริสุทธิ์ (DI-Water) เพื่อเป็นการล้างน้ำยาเคมีที่ติดผิวงานมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการฉีดพ่นโดยอาศัยแรงดันของน้ำช่วยขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ ออกไป
สำหรับบางบริษัทที่ต้องการให้ตัวถังมีความทนทานต่อการกัดกร่อน และป้องกันการเกิดสนิมได้ดีเป็นพิเศษ มักใช้ชิ้นส่วนที่ผ่านการชุบกัลวาไนซ์ (Electrolytically Galvanised)
การชุบฟอสเฟต ลำดับต่อไปเป็นการส่งไปชุบสารฟอสเฟต โดยเจ้าสารฟอสเฟตจะจับตัวเป็นผลึกเคลือบบนผิวเหล็กอย่างแน่นหนา เจ้าผิวผลึกฟอสเฟตเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้เนื้อสีเกาะตัวดียิ่งขึ้น และช่วยปกป้องการเกิดอ๊อกไซด์ของเหล็กหรือเกิดสนิมบนผิวเหล็ก แล้วก็ต้องส่งไปอบด้วยความร้อนอีก เพื่อกำจัดความชื้นไม่ให้หลงเหลือตกค้างอยู่ตามผิวงาน หรือซอกมุมต่าง ๆ
การชุบเคลือบด้วยกระแสไฟฟ้า เมื่อโครงสร้างตัวถังถูกชุบฟอสเฟตและไล่ความชื้นออกไปหมดแล้ว จะถูกส่งไปยังขบวนการชุบเคลือบผิวตัวถังด้วยสี โดยการจุ่มตัวถังลงในบ่อสีโดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวชักนำ จุดประสงค์เพื่อให้สีเข้าไปยืดเกาะได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นซอกเล็กมุมน้อยใด ๆ ก็ตาม อันเป็นการป้องกันการเกิดสนิมในมุมอับต่าง ๆ ซึ่งการพ่นหรือแม้แต่การจุ่มสีแบบธรรมดา สีอาจจะเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง จึงต้องอาศัยไฟฟ้าเป็นตัวชักนำแทน นอกจากนี้ยังทำให้ชั้นสีที่เคลือบทับมีความหนาสม่ำเสมอ พอเสร็จจากขบวนการจุ่มสีก็ต้องนำมาอบสีให้แห้ง
ด้วยอุณหภูมิประมาณ 150 องศาเซลเซียส สักครึ่งชั่วโมง เมื่อแห้งดีแล้วก็จะมีสีเคลือบอยู่บนโครงสร้างรถหนาประมาณ 40 ไมครอน อันเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วไป