ลักษณะงูทับสมิงคลา งูทับสมิงคลา มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Bungarus candidus มีลักษณะลำตัวค่อนข้างใหญ่ มีหัวยาวและแบน ส่วนของหัวกว้างใกล้เคียงกับลำคอ แต่มีดวงตาค่อนข้างเล็ก ตรงกลางของหลังเป็นสันไม่สูงมาก ส่วนหางจะสั้นและส่วนปลายของหางจะมีลักษณะเรียว ผิวหนังตามลำตัวมีเกล็ดปกคลุม เกล็ดบนหัวเป็นแผ่นกว้าง เกล็ดบนหลังและทางด้านบนของหางมีพื้นผิวเรียบ เกล็ดท้องขยายกว้าง เกล็ดใต้หางเป็นแถวเดี่ยว ลำตัวมีด้านบนของหัวสีดำหรือสีเทาเข้ม ขอบปากบนสีขาวแต่แผ่นเกล็ดมีขอบสีดำบนหลัง และด้านบนของหางมีปื้นใหญ่สีดำรูปอานม้าที่มีส่วนกว้างที่สุดอยู่บนหลัง และเรียวแคบลงไปทางส่วนล่างของลำตัว (หรือที่ขอบเกล็ดท้อง) ปื้นสีดำดังกล่าวนี้ที่ส่วนต้นของลำตัวยาวกว่าที่อยู่ทางด้านท้ายของลำตัว แต่ถ้ามองจากทางด้านบนของลำตัวลงไปหรือมองจากด้านข้างของลำตัวจะเป็นปล้องสีดำสลับกับปล้องสีขาว
ชาวบ้านหลายพื้นที่มีความเชื่อว่า งูสามเหลี่ยมที่มีลำตัวเป็นปล้องสีเหลืองกับสีดำเป็นงูเพศผู้ และงูทับสมิงคลาที่มีลำตัวเป็นปล้องสีขาวกับสีดำเป็นงูเพศเมีย
การแพร่กระจายพันธุ์ของงูทับสมิงคลา งูทับสมิงคลาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศเวียดนาม กัมพูชา มาเลย์เซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และในประเทศไทย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบงูทับสมิงคลาได้ทั่วทุกภาคของประเทศ
นิสัยของงูทับสมิงคลา งูทับสมิงคลาจะชอบออกหากินในเวลากลางคืน ตามพื้นล่างของป่าที่ใกล้ลำห้วยหรือในพื้นที่ห่างไกลจากลำห้วยแต่มีความชุ่มชื้น ส่วนเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้ขอนไม้หรือในโพรง
งูทับสมิงคลาเป็นงูที่มีพิษรุนแรง พิษจะทำลายระบบประสาทและระบบโลหิต มีนิสัยดุ เมื่อถูกกัดจะมีอาการชักกระตุก ปวดช่องท้อง มีเลือดออกเป็นจุด ๆ ใต้ผิวหนัง และมีเลือดออกตามไรฟัน รวมถึงไอเป็นเลือด