ปรุงแต่งใจให้เป็นสุข. . .
ความสุขของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ
ความสามารถในการปรุงแต่งสร้างสรรค์คิดค้น ซึ่งสัตว์อื่นไม่มี
การที่มนุษย์เจริญขึ้นมามีเทคโนโลยีมีสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมาย
ก็เกิดจากความสามารถของมนุษย์ในการปรุงแต่งสร้างสรรค์นี่แหละ
แต่กว่าจะออกมาเป็นวัตถุปรุงแต่งสร้างสรรค์ได้
ต้นเดิมมันมาจากไหน มันก็มาจากในใจของเรา
คือ ใจที่มีสติปัญญาเริ่มด้วยใช้ปัญญาคิดปรุงแต่งข้างในแล้ว
จึงแสดงออกมาเป็นการปรุงแต่งประดิษฐ์วัตถุ
สร้างสรรค์วัตถุข้างนอกได้จนกระทั้งเป็นคอมพิวเตอร์และดาวเทียม
ก็เกิดจากความคิดในใจเป็นจุดเริ่ม
ทีนี้ความคิดของเรานี่น่ะ
นอกจากปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุข้างนอกแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือ
ปรุงแต่งสุขปรุงแต่งทุกข์ข้างใน เราไม่รู้ตัวหรอกว่าเราใช้ความสามารถนี้ตลอดเวลา
ด้วยการปรุงแต่งความสุข และปรุงแต่งความทุกข์
จริงไหมว่าที่เราทุกข์เราสุขกันนี้ ส่วนมากเป็นสุขและทุกข์ที่เราปรุงแต่งขึ้นเอง
ไม่เหมือนกับสัตว์อื่น
บางคนมองอะไรก็น่าขำไปทั้งนั้น
บางคนมองเห็นอะไรก็รู้สึกขัดหู ดูขัดตาไปทุกอย่าง
บางคนไม่มีอะไรก็นั่งกังวลไม่สบายใจ ทุกข์ไปหมด
นี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ของการปรุงแต่งจิตใจ
เราตั้งท่าทีของจิตใจอย่างไรก็สร้างจิตใจให้เป็นอย่างนั้น สุข-ทุกข์ก็เกิดตามมา
ในชีวิตประจำวัน
เมื่อทำงานทำการ เราก็มองโลก เราก็มองคนที่พบเห็นมาหาไปหา
เช่นเป็นแพทย์เป็นพยาบาลก็มองคนไข้ไปด้วย
เราต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วไป กับผู้ร่วมงาน เราจะต้องหัดมองให้เป็น
อย่ามองในแง่ที่กระทบหูกระทบตา
วิธีมองให้ไม่เกิดโทษมีหลายอย่าง
อย่างน้อยก็ควรมองเห็นว่าเป็นประสบการณ์แปลก ๆ
ในวันหนึ่ง ๆ เราพบเห็นผู้มีกิริยาอาการต่างๆ มากมาย
คนนั้นลักษณะอย่างนั้น คนนี้ลักษณะอย่างนี้
เราก็มองในแง่ที่ว่า เป็นสิ่งที่ได้รู้ได้เห็น เป็นประสบการณ์
หลากหลาย เป็นข้อมูลความรู้ อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์
เราอาจจะสบายใจหรือพอใจว่านี่เราได้รู้เห็นรู้จักโลกมากขึ้น โลกเป็นอย่างนี้
เมื่อเราทำใจอย่างนี้ สิ่งที่พบเห็นก็ไม่กระทบหูไม่กระทบตา ไม่กระทบใจ
เราก็สบายใจ แต่ไม่แค่นั้น ยังดีกว่านั้นอีกคือเราได้ความรู้ด้วย
สนับสนุนข้อคิดนานาสาระโดย: โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
บทความเต็ม ๆ เชิญอ่านได้ที่
http://variety.teenee.com/foodforbrain/3382.html