“วิทยาลัยเท้าเปล่า”เพื่อคนยากจนในอินเดียสอนชาวบ้านผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำแก้ปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้
ประเทศอินเดียยังคงขึ้นชื่อในเรื่องของการผลิตสิ่งของย่อขนาดและมีราคาถูก
รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ ล่าสุดพวกเขากำลังให้ความสนใจไปที่การใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำ
และชาวบ้านที่ยากจนสามารถเข้าถึงและผลิตเองได้
ด้วยการเรียนรู้จากการศึกษานอกโรงเรียนที่เรียกว่าวิทยาลัยเท้าเปล่า
โดย Raymond Thibodeaux / Pinitkarn Tulachom | Rajasthan,India /Washington DC
วันอังคาร, 26 ตุลาคม 2010
เสียงอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับบัดกรีและเชื่อมสายไฟ
ที่ห้องฝึกงานเพื่อผลิตแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell
ในหมู่บ้านทิโลนิยา หมู่บ้านเล็กๆ แถบชนบทของรัฐราชสถาน (Rajastan) ประเทศอินเดีย
เทนซิง ชอนซอม (Tenzing Chonzom) เป็นหนึ่งในนักเรียน 24 คนของหลักสูตรปฏิบัติการนี้
ฝึกเชื่อมสายไฟจากแผงรับพลังงานแสงทิตย์เข้าเครื่องควบคุมพลังงานไฟฟ้า
จนทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานได้เป็นผลสำเร็จ
คุณชอนซอม วัย 50 ปี บอกว่า เธอเป็นตัวแทนของชุมชนที่เธออาศัยในแถบเชิงเขาหิมาลัย
เพื่อมาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
และนำความรู้กลับไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพราะมีผู้คนจำนวนมากในหมู่บ้านของเธอที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
หลักสูตรนี้เริ่มต้นมากว่า 25 ปี โดย สันจิต บังเคอร์ รอย (Sanjit Bunker Roy) วิศวกรชาวอินเดีย
ที่เปิดให้ความรู้สำหรับชาวบ้านในแถบชนบทของอินเดียซึ่งส่วนใหญ่ไร้การศึกษา
จนได้ชื่อว่าเป็น Barefoot College หรือวิทยาลัยเท้าเปล่า
สอนด้านวิศวกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยต้นทุนต่ำสำหรับคนยากจนในอินเดีย
โดยใช้หลักการลดความซับซ้อนของเทคโนโลยีลงไปในระดับที่ชาวบ้านสามารถเรียนรู้
และจัดการได้ด้วยสิ่งที่พวกเขามีอยู่
วิศวกรชาวอินเดีย ที่เป็นสุดยอดหนึ่งใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์ประจำปีนี้ บอกว่า
เทคโนโลยีพลังงานแสดงอาทิตย์มีความสำคัญมากสำหรับกลุ่มคนรากหญ้าในอินเดียเพราะส่วนมากยังไม่มีไฟฟ้าใช้
ส่วนการขอความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกก็ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นเขาจึงอยากหันมาพึ่งตัวเองเพื่อสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่นและแก้ปัญหาแบบชาวบ้านด้วยการเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆในชีวิตประจำวัน
จนค้นพบว่าชาวบ้านสามารถจัดการและซ่อมแซมสิ่งของต่างๆด้วยตัวเองได้
ด้วยทักษะที่มีอยู่ในตัวเองอย่างน่าทึ่งแม้จะไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อนก็ตาม
คุณรอยยกตัวอย่างคุณสีดา เทวี (Sita Devi) คุณแม่ลูกสอง วัย 30 ปี
ที่มีความรู้เพียงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เคยมาเรียนที่ BareFoot College
และช่วยออกแบบและสร้างเครื่องทำอาหารด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จนเป็นผลสำเร็จ
หรือที่เรียกว่า Solar Tracker ที่ผลิตจากโซ่ล้อรถจักรยานเก่าๆ สปริง
และก้อนหิน ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนจานรับแสดงอาทิตย์ให้ติดตามวงโคจรดวงอาทิตย์
ตลอดทั้งวันเพื่อรับความร้อนจากแสงแดดไปปรุงอาหาร
คุณสีดา เทวี เจ้าของผลงานเครื่องปรุงอาหารพลังงานแสงอาทิตย์
บอกว่าเธอใช้วัสดุที่หาได้ง่ายมาใช้ผลิตนี้ เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกหมู่บ้าน
นอกจากนี้ยังประหยัดเวลา รักษาสิ่งแวดล้อม
ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้แม่บ้านอย่างพวกเธอไม่จำเป็นต้องออกไปหาฟืนมาเป็นเชื้อเพลิงอีกต่อไป
พวกเขายังแต่งเพลงในภาษาฮินดู ที่แปลว่า เพลงแห่งแสงอาทิตย์ หรือ Solar Song ที่คุณเทวี
และกลุ่มผู้หญิงแห่ง คณะวิศวกรรมคนเท้าเปล่า
ช่วยกันร้องเพื่อบรรยายสรรพคุณเจ้าเครื่องทำอาหารจากพลังงานแสดงอาทิตย์ของพวกเธออีกด้วย
คุณรอย เจ้าของหลักสูตรวิทยาลัยคนเท้าเปล่า บอกในท้ายที่สุดว่า
จริงๆแล้วเป้าหมายในหลักสูตรของเขาก็แค่เพียงต้องการเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงในชนบทได้มีความมั่นใจในตัวเองให้มากขึ้น
และจนถึงทุกวันนี้กลุ่มวิศวกรเท้าเปล่าของเขาก็สามารถนำกระแสไฟฟ้าให้เข้าถึงหมู่บ้านกว่า 450 แห่งทั่วประเทศอินเดียได้จนเป็นผลสำเร็จแล้ว
ที่มา :
http://www.voanews.com/thai/news/india-low-cost-technology-105834913.html