ดูที่นี่นะครับ..
http://gotoknow.org/blog/wangyai1/185829การเพาะเห็ดฟาง สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การเพาะแบบกองเตี้ย การเพาะในถุง การเพาะแบบโรงเรือนอบไอน้ำ แล้วแต่สภาพความพร้อมของพื้นที่และความพร้อมของเกษตรกรผู้เพาะวัสดุที่ใช้เพาะ ก็สามารถใช้ได้หลากหลายอย่าง ตามที่มีในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา ต้นกล้วยแห้ง ใส่นุ่น เปลือกถั่ว หรือกากมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า สร้างอาหารในครอบครัว สร้างงาน สร้างรายได้เสริม ในช่วงว่างจากฤดูการทำนา และวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดก็สามารถนำกลับลงในแปลงนาเพื่อบำรุงดิน หรือทำเป็นปุ๋ยหมักใส่พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น ก็ได้
การเพาะเห็ดในตะกร้า เป็นรูปแบบการเพาะเห็ดฟางอีกแบบหนึ่งที่ทำได้ง่าย ใช้พื้นที่น้อยขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทุกครัวเรือนสามารถทำได้เพื่อบริโภคในครัวเรือน ดอกเห็ดสามารถทยอยออกได้เรื่อยๆ เป็นการลดรายจ่ายด้านอาหารในครัวเรือน และสามารถทำเป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย วัสดุที่ใช้เพาะก็สามารถใช้วัสดุเศษเหลือในไร่นาได้เกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดฟางแบบอื่นๆ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ สามารถนำก้อนเชื้อเห็ดถุงที่เก็บดอกหมดแล้วทั้งเห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม มาเป็นวัสดุเพาะได้อีกด้วย
วัสดุอุปกรณ์
1. ตะกร้าไม้ไผ่ หรือตะกร้าพลาสติก ขนาดกว้างประมาณ 12 นิ้ว สูง 14 นิ้ว มีตาห่างประมาณ 2x2
ตะกร้าพลาสติก
2. เชื้อเห็ดฟางที่พร้อมเพาะ
3. ฟางข้าว , กากมันสำปะหลัง , ก้อนเชื้อเห็ดเก่า ฯลฯ
ฟางข้าว ก้อนเชื้อเห็ดเก่า
4. อาหารเสริม เช่น ปุ๋ยหมัก มูลสัตว์แห้ง ผักตบชวาหั่นสด ละอองข้าว ฯลฯ
มูลสัตว์เเห้ง ผักตบชวาหั่นสด
5. ท่อนไม้หรือท่อนกล้วยสำหรับรองก้นตะกร้า
ท่อนกล้วย
6. โครงไม้ไผ่แบบสุ่ม
7. ผ้าพลาสติกคุมสุ่ม
วิธีการเพาะ
1. เพาะจากตอซังข้าว หรือกากดินมันสำปะหลังให้สับฟางขนาดยาวประมาณ 4 นิ้ว หมักกับปุ๋ยคอกแห้งหรือปุ๋ยหมักอัตราฟางหรือกากมัน 40 กิโลกรัม ต่อปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม รดน้ำพอชุ่มใช้พลาสติกคลุมไว้ 1 วัน
หลังจากนั้นนำฟางหรือกากมันที่หมักมาบรรจุในตะกร้าเป็นชิ้นๆ สูงชิ้นละ 3 นิ้ว กดพอแน่นใส่อาหารเสริมพวกผักตบชวาสดสับบางๆ โรยเชื้อเห็ดทับ รดน้ำพอชุม ทำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เหมือนชั้นที่ 1 แต่ชั้นที่ 3 ให้ใช้ฟางทับบางๆ ประมาณ 1 นิ้ว หลังทำถึงชั้นที่ 3 จะเหลือปากตะกร้าไว้ประมาณ 3 นิ้ว
2. ถ้าเพาะจากก้อนเชื้อเห็ดถุงเก่าที่เก็บดอกหมดแล้วสามารถนำมาเพาะได้เลยโดยเทก้อนเชื้อเห็ดเก่าออกจากถุง ขยี้ให้แตกบางส่วนอัดลงในตะกร้าหนาชิ้นละ 3 นิ้ว ใส่อาหารเสริมพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือผักตบชวาสับชิ้นละ 1-2 กำมือ โรยเชื้อเห็ดฟาง รดน้ำพอชุมแล้วทำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ต่อไปเหมือนกัน โดยชั้นที่ 3 ให้เหลือช่องว่างของตะกร้าจากปากไว้ 3 นิ้ว
การดูแล
1. หลังจากบรรจุวัสดุเพาะเห็ดเรียบร้อยให้นำตะกร้าเห็ดที่ได้ไปวางไว้ตามร่มไม้ชายคา ที่แสงแดดเล็กน้อยโดยเอาท่อนไม้ หรือท่อนต้นกล้วยผ่าครึ่งวางรองด้านล่างกันปลวก โดยการเพาะ 1 สุ่ม ควรใช้ตะกร้า 4 ใบ วางด้านล่าง 3 ใบ ซ้อนด้านบน 1 ใบ
2. ใช้สุ่มครอบ คลุมด้วยพลาสติก ใช้ดินทับรอบพลาสติก
3. ถ้าแห้งรดน้ำรอบๆ สุ่มให้มีความชื้น
4. ได้ 4 วัน เปิดพลาสติกคลุมตอนเช้า หรือเย็นเพื่อให้เชื้อเห็ดรับอากาศ ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วปิดไว้ตามเดิม
5. พอวันที่ 9 – 12 ดอกเห็ดฟางก็จะเกิด สามารถเก็บไปประกอบอาหารได้ ถ้าทำจำนวนมากหลายสุ่มจะเหลือ
จำหน่ายเสริมรายได้ด้วย
6. ดอกเห็ดฟางในตะกร้าสามารถเก็บได้เรื่อยๆ จนหมดรุ่น สามารถเปิดพลาสติกรดน้ำให้เปียกเอารุ่นที่ 2 ได้อีก
7. พอดอกหมด นำวัสดุที่เหลือไปใส่ไม้ผล ผัก หรือใส่แปลงนาได้อย่างดี
8. ล้างตะกร้าให้สะอาดตากแดด 1-2 แดด นำมาเพาะรุ่นต่อไปได้
เรียบเรียงโดย
นายขัญติภาณ ศรีใส นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร