พลิกใจ กับ คุณประยงค์ รณรงค์
คนส่วนใหญ่ถูกความจำเป็นเฉพาะหน้าดึงความสนใจไปหมดสิ้น เมื่อบรรลุถึงเป้าหมายของความจำเป็นหนึ่งแล้ว ก็มีความจำเป็นใหม่ๆ เข้ามาแทนอีก บางทีเข้ามาพร้อมๆ กันหลายความจำเป็น ชีวิตจึงมัวแต่ขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ไม่บรรลุความจำเป็น
บางคนจึงแทบไม่มีเวลาถามตัวเองเลยว่า เรากำลังหาอะไรให้กับชีวิต หรือชิวิตของเรามีเป้าหมายอันใด
อ่านพบความคิดเห็นสั้นๆ ของ คุณประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งชุมชนไม้เรียง ในบันทึกตามรอยพ่อ ซึ่งจัดทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี สะกิดใจให้คิดตั้งแต่การพบความหมายของชีวิต และการบรรลุเป้าหมายนั้น คุณประยงค์เล่าว่า เมื่อตนได้รับความรู้จากพระราชดำรัสต่างๆ จึงเริ่มวางแผนชีวิตตนเองจากเป็นที่พึ่งลูก ก็เปลี่ยนเป็นขอพึ่งลูก
...พึ่งลูก ขอเป็นที่ปรึกษาให้ลูก และเวลาที่เหลือจะขอตอบแทนคุณแผ่นดิน
เมื่อจัดการชีวิตตัวเองและครอบครัวให้เกิดความมั่นคงพออยู่พอกินได้แล้ว ความคิดเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ไม่มี ไม่มีความหวังอะไรเป็นของตนเอง ความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินจึงปรากฏเป็นความคิดที่พอจับต้องได้ว่า จะทำอะไรที่เกิดประโยชน์แก่คนอื่น ครอบครัวของคนรอบข้าง จะทำอย่างไรให้เขาพออยู่พอกินได้
...ผมเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา จะไปสอนใครๆ ก็คงยาก...
เกิดอุปสรรคขึ้นทันที เพียงแค่คิดจะทำ แต่ด้วยเพราะเฝ้าติดตามเรียนรู้จากพระราชภารกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำ คุณประยงค์จึงเห็นว่า ศูนย์ฯ ต่างๆ ของในหลวงนั้น ให้การศึกษาเรียนรู้แก่ชุมชนเป็นสำคัญ
ความรู้นี้ นำไปสู่การตั้งศูนย์ไม้เรียงขึ้น เอาชาวบ้านเข้ามาร่วมให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ กำหนดเรื่องที่จะทำร่วมกันของชุมชน กำหนดอะไรเป็นเรื่องหลัก อะไรเป็นเรื่องรอง ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าเขาจะแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเองอย่างไร
...เราให้มีความหลากหลายในการแก้ไขปัญหา มันคือภูมิคุ้มกัน คนก็เลยไม่กลัวปัญหา
เมื่อชาวบ้านพบว่าหนทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อยู่ในตัวของพวกเขากันเอง มันอยู่ในชุมชนของเขานี่แหละ เมื่อมีเวที มีสถานที่ให้ขุดค้นเอาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว มันแก้ไขปัญหาให้เขาได้ด้วย จึงเกิดความเชื่อมั่น ถักทอเป็นถูมิคุ้มกันให้ตนเองได้
เมื่อเราเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้เราพร้อม มีหลัก มีฐาน เราจัดการทรัพยากรของเราได้ด้วย เรามาตั้งชื่อใหม่ วิสาหกิจชุมชน เป็นการร่วมมือกันของชุมชน ร่วมกันแก้ไขปัญหา ร่วมกันพัฒนา เราใช้ทุนในชุมชนทั้งทุนผลิต ทุนสังคม ...อยู่รอดได้"
...ผมว่า เศรษฐกิจพอเพียง เหมาะกับทุกอาชีพ ต้องไม่มีหนี้สิน จะได้ไม่อ่อนแอ นี่คือ ความเข้าใจของผม
คุณประยงค์ รณรงค์ ผู้นำชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช นำพาชาวบ้านลุกขึ้นจัดการปัญหาตนเอง จนชุมชนไม้เรียงกลายเป็นชุมชนต้นแบบของการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง และแก้ปัญหาโดยไม่ใช้เงินนำหน้า
ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน กระทั่งได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน เมื่อปี พ.ศ.2547
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของวารสารจดหมายข่าว รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียงและ วิชาการ.คอม
http://www.pttplc.com/TH/Default.aspx