ศึกษา 'ไม้ตะกู' ก่อนปลูก
"ตะกู” ไม้เศรษฐกิจที่ถูกนำมาโฆษณาชวนเชื่อ และมีเกษตรกรลงทุนปลูกเพื่อการค้าไปแล้วกว่า 3 หมื่นไร่โดยไม่ได้ศึกษาถึงคุณสมบัติทางกายภาพ เคมี กลศาสตร์ และกายวิภาค ทำให้เป็นการลงทุนปลูกที่ไม่คุ้มทุนทางการค้า ควรส่งเสริมให้ปลูกเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเป็นไม้เศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 รศ. วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง “ไม้ตะกู....ศักยภาพไม้เศรษฐกิจของไทย” ที่ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน นอกจากนี้มีผู้ร่วมแถลงข่าว อาทิ ดร.ดำรง ศรีพระราม คณบดีคณะวนศาสตร์ รวมทั้งอาจารย์คณะ วนศาสตร์ จากภาควิชาต่าง ๆ คือ ผศ.นิคม แหลมสัก รองคณบดีฝ่ายวิจัย ดร.กอบศักดิ์ วันธงชัย จากภาควนวัฒนวิทยา ดร.ไตรรัตน์ เนียมสุวรรณ จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ และ ดร.พสุธา สุนทรห้าม จากภาควิชาการจัดการป่าไม้
ซึ่งข้อมูลทางวิชาการและจากงานวิจัยพบว่า ตะกู เป็นพันธุ์ไม้เบิกนำ พบขึ้นทั่วไปในป่าทั่วประเทศที่มีความสูงไม่เกิน 1000 msl. โดยเฉพาะในป่าบริเวณที่เปิดโล่ง ตะกูมีลักษณะเรือนยอดแผ่กว้าง ต้องการแสงสว่างมากในการเจริญเติบโต ไม่ทนแล้งไม่ทนหนาว มีการเจริญเติบโตเร็วมากในช่วง 2-4 ปีแรก และควรปลูกในระยะห่างที่กว้างมากพอที่ให้แผ่เรือนยอดได้เต็มที่
ในช่วงการปลูกตะกู 2 ปีแรก จะพบว่า มีการเจริญเติบโตเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อตะกูมีอายุมากขึ้นจะพบว่าการเจริญเติบโตเริ่มลดลงเนื่องจากเรือนยอด เบียดเสียดกันมากซึ่งทำให้มีผลผลิตต่ำกว่ายูคาลิปตัสสายพันธุ์ดี ดังนั้นการปลูกด้วยระยะปลูกที่กว้างในรูปแบบวนเกษตร การปลูกบริเวณหัวไร่ปลายนาหรือการปลูกผสมไม้ชนิดอื่น โดยมีระยะปลูกที่กว้างมากจะทำให้ต้นตะกูมีการเจริญเติบโตและผลผลิตดีขึ้น ส่วนการปลูกด้วยความหนาแน่นสูงซึ่งสิ้นเปลืองทั้งค่าใช้จ่ายของกล้าไม้และ การดูแลจัดการ ยังส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตที่ลดลงโดยรวมของพื้นที่ด้วย
จากการสำรวจพบแมลงศัตรูพืชตะกูอย่างน้อย 12 ชนิด จำแนกเป็นแมลงทำลายใบ 8 ชนิด แมลงทำลายลำต้น 4 ชนิด (ทำลายยอด 1 ชนิด) แมลงที่สำคัญคือ หนอนผีเสื้อชนิด Parotis hiliralis ซึ่งทำลายใบและเจาะยอดอ่อนทำให้ยอดหัก ลำต้นสูญเสียรูปทรง และหากระบาดรุนแรงอาจทำให้ต้นไม้ตาย แมลงชนิดนี้มีการระบาดรุนแรงมากในสวนป่าอายุน้อยกว่า 1 ปี โดยจะพบมากที่จังหวัดตราดและพิจิตร
ลักษณะเนื้อไม้ตะกูมีความละเอียดปานกลาง ผิวค่อนข้างเรียบและสม่ำเสมอ การเรียงตัวของเสี้ยนเป็นลักษณะเสี้ยนตรง เนื้อไม้ขาวนวลทั้งกระพี้และแก่น ส่วนใหญ่จะมีรอยของเชื้อราเป็นริ้ว ๆ ที่ผิว เนื้อไม้ไม่มีความมันวาว เป็นไม้เนื้ออ่อนและมีความทนทานตามธรรมชาติต่ำ และตะกูยังมีข้อจำกัดในการใช้งานด้านโครงสร้างรับแรง เช่น ใช้ทำคาน เสา เพดาน หรือ พื้นไม้ แต่อาจมีประโยชน์กับการใช้งานในลักษณะการกันกระแทกต่าง ๆ เช่น ลังไม้ กล่อง ไม้รองยก ไม้รองเลื่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้งานลักษณะนี้จำเป็นต้องผ่านการบำบัดให้ทนทานต่อการเข้า ทำลายของแมลง มอด ปลวก และเชื้อรา ก่อนนำไปใช้งานเนื่องจากไม้ตะกูมีปริมาณเซลลูโลสค่อนข้างมากและสารแทรกน้อย ทำให้เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของพวก เชื้อรา มอด และปลวก
“เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนด้านการเงินของการลงทุนปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะกูกับ พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบว่า ไม้ตะกูให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ในขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ผลตอบแทนสูง”
จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของการปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะกู พบว่า ที่ระดับราคากล้าไม้เท่ากับ 1 บาทต่อต้น ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดที่น่าจะเป็นไปได้ ราคารับซื้อไม้ท่อนตะกูสามารถขายได้จริงในราคาเพียง 500 บาทต่อเดือนต่อต้น ดังนั้นจึงถือว่ายังไม่เหมาะสมสำหรับการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในรูปเงินสด
อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้ทุกชนิดลงบนแผ่นดินนั้นเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงในรูปของเนื้อไม้และทางอ้อมในรูปสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ดินและน้ำ.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=24467