●ชมสวนยางพาราในภาคเหนือ ปลูกยางพาราบนพื้นที่ลาดชัน ที่เชียงราย
ประกิต เพ็งวิชัย
ชมสวนยางพาราในภาคเหนือ ปลูกยางพาราบนพื้นที่ลาดชัน ที่เชียงราย
เกษตรกรในเขตพื้นที่ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย สนใจที่จะปลูกยางพารา โดยขอรับต้นพันธุ์ยางจาก ปตท. ไปปลูก โดย ปตท. ช่วยเกษตรกรลงทุนครึ่งหนึ่ง คือเกษตรกรลงทุน 10,000 บาท ทาง ปตท. ก็ช่วย 5,000 บาท อีก 5,000 บาท ก็นำไปชำระหนี้เมื่อได้รับผลผลิตในอีก 6 ปีข้างหน้า
หากต้องการซื้อกล้ายางพารา ราคากล้าละ 15 บาท ปตท. จ่ายให้ 7.50 บาท เกษตรกรจ่ายเอง 7.50 บาท ซึ่งจะเป็นโครงการธนาคารหมู่บ้าน ที่ ปตท.ให้การสนับสนุน โดยจำนวนต้นกล้าขึ้นอยู่กับพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร ระยะเวลาในการเพาะประมาณ 1 ปี หรือในอีกกรณีหนึ่งคือการให้กล้ายางพาราแก่กลุ่มผู้ปลูก โดยการกู้ยืมเงินจากทาง ธ.ก.ส. ซึ่งกลุ่มสมาชิกผู้ปลูกยางพาราจะต้องมีใบรับรองว่าเป็นสมาชิกของผู้ปลูกยางพาราจริง สำหรับเรื่องการตลาด ตอนนี้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราตำบลผางามยังไม่สามารถผลิตน้ำยางพาราออกมาได้ ต้องรออีก 6 ปีข้างหน้า โครงการที่นี่เพิ่งเริ่มต้น แต่ทางเจ้าหน้าที่การันตีได้ว่าน้ำยางพาราที่ผลิตได้มีคุณภาพดี เพราะเท่าที่ผ่านมาได้ศึกษาดูงานที่อำเภอเทิง อำเภอแม่จันทร์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากภูมิอากาศและสภาพพื้นที่ทางภาคเหนือเอื้ออำนวยในการปลูกยางพารา ในอนาคตคาดว่าน้ำยางจะมีราคาสูง
พื้นที่ของเกษตรกรเขตตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ทางกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินเชียงรายส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าว มีการปลูกหญ้าแฝก ปลูกตามแนวขวางความลาดชัน สังเกตที่โคนยางพารามีรากโผล่ขึ้นมา วิธีการป้องกันก็ใส่ปุ๋ยหมัก เพราะหน้าฝนมีการชะล้างหน้าดิน ลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร
การปลูกหญ้าแฝกควรปลูกตามแนวของต้นยาง ระยะห่างอยู่ที่ความเหมาะสม ถ้ามีความชื้นมากต้องปลูกถี่ แต่ถ้ามีความชื้นน้อยก็ปลูกระยะห่าง เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินและรักษาความชื้น
ขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแปลงสาธิตการขยายพันธุ์ยางด้วยวิธีติดตา แปลงสาธิตการขยายพันธุ์ยางสามารถผลิตต้นกล้ายางให้เกษตรกรนำไปปลูกทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้กว่า 300 ไร่ โดยเกษตรกรเชื่อมั่นว่า การปลูกยางพารา จะเป็นอาชีพที่มั่นคงกว่าการปลูกพืชไร่ และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้บนพื้นที่ลาดชันได้โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ยางพารา ปริมาณน้ำยางที่ได้ไม่แตกต่างจากการปลูกในพื้นที่อื่น ดังเช่น แปลงปลูกยางพาราของคุณกัลยา งานลอ โทรศัพท์ (06) 922-9427 ประธานกลุ่มผู้ปลูกยางพารา ตำบลผางาม อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 5 ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ สามารถกรีดน้ำยางและผลิตยางแผ่น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรถึงปีละ 3 หมื่นบาท ในขณะที่การปลูกข้าวโพดมีรายได้เพียงปีละ 1 หมื่นบาท นับเป็นความสำเร็จของเกษตรกร
ในการส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งช่วยให้เกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอ โดยไม่ต้องเข้าไปแย่งกันหางานทำในเมืองใหญ่ ทำให้สถาบันครอบครัวมีความอบอุ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
ยางพารา นับได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เพราะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกร 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการทำสวนยางทั้งความต้องการใช้ยางของโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ยปีละ 3-4% แถมราคาในประเทศได้ขยับขึ้นมา กิโลกรัมละกว่า 50 บาท จึงทำให้ยางพาราเป็นพืชที่ได้รับความสนใจทั้งจากเกษตรกร นักธุรกิจ หันมาปลูกยางกันมากขึ้น โดยได้ขยายพื้นที่สู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน
ปัจจุบัน แม้ว่าหลายคนจะมองว่ายางพาราเป็นพืชที่มีอนาคต ที่ผ่านมาบางปีราคาก็ดี บางปีก็ไม่ดี บางครั้งมีตกต่ำแต่รัฐบาลยังดูแล สังเกตได้ว่า 30 ปีที่แล้ว ทุเรียน กิโลกรัมละ 8 บาท น้ำยาง กิโลกรัมละ 5 บาท ตอนนี้ทุเรียนยังกิโลกรัมละ 5-8 บาท แต่น้ำยางถีบตัวสูงขึ้น กิโลกรัมละ 40-50 บาท และคิดว่าตราบใดรถยนต์เป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต การใช้ยางต้องมีอยู่ ตราบใดที่ยางเทียมมีน้อยลง และน้ำมันแพงอย่างนี้ ยางธรรมชาติมีอนาคตแน่นอน
อย่างไรก็ดี การปลูกยางภาคเหนือ ต้องมีการจัดการที่ดีด้วย เพราะการปลูกยางต้องใช้เวลา 6 ปี ตอนนี้โครงการเพิ่งเริ่มต้นต้องมีการดูแลในขั้นตอนต่อไปด้วย เพราะเกษตรกรหลายคนยังไม่เข้าใจวิธีการปลูก ปลูกไปแล้วต้องให้ปุ๋ย ดังนั้น การปลูกยางพาราภาคเหนือ ไม่ง่ายเหมือนปลูกที่ภาคใต้ หากไม่มีการจัดการที่ดีอาจจะได้รับความเสียหายพอสมควร
คุณกัลยา งานลอ ประธานกลุ่มผู้ปลูกยางพารา ตำบลผางาม และเป็นหมอดินอาสาประจำตำบลผางาม ซึ่งได้รวบรวมเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางในพื้นที่ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย บอกว่า ที่ผ่านมา การปลูกยางพาราของเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนในด้านผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง การใช้สารเคมี ปีละประมาณ 50 กระสอบ แต่พอได้มาเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย ได้ให้คำแนะนำและความรู้ในการใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน พด. 1, 2, 3 มาใช้ในสวนยางพารา ทำให้ช่วยลดต้นทุน และลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง จากเดิม ปีแรก 50 กระสอบ เหลือ 10 กระสอบ ควบคู่กับปุ๋ยหมัก จำนวน 5 ตัน ปีที่ 2 ปุ๋ยเคมี 6 กระสอบ ควบคู่กับปุ๋ยหมัก จำนวน 5 ตัน ปีที่ 3 ปุ๋ยเคมี จำนวน 4 กระสอบ ควบคู่กับปุ๋ยหมัก จำนวน 5 ตัน มีการเจริญเติบโตได้ดี โดยยางพาราในปีแรกโดยทั่วไปจะสูง 1.5-2 เมตร แต่เมื่อนำมาปลูกที่ภาคเหนือในปีแรกจะสูง 2.5-3 เมตร
การดูแลรักษายางพาราในภาคเหนือ โดยทั่วไปฤดูฝนจะไม่สามารถกรีดยางพาราได้ แต่ทางภาคเหนือมีหน้าฝนแค่ 4-5 เดือน จะกรีดช่วงหน้าแล้ง ถึงฤดูหนาว ถ้าในช่วงฤดูหนาวจะให้ผลผลิตมากกว่าฤดูอื่น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์
ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดินที่นำมาใช้คือ สารเร่ง พด.1 ใช้ในการทำปุ๋ยหมักใช้รองก้นหลุมในการปลูกยางพารา ใส่ในแนวทรงพุ่มของต้นยางพารา ส่วน พด.2 ใช้ราดพรมและรดลงดิน ในสวนยางพารา พด.3 ใช้ป้องกันโรครากเน่า โคนเน่า เพราะที่ผ่านมาจะประสบปัญหาพืชผักตายโดยไม่ทราบสาเหตุจึงมีการนำสารเร่ง พด.3 มาใช้มากขึ้น
เกษตรกรท่านใดสนใจจะนำแนวทางการปลูกสวนยางของกลุ่มผู้ปลูกยางพาราตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ไปใช้ ติดต่อได้ที่ คุณกัลยา งานลอ ประธานกลุ่มผู้ปลูกยางพารา ตำบลผางาม อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 5 ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ (06) 922-9427 หรือติดต่อ คุณนพดล ชัยกิจ หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย (09) 969-6987, (053) 706-167
●การเลือกสายพันธุ์ยางพารา
http://www.supedapara.com/modules/content/index.php?id=4●ซี.พี.เปิดแผนธุรกิจยาง"พัฒนาต้นกล้า-เจาะตลาดตปท."
กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ซี.พี. เร่งจัดตั้ง "ศูนย์วิชาการด้านยางพาราแบบครบวงจร" 10 แห่งในภาคเหนือ-อีสาน หวังให้ความรู้เกษตรกรปลูกยางอย่างถูกวิธี เผยแผนพัฒนาธุรกิจยางพารา ซี.พี. เน้นผลิตต้นยางชำถุงให้ใหญ่ขึ้น พร้อมเตรียมเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน
นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทาง ซี.พี.ให้ความสนใจในการสนับสนุนการปลูกยางพารา เนื่องจากมองว่าขณะนี้สินค้ากล้ายางต้นใหญ่กำลังได้รับความสนใจจากตลาดโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสวนขนาดใหญ่ ทาง ซี.พี.จึงลงทุนจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านยางพาราแบบครบวงจร ณ โรงเรือนเนิร์สเซอรี่ผลิตต้นยางชำถุงของบริษัท ในพื้นที่ 10 จังหวัด คือ จังหวัดพะเยา เชียงราย กำแพงเพชร เลย อุดรธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ นครพนม อุบลราชธานี และ จ.บุรีรัมย์
ทั้งนี้ ซี.พี.วางแผนคัดเลือกเกษตรกรที่เชี่ยว ชาญด้านยางมาทำหน้าที่เป็นวิทยากรคอยแนะนำข้อมูลการปลูกและดูแลต้นยางอย่างถูกต้องให้แก่เกษตรกรรายใหม่ และประชาชนผู้สนใจที่จะปลูกยางพารา ก่อนหน้านี้บริษัทได้สำรวจพื้นที่การปลูกยางแหล่งใหม่ในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่การปลูกยางหลายแห่งประสบปัญหาด้านการปลูกและการดูแลต้นยาง
เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์ความรู้ด้านการปลูกยาง ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ปลูกยาง การปลูก การดูแล และขาดความรู้ที่ ถูกต้องเกี่ยวกับเทคนิคการกรีดยาง จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางเสี่ยงที่จะประสบความ ล้มเหลวในอนาคต จึงทำให้บริษัทตัดสินใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรมือใหม่ให้ได้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลพัฒนาสวนยางได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
"การซื้อกล้ายางต้นใหญ่ จะได้กล้ายางต้นโตที่แข็งแรง มีระบบรากที่สมบรูณ์ ทั้งแนวลึกและแนวกว้าง เมื่อเกษตรกรใช้ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์น้ำ "วีโก้" และสารกำจัดศัตรูพืชชีวภาพ "วูการ์" ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดโรค และบำรุงต้นให้แข็งแรง ทำให้เกษตรกรสามารถเปิดกรีดได้ไวขึ้นในระยะเวลาเพียง 5-6 ปี เมื่อเทียบกับปลูก กล้ายางขนาดเล็กในแปลงขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาปลูกนานถึง 7 ปี การปลูกกล้ายางต้นใหญ่ นอกจากนี้ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และดูแลได้ง่ายกว่า การปลูกในแปลงขนาดใหญ่แล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีโอกาสได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันการปลูกยางต้นใหญ่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศจีนและมาเลเซีย" นายมนตรีกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทพบว่าจุดอ่อนของการพัฒนากล้ายางในไทยคือ ไม่ได้พัฒนาจากต้นตอพันธุ์ยางปลอดโรค ดังนั้นบริษัทจึงมุ่งคัดเลือกยางพันธุ์ดีจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และเวียดนาม มาผลิตเป็นสายพันธุ์ยางปลอดโรค ที่ให้ผลผลิต สูงกว่า 350 ก.ก.น้ำยาง/ไร่ ทนทานกับปัญหาความแห้งแล้ง สามารถปลูกบนที่สูงได้ เพื่อเพิ่มปริมาณไม้ยืนต้นในเขตภูเขา รวมทั้งเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยพัฒนาคุณภาพเนื้อไม้ที่เหมาะสมกับการแปรรูป
บริษัทมั่นใจว่าในระยะยาวพันธุ์ยางปลอดโรคของบริษัทจะช่วยพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพาราของไทย เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตยาง เช่น มาเลเชีย อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม ฯลฯ สำหรับปี 2551 บริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตกล้ายางพันธุ์ดีออกมาจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ต้น
นายขุนศรี ทองย้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยแนวทางการพัฒนาธุรกิจยางพาราของ ซี.พี.ในอนาคตไว้ 2 แนวทาง คือ 1)ผลิตต้นยางชำถุงให้มีขนาดใหญ่ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สนใจปลูกยางที่ไม่มีเวลาในการดูแลในแปลงปลูก และจะเป็นการช่วยย่นระยะเวลาในการกรีดยางให้สั้นลงจาก 7 ปี ให้เหลือเพียง 5-6 ปี 2)พัฒนาตลาดส่งออกกล้ายางชำถุง โดยเฉพาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และพม่า ฯลฯ มีความต้องการปลูกยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการปลูกยางฤดูกาลใหม่ในปี 2551 มีเกษตรกรนอกโครงการที่สนใจขยายพื้นที่ปลูกยางเป็นจำนวนมาก ทางบริษัทจะได้จัดระบบการจัดการเตรียมความพร้อม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรทุกราย โดยจัดทีมงานด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมการลงทุนสร้างสวนยางครบวงจร เริ่มจากการศึกษาคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมต่อการลงทุนทำสวนยางพารา รวมทั้งจะให้คำปรึกษาการดูแลตั้งแต่ต้นจนจบครบทุกกระบวน การ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการปลูก
ที่ผ่านมาราคาต้นยางชำถุงที่ซื้อขายในตลาดทั่วไปสูงถึง 20-25 บาท/ต้น แต่บริษัทยินดีเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ไม่ได้รับต้นยางชำถุงตามโครงการยาง 1 ล้านไร่ โดยเก็บต้นยางไว้จำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคา 15.53 บาทเท่าเดิม ปรากฏว่ามีเกษตรกรจำนวนมากที่ยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตต้นยางชำถุงของบริษัท ได้นำคูปองมาขอรับกล้ายางจากโรงเรือนของบริษัท คิดเป็นต้นยาง ชำถุงถึง 5.48 ล้านต้น คิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของการส่งมอบในครั้งนี้