“อับดุล” แชทบอทสัญชาติไทย ความ พยายามที่ยังไม่สิ้นสุด
มกราคม 07, 2025, 09:41:31 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “อับดุล” แชทบอทสัญชาติไทย ความ พยายามที่ยังไม่สิ้นสุด  (อ่าน 2298 ครั้ง)
แวมไพร์-LSVteam♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน912
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3712


..เรียนให้รู้เป็นครูเขา.Learning by doing


« เมื่อ: เมษายน 21, 2008, 08:35:06 pm »

 “อับดุล” แชทบอทสัญชาติไทย ความ พยายามที่ยังไม่สิ้นสุด


“อับดุล ถามอะไรรู้” “ถามอะไรตอบได้” ผู้อ่านคงเคยได้ยินประโยคเหล่านี้อยู่บ่อยๆ วันนี้ อับดุลก้าวไกลมาปรากฎตัวอยู่บนโปรแกรมเอ็มเอสเอ็นในมาดตัวแทนผู้รอบรู้ ช่วยไขสารพัดปัญหาภายใต้รูปแบบบริการตอบคำถามที่น่าสนใจ โดยใช้ระบบการสนทนาโต้ตอบเหมือนคนปกติทั่วไป
 
อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิด “อับดุล” ผู้ช่วยคนเก่งมาจากการผสานหลายเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน อาศัยพื้นฐานโครงงานวิจัยเดิมของ หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พัฒนาสู่การเป็นต้นแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้บริการสาธารณะด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเฉพาะด้านภาษา
 
แม้ว่าขณะนี้ ”อับดุล” จะเปิดให้บริการแล้ว แต่ยังมีส่วนที่ยังต้องพัฒนา และเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรูปแบบการทำงาน รวมทั้งแนวทางพัฒนาอับดุลในเวอร์ชั่นต่อๆ ไป  IT Digest จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอับดุลหลังเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ต.ค 2550 …
 
นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค เล่าถึง “อับดุล”  ว่าเป็นผลงานวิจัยซอฟต์แวร์ต้นแบบ ของหน่วยปฎิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา หรือ HTL (Human Language Technology Laboratary) ที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาวิทยาการด้านภาษาพูดและภาษาเขียนของมนุษย์ โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้สร้างนวัตกรรมอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร และระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ได้แก่ ระบบแปลภาษา ระบบค้นคืนข้อมูล และระบบประมวลผลสัญญาณเสียงพูด

“ขณะนี้ หน่วยงานทำการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมประเภท Chatting Bot ให้เป็นภาษาไทย โดยพัฒนาและเปิดให้บริการบนระบบ MSN Massenger ใช้ชื่อว่า “อับดุล” ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาษา ได้แก่ โปรแกรมภาษิตเทคโนโลยีแปลภาษา โปรแกรมสรรสาร ลุ๊คเทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูล และโปรแกรมเล็กซิตรอนเทคโนโลยีการพัฒนาพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำโปรแกรมทั้งหมดมาใช้ในการพัฒนาต้นแบบอับดุล ให้สามารถต่อยอดไปพัฒนาบนแอพลิเคชันในรูปแบบอื่นได้ในอนาคต” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว
 
ผอ.เนคเทค เล่าต่อว่า บริการดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการต่างๆ อย่างสะดวก เช่น บริการสืบค้นข้อมูลเว็บไซต์ การให้บริการสืบค้นข่าว บริการแปลภาษา บริการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งบริการส่งข้อมูลสำคัญ เช่น การรายงานสภาพการจราจร รายงานสภาพอากาศ ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน ผลสลาก และดูดวง เป็นต้น โดยให้บริการครบวงจรในขั้นตอนเดียว 




ด้าน นายชัลวาล สังคีตตระการ นักวิจัย หน่วยปฎิบัติการมนุษยภาษา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ผู้คิดค้นโปรแกรม “อับดุล” อธิบายว่า “ระบบแชทบ็อทเกิดมานานกว่าสิบปีในต่างประเทศ ปัจจุบันวิทยาการทันสมัยพัฒนาได้ก้าวไกลมาก จึงเป็นต้นกำเนิดแนวคิดแชทบ๊อทสัญชาติไทย  ประกอบกับยังไม่มีระบบดังกล่าวในประเทศไทย เนคเทคจึงริเริ่มค้นคว้าวิจัยจนประสบความสำเร็จ ติดตั้งระบบแชทบ็อทแห่งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ อับดุล

โปรแกรมอับดุล เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2550 จำนวน 10 แอ๊คเคาท์ แต่ละแอ๊คเคาท์รองรับผู้ใช้บริการได้จำนวน 1,000 คน โดยเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีรับได้จำนวน 4 แอ๊คเคาท์ และเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์รับได้จำนวน 8 แอ๊คเคาท์ ขณะนั้นมีผู้สนใจลงทะเบียนใช้บริการเต็มจำนวน 10,000 คนภายในเวลา 2 สัปดาห์เท่านั้น ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมดประมาณ 16,000 คน เป็นสมาชิกที่เข้าใช้บริการประจำจำนวน 12,000 คน และผู้ลงทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นกับวัยทำงาน โดยให้ความสนใจสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ความบันเทิง และการแปลคำศัพท์”
 
นักวิจัย หน่วยปฎิบัติการฯ อธิบายต่อว่า “ต้นแบบ อับดุล” พัฒนาจากโครงงานวิจัยหน่วยปฏิบัติการมนุษยภาษา เช่น ภาษิต เล็กซิตรอน และสรรสาร โดยนำโปรแกรมทั้งหมดเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกัน แต่กว่าจะได้แชดบ็อทภาษาไทย นักวิจัยต้องประสบปัญหาสำคัญคือการตัดคำ เพราะรูปแบบการเขียนภาษาไทยไม่มีการแบ่งคำตายตัวเหมือนกับภาษาอังกฤษ โครงสร้างภาษาเขียนก็คล้ายกับภาษาพูด รวมทั้งยังมีคำพ้องรูปและพ้องเสียง ทำให้โปรแกรมพบปัญหาวิเคราะห์คำศัพท์ผิดพลาดอยู่บ้างระหว่างการประมวลผล เช่น ประโยคที่เขียนว่า“ปลาตากลมถูกตากลมในที่ร่ม”ระบบอาจประมวลคำศัพท์สับสนระหว่าง ตาก-ลม และ ตา-กลม เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับวิวัฒนาการภาษา ก็เป็นเรื่องที่เพิ่มความยากและซับซ้อนให้กับผู้พัฒนาโปรแกรมด้วย เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่พิมพ์คำแสลงคุยกับอับดุล และส่วนมากจะเป็นคำศัพท์ใหม่ ที่ยังไม่ได้ระบุในพจนานุกรม ทำให้ระบบการตัดคำและประมวลผลมีความถูกต้องน้อยลง โดยขณะนี้ระดับความถูกต้องของระบบประมวลผลคำศัพท์อยู่ที่ 60% เท่านั้น”
 
นายชัชวาล อธิบายเสริมว่า รูปแบบการสนทนาของโปรแกรมอับดุล ทำงานบนระบบสนทนาเอ็มเอสเอ็น ผู้ที่ลงทะเบียนในโปรแกรมนี้แล้ว เพียงแค่เพิ่มชื่ออีเมล์อับดุลเข้าไปเท่านั้น ก็สามารถใช้งานได้ทันที อับดุลจะทำหน้าที่เหมือนกับเลขาส่วนตัว โดยผู้ใช้บริการสามารถสนทนากับอับดุลได้เหมือนกับเป็นเพื่อนคนหนึ่ง และยังเพิ่มบริการสอบถามข้อมูลทั่วไป ค้นหาข่าว หรือช่วยแปลคำศัพท์ไว้ด้วย แต่โปรแกรมการทำงานของอับดุลมีพื้นฐานหลายโครงงาน จึงต้องใส่รหัสหน้าข้อความที่ต้องการค้นหา เพื่อให้โปรแกรมอ่านและแยกแยะการทำงานได้ ตัวอย่างเช่น การค้นหาข่าว พิมพ์คำว่าข่าว หรือ News ตามด้วยคำที่ต้องการค้นหา เช่น ข่าวกีฬา ข่าวดารา และข่าวการเมือง หรือ การแปลประโยค พิมพ์คำว่า แปล หรือ Tran ตามด้วยคำที่ต้องการค้น เช่น How are you? , I love you เป็นต้น

นายชัชวาล กล่าวทิ้งท้ายว่า “อับดุล” ยังมีข้อบกพร่องอีกหลายด้านให้ปรับปรุง คลังคำศัพท์เป็นเรื่องแรกที่ต้องเร่งแก้ไขให้ครอบคลุมถึงคำที่วัยรุ่นใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการเพิ่มข้อมูลความรู้รอบตัว พัฒนาความสามารถด้านการฟังเสียง เพื่อให้โปรแกรมสามารถโต้ตอบด้วยภาษาพูดได้ทั้งภาษาไทย และต่างประเทศ  และด่านสำคัญที่สุดคือการพัฒนาโปรแกรมอับดุลให้เรียนรู้ธรรมชาติภาษาของมนุษย์ จนสามารถโต้ตอบกับคู่สนทนาได้อย่างสมจริงมากที่สุด




ส่วน เว็บไซต์เนคเทค ระบุว่า “ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของซอฟต์แวร์ต้นแบบโปรแกรมอับดุลประกอบด้วย 1.โครงงานภาษิต เทคโนโลยีแปลภาษาอังกฤษเป็นไทย ประมวลผลจากระบบคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ต ข้อมูลภาษาอังกฤษบนอินเทอร์เน็ตจะถูกส่งผลมายังระบบที่อาศัยฐานความรู้ทางไวยกรณ์และความหมาย ภาษิตแปลเว็บเพจเป็นภาษาไทย และส่งผลไปยังผู้ใช้ด้วยโครงสร้างเดิมของต้นฉบับ โดยวิเคราะห์โครงสร้างประโยค เป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาระบบแปลภาษา ทำงานโดยโปรแกรมแยกข้อความออกจากรูปแบบของเว็บเพจ และส่งข้อความอย่างเดียวไปแปล
 
ขั้นตอนต่อมา ภาษิตจะนำข้อความที่แปลไว้รวมเข้ากับรูปแบบของเว็บไซต์ที่แยกไว้ตอนต้น ส่งกลับไปแสดงผล ผู้ใช้สามารถเรียกดูเว็บเพจต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษได้ โดยแสดงผลเป็นภาษาไทยทั้งหมด และยังคงรูปแบบของต้นฉบับไว้ทุกประการ 2. โปรแกรมสรรสาร ลุ๊คพัฒนาและจัดการระบบค้นคืนข้อมูล บนเว็บเบาว์เซอร์ โปรแกรมทำงานบนอินเตอร์เฟสของเว็บเบาว์เซอร์ ทำให้การจัดการข้อมูล การสั่งงาน รวมทั้งการตั้งค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเป็นไปอย่างสะดวก สรรสาร ลุ๊ค มีความสามารถค้นคืนภาษาไทยได้ถูกต้อง รวมทั้งมีคุณลักษณะที่ทำให้การค้นคืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแนะนำคำที่ใช้ค้นคืน

3.เล็กซิตรอน พจนานุกรมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย-อังกฤษ เทคโนโลยีที่ช่วยค้นหาคำศัพท์ และข้อมูลคำศัพท์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ต้องการความรวดเร็วประมวลผลจากช่องรับข้อมูลในหน้าโฮมเพจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังสามารถดาวน์โหลดฟรี ทั้งโปรแกรมและข้อมูลไปติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้งานเล็กซิตรอนได้โดยไม่ต้องผ่านระบบอินเทอร์เน็ต”
 
แม้ว่าอับดุลจะเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลาเกือบครึ่งปีแล้ว แต่จำนวนผู้ใช้บริการเอ็มเอสเอ็นที่รู้จักโปรแกรมอับดุลยังอยู่ในปริมาณน้อย เพราะการเข้าถึงโปรแกรมยังเป็นไปในรูปแบบจำกัด  แต่ข้อมูลข้างต้นทั้งหมด แสดงถึงความพยายามของนักวิจัยไทยที่จะต่อยอดผลงานวิจัยเดิมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยประยุกต์โครงงานวิจัยเพิ่มคุณค่าและความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานให้เข้ามาทดลองใช้ผลงานกันสักครั้ง...


บทความจาก :  ไทยรัฐ


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!