บุคคลสำคัญของโลกโดยการยกย่องจากองค์การยูเนสโก อัจฉริยะผู้ขับร้องและควบคุมวงดนตรีสุนทราภรณ์ อันถือเป็นจุดเริ่มต้นวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล
หนึ่งร้อยปี อาจารย์เอื้อ สุนทรสนาน
ทั้งลูกหลาน ลูกศิษย์ คีตะศิลป์
คนเคยยิน เสียงทอง ของไวโอลิน
หรือเคยยิน เสียงทอง ท่านร้องเพลง
โอ้ร้อยปี แล้วสิหนอ ขอเคารพ
กราบนอบนบ เสียงสุนทร ร้อนเรียบเร่ง
คือทำนอง ของครูเอื้อ นำเนื้อเพลง
จะบรรเลง อยู่นิรันดร์ นับพันปี
(ขอฝากเพลงร้องให้เสียงนั้นก้องตลอดไป
อนุสรณ์ฝากไว้จากหัวใจ สุนทราภรณ์)
นี่คือเพลง "๑๐๐ ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน" ที่ ทางวงดนตรีสุนทราภรณ์ได้สร้างสรรค์บทเพลงขึ้นมาใหม่ เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยมีครูดำ-พูลสุข สุริยพงษ์รังสี หัวหน้าวง ได้ประพันธ์ทำนองด้วยการนำทำนองของเพลงสำคัญในชีวิตของครูเอื้อ 3 เพลง คือ เพลงยอดดวงใจ คิดถึง และขอให้เหมือนเดิม มาร้อยเรียงประสานต่อ และ อ.อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ ได้กรุณาประพันธ์บทกลอนเป็นเนื้อให้มูลนิธิสุนทราภรณ์เป็นพิเศษ กับได้นำเนื้อร้องช่วงสุดท้ายของเพลง "พระเจ้าทั้งห้า" อันเป็นเพลงเพลงสุดท้ายในชีวิตครูเอื้อ ที่แต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญและรำลึกพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นช่วงปิดท้ายเพลง แล้วมอบให้คุณพรศุลี วิชเวช การเวกเสียงใส เป็นผู้ขับร้องครั้งแรก
สำหรับชื่อวงดนตรีนั้น มีที่มาจากเมื่อครั้งที่ ครูเอื้อครูเอื้อได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน คุณคุณสุรัฐ พุกกะเวส ได้ท้วงติงว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรง ภาพยนตร์เอกชน ครูเอื้อที่ในเวลานั้นกำลังตกหลุมรักคุณอาภรณ์อยู่ จึงได้ใช้จังหวะนี้ เปลี่ยนชื่อวงดนตรี โดยนำนามสกุลของตนรวมกับชื่อหญิงคนรัก เป็นชื่อวงว่า "สุนทราภรณ์" ในปี พ.ศ. 2482
วงดนตรีสุนทราภรณ์นั้นแม้จะเป็นวงดนตรีสากล แต่ก็ไม่ได้ถูกดนตรีอย่างฝรั่งครอบงำ กลับมีกลิ่นอายของความเป็นไทยอยู่อย่างชัดเจน ทำนอง ดนตรีจำนวนไม่น้อยได้ปัดฝุ่นมาจากทำนองเพลงไทยเดิมให้เป็นทำนองแบบใหม่ที่ ไพเราะเข้ากับยุคสมัย และบทเพลงสุนทราภรณ์นั้นยังเป็นที่ยอมรับกันว่าใช้ภาษากวี ที่อ่อนหวาน มีความหมายลึกซึ้ง
กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอชื่อ ครูเอื้อ สุนทรสนาน สู่คณะกรรมการบริหารของยูเนสโก เพื่อประกาศให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลกอย่างเป็นทางการ ในเดือน ต.ค. ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นบุคคลสำคัญลำดับที่ 19 ของประเทศไทย และประเทศไทยจะจัดงานเฉลิมฉลองในระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีครูเอื้อ จนถึง วันที่ 21 มกราคม 2554 โดยกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงดนตรีทั้งในไทยและต่างประเทศ การจัดสัมมนาทางวิชาการ การเผยแพร่ประวัติผลงาน การตั้งอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ครูเอื้อที่อัมพวาอันเป็นบ้านเกิดของท่าน
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นทั้งผู้ขับร้องและควบคุมวงสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นวงคนตรีที่โด่งดังมากที่สุดในยุคหนึ่ง ครูเอื้อมีความสามารถด้านการประพันธ์ทำนองและคำร้อง โดยมีครูเพลง แก้ว อัจฉริยกุล เป็นนักแต่งเพลงคู่บุญ ได้ร่วมกันเเต่งเพลงกว่า 1,000 เพลง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น เพลงวันลอยกระทง วันปีใหม่ วันสงกรานต์ ขวัญใจเจ้าทุย รำวงวันสงกรานต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับ พระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
ประวัติของครูเอื้อ สุนทรสนาน
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม เกิดที่ บ้านตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 (ตรงกับรัชสมัยของรัชการที่ 6) อยู่ในสกุล สุนทรสนาน อันเป็นสกุลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เป็นบุตรของ นายดี และนางแส สุนทรสนาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน เดิมนั้นท่านมีชื่อว่า ละออ ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น บุญเอื้อ และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็น เอื้อ สุนทรสนาน
ยเด็กเรียนหนังสืออยู่ในจังหวัดบ้านเกิดอยู่ปีเศษพอ ที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาย้ายเข้ากรุงเทพฯ โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ เพื่อศึกษาต่อที่วัดระฆังโฆษิตารามจนจบชั้นประโยคประถมช่วงเวลานี่เอง เป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้น ที่สวนมิสกวัน ให้เป็นโรงเรียนสอนดนตรีทุกประเภททั้งดนตรีไทย และดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อจึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยมีพระเจนดุริยางค์เป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยช่วงเช้าเรียนวิชาสามัญ ช่วงบ่ายเรียนวิชาดนตรี เเต่หลังจากสอบมัธยมปีที่ 1 ผ่านขึ้นไปมัธยม 2 ในปี พ.ศ. 2465 ด้วยความมุมานะและพรสวรรค์ จึงสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้จนชำนาญ โดยเฉพาะดนตรีฝรั่งอย่าง สีไวโอลิน และเป่าแซกโซโฟน พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษ จึงได้ให้เปลี่ยนเปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน และงดการเรียนวิชาสามัญตั้งแต่ชั้นมัธยม 2
เมื่อจบหลักสูตรการศึกษาแล้ว ครูเอื้อได้เข้ารับราชการประจำในปี 2467 เป็นนักดนตรี ประจำกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ที่กรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท ต่อมาเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท อีก2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ตามลำดับ กระทั่งปี พ.ศ.2475 ได้โอนย้ายไปรับราชการที่กรมศิลปากร สังกัดกองมหรสพ ด้วยฝีมือทางดนตรีที่เปี่ยมล้น ทำให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 ในสมัยที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ปี พ.ศ.2475 จากนั้นอีก 4 ปี ก็ได้มีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง "ถ่านไฟเก่า" อันเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างโดยบริษัทไทยฟิล์ม 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, คุณพจน์ สารสิน และคุณชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้น ด้วยผลงานเพลงสร้างได้ชื่อได้รับความนิยมอย่างสูงนี่เอง ทำให้ครูเอื้อตั้งวงดนตรีของตนเองขึ้นในปีถัดมา ใช้ชื่อว่า ไทยฟิล์ม ตามชื่อบริษัทหนัง นับว่านี่คือก้าวแรกทางเส้นทางดนตรีของครูเอื้อ แต่จากนั้นเพียงปีเศษก็ต้องยุบวงลงไปพร้อมๆกับกิจการบริษัทไทยฟิล์มที่มีอัน เลิกกิจการไป
และในปี 2482 เนื่องด้วยนายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีในสมัยนั้น มองว่าเมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ ครูเอื้อ และวงดนตรีจึงได้โอนย้ายจากกรมศิลปากรมาอยู่ที่กรมโฆษณาการ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มีครูเอื้อเป็นหัวหน้าวง และหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศ จนกระทั่งได้เกษียณอายุราชการในปี 2514 ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนถึงปี พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นปีที่ครูเอื้อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
ด้านชีวิตครอบครัว ครูเอื้อพบรักกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาของพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสะอิ้ง กรรณสูต เมื่อปี พ.ศ. 2480 และได้เข้าสู่พิธีสมรสเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีธิดาเพียงคนเดียวคือ อดิพร สุนทรสนาน (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานน้ำสังข์สมรสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ ร.ต.อ. สันติ เสนะวงศ์) แต่ก็ยังมีบุตรชายสืบสกุลที่เกิดกับ โฉมฉาย อรุณฉาน คือ สุรินทร สุนทรสนาน
ในบั้นปลายชีวิต แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา ในปลายปี พ.ศ. 2521จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ หลังจากรักษาตัวราว 3 ปี อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ สุดท้ายโรคมะเร็งที่ทรวงอก ก็พรากครูเอื้อ สุนทรสนาน ไปในวันที่ 1 เมษายน 2524 รวมอายุได้ 71 ปีเศษ
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ คอนเสิร์ตการกุศล มนต์เพลง สุนทราภรณ์ มูลนิธิสุนทรภรณ์
บทความตอนที่ 63. นักจัดรายการเพลงสุนทราภรณ์ โดย เรืองวิทยาคม
เอื้อ สุนทรสนาน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วธ.เสนอครูเอื้อ สุนทรสนานบุคคลสำคัญของโลก
www.komchadluek.netครูเอื้อ สุนทรสนาน : บุคคลสำคัญของโลก
www.snc.lib.su.ac.t hที่มา วชก.คอม