ากปัญหาราคา ปุ๋ยเคมี ที่นับวันจะ เตะโด่ง สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาด้านปัจจัยการผลิต หลายคนหาทางออกด้วยการหันมา ใช้ปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติ อย่างปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก บำรุงผืนดิน เป็นการลดต้นทุนในไร่สวน
เพื่อให้เป็นทางเลือกเกษตรกร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงจัดโครงการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อเขตปฏิรูปที่ดิน ขับเคลื่อน ธนาคารปุ๋ยเคลื่อนที่ สู่วิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันภาคใต้ขึ้น
...นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก. บอกว่า เพื่อสนองพระราชดำริ เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางแนวทางให้เกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในเขตปฏิรูป ให้ สามารถ พึ่งพาตัวเอง พัฒนาอาชีพ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน หลังได้รับผืนที่ดินทำกิน
ฉะนี้...ปีที่ผ่านมา สปก.จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งผลจากการขับเคลื่อนฯ สามารถระบายโคไปยังพื้นที่ภาคใต้แล้วกว่า 4,700 ตัว และในวันนี้ได้จัดส่งโคจากจังหวัด ตาก นครสวรรค์ พิษณุโลก ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ และ ขอนแก่น จำนวน 1,300 ตัว ไปยังจังหวัด กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา และ สุราษฎร์ธานี
สำหรับโครงการฯ นี้นอกจากเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน สภาพแวดล้อมในพื้นที่พืชเศรษฐกิจและพลังงานทดแทน อย่างปาล์มน้ำมัน ยังพัฒนาการเลี้ยงโคที่ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้เลี้ยงประมาณ 2,000 กลุ่มให้ได้มาตรฐาน พร้อมกันนี้จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดทำชุมชนปลอดโรคเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งต่อไปหากชุมชนใดไม่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สีเขียว ก็จะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ
นายไพบูลย์ คุ้มพร้อม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคบ้านบางซอย ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา บอกว่า เมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมีภัณฑ์ใส่อัดเข้าไปในสวนปาล์ม และผลไม้ เพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้ปริมาณมากๆ ครั้นพอ นานวันเริ่มสังเกตเห็นว่าสภาพแวดล้อมเริ่มแย่ หน้าดินแข็งตัว และ ยิ่งมาเจอกับภาวะวิกฤติปุ๋ยแพง ขึ้น จึงคิดว่าต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง นั่นก็คือ ลดการใช้ปุ๋ย ยา ในสวน และ ใช้ปุ๋ยคอก แทน
ทว่าในหมู่บ้านมีจำนวนโคไม่มาก ประจวบเหมาะกับทาง สปก.จัดโครงการธนาคารปุ๋ยฯ จึงรวมกลุ่มเพื่อนบ้านในพื้นที่เขตปฏิรูปฯ เลี้ยงวัวรวมกันจำนวน 180 ตัว ต่อมาทาง กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนับสนุน พด.1 พร้อมทั้ง อบรมการทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักจากมูลวัว ซึ่งแต่ละวันมีมากเกือบตัน แต่จังหวัดพังงามีสภาพภูมิอากาศอย่างที่เรียกว่า ฝน 8 แดด 4 ทำให้เป็นปัญหาต่อการเก็บ ดังนั้นโครงการต่อไปจึงคิดว่าจะสร้างโรงเรือนอัดเม็ด เพื่อให้สะดวกต่อการใช้
เมื่อถามถึงผลผลิตที่เก็บในปีนี้ ไพบูลย์บอกว่า แม้จะได้น้อยกว่าที่ผ่านมา แต่เมื่อหักลบกลบหนี้ก็ยังพอมีกำไร นอกจากจะลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ซึ่งทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปรับพื้นดินกระด้างเป็นกรด ให้กลับมาร่วนซุยเกิดความสมบูรณ์ สังเกตได้จากบริเวณโคนต้นทุกวันนี้เริ่มมีหญ้าอ่อนๆ ขึ้น อีกทั้งยังมี ไส้เดือนที่เปรียบเสมือนเป็นรถไถทำหน้าที่พรวนดิน ให้เห็นมากขึ้น ซึ่งต่อไปจะมุ่งสู่การทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อตอบรับกระแสความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ที่นับวันต่างให้ความสนใจมากขึ้น
ในวันนี้นอกจากชาวบ้านบางซอย สามารถลดต้นทุนการผลิตลง เขายังมีรายได้จากการเลี้ยงวัว ส่งจำหน่ายในพื้นที่และจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต ซึ่งมีความต้องการบริโภคเนื้อคุณภาพค่อนข้างมาก เกษตรกรรายใดสนใจเรียนรู้ กริ๊งกร๊างที่ 08-1513-3603.
เพ็ญพิชญา เตียว
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=129570