ผมพบกลอนของ คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกบทหนึ่งแล้วครับ
ท่านเขียนไว้ในคอลัมน์ สยามรัฐหน้า ๕ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2516 ดังต่อไปนี้
๐ บานเย็นยิ้มพริ้มพรายอยู่ชายทุ่ง
ต้นผักบุ้งหน้าคว่ำเพราะน้ำเน่า
ลำดวนป่วนใจอยู่ไม่เบา
กุหลาบเหงาเพราะต้องร้างห่างสามพราน
มะลิโกรธโดนเก็บเจ็บทุกวัน
มะม่วงบ่นว่าคันเพลี้ยกินก้าน
เหลียวดูดอกชบาเห็นหน้าบาน
ไม่รู้ว่าสำราญด้วยสิ่งใด
น้ำตาหลิวไหลร่วงลงเผาะเผาะ
แค้นใจเพราะคนเรียกหลิวร้องไห้
มะพูดหน้าบูดอยู่ริมไพร
เพราะโกรธกับต้นมะไฟแต่เช้าเอย ๐
ที่กลอนออกมาแนวแปลก ๆ อย่างนี้ เพราะวันนั้นท่านเขียนถึงเรื่องต้นไม้มีความรู้สึกมีอารมณ์ !
ท่านเขียนไว้ว่า
พูดถึงการให้ความเป็นธรรมกันแล้ว ผมก็อยากจะบอกแก่ท่านผู้ที่ชอบปลูกต้นไม้ เล่นต้นไม้ทั้งหลายว่า ขอได้โปรดให้ความเป็นธรรมแก่ต้นไม้ที่ท่านปลูกบ้าง
เพราะนักวิทยาศาสตร์รุสเซียเขาได้ทดลองทางวิทยาศาสตร์กับต้นไม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ แล้วได้ทราบว่าต้นไม้นั้นมันมีความรู้สึก มีอารมณ์ หรืออย่างที่พระท่านว่ามีเวทนาเหมือนกับคนเหมือนกัน
กล่าวคือเมื่อพบกับสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกใจ ก็บังเกิดความยินดีมีสุข
เมื่อพบกับสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกใจ ก็เกิดความทุกข์ ความไม่พอใจ
ทำไมเขาจึงรู้อย่างนี้ ?
เขาทดลองด้วยการเอาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้นั้น มาเชื่อมกันเข้าระหว่างคนกับต้นไม้ที่ตั้งเอาไว้ไกล ๆ
เมื่อเชื่อมโยงกันแล้ว เขาก็สะกดจิตคน เมื่อสะกดจิตคนแล้ว เขาก็บอกคนที่ถูกสะกดจิตนั้น ให้ดีใจให้มีความสุข
คนที่ถูกสะกดจิตนั้นก็ยิ้มแย้มหรือหัวเราะ
ความรู้สึกของคนที่ถูกสะกดจิตนั้นก็ผ่านไปยังต้นไม้ สังเกตดูดอกใบของต้นไม้ก็มีอาการเบิกบานขึ้น
เมื่อเขาสั่งให้คนที่ถูกสะกดจิตมีความเสียใจและเป็นทุกข์
ต้นไม้ที่ถูกเชื่อมโยงอยู่ด้วยนั้น ก็แสดงอาการอาการกิ่งก้านใบตกลงเหมือนกับคนเป็นทุกข์
ความจริงเขาก็ไม่ได้ยืนยันหรอกครับว่าต้นไม้มีเวทนา รู้ทุกข์รู้สุขได้ เขาบอกแต่เพียงว่าผลแห่งการทดลองครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบประสาทของต้นไม้และพืชนั้นเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับระบบประสาทของมนุษย์ มีการเชื่อมโยงถ่ายทอดความรู้สึกกันได้
แต่เขาบอกว่าต้นไม้ทุกชนิดน่าจะมีความรู้สึก และมีอารมณ์ยินดียินร้าย เช่นเดียวกับมนุษย์เหมือนกัน
ได้ยินเรื่องนี้แล้วก็ใจหาย
เพราะผมก็เป็นคนบ้าปลูกต้นไม้อีกคนหนึ่ง
พูดด้วยใจจริง ก็พยายามทำทุกอย่างที่จะให้ต้นไม้อยู่ดีกินดีมีสุข เพื่อความเจริญเติบโตของต้นไม้
แต่บอกตรง ๆ เลยครับ ว่าไม่เคยคิดว่าต้นไม้มันก็มีหัวใจ
เมื่อรู้ดังนี้แล้วก็เริ่มสงสัยว่า การที่ผมได้ทำอะไรต่ออะไรต่อต้นไม้ด้วยความหวังดีต่อมันนั้น ผมได้ทำให้ถูกใจมันหรือเปล่าก็ไม่รู้
การกระทำบางอย่างของผม ไม่แน่ว่าจะทำให้มันดีใจหรือเสียใจ
บางครั้งก็อาจรดน้ำมากไปหรือน้อยไป เพราะไม่รู้ว่าจะถูกใจต้นไม้แค่ไหน
บางครั้งไปลิดกิ่งก้านของมันด้วยความประสงค์ที่จะให้มันงอกงาม มันจะเจ็บหรือเปล่าก็ไม่รู้
ที่สำคัญคือบางครั้ง ผมอาจไปทำอะไรเชย ๆ ให้ต้นไม้มันหัวเราะด้วยความขบขันในความโง่ของผมบ้างหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากต้นไม้มีเวทนาจริงแล้ว ต้นไม้ก็มีทั้งรูป ทั้งเวทนา เป็นขันธ์สองเข้าไปแล้ว
สัญญามันจะมีหรือไม่ ผมไม่ทราบ
ต้นไม้จะปรุงแต่งสังขารได้หรือไม่ด้วยตัวของมันเอง ผมก็ไม่ทราบ
และต้นไม้จะมีวิญญาณหรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจนักอีกเหมือนกัน
รู้แต่ว่าต่อไปนี้จะทำอะไรกับต้นไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ จะต้องระวังตัวกว่าเดิม
และถ้าเป็นกวีแล้ว จะต้องแต่งบทชมดงแตกต่างไปกว่าที่ท่านเคยแต่งกันมาแต่เดิม ดังต่อไปนี้
๐ บานเย็นพริ้มพรายอยู่ชายทุ่ง ต้นผักบุ้งหน้าคว่ำเพราะน้ำเน่า
ลำดวนป่วนใจอยู่ไม่เบา กุหลาบเหงาเพราะต้องร้างห่างสามพราน
มะลิโกรธโดนเก็บเจ็บทุกวัน มะม่วงบ่นว่าคันเพลี้ยกินก้าน
เหลียวดูดอกชบาเห็นหน้าบาน ไม่รู้ว่าสำราญด้วยสิ่งใด
น้ำตาหลิวไหลร่วงลงเผาะเผาะ แค้นใจเพราะคนเขาเรียกหลิวร้องไห้
มะพูดยืนหน้าบูดอยู่ริมไพร เพราะโกรธกับต้นมะไฟแต่เช้าเอย ๐
http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=2555&acid=2555