'วีรบุรุษปชต.' นาทีตัดสินใจใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ?
ธันวาคม 22, 2024, 11:14:03 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: 'วีรบุรุษปชต.' นาทีตัดสินใจใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ?  (อ่าน 1251 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1887
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13885


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: พฤษภาคม 16, 2016, 10:50:46 am »




เบื้องหลังประวัติศาสตร์ พลิกชะตาประเทศไทย เมื่อ "วีรบุรุษประชาธิปไตย"
เผยนาทีตัดสินใจใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ

ถ้าบอกว่าสถานการณ์ สร้างวีรบุรุษแล้ว คงไม่ผิด ที่จะบอกว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง
เมื่อปี 2535 จะนำพาสมญานาม “วีรบุรุษประชาธิปไตย” มาให้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์

หนังสือเล่มล่าสุดชื่อ “แกะดำโลกสวย” ที่ ดร.อาทิตย์ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่เกิด
เติบโตผ่านหน้าที่การงาน จนชีวิตพลิกผันเข้าสู่สนามการเมือง และเป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ต้องจารึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญ ผ่านการเรียบเรียงเนื้อหา โดยสมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ

บางตอนของหนังสือเล่มนี้ เปิดเผยถึงประสบการณ์การเมืองของดร.อาทิตย์
ในช่วงยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะมีส่วนชี้เป็นชี้ตายของบ้านเมือง

นับตั้งแต่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศ
โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวต่อต้านของมวลชนนอกสภาก็เกิดขึ้นทันควัน
 มีความพยายามเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง
และไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจรสช. นำมาสู่เหตุการณ์สูญเสียที่รู้จักกันว่า
 “พฤษภาทมิฬ 35” สุดท้าย พล.อ.สุจินดา ต้องลาออกจากตำแหน่ง

ดร.อาทิตย์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางการเมืองแบ่งเป็น2ฝ่าย
พรรคร่วมฝ่ายค้าน (พรรคเทพ) และพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคมาร) มีการเจรจาในทางลับและทางแจ้ง
การต่อรองด้วยเงินและอำนาจด้วยกำลังและวาจา
สารพัดดีลเกิดขึ้นวุ่นวาย เพื่อให้ ดร.อาทิตย์ เสนอชื่อนายกฯ ตามบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลต้องการ

“ณรงค์ วงศ์วรรณ” หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม พรรคร่วมรัฐบาลคะแนนเสียงอันดับ 1 ไม่สามารถเป็นนายกฯได้
ก็ต้องให้สิทธิแก่พรรคที่มีคะแนนเป็นอันดับ2 คือ “พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์” หัวหน้าพรรคชาติไทย

ช่วงเวลาฝุ่นตลบ ดร.อาทิตย์ กลายเป็นผู้ถือดุลทางการเมือง บรรดาผู้ใหญ่
ในพรรคร่วมต่างหว่านล้อมพร้อมเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ อย่าง "มหาดไทย"

"พ่อเลี้ยงณรงค์ก็บอกผมว่า เฮ้ย! น้อง น้องจะเอาอะไร น้องเสนอคุณสมบุญ ระหงษ์ แล้วลาออกจากประธานสภา
เดี๋ยวพี่จะให้โควต้าของพี่ โควตารัฐมนตรีมหาดไทย ส่วนคุณบรรหารก็ถาม เฮ้ย! น้องต้องการอะไร
คุณณรงค์ท่านจะยกโควตารัฐมนตรีมหาดไทยให้เลยท่านไม่เอา หรืออยากจะเป็นรองนายกฯฝ่ายไหนๆก็ว่ามา"

แต่ดร.อาทิตย์ ไม่ยอมตกปากรับคำรับตำแหน่งรัฐมนตรี
เพราะรู้ว่าหากนายกฯคนต่อไปชื่อ “พล.อ.อ.สมบุญ” เรื่องไม่จบแน่ มองยังไงก็เป็นการสืบทอดอำนาจ รสช.

ท่ามกลางภาวะติดล็อค ดร.อาทิตย์ คิดหาทางออก ทางออกแรกคือ พึ่งพระบารมี

“ผมโทรศัพท์ไปหาอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นประธานองคมนตรีตอนนั้นว่า
ขอเข้าเฝ้าในหลวงนอกรอบได้ไหม อาจารย์ท่านก็โทรศัพท์ไปหาหม่อมทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาฯ
สักชั่วโมงกว่า กว่าหม่อมทวีสันต์ก็แจ้งกลับมาว่าไม่โปรดให้เข้าเฝ้าฯ”

ทางออกที่สองคือ ขอคำปรึกษาจากองคมนตรี “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”
ท่านแนะนำว่า “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เป็นคนดี แต่ผมก็มาคิดว่าพรรคความหวังใหม่
เป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับสอง แล้วทำไมไม่ให้สิทธิ “คุณชวน หลีกภัย” ซึ่งเป็นฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง

ทางออกที่สามจึงมีตามมา คือชวน "หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" มาพบ

“ผมก็ถามคุณชวนว่า ท่านกล้ารับที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยไหม
แต่นายชวนปฏิเสธเพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เข้ารูปเข้ารอย
รัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นทำงานไม่ได้โหวตเมื่อไหร่แพ้เมื่อนั้น”

ระหว่างนั้น ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลมายังดร.อาทิตย์ อย่างมืดฟ้ามัวดิน
ทั้งแสดงตัวและไม่แสดงตัว หลายครั้งได้รับทราบโทรศัพท์
ในห้องทำงานจากบุคคลที่ไม่ประสงค์ออกนามโทรมาบอกทำนองว่า
ขออย่าเสนอชื่อสมบุญ เป็นนายกฯ

ดร.อาทิตย์ เล่าว่า มีกรณีหนึ่งที่ยังฝังใจระหว่างกำลังนั่งดื่มกาแฟอยู่ในคอฟฟี่ช็อปที่เซ็นทรัลลาดพร้าว
ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหา พูดว่าถ้าเผื่อยังเสนอชื่อพวก รสช. เขาจะไปอยู่ออสเตรเลียจะ
ไปทำงานที่โน่นเลย เลิกกันทีประเทศไทย ไม่เอาแล้ว แต่ถ้าไม่เสนอพวก รสช. เค้าจะไปทำงานที่โรงพยาบาลพญาไทให้ฟรี

ดร.อาทิตย์ยอมรับว่าคำพูดของชายคนดังกล่าว มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจยิ่ง
 เพราะสะท้อนความต้องการจริงๆ ของประชาชน

ตอนนั้น ไม่มีใครนึกถึงคุณอานันท์ ปันยารชุน แม้ก่อนหน้านี้เมื่อคราว รสช. รัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ได้แต่งตั้งนายอานันท์เป็นนายกฯ ซึ่งบริหารบ้านเมืองเรียบร้อยดี
จึงคิดว่า ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ไม่มีใครเหมาะไปกว่าอดีตนายกฯ อานันท์อีกแล้ว

“He is ready-Made PM” ดร.อาทิตย์ พูดถึง อานันท์

“คนที่พร้อมที่สุดเพิ่งออกไปหมาดๆ ไม่ต้องมาฟอร์มรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีใหม่
ผมขอชุดเดิมกลับเข้าไปเป็นอีกมันก็มีพร้อมอยู่แล้วใครต่อใครของท่าน
ให้มาอยู่แค่สามเดือนแล้วยุบสภาให้หน่อย ก็มีอยู่คนเดียวคือคุณอานันท์ ปันยารชุน”

โทรศัพท์สายตรงจาก ดร.อาทิตย์ ถึงคุณอานันท์ ทาบทามให้รับตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง

ดร.อาทิตย์พยายามชี้แจงเหตุผลต่อคุณอานันท์ว่า
ไม่ได้ขอให้รับตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้อำนาจ
แต่ขอให้รับตำแหน่งเพื่อยุบสภา บริหารประเทศนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านั้น

แต่การทาบทามครั้งแรกล้มเหลว เพราะถูกปฏิเสธ!

ความพยายามทาบทามคุณอานันท์ครั้งที่สองเกิดขึ้นอีก ดร.อาทิตย์
ยืนยันเจตนารมณ์เดิมคือให้ยุบสภาให้ที เที่ยวนี้คุณอานันท์รับแนวคิดไว้พิจารณา

กระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2535 พอรัฐธรรมนูญผ่าน
พรรคร่วมรัฐบาลดูจะมั่นใจได้ว่าชื่อนายกฯคนต่อไปต้องเป็นพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ไม่มีผลิกโผ

นาทีสุดท้าย กับการตัดสินใจ ใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ

เย็นวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ดร.อาทิตย์ออกเดินทางไปพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
 โดยมี “ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์” ประกบติดมาโดยตลอดจนแทบกลายเป็นเงา
กันไม่ให้ไปแอบเจรจากับใคร จนนาทีสุดท้ายก่อนนำชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้า

ประธานสภาฯ ถือกระดาษหัวครุฑเข้าวัง

อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าต้องเข้าเฝ้า "ในหลวง" แต่กระดาษหัวครุฑใบนั้นยังว่างเปล่า!

"ผมบอก ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น
ว่าผมไม่สามารถเสนอชื่อพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกฯ ได้หรอก
เพราะบ้านเมืองพังแน่ นองเลือดกันแน่นอน ผมคงจะต้องเสนอคุณอานันท์ ปันยารชุน"

คุณไพศิษฐ์ ก็ถามว่า แน่ใจหรือ!

“ผมก็ย้ำไปว่า ไม่เป็นไร ผมรับผิดชอบเอง”

ที่ใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ ดร.อาทิตย์โทรหานายอานันท์เป็นครั้งสุดท้าย

“ผมกำลังจะเข้าเฝ้าฯ เดี๋ยวนี้แล้ว อาจารย์เตรียมรับนะ”

เจอประโยคนี้เข้าไปคุณอานันท์จะว่าอย่างไรได้

หลังจากนั้น จึงถามหาพิมพ์ดีด และขอให้เจ้าพนักงานพิมพ์ตามคำบอก
โดยมีหัวข้อว่าคำกราบบังคมทูลของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ในการเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

“ประเทศบอบช้ำมากแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีทางเลือกนอกจากจะเสนอให้ตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อยุบสภา
ขอกราบทูลฯ เสร็จก็เสนอให้เซ็น พระองค์ท่านไม่ทรงตรัสอะไรเลย”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้น ดร.ไพศิษฐ์
ทำหน้าที่อัญเชิญพระบรมราชโองการไปที่บ้านนายอานันท์

“พระองค์ท่านตรัสว่า กล้าหาญมาก สมเป็นรัฐบุรุษ”

เมื่อประธานสภาฯ ตัดสินใจพลิกโผ เปลี่ยนตัวนายกกลางอากาศชนิดไม่มีใครรู้ล่วงหน้า

กองทัพนักข่าวและช่างภาพเฝ้าอยู่ที่บ้านพล.อ.อ.สมบุญ ค่ำวันนั้น พล.อ.อ.สมบุญ แต่งชุดข้าราชการขาว
รอรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มีพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมด้วยพานพุ่ม
แต่เมื่อถึงเวลา ดร.ไพศิษฐ์ เลขาธิการสภาฯ กลับนำพระบรมราชโองการเดินทางไปที่บ้านนายอานันท์

นายอานันท์ แม้จะรู้ล่วงหน้า แต่เพียงไม่นาน ว่ากันว่าแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว
กระทั่งพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งไว้รอรับการโปรดเกล้าฯ
รับสนองพระบรมราชโองการ ยังเป็นเพียงพระบรมฉายาลักษณ์เล็กๆเท่านั้น

วีรกรรมนี้เอง ที่ทำให้ดร.อาทิตย์ ได้รับการแซ้สร้องจากสื่อและประชาชนว่าเป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย”
 แต่ทุกอย่างมีค่างวดแสนแพงที่ต้องจ่าย ดร.อาทิตย์ และครอบครัวถูกจ้องเล่นงานถึงชีวิต!


Cr: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/698250


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!