ในหลายช่วงทศวรรษที่ผ่านมาระบบการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารล้วนได้รับ อิทธิพลจากกระแสทุนนิยมและส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อวิถีชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จากเกษตรกร กระบวนการผลิต จนถึงการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ ล้วนมีอันตรายจากสารปนเปื้อนในหลายๆ กระบวนการจนกลายเป็นเรื่องปกติและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว
เมื่อ ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ทำให้ผู้คนในยุคนี้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว รวมถึงข่าวสารข้อมูลถึงความไม่ปลอดภัยในคุณภาพของอาหาร ทำให้ผู้คนในยุคนี้หันมาให้ความสนใจในรายละเอียดในคุณภาพอาหารและคุณภาพ ชีวิตมากขึ้น หลายคนหันมาตื่นตัวกับกระแสบริโภคอาหารอินทรีย์ ( Organic Food ) โดยเฉพาะผู้บริโภคในแถบประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ กลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเปรียบเทียบจากยอดซื้อขายของผู้บริโภคในปี ค.ศ. 1997 กับปี ค.ศ. 2011 ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 3.6 พันล้านไปเป็น 24.4 พันล้าน และแม้กระทั่งรัฐบาลไทยเองยังกำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2552 ไทยต้องทำเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมพื้นที่ 85 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 131 ล้านไร่ทั่วประเทศเลยทีเดียว
[color=red]อาหารออร์แกนิค ที่กล่าวมาข้างต้นหมายถึง อาหารที่ผ่านการผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ตัดต่อทางพันธุกรรม หรือวัตถุสังเคราะห์ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีกำจัดวัชพืช หรือแม้กระทั่งยาปฏิชีวนะ หรือ ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต[/color] จากการที่ผู้บริโภคที่หันมาจับจ่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคมากขึ้น วันนี้มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา จึงได้ทำงานวิจัยเพื่อที่จะได้เพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรืออา หารออร์แกนิคมากขึ้น
สมิธ-สแปงเกลอร์ และคณะผู้วิจัย จึงได้ทบทวนผลการศึกษากว่า 230 ฉบับ ซึ่งเปรียบเทียบสุขภาพของคนที่ทานอาหารออแกนิค กับคนที่ทานอาหารทั่วไปที่ไม่ใช่ออร์แกนิค พร้อมทั้งเปรียบเทียบระดับสารอาหาร สิ่งปนเปื้อนในอาหาร ประเภท ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ ไข่ และนม
ทีมนักวิจัยพบว่า ปริมาณวิตามินในผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้น แทบไม่มีความแตกต่างกัน ยกเว้น ฟอสฟอรัส ซึ่งผลิตภัณฑ์ออแกนิคมีปริมาณมากกว่าเพียงเล็กน้อย ส่วนสารอาหารในกลุ่มโปรตีนและไขมันในนม พบว่า ไม่ว่าจะนมออร์แกนิคหรือนมทั่วไปนั้นก็มีปริมาณสารอาหารประเภทโปรตีนและ ไขมันไม่ต่างกัน แต่ก็มีบางการศึกษาที่บอกว่า ในนมออร์แกนิคมีกรดไขมันโอเมกา-3 มากกว่า แต่เนื่องด้วยมีหลักฐานการศึกษาที่น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด
นอกจากนี้ อาหารออร์แกนิคจำพวก ผัก ผลไม้ จะมีความเสี่ยงจากยาฆ่าแมลงต่ำกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับพืชผักที่ปลูกแบบปกติ ขณะที่หมู และไก่อินทรีย์ นั้นมีสารต้านแบคทีเรียน้อยกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป 33%
แต่แม้ว่าจะไม่ใช่อาหารออร์แกนิคก็ตาม ก็ไม่พบสารฆ่าแมลงตกค้างเกินกว่าข้อจำกัด ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่าความแตกต่างของสารตกค้างจะมีผลกระทบ ต่อสุขภาพหรือไม่
จากงานวิจัยนี้ทำให้พบความจริงที่ว่า จริงๆ แล้ว อาหารออร์แกนิคกับอาหารโดยปกติทั่วไปที่ไม่ได้เขียนว่า "ออร์แกนิค" นั้น แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยในแง่ของคุณค่าทางอาหาร และไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงในด้านสุขภาพลดลงแต่อย่างใด แม้ว่าการบริโภคอาหารออร์แกนิคจะสามารถลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารกำจัด ศัตรูพืชได้ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาอื่นๆ ระบุว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสำรวจความแตกต่างทางด้านสุขภาพและความ ปลอดภัยระหว่างอาหารออแกนิค กับอาหารทั่วไป ซึ่งเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าอาหารอินทรีย์ไม่ได้ดีต่อสุขภาพไปกว่าอาหาร ธรรมดาเลย
ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาในด้านคุณค่าทางอาหารว่า อาหารออร์แกนิค ไม่ได้มีสารอาหารมากกว่าอาหารธรรมดาทั่วไปแต่อย่างใด แต่อย่าลืมว่า ปริมาณสารตกค้างที่เกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลงในประเทศไทยในสินค้าบางชนิดนั้น ยังมีค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังที่มีข่าวออกมาให้พบเห็น ได้ยินและได้ฟังกันบ่อยๆ เพราะฉะนั้นก่อนจะนำผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์มาประกอบอาหาร หรือรับประทาน ควรจะล้างให้สะอาด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ว่าอาหารนั้นจะเป็นอาหารออร์แกนิคหรือไม่ก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก Sciencedaily.com, Asia Pacific Food Industry Thailand และ Green.in.th