'เอ็นนู ซื่อสุวรรณ' เตือนจำนำข้าวทำชาวนาอ่อนแอ จี้รัฐบาลอุดช่องโหว่ทุจริตทุกขั้น
ธันวาคม 27, 2024, 06:00:58 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: 'เอ็นนู ซื่อสุวรรณ' เตือนจำนำข้าวทำชาวนาอ่อนแอ จี้รัฐบาลอุดช่องโหว่ทุจริตทุกขั้น  (อ่าน 1381 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1887
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13885


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: สิงหาคม 16, 2012, 09:05:04 am »



โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ครั้งหนักหน่วงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาระงบประมาณก้อนมหาศาลถึง 2 แสนล้านบาท การทุจริตที่ส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นทุกขั้นตอน และการทำลายวงจรส่งออกข้าวอย่างรุนแรง

ข้อกังขาคือผลพวงที่รัฐต้องขาดทุนมหาศาล แต่ชาวนาจริงๆกลับไม่ได้รับราคาสูงสุดตามที่ได้หาเสียงไว้ คือข้าวเปลือกเจ้าที่ 15,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน โดยล่าสุดตามรายงานของสมาคมโรงสีเมื่อวันที่ 10 ส.ค. พบว่าข้าวเปลือกหอมมะลิที่รับซื้อจากเกษตรกรอยู่ในระดับเฉลี่ย 15,000 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ 9,000-11,000 บาท ถือเป็นราคาที่เพิ่งขยับขึ้นมาในช่วงนี้ แม้ว่าโครงการนี้จะดำเนินการมาแล้ว 1 ปีเต็ม

สิ่งที่ถือว่า "วิกฤต"อย่างหนักขณะนี้ คือภาคการส่งออก ต้องสูญเสียแชมป์ที่ครองต่อเนื่องมายาวนานนับสิบปี เนื่องจากแบกภาระต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย โดยสถิติส่งออกข้าว ณ วันที่ 1-6 ส.ค.2555 ทำได้เพียง 88,748 ตัน ขยายตัวลง -48.42% และเมื่อดูตัวเลขตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6ส.ค.2555 ประเทศไทยส่งออกได้ 4,049,309 ตัน ขยายตัว ดิ่งเหว -46%

"เอ็นนู ซื่อสุวรรณ" กรรมการสมัชชาปฏิรูปเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร และอดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. ผู้คลุกคลีกับชาวนาและเข้าใจถึงวงจรการค้าข้าวอย่างทะลุปรุโปร่ง มองว่าในระยะสั้นชาวนาได้ประโยชน์จากราคาจำนำที่สูง แต่ในระยะยาวนโยบายนี้ไม่เป็นผลดีและปัญหาเรื่องการรั่วไหลอย่างหนัก

ประเมินข้อดี ข้อเสียของโครงการจำนำข้าวอย่างไร

ข้อดีสำหรับตัวเกษตรกรโครงการจำนำข้าวถือว่าดี แฮปปี้มาก ได้ราคาจำนำที่ถือว่าสูง มีเงินในมือมากขึ้น ในแง่รัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือเกษตรกรตามที่ต้องการ และถือว่ากุมตลาดข้าวไว้ได้หมด แต่มีข้อระวังในแง่เกษตรกรคือได้เงินง่ายและสูงมาก ก็อาจจะไม่เก็บออม ไม่ได้ลงทุน แต่ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็ได้ และก็ไม่สนใจปรับปรุงคุณภาพข้าว แม้จะจำนำแต่ก็เหมือนขายขาด ไม่ไถ่ถอนแล้ว เพราะราคาจำนำสูงกว่าตลาด ในแง่ของรัฐบาลก็จะมีปัญหา ที่ต้องรับภาระงบประมาณไปเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านจะคาดหวังอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ชาวนาจะปลูกข้าวมากขึ้นเรื่อยๆ จากปกติเราก็ปลูกเกินความต้องการอยู่แล้ว

สอง คือเราต้องเสียเงินค่าเก็บรักษา เป็นภาระในการระบายข้าวถ้าเร็วก็จ่ายน้อย ช้าก็จ่ายมาก เพราะเราต้องฝากไว้กับโรงสีเอกชน หรือโกดังเก็บเอกชน ไม่ระวังให้ดีเกิดการรั่วไหล ในขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งถ้าระบายช้า ข้าวก็เสื่อมคุณภาพ เก็บไม่ดีก็เสื่อมเร็ว เก็บดีก็เสื่อมตามธรรมชาติอยู่แล้ว

วิธีการแก้ไข ต้องทำมาตรการควบคู่กับการจำนำ เกษตรกรต้องเน้นเรื่องให้ความรู้ทางการเงิน การออมเงิน ส่วนที่เกินมาจากปกติ จะให้ดอกเบี้ยพิเศษก็ว่ากันไป สาม คือให้รณรงค์ให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มผลผลิตต่อไป ลดต้นทุนควงคู่ไป ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ราคาข้าวที่จำนำจะไม่ถูกเรียกร้องให้เพิ่มราคา ให้เน้นที่กำไร ไม่เน้นที่รายได้ ถ้าเน้นรายได้ราคาจำนำต้องเพิ่ม เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ขายปุ๋ยจะใช้เป็นข้ออ้างเพิ่มราคา ชาวนาก็ขอราคาจำนำเพิ่มอีกเพราะต้นทุนเพิ่ม แต่ถ้าชาวนาลดต้นทุนได้ กำไรก็จะเพิ่ม

รวมทั้งต้องสอนชาวบ้านเรื่องคุณภาพข้าวด้วย ถ้าคุณภาพดีราคาก็เพิ่ม ถ้าคุณภาพไม่ดีก็ต้องตัดราคาลงนะ แทนที่จะดูแต่ความชื้น สิ่งเจือปน หรือน้ำหนัก ถ้าคุณภาพดี หมายถึง เวลาสีแล้วได้คุณภาพข้าวมาก เพราะเราพบว่าเกษตรกรจำนวนมาก ที่ทำนาปรัง ปีละหลายรอบ เพราะมีชลประทาน ชาวบ้านเห็นราคาดี พยายามปลูกปีละ 3 ครั้ง ก็ต้องหาพันธุ์อายุสั้นๆแค่ 80-90 วัน พอข้าวอายุสั้น ข้าวไม่แกร่ง เวลาสีเหลือข้าวน้อย ข้าวป่่นมาก ทำให้คุณภาพข้าวโดยรวมของประเทศมีปัญหา คิดว่าจำนำแล้วดีก็ต้องมีมาตรการเสริมด้านคุณภาพอย่างนี้ด้วย

ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมาก ทำให้รัฐมีภาระแบกสต็อค เป็นผลดีหรือผลเสียอย่างไร

รัฐบาลต้องจัดระบบการระบายข้าวออกไม่ให้เก็บนานเกินไป เพราะถ้าเกิน 6 เดือนคุณภาพข้าวจะเสื่อมอยู่แล้ว กรณีเก็บดีนะ แต่ถ้าเก็บไม่ดีก็ยิ่งเสื่อมเร็ว และถ้าระบายมั่ว ข้าวเก็บไว้นานจะไม่ได้ระบายออกไป รวมถึงวิธีการเก็บด้วย เอกชนก็ถือโอกาสที่รัฐบาลต้องเก็บไว้มาก อย่างข้าวเปลือกตอนนี้จำนำไว้ 16 ล้านตัน แปรเป็นข้าวสาร 6-7 ล้านตัน อย่างนี้ถามว่าใครจะให้ราคาสูง ไม่มีใครให้กำไร รัฐบาลก็ขาดทุนหนัก ประมูลได้ในราคาต่ำรัฐบาลก็ไม่กล้าขายอีก กลายเป็นงูกินหางสร้างปัญหาต่อไปอีก

ผมคิดว่ารัฐบาลขายจีทูจีจะดีกว่า ให้สต็อคลดลง ราคาจะได้ขยับ เพราะจีทูจีคนไม่ว่าอะไรถ้าราคาต่ำ และมีวิธีมาก ถ้าตลาดเก่า จีทูจีก็มีแถมได้ ราคาไม่ต้องลง แต่มีแถม เหมือนธุรกิจเอกชนขายสินค้ายี่ห้อดังๆเค้าจะไม่ลดราคา แต่เปิดนาทีทองซื้อสามแถมหนึ่ง เพื่อไม่ให้เสียราคา ยิ่งรัฐบาลไหนเกิดน้ำท่วม ฝนแล้งก็แถมไปให้เขา ไม่ให้ราคาเสีย เพราะจริงๆแล้วเราจำนำราคาขนาดนี้ ทิ้งข้าวไว้หลายเดือน ค่าเก็บรักษาเท่าไหร่ ยังไงก็ขาดทุน แต่เราคำนวณได้ว่าถ้าเก็บไว้ต่อไปจะขาดทุนเท่าไหร่ คำนวณได้หมด ถ้าไม่ทำอะไรเลยพ่อค้าจะถล่มรัฐบาล

หรืออย่างตลาดใหม่เราก็เปิดได้ ให้ทูตพาณิชย์ไปแจกเลย ช่วยผู้ยากจน ด้อยโอกาสได้กินข้าวไทย ต้องมีของแถม อร่อยแล้วมาซื้อใหม่ ส่วนที่สามคือจัดสรรในประเทศ เพราะมีหน่วยงานที่ต้องมาของบประมาณซื้อข้าวอยู่แล้ว หรือแม้แต่ในโรงเรียนชายแดน พื้นที่ความมั่นคง งบประมาณส่วนหนึ่งเราต้องให้เขาอยู่แล้ว ก็จัดสรรเป็นข้าวแพคพิเศษ ต่างหากเลยว่ามาจากรัฐบาลจะลดสต็อคได้ เมื่อมีข่าวว่าลดสต็อค จะทำให้ผู้นำเข้าต่างประเทศไม่ชะล่าใจ ต่างจากตอนนี้ยังไงเค้าก็กดราคาเพราะคิดว่าอีกสองเดือนเราก็ต้องขายแน่นอน

ทางแก้ไขในระยะยาวจะต้องเป็นอย่างไร

แก้ระยะยาวต้องเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา ตอนนี้น้อยมากต่ำกว่า 1% ขณะที่ประเทศพัฒนาเค้าให้ 2% ทั้งที่ข้าวทำรายได้เข้าประเทศไทยนับแสนล้านบาท ต้องทำให้เรามีข้าวหลากหลายชนิด เพื่อให้สามารถปลูกในพื้นที่ต่างกัน แต่ยังมีผลผลิตที่ดี บางพื้นที่น้ำท่วมบ่อย บางพื้นที่แล้งบ่อย ต้องมีพันธุ์์ทนน้ำท่วมบ่อย แล้งบ่อย ไม่เช่นนั้น พื้นที่น้ำดีคือนาปรัง พื้นที่น้ำน้อยผลผลิตก็ต่ำ รวมๆแล้วทั้งประเทศก็ศักยภาพในการผลิตต่ำ ดังนั้นเราต้องเพิ่มการวิจัยพัฒนาเข้าไป พันธุ์ข้าวพื้นเมืองก็เอามาปรับปรุงให้ดี ให้เรามีสินค้าเป็น 100 อย่างในการขาย เวลาเราขายก็บอกว่าเราไม่แข่งกับเวียดนาม เช่น พันธุ์ข้าวมีโภชนาการสูง กินแล้วเหมือนได้กินยาป้องกันโรคไว้ก่อน เช่น ที่เกษตรกำแพงแสน ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหินเหล็ก ผ่านการวิจัยแล้ววามีสารต้านอนุมูลอิสระ เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลน้อยเหมาะกับคนเป็นเบาหวาน มีธาตุเหล็กมาก คนที่มีเงิน ประเทศที่มีตังค์ จะสนใจแตกต่างจากข้าวของเวียดนาม ทั้งสายพันธ์ุ และงานส่งเสริมจะตามมา จะทำให้ข้าวไทยคงความเป็นผู้นำ ไม่แข่งราคาถูก แข่งราคาแพง ไม่แข่งเรื่องสร้างรายได้ชาวนา แต่แข่งเรื่องสร้างกำไรให้ชาวนา ซึ่งไม่เหมือนกัน สร้างรายได้จะเป็นภาระรัฐบาล ถ้าสร้างกำไรรัฐบาลใช้จ่ายไม่มาก แต่ชาวบ้านมีเงินเหลือมีกำไร

ผมเห็นที่เวียดนามมีนโยบายที่ดี ทำเมื่อปี 2551-2552 เค้ามีนโยบาย 3 เพิ่ม 3 ลบ แทนที่จะขึ้นราคาให้ชาวนา แต่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ สองเพิ่มคุณภาพ และสามเพิ่มกำไรให้ชาวนา ขณะเดียวกันต้องทำสามลดไปพร้อมกัน คือลดเลิกใช้ปุ๋ยเคมีเพราะราคาแพงขึ้นตามราคาน้ำมัน ลดการใช้ยาเคมีปราบศัตรูพืช สามลดใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกต่อไร่ ถ้าใช้ 10-15 กิโลต่อไร่ก็จะลดต้นทุนลง และปีนี้เวียดนามยังจะร่วมทุนกับพม่า จากที่ก่อนหน้านี้ร่วมทุนกับกัมพูชาไว้แล้ว เตรียมรับมือประชาคมอาเซียนหรือเออีซี เค้าเดินไปไกลแล้ว เราต้องรีบแก้ไม่มีอะไรสาย

ตอนนี้พูดกันเรื่องเฉพาะหน้าแต่ต่อไปอีกสองปีข้างหน้า จะมีปัญหาเมื่อปีเออีซี จึงต้องมีหน่วยงานสักหน่วยที่มีความสามารถมาดูแลข้าวไทยจริงๆทั้งระบบ มาดูท้ังตลาด ผลิต แปรรูป และตลาด แต่ไม่โยงการเมือง ไม่งั้นพรรคนี้จะเอาอย่างนี้ พรรคนี้เอาประกันราคา เกษตรกรก็งง ก็ควรมีสภาข้าวเลย มีตัวแทนรัฐบาล ผู้แทนชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก มารวมกันบริหารกันเอง ให้เราเป็นผู้นำได้ เน้นไปที่การมีข้อมูลข่าวสารให้คนรู้เท่าทันกัน จะรู้ว่าตลาดข้าวโลกเป็นอย่างไร คู่แข่งเป็นอย่างไร เมื่อมีเออีซีแล้วจะจับมือกับกัมพูชา พม่าได้หรือไม่ จะได้กำหนดทิศทาง ผลกระทบที่เกิดขึ้น นโยบายรัฐบาลจะได้ทำต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ต้องเปลี่ยนไป ทั้งเกษตรกร ชาวนา พ่อค้า งงหมดเลย ต้องเปลี่ยนใหม่

ต่อไปอาจไปตั้งศูนย์สินค้าข้าวถาวรในประเทศอาเซียน เพื่อจัดงานขายประจำเลย แทนที่จะจัดอีเวนท์เป็นครั้งคราว เราก็จัดตลอดให้เค้าทดลองกินได้เลย รายได้จากสภาข้าวนี้ ก็เอาเงินที่ได้จากระบบมาลงขันให้เกิดความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของรัฐบาลอย่างเดียว ตั้งมืออาชีพเป็นคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่ราชการเพื่อความคล่องตัว ทุกฝ่ายลงขันแล้วแต่ว่าใครจะลงเท่าไหร่จริงๆวิธีการนี้มีอยู่แล้วคือ อ้อยและน้ำตาล แต่ข้าวน่าทำเพราะปริมาณใหญ่กว่าอ้อยมาก แต่อ้อยกลับไปไกลกว่ามาก ส่วนข้าวต่างคนต่างทำ ต่างเอากำไรของตัวเอง ต่างฝ่ายต่างกินกันเอง ขอให้ขายได้ ไม่ได้รวมหัวกันคิด โรงสีก็สีให้มากที่สุด ไม่สนชาวนาได้เท่าไหร่ ผู้ส่งออกก็กดราคาให้ต้นทุนต่ำสุด ไม่มีใครคิดถึงใคร

โครงการนี้ทำให้ธกส.ต้องแบกรับภาระสูงมาก

ตอนนี้ธ.ก.ส.ใช้เงินไปแล้ว 2แสนกว่าล้าน เพราะเราทำ 2 รอบ ตามนโยบายจำนำทุกเมล็ด นาปี นาปรัง และนาปีกำลังจะเริ่มใหม่เดือนต.ค.นี้ ทุกๆครั้งก็ประมาณแสนกว่า สองแสนล้านทุกรอบที่มีการจำนำ สำหรับธกส.เราก็ลงขันไป 9 หมื่นล้าน แต่อีกแสนกว่าล้านเราให้รัฐฐาลกู้ แต่สุดท้ายก็กู้โดยธ.ก.ส.กู้ กระทรวงการคลังเซ็นค้ำประกันให้ เป็นการยืมชื่อธกส.ไปกู้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขาดทุนขึ้นมาธกส.ก็ต้องขอให้รัฐบาลต้องจ่ายคืน ซึ่งบอร์ดธ.ก.ส.ได้ขอมติครม.ไว้แล้ว เพราะถือเป็นโครงการรัฐบาล เพียงแต่เราได้ช้าเท่านั้น อย่างเช่นตอนนี้ยังไม่ขายข้าว ก็ปิดบัญชีไม่ได้ แม้ขาดทุนรัฐก็ไม่จ่ายเรา จะจ่ายก็ต่อเมื่อปิดโครงการ จะรู้ปีไหน ขาดทุนเท่าไหร่

ธ.ก.ส.ประเมินความเสียหายไว้เท่าไหร่

ตอนนี้มีการแปรข้าวเปลือกที่รับจำนำไว้ เป็นข้าวสารเก็บสต็อค 6-8 ล้านตัน มันมากสุดในประวัติศาสตร์ เพราะปกติแล้วการสต็อคเพื่อรับมือภัยพิบัติ เสียหายน้ำท่วม น้ำแล้ง 2 ล้านตันก็พอ และตอนนี้นาปีกำลังจะออกอีกรอบ ของเดิมเก็บเต็มโกดังอยู่แล้ว ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหนอีก คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่รวย มีโกดังเก็บ คือผมไม่ต้องทำอะไร สร้างโกดังมีหลังค่าคลุมก็ได้เงินแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าออกใบประทวน สำหรับการซื้อข้าวเปลือกที่อตก.และอคส.รับอยู่ 45 บาทต่อตัน ค่าฝากเก็บข้าวเปลือกที่ต้องจ่ายให้กับโรงสี 20 บาทต่อตันต่อเดือน

ค่าประกันภัย 14 บาทต่อตันต่อ 6 เดือน ค่าตรวจสอบคุณภาพ 16 บาทต่อตัน ค่ารักษาคุณภาพข้าว 6 บาทต่อตันต่อเดือน ค่าขนถ่ายตันละ 30 บาท ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสารที่แปรสภาพ ในอัตราไม่เกินตันละ 216 บาทต่อ 6 เดือน ประกอบด้วยค่าฝากเก็บ 120 บาทต่อตันต่อเดอน ค่าประกันภัย 14 บาทต่อตันต่อ 6 เดือน ค่าตรวจสอบคุณภาพข้าว 16 บาทต่อตัน ค่ารักษาคุณภาพข้าว 36 บาทต่อตันต่อ 6 เดือน ค่าขนถ่ายเก็บ 30 บาทต่อตัน มันมากอยู่ ยิ่งทำเยอะเท่าไหร่เป็นภาระมาก

ส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหาเรื่องการช่วยชาวนา แต่จ่ายมากน้อยไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล ไม่ใช่จ่ายแล้วสร้างปัญหาผลกระทบต่อมา ถ้าไม่ทำอะไร หลังเปิดประชาคมอาเซียน ชาวนารายย่อยจะตาย มีข้าวพม่า ข้าวกัมพูชาเข้ามา เมื่อก่อนเราไล่จับ แต่พอมีอาเซียนแล้วเราจับเค้าไม่ได้ ผู้ส่งออกโรงสี ก็ยังรวยเหมือนเดิม ใช้ระบบโลจีสติกส์เข้ามาช่วยยิ่งส่งออกเร็วขึ้น ทุกคนรวยหมดยกเว้นชาวนา

อยากให้วิเคราะห์ช่องโหว่ในการทุจริตของโครงการจำนำข้าว

เรื่องการจำนำข้าวมีช่องโหว่ได้ทุกขั้นตอน ขึ้นกับว่าเรารู้และเราคุมเรื่องนี้ได้อย่างไร ตั้งแต่ตอนขึ้นทะเบียนกับเกษตร ถ้าเกษตรกรกับเกษตรตำบลร่วมมือกัน เกษตรกรอาจโกหกก็ได้ บอกพื้นที่ผลผลิตไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เกษตรตำบลอาจใส่ตัวเลขไว้มากกว่าความจริง ร่วมกับโรงสี โรงสีก็ร่วมกับชาวนา ชั่่งน้ำหนัก วัดความชื้นต่างๆกันไป สิ่งเจือปนก็หักมากไว้ให้ตัวเองได้ประโยชน์ บริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวหรือเซอร์เวย์เยอร์ ถ้าจะตรวจให้ผ่านกระสอบเท่าไหร่ คุณภาพอย่างนี้ กินกันได้อีก

ตลอดไปจนถึงโกดังกลาง ที่โรงสีกับโกดังกลางอาจร่วมมือกัน ขนไปหรือไม่ขนไป หรือส่งไปมากน้อยไม่มีใครรู้ เจ้าของโกดังยังได้เงินตามตัวเลขรายงาน หรือเจ้าของโรงสีอาจเอาข้าวที่รับจำนำไว้ แต่มีคุณภาพดีออกขายไป แล้วเอาข้าวคุณภาพไม่ดีใส่แทน เพราะยังไงรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลต้องเก็บสต็อคอีกนาน ยังไงข้าวที่เก็บต้องเสื่อมคุณภาพอยู่แล้ว

ผู้ส่งออกก็อาจร่วมมือกับนักการเมือง ข้าราชการ ตอนประมูล ฮั้วกันได้อีก จะล็อบบี้ให้เจ้าไหนได้ไป ตอนประมูลก็ฮั้วกัน จะเห็นได้ว่ามีทุกขั้นตอน แม้แต่การแปรสภาพข้าว นำไปแปรจริงๆเท่าไหร่ ไม่จริงเท่าไหร่ หรือโรงสีอาจถือโอกาสทำโกดังเอง จริงๆไม่ได้มีการขนส่งไปโกดังกลาง ก็ต้องไล่ตรวจกัน

สมัยที่ธ.ก.ส.รับดำเนินโครงการ เราจะทำอย่างรัดกุมมาก ร่วมกับตำรวจและสำนักนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านจะกลัวมาก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่เกษตร เจ้าหน้าที่อตก. หรือเจ้าหน้าที่อคส. พวกนี้จะกลัวผู้ตรวจสำนักนายกฯ ส่วนชาวบ้านจะกลัวตำรวจ ก็ไม่กล้า เราจะทำที่เรียกว่า Surprise Check ไม่บอกล่วงหน้า แล้วก็จะทำก็ทำพร้อมกันเลย วันเดียวกัน ถ้าทำอย่างมีแผน ทุกคนก็รู้หมด จะขนข้าวหนีกันใหญ่เลย แต่เราทำสำเร็จ เราซีลกองข้าวด้วยพลาสติกคาดรัด และติดกล้องวงจรปิดถ่ายไว้ด้วย ถ่ายไว้3-4ตัว เอาภาพนั้นลิงค์เข้ามากรุงเทพ มันก็จะไปขยับกองข้าวจะเห็นเลย มีเจ้าหน้าทีมอนิเตอร์เห็น ถ้าไปขยับเรามีเบอร์โทรศัพท์ผู้ว่าฯและผู้การตำรวจ ภายในหนึ่งชั่วโมงจับได้เลย ก็มีจับได้นะ แต่น้อยเพราะเค้าเห็นเรามีระบบนี้ก็ไม่เสี่ยงดีกว่า เราจะลิงค์ให้ดูเลยว่ากดปุ่มปุ๊บออกมาเลย จะดูโกดังกลางกองไหน คือธ.ก.ส.เราเอาระบบแบงก์มาทำงานคือเช็คและบาลานซ์ ไม่ได้ใช้เงินมากมายอะไรนัก แรกๆก็มีคนบอกโรงสีเค้าไม่ยุ่งอะไรด้วยหรอก เราก็บอกว่าถ้าไม่ทำก็ไม่ให้ร่วมโครงการ ถ้าโกดังใหญ่ๆเราใส่แบบนี้หมดเลย เพราะโกดังเล็กๆเรารู้ว่าเค้าทำไปก็ไม่คุ้ม เราไม่ได้ทำทุกที่เฉพาะโกดังใหญ่ๆ

ข้อร้องเรียนของธ.ก.ส.ในพื้นที่มีมากน้อยแค่ไหน

เสียงร้องในโครงการล่าสุดมีน้อยเพราะธกส.ไม่ได้เข้าไปยุ่งล้ว การบริหรงานอยู่กับอตก. และ อคส. บทบาทอยู่ที่ฝ่ายนั้นแล้ว และที่ยังเห็นข้อบกพร่องอยู่คือเจ้าหน้าที่อตก.กับอคส.ซึ่งดูแลอยู่ ทำให้การออกใบประทวนผิดพลาด เพราะเค้าใช้คนน้อยมาก คนหนึ่งดูแลพื้นที่ 3-4 จังหวัด เป็นช่องทางให้โรงสีซิกแซกไปได้ ทั้งที่ความจริงต้องมีคนคุมทุกเจ้า ยิ่งในช่วงการรับจำนำต้องเข้าไปดู ที่ชั่งน้ำหนักหลอกชาวนาหรือไม่ ข้าวมาก ข้าวน้อย ตรงตามจำนวนหรือไม่ กรอกเอกสารตรงหรือเปล่า โรงสีดีก็โชคดีไป โรงสีไม่ดีก็ฉวยโอกาส ต้องรัดกุม

ตอนนี้ชาวนายังได้ราคาหอมมะลิแค่ 15,000 ส่วนข้าวเปลือกเจ้าได้แค่ 9,000

เรื่องราคาตรงนี้อยู่ที่ใส่ข้าวเข้าไปแล้ว โรงสีกดเครื่องคำนวณได้เท่าไหร่ ความชื้นเท่าไหร่ น้ำหนัก สิ่งเจือปนก็โกงกันได้ ต้องมีเจ้าหน้าคุม ตอนที่ธกส.บริหารงานดูแลเรากำชับให้เข้าไปดูเลย เช้าขึ้นมาก็ต้องไปทดสอบเครื่องดู ตอนแรกๆเราไม่รู้ไปถามอาจารย์เค้าบอกว่ามันปรับได้หมด ชาวนาไม่รู้เรื่อง ถ้าไม่มีคนจัดการดูให้ ก็เจอแน่ มันเปลี่ยนได้หมดเพราะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ตอนเช้าต้องเข้าไปดู รวมถึงเครื่องบดข้าว ผมเคยเข้าไปดูเองเลย มันจะคัดคุณภาพเท่าไหร่ให้ราคาเท่าไหร่ ตรงนี้ก็หักได้ทุกเรื่อง หัวใจหลักคือโรงสี เราต้องบังคับให้มี 3 ส่วน หนึ่งคือ ธกส. สองคือตัวแทนเกษตรกร สามตองมีข้าราชการแล้วแต่ผู้ว่าฯสั่งมา เป็นเจ้าหน้าที่เกษตร พาณิชย์หรือใครก็ไม่รู้ โดยระบบจะมีคณะกรรมการดูแลคุณภาพผลผลิตเกษตรระดับจังหวัด จะเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมให้ผู้ว่าฯตั้งมา แล้วเราก็จ่ายเบี้ยเลี้ยงไป มี 3 คน คุมได้ และมีเซอร์ไพร์สเช็ค พอเราทำระบบดีคนก็จะไม่เสี่ยง คนทุจริตจะน้อยลง

ตอนนี้รัฐสต็อคมากแต่กลับไม่มีการระบายออก หรือมีแค่ประมูลลับๆเท่านั้น

ตอนนี้ของในสต็อคออกน้อยมาก เท่าที่รู้ออกไปแค่ 2-3 แสนตันจาก 6-7 ล้านตัน เค้าพยายามประมูลแต่พ่อค้ากดราคา กรรมการก็ไม่กล้า ราคาต่ำไป เก็บเป็นปีๆแล้วสองคอร์ปแล้ว คุณภาพข้าวนาปีคงเสื่อมไปหน่อย นาปรังเพิ่งเข้ามา

ผมคิดว่าการขายจีทูจีก็ดี อาฟริกาก็เป็นตลาดใหม่ เรารู้ว่าเค้าต้องการกินข้าวอะไร สุดท้ายเราต้องคิดให้ครบ ไม่งั้นจะถูกมองว่าเราขายแต่ตลาดราคาถูก

ความเสียหายคร้ังนี้จะรุนแรงแค่ไหน

ไม่แน่ใจ ขึ้นกับหลายตัว ตัวที่มีผลมากที่สุดคือการเก็บสต็อค แต่ตัวที่ชัดๆคือเอาราคาตลาด ลบด้วยราคาจำนำ แต่ตัวนี้ผมว่าไม่เป็นไร เพราะเงินนี้ถึงมือชาวนา แต่ขอให้อย่ารั่วไหลเหมือนที่บอกไป เพราะชาวนาเค้าไม่ค่อยได้ราคาสูง แต่อย่าให้รั่ว

เมื่อเทียบกับประกันรายได้ นโยบายนั้นไม่รั่วมาก เพราะรัฐบาลไม่รับฝาก ปล่อยให้กลไกตลาดเดิน ช่วยคนมากกว่า เพราะ คอนเสป์คือขอให้เป็นชาวนามีแต่ได้ เจอแล้ง น้ำท่วมก็ยังได้ ขอให้ปลูกเถอะ แต่โครงการนั้นก็ยังต้องไปเพิ่มพวกคุณภาพข้าว และหลายๆจังหวัดระบบตลาดไม่ดี เพราะรัฐบาลให้ราคาเฉลี่ยไป แต่ถ้าพ่อค้าในพื้นที่นั้นฮั้วกัน กดราคาต่ำมาก จะขนไปขายจังหวัดอื่นยาก การที่ชาวนาจะไปเอาส่วนต่างจากราคาเฉลี่ย ก็น้อยมาก จึงอาจต้องปรับไปใช้การแทรกแซง หรือจำนำ ทุกอย่างไม่ใช่ใช้เครื่องมือเดียวแล้วจะทำทุกอย่างได้มหด ไม่มียาตัวไหนรักษาได้ทุกโรค แต่ประกันรายได้ในแง่ระยะยาวดี แต่ระยะสั้นจำนำดีกว่า

แต่ทั้งหมดผมคิดว่าอย่าเอาตัวราคาเป็นตัวที่ให้ชาวบ้าน ควรเอาตัวกำไรเป็นหลัก เพราะถ้าเอารายได้เป็นหลักชาวนาจะเรียกร้องราคามาก แต่สุดท้ายชาวนาก็จะไม่ได้อะไร เพราะทุกอย่างขึ้นราคาหมด ปุ๋ยเคมี พันธุ์ข้าวต่างๆ หรือไม่ก็เจ้าของนาหันมาทำเองดีกว่า หรือไม่ก็ขึ้นราคาค่าเช่านา ไล่ออกไปจากนาไม่งั้นก็ต้องจ่ายมาเพิ่ม อย่างนี้กลายเป็นว่าคนที่ทำเดิมเสียพื้นที่ทำกินอีก ผลกระทบจึงมาก ถือว่าดีเฉพาะหน้า สั้นๆดีมาก แต่ระยะยาวไม่มีตัวอื่นมารองรับจะเป็นปัญหาย้อนกลับมา แต่ตอนนี้คนมีข้าวแฮปปี้ ส่วนคนไม่มีข้าวเริ่มไม่แฮปปี้เช่นน้ำท่วมยังไม่ได้เงิน แต่ต.ค.นี้ข้าวจะมาอีกเพียบ รัฐบาลต้องทำการตลาดรองรับ เป็นหัวใจเลยเพราะรัฐบาลรับเป็นเจ้ามือเอง ข้าวเกือบทั้งหมดของประเทศอยู่ที่รัฐบาล

การที่รัฐบาลซื้อข้าวทั้งหมดอย่างนี้มีประเทศไหนเคยทำ

ประเทศคอมมิวนิสต์มั้ง เพราะเป็นสังคมนิยมที่เค้าคุมได้หมด อีกส่วนที่ผมคิดว่าเป็นมาตรการเสริมได้คือมาตรการโซนนิ่งข้าว ข้าวคุณภาพดี ก็ไปพื้นที่การผลิตที่มีน้ำ พื้นที่ไหนปลูกเอาไว้กินโดยระบบครอบครัว หรือให้คนไทยกินก็มีอีกโซนหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ใช้มาตรการเดียวกัน หรือ ซับพลายทูออล มันไม่ได้ ถ้าเราโซนนิ่งจะรู้ว่าพื้นที่ไหนควรได้ยาอะไร ไม่ใช่ยาตัวเดียวใช้กับโรคตับ โรคหัวใจ โรคปอด กินยาตัวนี้หมด





ช่องโหว่โครงการจำนำข้าวที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ในทุกขั้นตอน

การออกใบประทวนเพื่อเป็นหลักฐานในการรับจำนำ
•เกษตรกรร่วมมือกับเกษตรตำบล กรอกตัวเลขเกินความจริง


การส่งมอบข้าวในจุดรับจำนำ
•โรงสีร่วมมือกับเกษตรตำบล/เกษตรกร รับจำนำสูงเกินจริง
•โรงสีโกงเครื่องชั่งน้ำหนักและความชื้น


การแปรสภาพข้าว
•โรงสีไม่นำข้าวเปลือกไปแปรสภาพตามจำนวนและคุณภาพตามที่ส่งมอบไว้


การเก็บรักษาข้าว
•โรงสีร่วมมือกับโกดังกลางไม่ขนส่งข้าวตรงตามปริมาณและคุณภาพ แต่ลักลอบนำไปขาย
•โรงสีเก็บข้าวคุณภาพดีไว้ขายในโกดังตัวเอง


การตรวจสอบคุณภาพ
•บริษัทเซอร์เวย์เยอร์ รับเงินใต้โต๊ะในการเช็คสต็อคและตรวจคุณภาพข้าวในโกดัง


การเก็บสต็อค
•แอบลักลอบนำข้าวในโกดังไปขาย แล้วนำข้าวคุณภาพต่ำมาใส่คืน
•เช่าโกดังไม่ได้มาตรฐานข้าวเสื่อมสภาพ


การระบายข้าว
•ผู้ส่งออกจับมือนักการเมือง ฮั้วการประมูล
•รัฐขาดทุนจากการขายข้าวเสื่อมคุณภาพ ที่รับจำนำราคาสูง แต่ต้องขายถูก



Credit   http://isranews.org/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C/59-2012-08-12-13-59-01/15736-2012-08-14-04-53-36.html


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!