การเลี้ยงปลาไหลปัจจุบันยังไม่มีหนังสือเขียนเรื่องการเลี้ยงแต่มีข้อมูลดังนี้
ชื่อไทย
ไหล, ไหลนา, เหยี่ยน
ชื่อสามัญ
SWAMP EEL
ชื่อวิทยาศาสตร์
Fluta alba
ถิ่นอาศัย
พบตามหนอง บึง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำนิ่ง อาจจะพบในนาข้าว ร่องสวน ในบริเวณที่เป็นโคลนเลน
อาหาร
กินทั้งสัตว์ที่มีชีวิต และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย
ขนาด
ความยาวประมาณ 29-150 เซนติเมตร
ประโยชน์
เนื้อมีรสชาติดี ใช้ปรุงเป็นอาหาร บางท่านนิยมปล่อยปลาไหลเพื่อสะเดาะเคราะห์
ปัจจุบันได้มีการทดลองเลี้ยงที่สถานนีประมงน้ำจืดปัตตานี โทร.0-7343-9123
ปลาไหลนา เป็นปลาน้ำจืดที่พบเห็นทั่วทุกภาค โดยเฉพาะบริเวณแหล่งน้ำนิ่ง คูน้ำ หนอง และบึงต่าง ๆ พบมากเป็นพิเศษ
ในธรรมชาติชอบอาศัยตามพื้นดินโคลนที่มีซากพืชซากสัตว์เน่าเปื่อยสะสมอยู่ หรือที่ปกคลุมด้วยวัชพืช จำพวก หญ้าน้ำ หรือบัวต่าง ๆ
ปลาไหลนาที่พบเห็นในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ สีดำ กับ สีเหลือง ทั้งสองชนิดรูปร่างลักษณะลำตัวกลมยาวคล้ายงู สามารถอาศัยในพื้นที่ที่แห้งแล้งไม่มีน้ำได้นาน ๆ
ฤดูร้อนปลาไหลจะขุดรูอาศัยลึกประมาณ 1.0-1.5 เมตร และออกหาอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝนถัดไป
การที่ปลาชนิดนี้มีลักษณะลำตัวกลมยาวคล้ายงูและลื่นมาก ทำให้มีการอพยพย้ายถิ่นอยู่เสมอในช่วงเวลากลางคืน โดยจะเคลื่อนตัวไปตามร่องน้ำที่ชื้นแฉะหรือลำรางที่ไหลรินไปสู่แหล่งอาหารหรือที่อยู่ใหม่
ปัจจุบันนี้แหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ถูกบุกรุก เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยของมนุษย์และโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้สัตว์น้ำมีปริมาณลดน้อยลง ถึงแม้ว่าปลาไหลสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างดี แต่ไม่วายถูกผลกระทบไปด้วย
นอกจากนี้ยังถูกไล่เป็นอาหารด้วย
ในธรรมชาติปลาไหลกำลังลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการสูงขึ้นตลอด โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน
เหตุผลเพราะว่าเนื้อของปลาไหลนามีรสชาติอร่อยนั่นเอง
ราคาซื้อ-ขายในท้องตลาดก็ค่อนข้างสูง ประมาณ 70-80 บาท ต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้กรมประมง จึงได้ทำโครงการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ขึ้น จุดประสงค์เพื่อผลิตลูกพันธุ์ปล่อยสู่ธรรมชาติ และพัฒนาการเลี้ยงให้เป็นปลาเศรษฐกิจในอนาคต
โครงการนี้ได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นความพยายามของศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี กรมประมง นำทีมโดย คุณวสันต์ ศรีวัฒนะ ผู้อำนวยการศูนย์
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็คือ คุณสมพงษ์ สุวรรณทศ ผู้อำนวยการกองประมงน้ำจืด
"เราจับพ่อแม่พันธุ์ปลาไหลนามาเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ เพื่อเพาะขยายพันธุ์ได้หลายครอกแล้ว และตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปีนี้จะผลิตลูกไหลได้ประมาณ 500,000 ตัว ส่วนหนึ่งปล่อยสู่ธรรมชาติ และที่เหลือทดลองเลี้ยงขุนเป็นปลาใหญ่ ทั้งนี้เพื่อต้องการข้อมูลการเจริญเติบโต และต้นทุนการผลิต เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรที่สนใจต่อไป" คุณสมพงษ์ กล่าว
พร้อมกับบอกว่า "ที่ผ่านมาเราทดลองเลี้ยงลูก ไหลมาแล้ว 1-2 รุ่น พบว่าการเจริญเติบโตค่อนข้างดี และยังสามารถนำอาหารเม็ดสำเร็จรูปมาเลี้ยงอีกด้วย"
ในการเลี้ยงปลาไหลนาด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปนี้ มีข้อดีหลายอย่าง ไม่เพียงสะดวกและทำให้บ่อเลี้ยงค่อนข้างสะอาดเท่านั้น แต่ยังส่งให้คุณภาพเนื้อปลาปราศจากพยาธิด้วย
เขาบอกว่า หากเราให้อาหารกินสม่ำเสมอและเปลี่ยนถ่ายน้ำบ้าง ไม่เกิน 8 เดือน ผลผลิตปลาไหลนาก็ได้ขนาดที่ตลาดต้องการแล้ว
ปลาไหลนาลักษณะเพศคล้าย ๆ กัน
ปลาไหลนาเพศผู้และเพศเมีย มองลักษณะภายนอกจะคล้าย ๆ กัน แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่จะสามารถแยกเพศได้โดยการพิจารณาจากความยาวของลำตัวและอายุ คือ
ปลาไหลนาที่นำมาเพาะพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ทางศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี จะเน้นเฉพาะปลาไหลนาลำตัวสีเหลือง เพราะว่าเป็นความนิยมของตลาดทั่ว ๆ ไป
เทคนิคการเพาะพันธุ์ปลาไหลนา
คุณวสันต์ ศรีวัฒนะ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี บอกว่า การเพาะพันธุ์ปลาไหลนาสามารถทำได้ทั้งในบ่อดิน บ่อปูนซีเมนต์ และท่อซีเมนต์กลม แต่ต้องเตรียมความพร้อมดังนี้
บ่อดิน ต้องอัดพื้นแน่น ขนาด 200-400 ตารางเมตร ด้านบนปลูกพืชน้ำสำหรับเป็นที่วางไข่ของแม่ปลา ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในสัดส่วนเพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1 : 3 ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ปลาไหลนาจะวางไข่ได้ภายใน 2-4 เดือน โดยจะเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน เมื่อลูกปลาไหลฟักออกเป็นตัวจะมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยจะหลบซ่อนอยู่ตามรากหญ้าแล้วจึงรวบรวมนำไปเลี้ยงต่อไป
บ่อซีเมนต์ ขนาด 5.0x10.0x1.0 เมตร ใส่ดินในบ่อสูง 30 เซนติเมตร ปล่อย พ่อแม่พันธุ์ในสัดส่วนเพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1 : 3 ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เติมน้ำให้มีระดับสูงกว่าผิวดิน ประมาณ 10 เซนติเมตร ใส่พืชน้ำต่าง ๆ เพื่อให้เป็นที่หลบซ่อนและวางไข่ โดยปลาไหลนาจะก่อหวอดคล้ายปลากัด สามารถรวบรวมลูกปลาไหลได้หลังจากปลาไหลก่อหวอดประมาณ 5 วัน แล้วจึงนำลูกปลาไปอนุบาลต่อในตู้กระจกหรือในท่อซีเมนต์กลม
ท่อซีเมนต์กลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0 เมตร ปล่อยพ่อพันธุ์ 1 ตัว และแม่พันธุ์ 3 ตัวต่อ 1 ท่อบ่อ ใส่ดินสูงประมาณ 30 เซนติเมตร โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว จะสามารถวางไข่ตั้งแต่ 300-910 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่พันธุ์
"เราเคยนำพ่อแม่พันธุ์ปลาไหลมาฉีดฮอร์โมน เพื่อกระตุ้นให้แม่ปลา วางไข่และพ่อปลาไหลนาผลิตน้ำเชื้อ ปรากฏว่า ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องหันมาใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติดังกล่าวถึงจะประสบความสำเร็จ"
การอนุบาลลูกปลาไหล
คุณวสันต์ บอกว่า การอนุบาลลูกปลาไหลนานี้ จะอนุบาลในท่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0 เมตร หรือในถังพลาสติก หรือในตู้กระจกก็ได้ แต่ต้องให้มีน้ำหมุนเวียนและถ่ายเทได้ตลอดเวลา และมีพืชน้ำมัดให้ลอยเป็นกำพร้อมทั้งใส่ดินลงในบ่ออนุบาลด้วย
เขาปล่อยลูกปลาไหลนาลงอนุบาลในอัตรา 150-200 ตัว ต่อตารางเมตร
สำหรับอาหารที่เลี้ยงอนุบาลลูกปลาไหลนานั้นในช่วงแรกใช้ไรแดง หรือปลาสดบดละเอียด หรือฝึกให้กินอาหารเม็ดปลาดุกเล็กพิเศษก็ได้ โดยให้อาหารวันละ 2 มื้อ เช้าและเย็น ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน
เมื่ออนุบาลครบ 1 เดือน ก็ได้ความยาวของลูกปลาไหล ประมาณ 1.0-2.0 นิ้ว
ช่วงนี้ลูกปลาไหลจะเริ่มลงสู่พื้นดิน
เทคนิคการเลี้ยงปลาไหลนา
คุณวสันต์ บอกว่า การเลี้ยงปลาไหลนานั้นสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์ ขนาด 2.0x3.0 เมตร และขนาด 5.0x10.0 เมตร หรือในท่อซีเมนต์กลมที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1.0 เมตร ขึ้นไป โดยวางซ้อนกัน 2 ท่อ พื้นบ่อเทคอนกรีตหนา ประมาณ 1 นิ้ว พร้อมติดตั้งท่อระบายน้ำออก
ผนังบ่อด้านในควรฉาบให้ลื่น รองพื้นบ่อด้วยซังข้าวสลับกับโคลนและหยวกกล้วยสับละเอียด หนาชั้นละ 10 เซนติเมตร
เติมน้ำลงในบ่อเลี้ยงระดับความสูงของน้ำ ประมาณ 10 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงนำลูกปลาไหลนาไปปล่อยลงเลี้ยง
ปล่อยลูกปลาไหลนาที่มีขนาด 5.0 นิ้ว ในอัตรา 100 ตัว ต่อบ่อ หรือปล่อยลูกปลา จำนวน 3 กิโลกรัม ต่อบ่อ เสริมด้วยการให้อาหารเม็ด ปลาสดสับละเอียด หรือตัวอ่อนแมลงน้ำ
คุณวสันต์ บอกว่า เราจะเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก ๆ 2 สัปดาห์ ระยะเวลาที่ใช้ ในการเลี้ยงประมาณ 6-8 เดือน จะได้ปลาไหลนาที่มีขนาด 3-5 ตัว ต่อกิโลกรัม
1 บ่อ จะได้ผลผลิตประมาณ 20-30 กิโลกรัม
การเลี้ยงในท่อซีเมนต์กลม
การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
"การเลี้ยงปลาไหลนานี้ ถ้าจะให้ผลดี ควรจับปลาไหลนามาคัดขนาด ประมาณ 15 วัน ต่อครั้ง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปลากินกันเอง คือ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ไม่เช่นนั้นโอกาสที่ประสบความสำเร็จก็ยากเหมือนกัน" คุณวสันต์ กล่าว
ข้อพึงระวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากเกษตรกรจับลูกปลาไหลนาจากธรรมชาติมาเลี้ยงไว้ในบ่อควรแช่ยาฆ่าเชื้อโรคหรือกำจัดพยาธิภายนอกเสียก่อน และใช้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารให้ปลากินในอัตราที่เหมาะสมเพื่อป้องกันและรักษาโรค เพราะว่าปลาที่จับมาเลี้ยงมักบอบช้ำหรือมีบาดแผล ซึ่งเมื่อนำมาเลี้ยงมักอ่อนแอ หรือลำตัวเปื่อยเป็นแผล ไม่ค่อยกินอาหารและตายในที่สุด
คุณวสันต์ บอกว่า ปลาไหลนาที่ติดเชื้อแบคทีเรียสังเกตพบว่าท้องบวม บริเวณรูก้นบวมเป็นจ้ำแดงและมีเมือกออกมาปกคลุมลำตัวมากผิดปกติ เมื่อผ่าท้องพบอวัยวะภายในมีกลิ่นเหม็นมากโดยเฉพาะบริเวณตับ ในกระเพาะอาหารและลำไส้ปราศจากอาหาร นอกจากนี้ ยังพบพยาธิตัวกลมภายในกระเพาะอาหารหรือลำไส้โดยเห็นตัวและไข่พยาธิได้อย่างชัดเจน
สนใจรายละเอียดมากกว่านี้ ติดต่อไปได้ที่ ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี ตำบลปิตูมุดี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี หรือที่งานประมงน้อมเกล้า ที่เมืองทองธานี ต้นเดือนกันยายนนี้ มีลูกปลาไหล พ่อแม่ปลาไหลที่ได้จากการเพาะพันธุ์มาอวดโฉมด้วย
ข้อควรพึงระวังในการเลี้ยงปลาไหลนา
1. เนื่องจากปลาไหลนาเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่ที่เงียบสงบ การมีสิ่งเร้าจะทำให้ปลาตกใจหรือหยุดกินอาหารได้
2. ในการปล่อยลูกปลาไหลนาลงเลี้ยง ถ้าเป็นลูกพันธุ์ปลาที่ได้จากการรวบรวมจากธรรมชาติ ก่อนนำมาเลี้ยงควรแช่ยาฆ่าเชื้อโรคหรือกำจัดพยาธิภายนอกเสียก่อน รวมทั้งต้องคัดขนาดปลาที่ปล่อยเลี้ยงให้มีขนาดที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดในแต่ละบ่อ
3. ลูกปลาไหลนาที่มีขนาดความยาว ประมาณ 10 เซนติเมตร จะเริ่มตาย ดังนั้น ในระหว่าง การเลี้ยงควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ
4. ปลาไหลนาที่มีขนาดความยาว ประมาณ 10 เซนติเมตร จะพบว่ามีกล้ามเนื้อบริเวณโคนหางตาย ควรจับออก และมีการใส่ยากันเชื้อราบ้าง
5. อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงปลาไหลนาควรผสมวิตามินรวม และนอกจากการผสมวิตามินรวมในอาหารแล้ว อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ควรมีการผสมยาถ่ายพยาธิด้วย
6. ทุก ๆ 2 สัปดาห์ ควรมีการคัดขนาดลูกปลาไหลนา โดยในบ่อเลี้ยงแต่ละบ่อควรมีขนาดของปลาที่ใกล้เคียงกันเพื่อลดปัญหาการกินกันเอง
7. การจัดวางบ่อเลี้ยงไม่ควรให้อยู่กลางแจ้งมากนัก ควรมีที่บังแดดบ้าง
http://www.rakbankerd.com/agriculture/commerce/new_board01.html?id=2543