ต่อจากข่าวครูอ้อยนำเสนอครับผมเลยหาที่มาที่ไปของปี่พระอภัยมาให้ครับ พระอภัย..สิ้นเสน่ห์..เพราะปี่หายไป..ช่วยหาด้วยค่ะพระอภัยมณี ได้ปี่มาจากไหน?
สุจิตต์ วงษ์เทศ ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดาร และอื่นๆ โดยเฉพาะงานนิพนธ์ ซึ่งนิยมชมชื่นการเขียนบทกวี รวมถึงบทเสภา เคยเขียนถึง 'สุนทรภู่ ไว้ในหนังสือหลายเล่ม หลายวาระและหลายโอกาส ในวันนี้ กรณีของสุนทรภู่ ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อคุยลั่นดังไปทั้งเมือง เมื่อ 'ปี่ของพระอภัยมณี' ที่ตั้งอยู่กลางสวนสาธารณะในเมือง จังหวัดระยอง ถูกมือดีฉกไป ชนิดที่คาดไม่ถึง
โอกาสนี้มีหลายคนถามว่า ทำไมต้องเป็นปี่ของพระอภัยมณี ทำจากโลหะสำริด ทั้งที่เอาไปแล้วก็ขายไม่ได้ราคา จะเอาไปเป็นของสะสม ก็ช่างกระไรอยู่ ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจมากยิ่งขึ้น สุจิตต์ วงษ์เทศ มีเรื่องเล่าของสุนทรภู่ ว่า เหตุใดพระอภัยมณีถึงต้องมีปี่ และปี่นั้นสำคัญไฉน
สุจิตต์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ สุนทรภู่ ครูเสภา และทะเลอันดามันว่า .....ตอนนั้นพระอภัยมณีอายุ 15 ปี ส่วนศรีสุวรรณ อายุ 13 ปี ถูกพระบิดาสั่งว่า'พระลูกรักจักสืบวงศ์กษัตริย์ จงรีบรัดเสาะแสวงแห่งสถาน
หาทิศาปาโมกข์ชำนาญชาญ เป็นอาจารย์พากเพียรเรียนวิชา"
พระอภัยมณีรักวิชาดนตรี เพราะ 'หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง' และเชื่อว่า 'ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก' ก็ช่วยให้ 'ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง'
แต่ค่าเรียนดนตรีแพงมาก พราหมณ์ผู้สอนปิดประกาศว่า 'ถ้ามีทองแสนตำลึงมาถึงใจ จึงจะได้ศึกษาวิชาการ' พระอภัยมณีไม่มีทอง จึง 'เอาธำมรงค์ทรงนิ้วดัชนี ให้พราหมณ์ตีค่าแสนตำลึงทอง' แล้วก็ได้เรียนวิชาเป่าปี่กับอาจารย์ชื่อ พินทพราหมณ์รามราช
แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่ ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น
แต่เสือช้างกลางไพรถ้าได้ยิน ก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง
ประมาณเสร็จเจ็ดเดือนโดยวิตถาร พระกุมารได้สมอารมณ์หวัง
สิ้นความรู้ครูประสิทธิ์ไม่ปิดบัง จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล
ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ จะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจงเมื่อสอนวิชาเป่าปี่สำเร็จแล้ว พินทพราหมณ์รามราชมอบปี่ให้พระอภัยว่า 'แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง ยินสำเนียบถึงไหนก็ไหลหลง' พร้อมกับคืนค่าสอนวิชาดนตรีคือ 'อวยพรพลางทางหยิบธำมรงค์ คืนให้องค์กุมาราแล้วว่าพลัน' แล้วอธิบายว่า
ซึ่งดนตรีตีค่าไว้ถึงแสน เพราะหวงแหนกำชับไว้ขับขัน
ใช่ประสงค์ตรงทรัพย์สิ่งสุวรรณ จะป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา
ต่อกษัตริย์เศรษฐีที่มีทรัพย์ มาคำนับจึงได้ดังปรารถนา
จึงคืนเข้าบุรีรักษ์นครา ให้ชื่นจิตพระบิดาและมารดรฝ่ายศรีสุวรรณเมื่อเรียนวิชากระบี่กระบองสำเร็จก็ได้สิ่งของคืนเช่นเดียวกัน แล้วพากันกลับบ้านเมือง เมื่อกราบทูลพระบิดาให้ทรงทราบจึงถูกกริ้วว่า
อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลง เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง
แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวัง มันก็ยังเรียนร่ำได้ชำนาญ
อันวิชาอาวุธแลโล่เขน ชอบแต่เกณฑ์ศึกเสือเชื้อทหาร
เป็นกษัตริย์จักรพรรดิพิสดาร มาเรียนการเช่นนั้นด้วยอันใดว่าแล้วก็ขับไล่ไสส่งว่า 'จะให้อยู่เวียงวังก็จังไร ชอบแต่ไสคอส่งเสียจากเมือง'
พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเมื่อถูกขับออกจากเมืองแล้ว 'แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง' ต่อมาได้พบกับสามพราหมณ์ชื่อ โมรา สานน และ วิเชียร เมื่อไต่ถามความรู้กันแล้ว สามพราหมณ์สงสัยวิชาของพระอภัยมณีว่า 'ดนตรีมีคุณที่ข้อไหน หรือใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง'
พระอภัยมณีอธิบายว่า
พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไร ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จตุบาทกลางป่าพนาสิณฑ์
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีดีนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟังเมื่อพระอภัยมณีอธิบายเสร็จ 'แล้วหยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้ เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง พระเป่าเปิดนิ้วเอกวิเวกดัง สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ' เพลงปี่ที่พระอภัยมณีเป่าให้สามพราหมณ์ฟังมีเนื้อความว่า
ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย ถนอมเชยชมโฉมประโลมลานก็เพราะเพลงปี่คราวนี้เองที่ทำให้พระอภัยมณีพบกับ "อสุรีผีเสื้อน้ำ แล้วเกิดเรื่องราวพิสดาร ทำให้พระอภัยมณีต้องเป่าปี่อีกนับสิบครั้ง"
เรื่องพระอภัยมณีนี้ สุนทรภู่คงได้เค้ามูลจากหลายแห่งมาผูกเรื่องให้น่าอ่านน่าติดตาม เช่น
กระแสพระราชดำริในพระบาทนสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสว่า 'คงจะได้เค้าเรื่องอาหรับราตรีจากพวกเขกที่เข้ามาค้าขาย แล้วจำเอาเรื่องซึ่งรู้จากที่ต่างๆ มาเลือกคิดติดต่อประกอบกับความสันนิษฐานของตน เรื่องพระอภัยมณีจึงแปลกกับนิทานไทยเรื่องอื่น'
ที่สุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีชำนาญการเป่าปี่ แปลกกับวีรบุรุษในหนังสือเรื่องอื่นๆ นั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า 'มีเค้ามูลอยู่ในหนังสือพงศาวดารจีนเรื่อง ไซฮั่น คือเตียวเหลียงเป่าปี่เมื่อฮั่นอ๋องรบกับพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง'แต่เรื่องพระอภัยมณีเป่าปี่ยังมีเค้ามูลสำคัญอยู่ที่ ครูมีแขกด้วย
ครูมีแขก เป็นครูปี่พาทย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ชื่อมี เป็นเชื้อแขกเป็นคนฉลาด สามารถแต่งเพลงจนได้รับยกย่อง คือ เพลงทยอยใน ทยอยนอก 3 ชั้น เป็นต้น แทบจะถือกันว่าถ้าใครเล่นสองเพลงนี้ไม่ได้ นับว่ายังไม่เป็นปี่พาทย์
ครูมีแขกถนัดเป่าปี่ จึงปรากฏในคำไหว้ครูปี่พาทย์ว่า ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ ชื่อ 'ทยอย' ในที่นี้เป็นอีกเพลงหนึ่ง ไม่ใช่ทยอยนอกกับทยอยในที่กล่าวมาแล้ว ปี่เป่าแต่เาเดียวพวกปี่พาทย์เรียกกันว่า'ทยอยเดี่ยว' เป็นเพลงครูมีแต่งขึ้นเป่าตั้งแต่สมัยรชกาลที่ 2 ซึ่งยังไม่มีผู้ใดเคยทำมาก่อน แสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์และก้าวหน้าอย่างยิ่ง
ครูมีแขกนี้เมื่อรัชกาลที่ 4 เจ้านายหลายพระองค์มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระเทเวศร์ฯ กรมหลวงวงศาฯ เป็นต้น ทรงรวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน ครูมีแขกคนนี้ได้เป็นครูสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประดิษฐ์ไพเราะ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก ได้ว่ากรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบวรราชวัง อยู่มาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เป็นครูมโหรีของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (ตำนานเสภา ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2460)
ที่เล่ากันว่าครูมีเป็นเชื้อแขกนั้น อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าว่าเมื่อสอบถามทายาทของท่านบอกว่าไม่มีเชื้อสายเป็นแขกเลย หากแต่บ้านของท่านซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายคลองวัดอรุณราชวราราม อยู่ในหมู่บ้านของพวกที่ถือศาสนาอิสลาม นิกายเจ้าเซ็น จึงถูกเรียกชื่อว่า มีแขก อีกนัยหนึ่งครูดนตรีผู้ใหญ่บางท่านได้เล่าว่า เมื่อมารดาของท่านคลอดท่านออกมานั้นท่านมีกระเพาะครอบศีรษะออกมาเหมือนหมวกแขก ครั้นบิดาตั้งชื่อท่านว่ามี ญาติๆ ก็เรียกกันว่ามีแขก อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้สืบเชื้อสายโดยตรงของครูแขกมีนามสกุล ดุริยางกูร ร้านขายเครื่องดนตรีที่ชื่อ ดุริยบรรณ นายสาย ดุริยางกูร เป็นผู้หลาน (ปู่) ของท่านก็เป็นผู้ตั้งขึ้น (ศิลปกรรมปริทัศน์ ฉบับพิเศษ ครบสองร้อยปี รัชกาลที่สาม ปีที่สอง เล่มที่สอง 2530) ร้านนี้อยู่ตรงหัวถนนข้าวสารด้านสี่แยกคอกวัว ใครอยากได้เครื่องดนตรีไทยไปซื้อได้สบายมาก
สุนทรภู่อาจได้แนวคิดเรื่องปี่เป็นอาวุธมาจากเรื่องไซฮั่น ในขณะเดียวกันก็ยกย่องเพลงปี่ทยอยเดี่ยวของ 'ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ' จึงให้พระอภัยมณีเป่าปี่ทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ (อย่างครูมีแขก) และเป็นอาวุธ (อย่างไซฮั่น) ด้วย
ปี่ ที่สุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีเป่า ไม่ใช่ปี่จีน ไม่ใช่ปี่มอญ และไม่ใช่ปีแขก (ประเภทปี่ไฉนกับปี่ชวา) แต่เป็นปี่พื้นเมือง ที่มีพัฒนาการขึ้นเองในภูมิภาคอุษาคเนย์ แต่นิยมใช้อยู่ในราชสำนักไทย ลาว และเขมร รวมถึงใช้ในวงในราชาตรีด้วยความเป็นมาของปี่ชนิดนี้ สุจิตต์ เคยเสนอไว้ในหนังสือง 'ร้องรำทำเพลง'