เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ศิลปกรรมชิ้นเอกที่ทรงคุณค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ศิลปกรรมชิ้นเอกที่ทรงคุณค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  (อ่าน 2840 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1887
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13886


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: มิถุนายน 16, 2022, 09:13:37 am »

ข้อมูล ภาพ อยู่ในลิ้งค์ นี้

โค๊ด:
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=aksorn.pichai&set=a.10208476186134861



----------------------------------------------------
"เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์" ศิลปกรรมชิ้นเอกที่ทรงคุณค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดสร้างเรือนยอด ๙ ยอด น้อมเกล้าฯ ถวาย
โดยได้รับพระราชทานนามว่า “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์”
อันมีความหมายว่า
เรือนยอดที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ
ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ ในวาระอันเป็นมหามงคล

ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ,
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ,
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ ,
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ ,
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ วันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐
และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ วันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๔

สำหรับ “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์”
ตั้งอยู่ในสนามด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต
เป็นอาคารจัตุรมุขโถง ยกพื้นสูง มียอดทรงปราสาท ๙ ยอด
โครงสร้างและส่วนประกอบตกแต่งทั้งหมดหล่อด้วยโลหะ
โดยงานจำหลักไม้ต้นแบบเป็นฝีมือของช่างศิลปาชีพสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา

ลานโดยรอบ ซึ่งปูด้วยพื้นหินแกรนิตสีเทา
มีประติมากรรมสำริดรูปช้างสำคัญในรัชกาลที่ ๙
ประจำอยู่ตรงฐานบันไดทุกทิศ ฐานไพที
ที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหุ้มด้วยหินอ่อน มีระเบียงหิน
และเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์
มีบันไดด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นนาคพลสิงห์
หล่อด้วยสำริดเป็นรูปนาคทรงเครื่อง
บันไดด้านทิศใต้และทิศเหนือเป็นนาคพลสิงห์แบบโค้ง
หล่อโลหะสำริดเป็นรูปนาคจำแลง บันไดทางขึ้นมี ๓ ด้าน
ขั้นบันไดเป็นหินอ่อนคาราร่าสีขาว
ราวบันไดแต่ละด้านหล่อด้วยสำริดเป็นลำตัวเหราคาย
หัวบันไดเป็นรูปนาค ส่วนตัวเรือนยอด พื้นเรือนชั้นบนปูด้วยหินอ่อน
เป็นลายเหลี่ยมเพชร มีเสาย่อมุมทั้งสิ้น ๔๘ ต้น
แบ่งเป็นเสาร่วมนอกขนาดย่อม ๒๔ ต้น
ตกแต่งด้วยสำริดหล่อลายหงส์ ปิดทองรองซับด้วยกระจกสี
และเสาร่วมในขนาดใหญ่ ๒๔ ต้น ตกแต่งด้วยโลหะสำริด
หล่อลายครุฑยุดนาคลงรักปิดทอง รองซับด้วยโลหะกระจกสี
ระหว่างเสาทำเป็นซุ้มคูหา ตอนบนของซุ้มคูหาเป็นช่องฉลุโปร่งลายราชวัตร
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโลหะสำริดหล่อปิดทอง
ฝ้าเพดานโถงกลางตกแต่งด้วยการจำหลักไม้เป็นอักษรพระนาม “จ.ภ.”
ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
และที่ฝ้าเพดานโถงมุขทิศตะวันออกและตะวันตก
ตกแต่งด้วยการจำหลักไม้เป็นอักษรพระนาม “อ.ร.”
ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
ในส่วนของเครื่องบนหลังคาทั้งหมดเป็นสแตนเลส
โดยมีผืนหลังคาเป็นโลหะทองแดง
ขึ้นรูปเป็นกระเบื้องเกล็ดเต่าซ้อนเรียงกัน
ขอบด้านในหลังคามีกระจังรวนแขวนอยู่โดยรอบ
หล่อด้วยโลหะสำริด มุมประดับลายค้างคาวรูปกระจังปฏิญาณใหญ่
เครื่องลำยอง (เครื่องไม้ตกแต่งหน้าบัน)
เป็นรูปนาคเบือนสามเศียรทรงเครื่อง
ใบระกาแต่ละใบประดับประติมากรรมรูปเทพนมและเทพรำ
ช่อฟ้าเป็นแบบปากนกมีลวดลายภายใน
ส่วนที่สำคัญของเรือนยอดนี้ คือหน้าบันมุขแต่ละด้าน

โดยหน้าบันกลางทิศใต้ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย “ภ.ป.ร.”
ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

หน้าบันมุขด้านทิศเหนือ ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย “อ.ป.ร.”
ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

หน้าบันกลางทิศตะวันตก ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย “ส.ก.”
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

มุขด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย “ม.ว.ก.”
ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

หน้าบันมุขเล็กทิศใต้ฝั่งตะวันออก เป็นอักษรพระนามาภิไธย “ส.ว.”
ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

หน้าบันมุขทิศใต้ฝั่งตะวันตก เป็นอักษรพระนามาภิไธย “ม.อ.”
ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

หน้าบันมุขเล็กทิศเหนือฝั่งตะวันออก เป็นอักษรพระนาม “ก.ว.”
ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

และหน้าบันมุขทิศเหนือฝั่งตะวันตก เป็นอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.”
ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เครื่องบนส่วนเครื่องยอด ออกแบบเป็นแบบปราสาท ๙ ยอด
หล่อด้วยโลหะสำริดปิดทองประดับกระจก ยอดหลัก ๓ ยอด
ประดับด้วยพรหมพักตร์ ที่ย่อมุมไม้สิบสองยอดประธาน
ทำเป็นประติมากรรมรูปช้างสามเศียรหล่อสำริด
ประดับกระจกรับไขราทั้งสี่มุม เครื่องยอดทุกยอดประดับด้วยบันแถลง
นาคปัก และบราลี เป็นโลหะหล่อปิดทองประดับกระจก
ภูมิทัศน์โดยรอบเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
สร้างเป็นสระน้ำ ๔ สระ แต่ละสระมีประติมากรรมโลหะสำริด
หล่อรูปช้าง ม้า โค และสิงห์ ประดับอยู่ด้วย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙


(เรียบเรียงข้อมูลจากแผ่นป้ายจารึกประวัติการสร้างที่ด้านหน้าเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
และจากไทยรัฐออนไลน์ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙)


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: