พิมพ์หน้านี้ - เจ้าของพลังงานทั้งหลายโปรดทราบ

นานาสาระ => หน้าที่พลเมือง => ข้อความที่เริ่มโดย: b.chaiyasith ที่ กันยายน 08, 2013, 08:17:13 pm



หัวข้อ: เจ้าของพลังงานทั้งหลายโปรดทราบ
เริ่มหัวข้อโดย: b.chaiyasith ที่ กันยายน 08, 2013, 08:17:13 pm
สัมนาเรื่อง "สัมปทานปิโตรเลียมของไทย รัฐได้หรือเสียผลประโยชน์กันแน่" ที่จัดโดยกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ทัศนะเกี่ยวกับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมระหว่างฝ่ายกระทรวงพลังงาน และดิฉันในนามของอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ยังคงเป็นทัศนะที่เป็นคู่ขนานกัน

ในงานสัมนานี้ ฝ่ายของกระทรวงพลังงานยังคงยืนหยัดว่าสัมปทานปิโตรเลียมของไทย ระบบ Thailand 3 ซึ่งใช้มาตั้งแต่พ.ศ 2532 ที่จะเอามาใช้ในการให้สัมปทานรอบที่21 ในปีนี้หรือในอนาคตอันใกล้ยังคงเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเหมือนเดิม

ระบบ Thailand 3 เป็นระบบสัมปทานที่ยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมให้เอกชน และเอกชนแบ่งผลตอบแทนให้รัฐเป็นส่วนน้อย

เมื่อดิฉันเสนอให้ปรับปรุงระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เหมือนอย่างที่ทำในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย คนกระทรวงพลังงานก็จะอ้างว่า ประเทศเราถ้าเปรียบเป็นลูกสาว ก็เป็นลูกสาวที่ไม่สวย เลยเรียกร้องมากไม่ได้ ใครเชื่อบ้าง?

พอถามว่าถ้าเปรียบไทยว่าเป็นลูกสาวก็เป็นลูกสาวที่ไม่สวย แต่ทำไมผลผลิตก๊าซของไทยจึงผลิตได้มากกว่าพม่า ที่เปรียบเป็นลูกสาวสวย โดยปริมาณผลผลิตก๊าซของไทยอยู่ติดในอันดับโลกที่ 24 แต่พม่าอยู่ในอันดับที่36 ล่ะ ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าเพราะอะไร?

ดิฉันลองเอาตัวเลขมูลค่าผลผลิตปิโตรเลียมของไทยในปี2554 หักด้วยต้นทุนการขุดเจาะของเอกชนในปีเดียวกัน ผลผลิตที่หักต้นทุนแล้ว เอามาแบ่งกันระหว่างรัฐ กับ เอกชนตามแบบของอินโดฯ คือรัฐบาลอินโดฯ เอาส่วนแบ่งรวมภาษี 85% ส่วนเอกชนได้ส่วนแบ่ง 15% ปรากฎว่าสูตรนี้จะทำให้ประเทศไทยได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอีกถึงแสนล้านบาทในปี 2554

สูตรแบ่งปันผลผลิตของอินโดนีเซียเมื่อเอาตัวเลขผลผลิตของไทย และต้นทุนของเอกชนในช่วง30ปี (2524-2554) มาใช้ ปรากฎว่าไทยจะได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอีกถึง 6แสนล้านบาท

ปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของรัฐ ถ้าขายแพง รัฐได้เงินเข้าหลวงมาใช้พัฒนาประเทศ เป็นสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลฟรี หรือสวัสดิการด้านการศึกษาฟรีให้ประชาชน แต่ถ้ารัฐขายราคาถูกประชาชนก็ได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าครองชีพที่ต่ำลง

ดิฉันเห็นว่าวิธีนี้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย คือให้เอกชนสามารถหักต้นทุนตามจริงได้ทั้งหมด ผลผลิตส่วนที่เหลือนำมาแบ่งกัน ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรต้องได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชนจึงสมควร

เรื่องสัมปทานปิโตรเลียม ถ้ารัฐบาลเปิดให้เอกชนมาประมูล เอกชนรายใดที่เสนอผลประโยชน์ให้รัฐมากกว่า ก็ควรได้สัมปทานไป จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่กระทรวงพลังงานและนักวิชาการด้านพลังงานวันนั้น อ้างแต่ว่าเพราะประเทศเราเป็นลูกสาวไม่สวย จึงไม่สามารถจะเอาส่วนแบ่งมากเหมือนประเทศอื่น ไม่งั้นจะไม่มีคนมาขอ!!

ข้อดีของระบบแบ่งปันผลผลิตอีกประการหนึ่งคือ กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมยังเป็นของประเทศ แม้รัฐให้สัมปทาน แต่ไม่ได้ยกกรรมสิทธิ์ให้ไปด้วย เอกชนเป็นเจ้าของผลผลิตเฉพาะที่ได้รับส่วนแบ่งไปเท่านั้น

แต่ระบบสัมปทานที่ไทยใช้อยู่เวลานี้ กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ขุดได้ทั้งหมดเป็นของผู้รับสัมปทาน (รวมทั้งอุปกรณ์การขุดเจาะทั้งหมด) ซึ่งจะส่งออกปิโตรเลียมที่ขุดได้ออกทั้งหมด หรือส่งออกเท่าไหร่ก็ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าของสัมปทาน

ถ้าปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศไทย ขายในประเทศ ต้องขายในราคา "นำเข้า" ต่างจากพม่า ที่กำหนดว่าปิโตรเลียมที่ขายในประเทศต้องขายในราคาลด 30-50% จากราคาตลาดโลก

การที่คนไทยต้องใช้ราคาน้ำมันแพงเพราะ เจอราคา "นำเข้า" 2เด้ง ทั้งจากราคาน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศ และราคาน้ำมันกลั่นแล้วจากโรงกลั่นในประเทศ

เอกสารที่จัดพิมพ์แจกในวันนั้น เป็นรูปเล่ม4สีอย่างดี แต่ข้อมูลเป็นไปเพื่อตอบโต้ข้อมูลของดิฉันที่เคยเสนอไปก่อนหน้านั้น อีกทั้งข้อโต้แย้งต่างๆในโลกออนไลน์ และจงใจตอบโต้หม่อมกรเป็นหลัก ผู้ออกทุนพิมพ์ให้คือสถาบันปิโตรเลียม ที่ได้รับการว่าจ้างจากกระทรวงพลังงาน และอาจจะรวมถึงได้เงินทุนจากปตท.ในการศึกษา และจัดสัมนาหลายครั้งก่อนหน้านี้เพื่อเชียร์ระบบสัมปทาน Thailand 3

ที่น่าผิดหวังคือเอกสารชุดนี้ได้ใช้เครดิตของกรรมธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร มารับรองเพื่อใช้ในการออกมาตอบโต้ข้อทักท้วงของภาคประชาชน ถ้าพิมพ์โดยฝ่ายรัฐบาลก็จะไม่แปลกใจ แต่เอกสารนี้คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีจัดพิมพ์เผยแพร่ กลับเป็น ส.ส ของพรรคฝ่ายค้าน

ดิฉันเห็นว่ารัฐบาล และฝ่ายค้านอาจจะคิดต่างกันในประเด็นทางการเมืองเรื่อง นิรโทษกรรม และการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะคิดไม่ต่างกันเลยในเรื่องพลังงาน

ไม่ว่าพรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้าน ล้วนเห็นพ้องกันในเรื่องพลังงาน

คุณอิฐบูรณ์ได้ฝากข้อคิดไว้ว่า "นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างลอยแพประชาชนเหมือนกันในเรื่องพลังงาน "

แต่อย่างไรก็ดี เวลานี้ ประเด็นเรื่องพลังงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ที่จะมีแต่คนที่คิดเหมือนกันอยู่ฝ่ายเดียวคือฝ่ายการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักวิชาการด้านพลังงานเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจในการกำหนดทิศทางการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมของคนทั้งประเทศแบบเดิมๆที่สร้างความร่ำรวยให้คนกลุ่มน้อย สร้างความทุกข์ยากให้คนส่วนใหญ่ โดยไม่มีคนคัดค้าน ต่อต้าน อย่างที่เคยเป็นมานาน 30-40ปีอย่างเดิมอีกต่อไป

ประชาชนกำลังตื่นมากขึ้นเรื่อยๆมาทวงสิทธิของเขาในทรัพยากรปิโตรเลียมที่เขามีส่วนเป็นเจ้าของ และจะไม่มีวันปล่อยให้นักการเมืองทุกฝ่ายมากินรวบแบบเดิมอีกต่อไป

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=508428735900361&set=a.340522252691011.76552.236945323048705&type=1