หัวข้อ: สื่อนอกเตือนน้ำจืดมหาศาลไหลลงอ่าวไทยอาจก่อ “หายนะทางทะเล” ... เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤศจิกายน 17, 2011, 11:39:19 am สื่อนอกเตือนน้ำจืดมหาศาลไหลลงอ่าวไทยอาจก่อ “หายนะทางทะเล”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2554 14:14 น. เอเอฟพี - สรรพชีวิตในท้องทะเลอาจเป็นเหยื่อรายต่อไปที่ต้องผจญหายนะจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในไทย เมื่อมวลน้ำจืดหลายพันล้านลูกบาศก์เมตรที่ท่วมขังพื้นที่ภาคกลางกำลังทยอยไหลออกสู่ทะเล ผู้เชี่ยวชาญและนักอนุรักษ์ ระบุ ทางการไทยประกาศเตือนชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงปลาและหอยทะเล ตามแนวชายฝั่งให้หาวิธีป้องกันสัตว์น้ำในฟาร์มของตน เนื่องจากคาดว่าจะมีมวลน้ำจืดราว 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลทะลักออกสู่อ่าวไทย ซึ่งจะส่งผลให้ความเค็มของน้ำลดลงอย่างมาก นักอนุรักษ์เตือนว่า สารพิษจากพื้นที่เกษตรกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปะปนมากับน้ำ อาจส่งผลกระทบยาวนานต่อระบบนิเวศในทะเล และอาจเข้าถึงห่วงโซ่อาหารในที่สุด ผศ.ดร.ปราโมทย์ โศจิศุภร จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนว่า น้ำจืดปริมาณมหาศาลที่จะไหลลงสู่อ่าวไทยตลอดเดือนหน้า จะส่งผลให้ความเค็มของน้ำลดลงจนเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเล “ปัญหาคือ ระดับความเค็มของน้ำทางตอนบนของอ่าวไทยที่จะลดลงมาก เมื่อได้รับมวลน้ำจืดมหาศาล” อ.ปราโมทย์ เผย “น้ำจืดจะไม่ส่งผลกระทบต่อฝูงปลามากนัก แต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อาศัยอยู่ในโคลนเลน เช่น หอยแมลงภู่ หอยกาบ พวกนี้จะตายหมด” อ.ปราโมทย์ อธิบายว่า น้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทรจะส่งผลให้ปริมาณเกลือในทะเล ซึ่งปกติจะอยู่ที่ราวๆ 32 ส่วนต่อน้ำ 1,000 ส่วน ลดลงเหลือเพียง 2 ส่วนต่อน้ำ 1,000 ส่วน และน้ำทางตอนในของอ่าวก็จะกลายเป็นน้ำจืด “หากน้ำจืดคงอยู่นานกว่า 2 เดือน สัตว์ทะเลพวกนี้จะตายกันหมด” การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลาทะเล, หอยแครง, หอยแมลงภู่, กุ้ง, หอยนางรม และหอยกาบ เป็นรายได้หลักของระบบเศรษฐกิจริมทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะได้รับผลกระทบรุนแรงหากความเค็มของน้ำลดลง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14) กรมประมงเตือนให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใน จ.สมุทรสาคร เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือหาวิธีป้องกันไม่ให้น้ำจืดไหลเข้าไปยังบ่อเลี้ยง พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษจากกลุ่มกรีนพีซ กล่าวว่า น้ำท่วมที่ไหลออกสู่ทะเลจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตนับล้าน รวมไปถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอาจส่งผลกระทบถึงห่วงโซ่อาหารด้วย “ในระยะสั้น เราอาจเห็นปลาตายเกลื่อนชายฝั่งอ่าวไทยเพราะความเค็มของน้ำลดลง” เขากล่าว “สัตว์เล็กๆ บางชนิดจะอ่อนไหวง่ายต่อคุณภาพน้ำและความเค็มของน้ำที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นพวกมันจะตาย และกลายเป็นอาหารของปลาใหญ่” พลาย อธิบายว่า แม้ในที่สุดท้องทะเลจะสามารถฟื้นระดับความเค็มให้กลับมาดังเดิมได้ แต่สิ่งที่ต้องกังวลต่อไปคือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่การเกษตรที่ไหลปนมากับน้ำท่วม “กระแสน้ำจะชะล้างเอาสารเคมีลงไปในอ่าวไทย ซึ่งเป็นระบบนิเวศแบบปิด” ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสที่สารเคมีจะหลุดรอดเข้าไปถึงห่วงโซ่อาหาร พลาย กล่าว “ระบบนิเวศในอ่าวไทยค่อนข้างปิด กระแสน้ำไม่ไหลต่อเนื่องเพราะมีพื้นดินล้อมรอบ อัตราการไหลของน้ำจึงช้ามาก” อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดพาน้ำจืดไปทางตะวันตกของอ่าว เข้าสู่ภาคใต้บางจังหวัด รวมถึงเมืองตากอากาศชื่อดังอย่าง หัวหิน ทีมนักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพน้ำในอ่าวไทยสัปดาห์หน้า เพื่อประเมินว่ามวลน้ำจืดจะแผ่ขยายออกไปไกลมากน้อยเพียงใด ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะตั้งจุดทดสอบสภาพน้ำ 50 จุด รอบอ่าวไทย รวมถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา “เราจำเป็นต้องตรวจสภาพน้ำหลายๆจุด เพื่อประเมินว่า น้ำจืดจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างไร ยาวนานแค่ไหน และต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับสู่ภาวะปกติ” เจ้าหน้าที่กระทรวงซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าว |