พิมพ์หน้านี้ - ท่อน้ำตาอุดตัน

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => สุขภาพ => ข้อความที่เริ่มโดย: Nattawut-LSV Team ที่ ตุลาคม 17, 2009, 08:25:53 AM



หัวข้อ: ท่อน้ำตาอุดตัน
เริ่มหัวข้อโดย: Nattawut-LSV Team ที่ ตุลาคม 17, 2009, 08:25:53 AM
(http://www.dailynews.co.th/content/images/0910/17/page32/page34/num.jpg)

หลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีแฟนคอลัมน์ท่านหนึ่งได้ส่งคำถามปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับโรคตาเข้ามา ซึ่งคำถามปัญหาสุขภาพที่ถามมาค่อนข้างน่าสนใจมากทีเดียว และจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า โรคที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในเด็กจนถึงผู้ใหญ่วัยสูงอายุได้
       
คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพฉบับนี้ จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “โรคท่อน้ำตาอุดตัน”
       
หลายคนคงสงสัยว่า “โรคท่อน้ำตาอุดตัน” คืออะไร
       
คำตอบจากคุณหมอก็คือ ลักษณะอาการที่ส่วนมากแล้วจะมีน้ำตาไหลบ่อย ซึ่งบางครั้งก็จะมีขี้ตาออกมาด้วย ลักษณะของขี้ตาจะคล้าย ๆ เมือก มีความเหนียวสีขุ่นขาวหรืออาจมีสีเหลือง ในบางรายอาจมีอาการอักเสบบวมแดง หรือมีหนองแตกออกมาจากหนังตาล่างไปทางหัวตาได้   
       
คำถามต่อมาก็คือว่า แล้วอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโรคท่อน้ำตาอุดตัน?
       
ส่วนมากแล้วสาเหตุมักเกิดจากการอุดตันที่ปลายท่อน้ำตา โดยในเด็กแรกเกิดจะมีเยื่อบาง ๆ ปิดอยู่ที่ปลายท่อน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลลงไม่ได้ แต่เยื่อบาง ๆ นี้จะหายเองได้เมื่ออายุประมาณ 1 เดือน โดยหายได้เองมากถึงร้อยละ 90 มีเพียงส่วนน้อยที่ยังมีท่อน้ำตาอุดตันติดมาจนโต
       
ในผู้ใหญ่ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุการเกิด แต่พบได้ในคนสูงอายุ และพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย สำหรับรายที่ทราบสาเหตุอาจพบว่าเกิดท่อน้ำตาอุดตันหลังจากการผ่าตัดหรือฉาย รังสีที่โพรงจมูก หรืออาจเกิดโรคจากอุบัติเหตุทางรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทำให้มีกระดูกแตกที่ใบหน้าส่วนกลาง หรือมีการฉีกขาดของหนังตาบริเวณหัวตา มีเพียงส่วนน้อยมากที่เกิดขึ้นจากการมีเนื้องอกหรือการอักเสบในทางเดินน้ำตา ต้องบอกว่าการอักเสบนี้อาจเกิดจากโรคของผู้ป่วยเองหรือจากยาก็ได้เช่นกัน
       
การเกิดโรคท่อน้ำตาอุดตัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย อย่างที่อธิบายไว้ข้างต้นแล้วว่า สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในเด็กแรก เกิดจนถึงผู้ใหญ่คนสูงอายุ ขอเพิ่มเติมข้อมูลอีกนิดว่า ในผู้ใหญ่มักเกิดขึ้นกับเพศหญิงได้มากกว่า 80% ส่วนในผู้ชายมักเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุ
       
นอกจากนี้แล้ว ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็อาจมีอาการ   ของโรคนี้เกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมีอาการดังข้างต้นเมื่อใด   ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
       
แล้วท่อน้ำตาที่ว่านี้ล่ะ..อยู่ส่วนใดของตา?
       
ท่อน้ำตาของคนเรา เริ่มต้นจากรูท่อน้ำตาที่ขอบหนังตาบนและล่างบริเวณหัวตา จากรูที่หัวตาจะเป็นท่อจากหนังตาบนและล่าง เข้าสู่ถุงน้ำตา และต่อเป็นท่อผ่านกระดูกลงสู่จมูกบริเวณที่มักอุดตัน ได้แก่ รูท่อน้ำตา ท่อน้ำตาก่อนลงสู่ถุงน้ำตา และท่อน้ำตาส่วนที่อยู่ในกระดูก ซึ่งเป็นส่วนที่อุดตันบ่อยที่สุด
       
หากปล่อยทิ้งไว้ การอุดตันจะส่งผลอันตรายอย่างไรบ้าง?
       
ส่วนมากไม่เป็นอันตราย การอุดตันทำให้น้ำตา เมือก และเชื้อโรคขังอยู่ในท่อน้ำตา เมื่อเกิดอาการน้ำตาไหลจนรำคาญ บางรายอาจเกิดการอักเสบเป็นหนองได้ สำหรับรายที่มีต้อกระจกหรือต้อหินและจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด จะต้องรักษาท่อน้ำตาให้หายอุดตันเสียก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัดต้อกระจกหรือต้อหิน
การรักษาโดยทั่วไป?


       
เด็กแรกเกิดสามารถหายได้เองถึงร้อยละ 90 โดยไม่จำเป็นต้องรักษา ส่วนรายที่ไม่หายเอง การรักษาให้ได้ผลโดยการนวดบนท่อน้ำตาวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 3-4 ที โดยการใช้นิ้วกดที่หัวตา กดลงล่างให้มีแรงลงมาตามท่อน้ำตาเพื่อให้เยื่อที่ปิดอยู่ที่ปลายท่อทะลุออก ไป จะได้ผลดีมากในขวบปีแรก หากนวดได้ถูกวิธีหลังขวบแรกได้ผลน้อยลง และมักต้องรักษาด้วยการแยงท่อน้ำตา ซึ่งต้องดมยาสลบ จึงควรรอให้เด็กโตพอจนปลอดภัยก่อนจึงจะเริ่มดมยาได้ ซึ่งวิธีนี้ต้องให้วิสัญญีแพทย์เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง
       
ถ้าแยงท่อน้ำตาแล้วยังไม่หาย วิธีต่อไปคือ การผ่าตัดทำทางระบายน้ำตาใหม่ ซึ่งในผู้ใหญ่ส่วนมากต้องใช้วิธีการผ่าตัด และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ใช้ยาหยอดตาแล้วได้ผล
       
สำหรับการผ่าตัดท่อน้ำตานั้นมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดผ่านจากผิวหนังบริเวณหัวตาตามแนวฐานของจมูก โดยจะมีรอยแผลโดยประมาณ 1 เซนติเมตร อีกวิธีที่นิยมกันในปัจจุบันคือ การผ่าตัดผ่านทางรูจมูก ส่วนวิธีล่าสุดที่ทำกันคือ การใช้เลเซอร์ผ่าตัดผ่านทางท่อน้ำตา ซึ่งก็ให้ผลดี
       
การใช้คอนแทคเลนส์ น้ำยาหยอดตา การขยี้ตาแรง ๆ มีผลต่อการเกิดโรคหรือไม่?
       
การใช้คอนแทคเลนส์ การขยี้ตา ไม่มีผลทำให้เกิดท่อน้ำตาอุดตัน แต่การใส่คอนแทคเลนส์ในขณะที่มีท่อน้ำตาอุดตันอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ ง่าย เนื่องจากคอนแทคเลนส์มีรูพรุนเป็นที่เกาะสะสมของเชื้อแบคทีเรียได้ ส่วนยาหยอดตาบางชนิดอาจทำให้ มีอาการได้ แต่ในปัจจุบัน ยาดังกล่าวได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว
       
เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย การป้องกันตนเองที่ดีที่สุดก็คือ เมื่อมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง ให้รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค.

รศ.นพ.ทวีกิจ นิ่มวรพันธุ์
อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

(http://www.dailynews.co.th/newstartpage/includes/images/logo.gif)