หัวข้อ: อารมณ์กับคอมพิวเตอร์ เริ่มหัวข้อโดย: Nattawut-LSV Team ที่ ตุลาคม 07, 2009, 07:31:14 pm (http://www.dailynews.co.th/content/images/0910/02/page12/1011.jpg)
เคยแปลกใจไหมครับ ที่วันหนึ่ง เพื่อนเราที่นั่งอยู่ข้าง ๆ เกิดอมยิ้มคนเดียว เกิดอาการหัวเราะลั่นโดยไม่รู้สาเหตุ หรือนั่งน้ำตาไหลหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมเชื่อว่า หลายท่านคงเคยพบเจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้ และไม่ได้เจอแค่ครั้งเดียว แต่เจอบ่อย บ่อยเสียจนความรู้สึกเริ่มเปลี่ยนจากแปลกใจปนสงสัย กลายเป็นไม่แปลกใจแต่ยังสงสัย ในที่สุดก็กลายเป็นสงสัยใคร่ถาม และหนักที่สุด คือ สงสัยจนกระโดดไปนั่งแบ่งปันอารมณ์ร่วมหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ของเพื่อนเสีย เลย ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สิ่งที่พุ่งเข้ามากระแทกอารมณ์ของผู้ใช้ คือ เนื้อหาดิจิทัลที่ส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือผ่านสื่อบันทึกประเภทต่าง ๆ แต่ถึงอย่างไร ต่อให้เนื้อหาเหล่านั้นจะหรรษาหรือแสนเศร้าเพียงใด เจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์จอสี่เหลี่ยมที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า ก็ยังปั้นหน้าเรียบเฉย ไม่เคยรู้สึกอะไร ทำตัวเป็นเพียงแค่สื่อกลางที่ทำหน้าที่ส่งต่อเนื้อหาดิจิทัลมายังผู้ใช้ที่ นั่งอยู่หน้าเครื่องเท่านั้น แต่ยังครับ ผมเชื่อว่าในความคิดของหลายคน อาจจะคิดว่า ไม่จริงหรอก คอมพิวเตอร์ของตัวเองสามารถก่อให้เกิดอารมณ์ต่อผู้ใช้ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน อาจจะยั่วโมโหด้วยอาการที่อยู่ดี ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์เกิดแสดงอาการแปลก ๆ เช่น ช้าจนน่าสะพรึงกลัว หรือเมาส์เกิดไม่ขยับแถมคีย์บอร์ดไม่ตอบสนองขณะกำลังรอคอยข้อความบอกรักจาก อีกฝ่าย หรือบ่อยครั้งมันสามารถเรียกน้ำตาให้ไหลรินอาบแก้มโดยไม่รู้ตัว หากวันหนึ่งเกิดตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ไฟล์สำคัญที่ทำมาตลอดสองปีซึ่งต้องใช้ในอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้าเกิดหายไป โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นเรื่องของความพยายามในการสร้างความ สามารถในรูปแบบใหม่ให้กับเครื่องคอม พิวเตอร์หรือเครื่องอะไรก็แล้วแต่ที่สามารถถูกตั้งโปรแกรมได้ ความพยายามในรูปแบบนี้ เราเรียกอย่างเป็นทางการว่า การคณนาเชิงอารมณ์ (Affective Computing) ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างคอมพิวเตอร์ให้มีความสามารถเกี่ยวกับอารมณ์ ขึ้นมา เช่น การทำให้เครื่องสามารถรับรู้อารมณ์ของผู้ใช้ จากนั้นให้คอมพิวเตอร์สามารถสร้างอารมณ์เชิงบวกให้แก่ผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสม และรวมถึงการทำให้คอมพิวเตอร์มีอารมณ์ขึ้นมาบ้าง เรื่องการเพิ่มความสามารถเชิงอารมณ์ให้แก่คอมพิวเตอร์นั้น เป็นการประยุกต์ใช้ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ละเอียด และเหมือนมนุษย์มากขึ้น เรามาลองพิจารณาตัวอย่างง่าย ๆ ของการแปลความหมายของคอมพิวเตอร์จากประโยคธรรมดาที่แสนจะธรรมดาของหญิงสาว แต่ปวดหัวเหลือเกินสำหรับชายหนุ่ม ดังนี้ครับ ชายหนุ่ม: โกรธเหรอครับ หญิงสาว: ไม่... ชายหนุ่ม: ดีจัง ไม่โกรธแล้ว งั้นเราไปดูหนังกันนะครับ หญิงสาว: ไม่... ชายหนุ่ม: อ้าว ไม่ยอมไปดูหนังด้วยกัน แสดงว่ายังโกรธอยู่แน่เลย หญิงสาว: ไม่...ก็บอกว่า ไม่ก็ไม่สิ เซ้าซี้อยู่ได้ เห็นไหมครับ คำว่า “ไม่” คำเดียวโดยไม่มีข้อความอื่น ๆ ปรากฏอยู่รอบข้างเลย กลับกลายเป็นความหมายตรงกับคำว่า “ใช่...(แต่จะบอกว่า ไม่...มีอะไรไหม)” ถ้าขนาดมนุษย์ยังตีความไม่ได้ แล้วคอมพิวเตอร์จะไปเข้าใจความหมายให้ถูกได้อย่างไร ใช่ไหมครับ การแปลความหมายก็ถือว่าเป็นศาสตร์ใหญ่อีกแขนงหนึ่งในทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากตัวอย่างที่ผมยกมาไว้ข้างต้นนี้ หากเราไม่มีสถานะบอกอารมณ์ คงไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการวิจัยเพื่อสร้างให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกมา อาจต้องรอเวลาอีกสักพักที่เราจะได้เห็นการทักทายโดยโปรแกรมซึ่งรู้ว่า ขณะนี้เรากำลังมีอารมณ์แบบใด โดยการตรวจหาจากการแสดงอารมณ์ทางใบหน้า หรือจะได้เห็นโปรแกรมที่ค้นหาใบหน้าเคน ธีรเดช มาเรียกเสียงกรี๊ดจากเจ้านายตัวเอง เมื่อรู้ว่า เจ้าของเครื่องกำลังเบื่อถึงขีดสุด เพื่อหลอกล่อให้เจ้าของเครื่องยอมนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อไป ถึง อย่างไรก็ดี แม้ว่าคอมพิวเตอร์จะพยายามอย่างยากเย็นเพียงใด ในการตอบสนองผู้ใช้โดยใช้ตัวแปรทางด้านอารมณ์เข้ามาพิจารณา แต่คงเทียบไม่ได้กับความสามารถของมนุษย์ ที่มีสติระลึกรู้เท่าทัน ปล่อยให้อารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป รู้ว่ามันเป็นสิ่งไม่แน่นอน เหมือน ๆ กับทุกสิ่งบนโลกนี้...จริงไหมครับ. ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ sukree.s@chula.ac.th ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |