หัวข้อ: เมนูเด็กขี้แพ้ อาหารทดแทน: ทางเลือกของเด็ก ‘แพ้’ เริ่มหัวข้อโดย: b.chaiyasith ที่ กันยายน 03, 2009, 11:42:02 am จะทำยังไงดี ลูกพี่กินอะไรก็ไม่ได้ นั่นก็แพ้ นี่ก็แพ้ นี่ไม่รู้จะทำอะไรให้ลูกกินแล้วนะ” เสียงบ่นจากคุณแม่คนหนึ่ง ที่ลูกน้อยแพ้อาหารอยู่หลายชนิดเลยค่ะ จนเกิดอาการตัน คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรให้เจ้าตัวเล็กกินดี แม่ๆ บางคนคงประสบปัญหาแบบนี้อยู่เหมือนกันใช่ไหมคะ เรามาทำความรู้จักกับการแพ้อาหารของลูก พร้อมกับอาหารทดแทนที่เหมาะกับลูกเรากันเถอะค่ะ
ทำไมลูกรักถึงแพ้อาหาร การแพ้อาหารเป็นภาวะภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากกรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของลูกซึ่งไม่ทนทานต่ออาหารที่แพ้ หรือเกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหารนั้นๆ เพราะมีการกระตุ้นจากระบบภูมิต้านทานของร่างกาย โดยอาการแพ้เหล่านี้มักจะพบได้บ่อยในช่วงขวบปีแรก อาการแพ้อาหารของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันไป ในเรื่องของระดับของความรุนแรง ระยะเวลาที่เกิดอาการ ไปจนถึงปริมาณอาหารที่ได้รับ นอกจากนี้ อาหารบางชนิดถ้าแพ้แล้วอาจแพ้ตลอดไป แต่บางชนิดอาจหายได้เมื่อลูกโตขึ้น สำหรับอาการแพ้เกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยคือ • ระบบทางเดินอาหาร อาการแพ้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปากบวมเจ่อ คันบริเวณริมฝีปาก • ระบบผิวหนัง อาการที่พบบ่อยคือ มีผื่นคัน ตุ่มแดง ลมพิษ บริเวณผิวหนังหรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย • ระบบทางเดินหายใจ อาการที่พบคือ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันในจมูก คอแห้ง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หอบ มักพบร่วมกับอาการทางระบบทางเดินอาหารหรือผิวหนัง ลองสังเกตดูว่า เจ้าตัวเล็กมีอาการแบบนี้บ้างหรือเปล่า ถ้ามีอาจเข้าข่ายแพ้อาหารบางชนิดแล้วค่ะ ควรพาลูกไปทดสอบว่า แพ้อาหารชนิดไหนบ้าง และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น Top 6 Baby’s food allergy มีอาหารอยู่หลายกลุ่มที่เด็กๆ ขวบปีแรกมักจะแพ้กัน เราเลยรวบรวม Top 6 Baby’s food allegy อาหาร 6 กลุ่มที่เจ้าตัวเล็กแพ้กันอยู่บ่อยๆ มาให้แม่ๆ ได้รู้จักกัน แต่ใช่ว่าแพ้อาหารชนิดไหนแล้ว จะขาดสารอาหารที่ควรได้รับจากอาหารชนิดนั้นไปเลย เพราะเรามีทางเลือก อาหารบางอย่างสามารถทดแทนและเติมเต็มประโยชน์ตามที่ร่างกายต้องการได้เหมือนกัน มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ 1.นมแม่ทดแทนนมวัว ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ที่เราคุ้นเคยกันดี คงเป็นอาหารจำพวกชีส โยเกิร์ต ครีม นั่นแหละค่ะ การแพ้ก็อาจมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ พันธุกรรม และการแพ้โปรตีนเวย์ เคซีน และ b–lactoglobulin ซึ่งเป็นการแพ้โปรตีนนมวัว หรือที่เรียกว่า Cow Milk Protein Allergy ที่ทำให้มีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินอาหาร และอาจจะมีอาการทางผิวหนัง หรือระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ทางเลือก : นมแม่ นมถั่วเหลือง หรือนมไก่ โปรตีนในนมทางเลือกเหล่านี้ ย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่านมวัว แต่มีสารอาหารใกล้เคียงกัน จึงสามารถทดแทนกันได้ 2.เนื้อไก่ทดแทนถั่วลิสงและถั่วเหลือง นอกจากพันธุกรรมแล้ว ไกลโคโปรตีนในถั่วลิสงอาจเป็นสาเหตุของการแพ้อาหารชนิดนี้ได้ด้วย อาการที่พบเมื่อเกิดการแพ้คือ อาเจียน เป็นลมพิษ บางรายที่แพ้มากๆ อาจหายใจลำบากมากขึ้น ส่วนการแพ้ถั่วเหลือง อาจเกิดจากการแพ้โปรตีนที่เมล็ดถั่วเหลืองเก็บสะสมไว้เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของเมล็ดถั่วเอง และอาจเกิดจากการกินอาหารของแม่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมลูก เช่น กินนมถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษ นี่ก็มีส่วนส่งเสริมให้ลูกมีอาการแพ้ถั่วเหลืองได้เหมือนกัน อาการที่พบได้ คือ มีผดผื่นขึ้นตามตัว ควรหลีกเลี่ยงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง ถั่วสิสง เช่น ซีอิ้ว เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เนยถั่ว เค้ก คุกกี้ที่ใส่ถั่ว ควรอ่านฉลากเพื่อตรวจสอบว่ามีส่วนผสมของถั่วที่ทำให้แพ้หรือไม่ ทางเลือก : สารอาหารที่ทดแทนโปรตีนจากถั่วได้ คือ เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อปลา ไก่ แพะ แกะ หมู เนื้อวัว รวมถึงนมวัว 3.ถั่วเหลืองทดแทนปลาและอาหารทะเลอื่นๆ ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแพ้ปลาคือ โปรตีน parvalbumins และ Gad c1 ซึ่งมีอยู่ในเนื้อปลาทุกชนิด ส่วนโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในสัตว์ทะเลเปลือกแข็งประเภทกุ้งและหอย คือ tropomyosin ทางเลือก : รับโปรตีนจากแหล่งอื่น เช่น หมู ไก่ สาหร่าย ถั่วเหลือง รวมทั้งปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาทับทิม ฯลฯ ซึ่งมีโปรตีนที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย คล้ายกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ 4.เนื้อหมูทดแทนไข่ ส่วนใหญ่เด็กๆ มักจะแพ้เฉพาะไข่ขาว แต่เด็กบางคนอาจแพ้ไข่แดงด้วย ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแพ้คือ โปรตีนที่อยู่ในไข่ขาวชื่อ ovomucoid, ovalbumin และ ovotransferrin ดังนั้น การให้อาหารเสริมช่วง 6 เดือนจึงควรเริ่มด้วยไข่แดงก่อน ทางเลือก : รับโปรตีนชนิดอื่นจากเนื้อสัตว์ทดแทน เช่น หมู ไก่ ปลา แพะ แกะ นม รวมถึงการกินนมตามวัย 5.แป้งข้าวเจ้าทดแทนแป้งสาลี กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบมากในอาหารที่ทำจากแป้งสาลี เช่น เค้ก ขนมปังต่างๆ รวมทั้งธัญพืชโดยเฉพาะที่นิยมกินเป็นอาหารเช้า เช่น ซีเรียล ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต นอกจากนี้ กลูเตนยังมีมากในเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากแป้งสาลี ซึ่งพบบ่อยในเทศกาลอาหารเจ ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้ออาหารให้ลูก เพราะอาหารบางอย่างดูจากภายนอกอาจไม่รู้ส่วนผสมที่แท้จริง ทางเลือก : ควรกินอาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ซึ่งไม่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนกลูเตน ทำให้ลูกไม่แพ้ แต่ให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน แม้ลูกจะแพ้อาหารบางอย่างหรือหลายๆ อย่าง ก็ไม่เป็นอุปสรรคให้แม่อย่างเราถึงทางตันได้หรอกค่ะ ลองดูเมนูตัวอย่างสำหรับเด็กขี้แพ้ที่นำมาฝากกัน เป็นไอเดียในการประยุกต์อาหารทั่วไปให้เหมาะกับลูกได้อย่างไม่ยากเย็นซักนิด เมนูสำหรับเด็ก “แพ้” ข้าวต้มปลาใบตำลึง เครื่องปรุง ข้าวต้ม ½ ถ้วย เนื้อปลาทับทิมหั่นสี่เหลี่ยม 2 ช้อนโต๊ะ ใบตำลึงลวกสับ ½ ช้อนโต๊ะ น้ำซุป 1 ถ้วยตวง เกลือหรือซีอิ้ว วิธีทำ 1.ลวกปลาพอสุกพักไว้ 2.ต้มน้ำซุปให้เดือดปรุงรสด้วยซีอิ้วหรือเกลือ 3.ใส่ข้าวต้มและตำลึงลงไปต้มต่อ ชิมรส 4.ใส่ปลาที่เตรียมไว้ลงไป รอให้เดือดอีกครั้ง ตักเสิร์ฟได้ Modern Mom’s tip เมนูนี้ลูกที่แพ้อาหารทะเล กลูเตน นม ถั่ว ไข่ขาว สามารถรับประทานได้ กรณีที่แพ้ปลาทุกชนิดให้เปลี่ยนเป็นไก่หรือหมูได้ตามชอบ ถ้าลูกแพ้ถั่วเหลืองก็ใช้เกลือปรุงอาหารแทนได้ค่ะ ซุปสาคูหมูแครอต เครืองปรุง สาคูเม็ดเล็ก 2 ช้อนโต๊ะ น้ำซุป 3 ถ้วย หมูบด ½ ถ้วย แครอตสับหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ เกลือ ผักชีสำหรับตกแต่ง วิธีทำ 1.ผสมหมูบดกับแครอต เกลือ1/2 ช้อนชา น้ำสะอาด 3 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันพักไว้ 2.ต้มน้ำซุปให้เดือด ใส่สาคูลงไปต้ม คอยคนจนสาคูสุก 3.ตักหมูบดที่ผสมไว้แล้ว ปั้นเป็นก้อน ต้มในน้ำซุป จนสุก 4.ชิมรสอีกครั้ง 5 ตักเสิร์ฟร้อนๆ โรยหน้าด้วยผักชี Modern Mom’s tip สำหรับเด็กที่แพ้กลูเตน บางครั้งลูกอาจเบื่อเมนูจากข้าวจ้าว การนำแป้งชนิดอื่นมาปรุงอาหารนอกจากป้องกันอาการแพ้แล้ว ยังทำให้ลูกไม่เบื่ออีกด้วย ราดหน้าปลาช่อน เครื่องปรุง เส้นใหญ่ลวกหั่นเป็นเส้นเล็ก ½ ถ้วย ปลาช่อนนึ่งแกะเนื้อ 2 ช้อนโต๊ะ น้ำซุปกระดูกไก่ 1 ½ ถ้วย ผักกาดขาวลวกสับ 1 ช้อนโต๊ะ หอมใหญ่สับ 1 ช่อนโต๊ะ เกลือป่น 3-4 เกล็ดเล็ก แป้งข้าวเจ้าละลายน้ำ 2 ช้อนชา วิธีทำ 1.ใส่หอมใหญ่ ผักกาดขาว กับเกลือป่นในน้ำซุปกระดูกไก่ ใช้ไฟอ่อนเคี่ยวจนผักสุก 2.ใส่แป้งข้าวเจ้าที่ละลายน้ำคนให้เข้าจนแป้งสุกเหนียว ใส่ปลาช่อนนึ่งแกะเนื้อ 3 ตักราดเส้นใหญ่ที่ลวกไว้ Modern Mom’s tip เมนูนี้ใช้เนื้อปลาน้ำจืด และควรแกะเนื้อปลาช่อนเนื่องจากปลาช่อนเป็นปลาที่ก้างเล็กการแกะเนื้อเพื่อตรวจสอบก้างปลาป้องกันก้างปลาติดคอ หรืออาจใช้เนื้อไก่แทน สูตรนี้ไม่ใช่ซีอิ๊วดำและซีอิ๊วขาวหรือเต้าเจี้ยวเนื่องจากเด็กที่แพ้ถั่ว ให้งดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วด้วย ใช้แป้งข้าวเจ้าแทนแป้งมันเนื่องจากเด็กไม่แพ้ หากทดสอบว่าไม่แพ้แป้งมันก็ใช้ทดแทนกันได้ เมนูที่ไม่มีส่วนผสมของสิ่งที่เด็กแพ้ได้ ราดหน้าห้าสี เครื่องปรุง เส้นใหญ่ 100 กรัม สันในไก่หั่นสี่เหลี่ยม 100 กรัม ดอกกะหล่ำหั่นสั้นๆต้มพอสุกสับ 1 ช้อนโต๊ะ บร็อกโคลีต้มพอสุกสับ 1 ช้อนโต๊ะ แครอต หั่นสี่เหลี่ยมต้ม 1 ช้อนโต๊ะ มันสีม่วงหรือมันเทศต้มหั่นเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ กระเทียมสับ 1 ช้อนชา น้ำซุป 1 ถ้วย น้ำมันหอย 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1/4 ช้อนชา แป้งมัน 3 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวโพด 2 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ 1. ละลายแป้งมันกับแป้งข้าวโพดในน้ำแล้วพักไว้ 2. ผัดเส้นใหญ่ให้หอม พักไว้ 3. กะทะตั้งไฟใส่น้ำมัน กระเทียมลงไปผัดให้หอม 4.ใส่เนื้อไก่ผัดพอสุก 5. ใส่แครอท บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำลงไปผัดต่อ 6.ปรุงรสด้วย น้ำมันหอย เกลือ น้ำตาลทราย ลงไป 7. เติมน้ำซุปลงไปพอเดือดอีกทีก็ใส่แป้งที่เตรียมไว้แล้วลงไป ชิมรส Modern Mom’s tip เมนูจานนี้เหมาะสำหรับลูกวัย 1 ปีขึ้นไป ไม่มีส่วนผสมของอาหารที่เด็กๆ มักจะแพ้ ผักหลากหลายสีช่วยให้ร่างกายได้รับไวตามินและเกลือแร่ที่จำเป็น ซุปรวมพลังเบตาแคล เครื่องปรุง ฟักทองปอกเปลือกนึ่งยี 2 ถ้วยตวง งาขาวคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ น้ำซุปไก่ 1 ถ้วยตวง วิธีทำ 1.ต้มน้ำซุปพอเดือดใส่ฟักทองคนให้เข้ากัน 2.ชิมรสเติมงาขาวคั่วลงไป 3.นำส่วนผสมทั้งหมดไปปั่นให้ละเอียด 4. นำกลับมาต้มต่อให้เดือดอีกครั้ง Modern Mom’s tip เบต้าแคโรทีนที่ได้จากฟักทองและแคลเซียมจากงา ทำให้ลูกได้รับคุณประโยชน์ทั้งสองชนิดในคำเดียว และไม่มีส่วนผสมของอาหารที่ทำให้ก่อให้เกิดอาการแพ้บ่อยๆ ซุปไก่บด เครื่องปรุง ข้าวสวยใช้ส้อมบด ½ ถ้วย อกไก่ 30 กรัม ผักกาดขาว 25 กรัม น้ำซุปต้มกระดูกไก่ 2 ถ้วย วิธีทำ ใส่เครื่องปรุงทั้งหมดลงในหม้อที่ตั้งไฟอ่อน หมั่นคนสม่ำเสมอ จนสังเกตว่าข้าวเปื่อยเละเป็นโจ๊ก เทส่วนผสมลงในโถปั่นละเอียด จากนั้นเทใส่หม้อแล้วกวนต่อด้วยไฟอ่อน เพื่อไล่ฟองอากาศ Modern Mom’s tip สูตรนี้สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ที่เพิ่งลองอาหารเสริม หลังคุณแม่ให้ลองน้ำข้าวมื้อแรก 2-3 ครั้งแล้ว เด็กไม่มีอาการแพ้ วันที่ 2 ลองน้ำซุปต้มกระดูก และวันที่ 3 ลองน้ำต้มผักกาดขาว เมื่อไม่แพ้อาหารทั้ง 3 อย่าง ให้ลองซุปไก่บด โดยเมื่อเริ่มป้อนให้ครั้งละน้อย 2-3 ช้อน จากนั้นเพิ่มปริมาณเป็น 1 ถ้วยเล็ก หากเด็กรับอาหารได้หยาบขึ้นแล้ว ไม่ต้องปั่นข้าวให้ละเอียด แต่ปั่นเนื้อไก่ ผักและน้ำซุปให้เข้ากัน แล้วใส่ข้าวเคี่ยวไฟอ่อนแทน *หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและ วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของนิตยสาร modern mom กับวิชาการดอทคอม www.raklukefamilygr oup.com ที่มา : นิตยสาร Modern Mom ฉบับที่ 167 กันยายน 2551 |