พิมพ์หน้านี้ - งานเกษตร ..รวยใจ แต่จนเงิน?..น่าอ่านครับ

สารพัดช่าง-แนวทางอาชีพ => ●การเกษตร => ข้อความที่เริ่มโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ ธันวาคม 19, 2008, 10:02:40 pm



หัวข้อ: งานเกษตร ..รวยใจ แต่จนเงิน?..น่าอ่านครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ ธันวาคม 19, 2008, 10:02:40 pm
             ชูศักดิ์ หาดพรม   เขาสร้างสวรรค์ขึ้นมาจากก้อนหิน
     ชูศักดิ์ หาดพรม ซื้อที่ดินผืนนี้มาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ดินที่ฟันจอบลงไปที่ใดต้องเจอแต่หินลูกรังปะปนอยู่ตลอดทั้ง 22 ไร่ ที่ดินที่เสื่อมสภาพเสียจนเจ้าของเดิมไม่คิดจะทำการเพาะปลูกใดๆ อีกต่อไป จึงขายทิ้งเสียด้วยราคาเพียง 9,000 บาท วันแรกที่เข้ามาบุกเบิกที่นี่เมื่อ 6 ปีก่อน เขามองเห็นแต่ความแห้งแล้ง เสื่อมโทรม จากการสะสมใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ที่แม้แต่หญ้าต้นเดียวก็ยังไม่ยอมขึ้น เขาได้ยินแต่เสียงทัดทานว่าแม้แต่พื้นที่ที่ดินดี เขายังทำจนขาดทุนมานักต่อนัก นับประสาอะไรกับดินปนหินเช่นนี้
        แต่วันนี้ สิ่งที่เขาได้ทำนั้นเกินกว่าคำว่า "สำเร็จ" วันนี้หากใครได้มายืนที่นี่ ทอดตามองไปรอบๆ ผืนดินทั้ง 22 ไร่เบื้องหน้า ก็คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นี่คือสวรรค์โดยแท้ เมื่ออยากจะกินปลาก็เพียงแค่ลงไปจับในบ่อ อยากกินผักก็แค่เดินไปถอนจากแปลง มิพักต้องพูดถึงผลไม้นานาชนิด ที่แค่นั่งอยู่เฉยๆ ก็ออกดอกออกผลมาให้เก็บกินไม่หมด
        วันนี้เมื่อเดินย่ำไปตามผืนดินทั้ง 22 ไร่ ร่องรอยของดินสลับหินก้อนเขื่อง ยังคงแทรกแซมให้เห็นอยู่บ้างเป็นระยะ แต่ที่สัมผัสได้ชัดเจนกลับเป็นความชุ่มชื้นจากดินใต้เท้า กับเสียงแมลงใต้ฟางที่กรีดร้องประสานไปกับเสียงไก่ขัน เสียงปลากระโดดน้ำ และกบที่ร้องระงมอยู่ตรงบ่อโน้น หลายคนพิศวงอยู่ในใจว่าเขาทำได้อย่างไร เขาสร้างสวรรค์ขึ้นมาจากกองหินระเกะระกะพวกนี้ได้อย่างไร "เมื่อก่อนผมเคยปลูกข้าวโพดมาแล้วบนภูเขา 3 ลูก" ชูศักดิ์เล่าถึงอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่เขาเคยถากถางทำไร่เสียจนหมดภูเขาเป็นลูกๆ จนป่าที่เคยมีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ กลายสภาพเป็นไร่ข้าวโพดที่ไม่มีต้นไม้เหลืออยู่เลยสักต้น
        ประวัติชีวิตของเขาจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากเกษตรกรอีกนับล้าน ที่เติบโตมาในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังก้าวเดินไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ในทุกๆ ด้าน เขาเกิดที่บ้านหาดเค็ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน จังหวัดที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ จังหวัดที่ได้ชื่อว่ามีพื้นที่ราบเพียงแค่ 1 ใน 8 นอกนั้นเป็นป่าเขาที่โอบล้อม เป็นดั่งแนวพรมแดนธรรมชาติที่ปิดกั้นเมืองแห่งนี้จากโลกภายนอกมาช้านาน แต่แม้จะเป็นเมืองปิด ธรรมชาติที่พรั่งพร้อมก็เอื้อให้ชีวิตคนที่นี่ดำรงอยู่ได้อย่างพอเพียงมาโดย ตลอด
        จวบจนกระทั่ง 2 ทศวรรษก่อนที่ความ เปลี่ยนแปลงเข้ามาเยือนเมืองน่าน ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้วิถีการเกษตรของคนเมืองน่านเปลี่ยนแปลงไป จากข้าวหันมาปลูกข้าวโพด จากคำว่าพอเพียงก็เริ่มรู้จักทุน ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช จากที่แม้จะถากถางป่าก็เพียงแค่ไม่กี่ไร่ มาเป็นการบุกเบิกทีละนับร้อยไร่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ท้ายที่สุดผืนป่าจำนวนมากถูกทำลายลง ลำน้ำหลายสายเริ่มแห้งขอด แถมปนเปื้อนด้วยสารเคมี และบางครั้งยามน้ำหลากก็ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย เพราะขาดไร้เขื่อนธรรมชาติคอยเก็บกัก
        ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่เกิดขึ้นนี้ ชูศักดิ์ยอมรับว่า เขาเองก็มีส่วนร่วมในการ "ทำป่าให้เป็นทะเลทราย" นี้ด้วยเช่นกัน แต่แทนที่ถากถางทำลายป่าลงไปแล้ว จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองดีขึ้น ก็กลับทำให้ยิ่งยากลำบากกว่าเดิม " วิธีการปลูกข้าวโพดปลูกปอพวกนี้ พ่อค้าเขาจะตกเขียวให้เงินเรามาก่อน แล้วเราก็ไปบุกเบิกป่า ภูเขาตรงไหนว่างๆ เราก็ไปทำ เมื่อทำมากๆ ก็ต้องจ้าง ต้องใช้เงิน ซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าหญ้า จ้างรถเก็บ พอเก็บผลผลิตบวกลบคูณหารแล้วปรากฏว่าขาดทุนทุกปี"

 

 

 

            นอกจากจะขาดทุนแล้ว พิษของการปลูกพืชเศรษฐกิจเช่นนี้ก็ยังหันมาทำร้ายตัวเขาเองอีกด้วย เขาเห็นตัวเองค่อยๆ ผอมแห้งซูบซีดลงทุกวัน และอีกหลายๆ วันที่เขาหน้ามืดจนเกือบจะกลับบ้านไม่ได้ ท้ายที่สุดเมื่อเขาสลบไปจากฤทธิ์ยาที่พ่นใสไร่ข้าวโพด แต่มันกลับย้อนมาออกฤทธิ์ใส่ตัวเขาเองเข้า ชูศักดิ์จึงเริ่มตระหนักว่าถ้าไม่หยุดเขาต้องตายเพราะสารพิษเป็นแน่
        เขาจึงตัดสินใจเลิกปลูกข้าวโพดแล้วหันเหมาทำการเลี้ยงสัตว์ โชคร้ายก็ซ้ำเติมเขาเข้าอีกครั้ง เพราะหมูที่เลี้ยงไว้นับร้อยตัวเผชิญภาวะราคาตกต่ำที่สุดในรอบสิบปี เขาต้องนำหมูที่เลี้ยงไว้ออกแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง คนรู้จัก เพราะขายไปก็ไม่มีคนซื้อ ที่เหลือก็ต้องปล่อยให้ตายไปต่อหน้า
        บทเรียนครั้งนั้นทำให้ชูศักดิ์แทบจะร้องไห้ แต่ใครๆ ก็รู้ว่าเขาไม่ใช่คนที่ก่นด่าโชคชะตา สิ่งที่เขาทำคือนั่งลงคิด คิดว่าจะทำอะไรต่อไปดีเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว สิ่งที่ผ่านไปทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า นั่นเป็นเพราะวิถีเกษตรของการทำสิ่งใดสิ่งเดียวทีละมากๆ เพื่อหวังจะได้เงินก้อนโต ปลูกข้าวโพดทีละเป็นร้อยไร่ เลี้ยงหมูทีละเป็นพันตัว ถ้าเช่นนั้นคิดในทางกลับกันว่าหากเขาคิดทำเกษตรแบบไม่หวังเงินแต่ทำเพื่อกิน แล้วเล่า ผลจะเป็นอย่างไร

        ปี พ.ศ. 2536 หลังจากร่างกายทรุดโทรมจากสารเคมี ขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชูศักดิ์ตัดสินใจหันมาทำเกษตรบนพื้นฐานความคิดที่ว่า ทำเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวพออยู่พอกิน คนที่คิดเช่นนี้เมื่อ 6 ปีก่อน อาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ความกล้าบ้าบิ่นของชูศักดิ์อยู่ตรงที่ว่า เขาตัดสินใจทำเกษตรผสมผสานขึ้นบนที่ดินที่ใครเห็นก็ต้องส่ายหน้าว่าไม่มีทาง สำเร็จ ขนาดคนใกล้ชิดยังก่นด่าหาว่าเขาบ้า "ไม่มีใครเชื่อว่าผมจะทำได้ ก็ขนาดดินดีผมยังทำเจ๊งมาแล้ว ดินไม่ดีอย่างนี้จะยิ่งไม่แย่หรือ"
        ณ  เวลานั้นชูศักดิ์นึกแย้งอยู่ในใจว่า เขาต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะเขารู้ว่าด้วยวิถีเกษตรแบบนี้จะทำให้เขามีทั้งข้าวกิน มีผัก มีเป็ด ไก่ และปลาไว้เป็นอาหาร และอีกไม่นานไม้ผลก็คงจะเติบโตให้เขาเก็บขายเป็นรายได้ แต่ปัญหามีอยู่ว่าเขาจะสร้างมันขึ้นมาจากดินเช่นนี้ได้อย่างไร เขาจะหาน้ำจากที่ไหนมาสร้างความฝันให้เป็นจริง ในเมื่อ ป่ารอบๆ ถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก นั่นคือคำถามที่เขาขบคิดอยู่ ณ เวลานั้น แต่วันนี้เขาค้นพบแล้วว่า "น้ำมาหลังจากที่ความรู้เรามี"
        ชูศักดิ์เริ่มแก้ปัญหาดินจากจุดเล็กๆ ก่อน เขาขุดหลุมแล้วหาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์จากที่อื่นมาลงเฉพาะหลุม ปลูกต้นลำไย ลิ้นจี่ที่ทรงพุ่มกว้างต้นโตช้าก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เอาฟางและเศษวัชพืชมาคลุมเพื่อให้มันช่วยเก็บความชุ่มชื้นไว้ อีกทั้งมูลสัตว์เวลานั้นก็ยังมีอยู่มาก เพราะชาวบ้านหันไปใช้ปุ๋ยเคมีทิ้งมูลสัตว์ไว้ไร้ประโยชน์ เมื่อเขาไปขนมาใส่ต้นไม้ ชาวบ้านจึงชอบใจว่าเขาไปเก็บกวาดทำความสะอาดให้
ระหว่างนั้นชูศักดิ์ขุดบ่อเก็บน้ำขึ้นมา 1 บ่อ แต่การณ์ก็เป็นไปตามคาดก็บ่อไม่สามารถจะเก็บน้ำไว้ได้ ยามหน้าแล้งเขาต้องอดหลับอดนอน  หาบน้ำจากก้นบ่อที่แห้งเหือดแทบจะไม่เหลือติดก้น ขึ้นมารดน้ำต้นไม้ในเวลากลางคืน     เพื่อมิให้น้ำระเหยออกไปหมด แล้วสุมโคนด้วยเศษฟางเพื่อให้เก็บความชุ่มชื้นไว้ ด้วยวิธีนี้เขาค้นพบในเวลาต่อมาว่า แม้ยามแล้งจัดไม่ต้องรดน้ำสัก 1 เดือน ต้นไม้ก็ยังอยู่ได้
        หนึ่งปีผ่านไป ความพยายามที่จะปลูกต้นไม้บนก้อนหินของเขาก็เป็นผลขึ้นมา ผลไม้เริ่มเติบโต รากเริ่มแข็งแรงพอที่จะชอนไชไปดูดซับอาหารได้ด้วยตัวเอง แต่ปัญหาก็ตามมาอีกว่า เมื่อดินเริ่มชุ่มชื้นก็เริ่มมีหญ้าขึ้น สำหรับชาวสวนแล้ว "หญ้า" คืออุปสรรคสำคัญที่ต้องกำจัดทิ้งไม่ให้เหลือแม้แต่ต้นเดียว ยาฆ่าหญ้าบางชนิดจึงผสมมาเพื่อให้ออกฤทธิ์รุนแรงชนิดที่รับประกันได้ว่า หญ้าจะไม่ขึ้นไปอีกนานหลายปีทีเดียว
        แต่ก็ใช่ว่าเมื่อหญ้าตายแล้วอย่างอื่นจะไม่ตายไปด้วย ชูศักดิ์ประจักษ์ในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี เขาเองก็ยังสลบเพราะมันมาแล้ว เขารู้ว่าถ้าพ่นยาฆ่าหญ้าลงไป ดินที่เฝ้าฟูมฟักให้เกิดอินทรีย์วัตถุขึ้นมาก็จะเสื่อมสภาพไปหมด แมลงต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ต้นไม้ตามระบบของธรรมชาติก็จะพลอยตายไปด้วย แต่ถ้าไม่ฉีดยายอมเสียเงินจ้างคนมาดายหญ้าก็คงไม่มีใครยอมมา เพราะพื้นที่ที่เป็นหินลูกรังเช่นนี้
        มีคนบอกว่าปัญหายากๆ ทุกข้อในโลกนี้ต้องแก้ด้วยคำตอบง่ายๆ ชูศักดิ์เองก็เพิ่งประจักษ์กับตัวเองหลังจากครุ่นคิดเรื่องหญ้าอยู่นานหลาย วัน เขาก็พบว่าคำตอบนั้นง่ายมาก ก็ในเมื่อมีหญ้าขึ้นทำไมเขาไม่เอาวัวมาเลี้ยงให้กินหญ้าเสียเล่า แทนที่จะไปฉีดยาฆ่าหญ้าแล้วดินกับแมลงก็พลอยตายไปด้วย เมื่อนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับทางปศุสัตว์จังหวัดน่าน เขาจึงรู้ว่าวัวนั้นชอบกินหญ้าพันธุ์ลูซี่ หญ้าชนิดนี้เป็นหญ้าที่มีใบหนา เมื่อขึ้นบริเวณใดแล้วหญ้าชนิดอื่นๆ ก็จะไม่ขึ้น เขาจึงซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้าลูซี่มาหว่านลงในสวน หญ้าที่ชาวสวนชาวไร่ไม่มีใครต้องการ ก็เกิดงอกงามขึ้นมาเต็มสวนของเขา
        ปัญหาต่อไปก็คือจะหาวัวมาจากไหน ในเมื่อเขาไม่มีเงินที่จะซื้อวัวมาเลี้ยง ชูศักดิ์แก้ปัญหาด้วยการรับจ้างเลี้ยงวัวของคนอื่นในสวนของตน จากวัวรับจ้างเลี้ยง 5 ตัวแรก ปีที่ สองวัวออกลูกมา 5 ตัว ทำให้เขามีวัวเป็นของตัวเอง 2 ตัวครึ่ง เมื่อวัวออกลูกทบทวีขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีอาหารที่สมบูรณ์ ปีที่ 4 ชูศักดิ์ก็มีวัวถึง 20 ตัว จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรเลย
        แต่ใช่ว่าเมื่อแก้ปัญหาอย่างหนึ่งจบแล้วจะไม่มีปัญหาข้อใหม่ตามมา ให้เขาปวดหัวอีก เมื่อมีวัวมากินหญ้าแทนที่วัวจะกินหญ้าอย่างเดียว ก็กลับไปกัดกินยอดอ่อนของต้นไม้ที่กำลังเติบโตเข้าอีก เขาต้องกลับมานั่งขบคิดอีกว่า จะแก้ปัญหาวัวกัดกินยอดอ่อนของต้นไม้ได้อย่างไร คิดไปคิดมาเขาก็นึกได้ว่า ธรรมชาติของคนและสัตว์นั้นจะไม่กินมูลตัวเอง และเมื่อทดลองนำน้ำละลายขี้วัวไปรดยอดอ่อนของต้นไม้    ปรากฏว่าวัวเหม็นสาบมูลตัวเอง จึงไม่กัดแทะยอดอ่อนอีกต่อไป
        ด้วยคำตอบง่ายๆ ที่สอดคล้องกับธรรมชาติในทุกคำถาม ต้นไม้จึงเติบโตขึ้นเต็มสวนของเขา เมื่อต้นไม้เริ่มโตทำให้พื้นดินที่เคยแห้งแล้งกลายเป็นป่าย่อมๆ ขึ้นมา เขาก็ขยับขยายบ่อน้ำให้ใหญ่ขึ้น เมื่อมีบ่อก็เริ่มเลี้ยงปลาพร้อมกับเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ดไก่เพื่อให้ถ่ายลงเป็นอาหารปลา
         ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของชูศักดิ์ทีละขั้น จากการอ่านหนังสือบ้าง สอบถามจากผู้รู้บ้าง สังเกตจากธรรมชาติบ้าง ทำให้พืชและสัตว์เจริญเติบโตงอกงามขึ้นบนดินปนหินทั้ง 22 ไร่ของเขา ที่ดินที่เจ้าของเดิมขายทิ้งเสียด้วยเงินเพียง 9,000 บาท เพราะไม่คิดว่าจะทำประโยชน์ใดๆ ได้อีก ทุกวันนี้หากจะนับไปแล้ว เขามีรายได้จากการขายลิ้นจี่เพียงอย่างเดียวก็ตกปีละนับแสนบาท ยังไม่นับรวมถึงพืชผักที่เก็บขายได้ทุกวัน หมูที่เลี้ยง ปลา กบ เป็ดไก่ ส้มโอ และมะละกอที่ออกลูกดกเสียจนต้องหาไม้มาค้ำมิให้ต้นล้ม
        แม้จะมีรายได้มากกว่าสมัยที่ปลูกข้าวโพดหลายเท่าตัว แต่ชูศักดิ์ในวันนี้ยังยืนยันความคิดเดิมตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามาบุกเบิก ที่นี่ว่า เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ "ผมคิดว่าที่สำคัญครอบครัวผมอบอุ่นมากขึ้น ญาติพี่น้องมาเยี่ยมก็มากินกันที่นี่ มาเยี่ยมมาหากันบ่อยๆ เมื่อก่อนนี้ปลูกข้าวโพดก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้มาเยี่ยม แต่ตัวเราจะกินก็ยังไม่มี ไม่มีเวลาจะกินด้วย มาหาก็ไม่อยู่ แต่ตอนนี้ผมอยู่ที่นี่ตลอด"
        เมื่อเห็นภาพของครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตา มีต้นไม้ ผักปลา ที่ออกผลราวกับเนรมิต ได้ยินเสียงพูดคุยที่สื่อสะท้อนถึงความสุขของทุกคนแล้ว ใครเลยจะอดคิดไม่ได้ว่าที่นี่คือสวรรค์โดยแท้ สวรรค์ที่สร้างขึ้นด้วยมือของมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเขา
        เรื่องราวของชูศักดิ์ หาดพรม คนที่ปลูกต้นไม้บนก้อนหินได้สำเร็จ คนที่สร้างสวรรค์ขึ้นมาได้จากความว่างเปล่าก็คงจะจบลงเพียงเท่านี้ หากชายคนนี้จะหยุดทุกอย่างไว้ที่ความพออยู่พอกินในครอบครัวของเขา แต่คนช่างคิดอย่างเขากลับตั้งคำถามขึ้นมาอีกว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ความพอเพียงที่เกิดขึ้นมานั้นยั่งยืนอีกด้วย เขารู้ว่าคำตอบนั้นง่ายแต่จะทำให้สำเร็จกลับเป็นเรื่องยาก นั่น คือต้องชักชวนคนอื่นให้หันมาทำเกษตรเช่นนี้ด้วย เพื่อสร้างบริเวณรอบๆ ให้เป็นป่าขึ้นมา มีต้นไม้คอยเก็บความชุ่มชื้นให้กับดิน แต่คำว่าป่าในความหมายของเขา นั่นมิได้หมายถึงป่าทั้งผืน อันประกอบด้วยไม้ยืนต้นอย่างไม้สักหรือไม้ยาง ที่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะสร้างให้เป็นป่าขึ้นมาได้ แต่คือสวนเกษตร ที่ทำให้คนปลูกได้เก็บกิน ใช้สอยไปจนสืบชั่วลูกชั่วหลาน
        ความที่เขาได้ทำให้สำเร็จเห็นผลมาแล้ว การชักชวนให้คนอื่นเดินตามทางของเขาจึงไม่ใช่เรื่องยาก กลุ่มเกษตรกรยั่งยืนบ้านหาดเค็ด กิ่งอำเภอภูเพียง จึงเกิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2538 จาการเริ่มต้นในหมู่ญาติพี่น้อง ปัจจุบันขยายออกไปจนมีสมาชิกถึง 60 กว่าครอบครัว เข้ามาร่วมกันสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนดินอีกครั้ง
        จากจุดเริ่มต้นเพียงแค่การให้แนวคิด ช่วยกันปรึกษาหารือถึงวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ชูศักดิ์และเพื่อนสมาชิกก็ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น เพื่อให้สมาชิกที่ต้องการทำเกษตรผสมผสานซึ่งให้ผลตอบแทนช้า สามารถกู้เงินไปเสริมปัจจัยการผลิตได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย กลุ่มออมทรัพย์ที่พวกเขาช่วยกันสร้างนี้ไม่มีการปันผลให้กับสมาชิกที่นำเงิน มาออม เพราะถือเป็นการเกื้อกูลกันในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล หากวันหนึ่งข้างหน้าใครที่เคยออมอยากจะกู้บ้าง ก็สามารถกู้ได้โดยไม่เสียดอกเบี้ยเช่นกัน
        นอกจากนี้พวกเขายังตั้งกลุ่มเลี้ยงสัตว์ขึ้นมา อาศัยประสบการณ์ตรงที่ชูศักดิ์เคยขบคิดจนปวดหัวมาแล้ว ในเรื่องหญ้า วัว และมูลสัตว์ เขารู้ว่ามูลสัตว์นั้นเป็นประโยชน์ยิ่งเสียกว่าปุ๋ยเคมีใดๆ อีกทั้งการทำเกษตรผสมผสานทำให้มีพื้นที่ว่างไม่น้อย หากเกษตรกรมีวัวสักคู่ก็จะประหยัดเวลาดายหญ้า แถมยังได้ปุ๋ยเพิ่มอีกด้วย โครงการดังกล่าวจึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของกรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุนวัว ถึง 40 ตัว เพื่อนำมาแบ่งปันให้สมาชิกยืม ทำให้ในเวลาไม่นานสมาชิกแต่ละคนก็มีวัวเป็นของตัวเอง
        ปัจจุบันกลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านหาดเค็ด ขยายเครือข่ายไปยังอำเภอใกล้เคียงคืออำเภอสันติสุข มีสมาชิกรวมแล้ว 200 กว่าครอบครัว นอกจากจะมีเงินที่สมาชิกช่วยกันออมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกด้วยกันแล้ว ก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือจากองค์การต่างประเทศ ที่มองเห็นความพยายามและความตั้งใจที่แท้จริงของพวกเขา

       ทองดี   นันทะ   เกษตรกรเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน

             พ่อจารย์ทองดี นันทะ ปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับ ไม่เฉพาะด้านการเกษตรแบบเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน ที่เป็นต้นแบบของเกษตรผสมผสานในภาคอีสานเท่านั้น ยังเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมที่ใช้วิถีปฏิบัติตามฮีตตามคอง ปกครองหมู่บ้านได้รับการเลือกให้เป็นจ้ำ รักษาศาลปู่ตา หลักบ้านหลักเมืองในหมู่บ้านตลาด ตำบลต้นเหลือง อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่นอยู่เย็นเป็นสุข
            พ่อจารย์ทองดี นันทะ ติดตามพ่อแม่อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านตลาดตั้งแต่เล็ก ถือได้ว่าเป็นคนรุ่นแรกของหมู่บ้าน เมื่อ 70 กว่าปีก่อน อายุ 16 ปี ได้บวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ 21 ได้บวชเป็นพระเรียนปริยัติธรรมได้นักธรรมเอก เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ 5 ปีต่อมาได้เปิดวัดเป็นสำนักสอนปริยัติธรรมมีลูกศิษย์จาก 4     จังหวัดใกล้เคียง     รวม 50 คน   ลาสิกขาบทเมื่อบวชได้ 21 พรรษา   ขณะอายุได้ 42 ปี   แต่งงานมีลูกชาย 1 คน ลูกสาวบุญธรรม 1 คน
        หลังจากแต่งงานกับแม่ใหญ่พิน ค้าขายของเบ็ดเตล็ด เย็บผ้า พ่อจารย์ทองดีเลี้ยงหมูพันธุ์ กระต่าย นกพิราบ   วัว    ควาย   ไก่งวง    เลี้ยงขายแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ในฐานะที่    พ่อจารย์ทองดีเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน จากที่เป็นเฒ่าจ้ำ เป็นหมอสูตร เป็นหมอขวัญ เป็นผู้นำทางพิธีกรรม มองเห็นการทำมาหากินของชาวบ้านมีแต่ทางตีบตัน จึงเป็นภาระที่ต้องหาทางออกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

         จุดเปลี
                   อาชีพพื้นฐานของชาวบ้านตลาดคือ ทำนา หาอาหารจากป่า ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย เลี้ยงสัตว์    เหมือนๆ กับลักษณะของภาคอีสานโดยทั่วไป   ราวๆ ปี 2500 ปอ พืชเศรษฐกิจชนิดแรกเข้ามาในวิถีชีวิตของชาวอีสาน ตามมาด้วยมันสำปะหลัง ราวปี 2514 ทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อมต่อหมู่บ้านตลาด     เพราะหมู่บ้านข้างเคียงบุกเบิกถางป่า ขยายพื้นที่ปลูกปอและมัน จนทำให้ป่าและภูเขาแหล่งอาหารธรรมชาติและต้นน้ำหมดสภาพ ระบบนิเวศวิทยาเสียสมดุลเกิดความแห้งแล้ง   ข้าวไม่พอกิน  ลำห้วย 2 สาย เคยไหลมาบรรจบกันที่หมู่บ้านตลาด ได้อาศัยปลาในลำห้วยกินเกิดตื้นเขิน ชาวบ้านจึงอดกินปลากัน
        สภาวะการทำมาหากินมาถึงทางตัน คนกำลังแตกบ้านออกไปรับจ้างตามที่ต่างๆ ชาวบ้านวิตกกังวลและคิดหาทางออกใหม่ ขณะนั้นมีนักพัฒนาองค์กรเอกชนเข้ามาในหมู่บ้าน นำกลุ่มชาวบ้านพูดคุยถึงปัญหา ระดมความคิดหาทางแก้ปัญหาให้แก่หมู่บ้าน หนึ่งในจำนวนชาวบ้านนั้นมีพ่อจารย์ทองดีรวมอยู่ด้วย
        พ่อจารย์ทองดีครุ่นคิดหาแนวทางว่าทำอย่างไรจึงจะมีปลากิน คำตอบในความคิดคือต้องขุดสระขึ้นมาใหม่ในที่นาของใครของมัน และต้องสร้างสวนขึ้นคู่กับสระเลี้ยงปลา เพื่อทดแทนอาหารจากป่าที่หมดไป ในสวนต้องมีพืชผักอาหารการกิน มีต้นไท้ไว้ใช้สอยปลูกบ้าน เป็นการสร้างลำห้วยและป่าให้กลับคืนมา พูดอย่างเดียวไม่พอมันต้องทำ เพราะเรามาถึงจุดตันแล้ว ต้องทำด้วยมั่นใจ พ่อจารย์ทองดีกล่าว
        พ่อจารย์ทองดีลงมือขุดดินจอบแรกเมื่อเดือนเมษายน 2528 ประมาณ 2 ปี ให้หลังภาพนา-สระปลา-สวน ที่เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ค่อยๆ ขยายไปจนเกือบเต็มที่นาแปลงแรก 6 ไร่ 3 งาน ให้ผลผลิตข้าวปลาอาหาร พืชผักผลไม้เพียงพอสำหรับการบริโภค     จนเหลือเผื่อแผ่ญาติมิตรและผลผลิตส่วนเกินสู่ตลาด แลกเปลี่ยนเป็นข้าวของอื่นที่จำเป็นในครัวเรือน
          ทุกคนในครอบครัวมีความสุขอยู่กับนาและสวน ชีวิตใหม่เริ่มต้นได้ในวันใหม่ทุกวันอย่างสดชื่น ดูแลต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง รดน้ำสวนผัก   ดูแลสวนผลไม้   ไม้ยืนต้น งานไม่ต้องรีบเร่งแข่งกับเวลาแข่งกับราคา หรือแข่งกับเพื่อนบ้าน  ไม่ต้องกังวลว่าอาหารมื้อหน้าจะเอามาจากไหน จิตใจสงบ     นอนหลับอย่างมีความสุขในตอนกลางคืนตื่นเช้าอย่างแจ่มใส เป็นรูปแบบวิถีชีวิตที่มั่นคง  มีคุณภาพชีวิตที่ดี      ขยายผลสู่ญาติมิตร เพื่อนบ้าน ภาวะคนบ้านแตกออกไปหางานทำนอกหมู่บ้านลดลง คนผูกพันและรักถิ่นทำมาหากินในหมู่บ้านมากขึ้น ชุมชนหมู่บ้านมีชีวิตชีวาอยู่กันพรั่งพร้อม   ทั้งคนรุ่นหนุ่ม  รุ่นสาว รุ่นพ่อแม่ รุ่นปู่ย่า ตายาย   และรุ่นเด็กเล็ก   ซึ่งแตกต่างไปจากหมู่บ้านที่เรียกว่าชุมชนล่มสลาย มีเฉพาะคนแก่และเด็กเท่านั้นที่อยู่เฝ้าบ้าน คนหนุ่มสาวและพ่อแม่ที่อยู่ในวัยแรงงานอพยพเคลื่อนย้ายเข้าไปขายแรงงานใน เมือง

 

    * แนวคิดและหลักการ

        จากแนวคิดที่ต้องหาทางออกให้กับทางตันก็คือ
        1. ต้องสร้างลำห้วยขึ้นใหม่ด้วยการขุดสระติดต่อกันให้มากๆ
        2. ต้องสร้างป่าขึ้นด้วยการปลูกต้นไม้ ทำสวนผลไม้ ไม้ยืนต้น
        3. ต้องทำเกษตรแบบยังชีพ (Subsistance Farming) ด้วยหลักการที่ว่า
            3.1 ทำทุกอย่างด้วยแรงมือของตนเองและครอบครัว
            3.2 ปลูกพืชผักพื้นบ้านที่ใช้บริโภคประจำวันทุกอย่าง โดยปลูกสลับกับไม้ผลและไม้ยืนต้น และต้องปลูกทุกวัน วันละ 2-3 ต้น
            3.3 เลี้ยงสัตว์ที่ช่วยเหลือตนเองด้านการหาอาหารได้ หรือกินอาหารตามธรรมชาติ และเศษเหลือจากคนและจากสวน
            3.4 ปลูกน้อยได้มาก ปลูกมากได้น้อย
            3.5 ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลง
            3.6 ตำข้าวกินเป็นประจำเพื่อเอารำมาเลี้ยงสัตว์
            3.7 ปลูกพืชสมุนไพร รักษาโรคด้วยสมุนไพร และวิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน พึ่งหมอ และโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด
กระบวนการ  วิธีการและกิจกรรม
           ที่นาแปลง 6 ไร่  3 งาน เป็นนาลุ่ม ดินจากการขุดบ่อปลา  ยกเป็นคันดินให้สูงเท่านา เพื่อทำเป็นแปลงผักและสวน สร้างคอกหมูเล็กๆ บริเวณขอบบ่อเลี้ยงหมูพื้นบ้าน มีครกมองตำแป้งขนมจีน ตำข้าว มีปลายข้าว และรำให้หมู ปลา เป็ด ไก่กิน สิ่งที่พ่อจารย์ทองดีปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เป็นการผสมผสาน และเป็นกระบวนการของความสัมพันธ์ของธรรมชาติ กล่าวคือ
        1. ปลา ปลาธรรมชาติไม่มีให้กินอีกแล้วจึงเลือกเลี้ยงปลา เพราะปลาเป็นอาหารโปรตีนหลักของคนอีสาน และเลือกเลี้ยงปลาที่กินพืชซึ่งเลี้ยงง่าย อาหารธรรมชาติมีให้ปลากินเพียงพอ และปลาธรรมชาติมีอยู่ในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นปลากินปลาด้วยกันเลี้ยงไว้ด้วยกันไม่ได้
        2. หมู เลือกพันธุ์หมูพื้นบ้านไม่ต้องใช้อาหารสำเร็จรูป ให้ผักหญ้าตามธรรมชาติและเศษผักในสวน ขณะเดียวกันหมูเอื้อประโยชน์ต่อปลา ขี้หมูเป็นอาหารของปลา
        3. กระต่าย เดิมกระต่ายป่ามีมาก แต่ปัจจุบันหมดพร้อมกับป่า กระต่ายเป็นทั้งอาหารและขี้กระต่ายเป็นปุ๋ยเช่นเดียวกับหมูระดับพื้น
        4. เป็ด-ไก่ เป็นอาหารได้ทั้งไข่ทั้งเนื้อ อาหารไม่ต้องซื้อ เลี้ยงด้วยปลายข้าว รำจากการตำข้าว และเศษผักจากสวน
        5. กล้วย เป็นผลไม้ชนิดแรกที่เลือกปลูก เพราะสภาพที่ดินแห้งแล้ง การปลูกกล้วยช่วยเก็บความชื้นให้แก่พืชผักและผลไม้อื่นๆ
        6. ข้าว ข้าวเป็นอาหารหลักต้องทำและไม่ขาย จนกว่าจะเห็นแนวโน้มของผลผลิตฤดูใหม่
        7. ผักพื้นบ้านและผักสวนครัว ปลูกไว้สารพัดชนิดที่จำเป็นในการบริโภคประจำวัน
        8. หม่อน ปลูกหม่อนไว้เลี้ยงไหม เส้นไหมไว้ทอผ้าขาย เส้นไหมแลกกับปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นที่ยังผลิตเองไม่ได้
        9. ฝ้าย ปลูกไว้ส่วนหนึ่งเพื่อทอผ้าใช้เอง
        10. ไม้ผล เช่น มะม่วง มะพร้าว ขนุน น้อยหน่า 4-5 ปี  ให้หลังเป็นสวัสดิการได้เป็นอย่างดี เก็บผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ต้องลงทุนลงแรงอีก
        11. ไม้ยืนต้น เป็นไม้พื้นเมือง เช่น สะเดา กระถินยักษ์ ไผ่ ขี้เหล็ก เป็นไม้ใช้สอย บริโภคก็ได้ และเป็นแนวกันลม
        ส่วนนาอีกแปลงพ่อจารย์ทองดีเล่าว่าเป็นพื้นที่ปลูกไหล (กก) สำหรับทอเสื่อกันบางส่วนไว้ปลูกหญ้า และเลี้ยงวัวควาย คันนาปล่อยให้หญ้าคาขึ้นเพื่อเกี่ยวถักมุงหลังคา และมีโครงการขยายสวนหม่อนพร้อมกับเลี้ยงห่านในสวนหม่อน ให้ห่านช่วยกำจัดหญ้าในสวนหม่อนพร้อมๆ กับห่านช่วยเพิ่มปุ๋ยให้กับหม่อน
        สิ่งที่พ่อจารย์ทองดีใส่ลงไปในพื้นที่ดิน ทั้งคน พืช สัตว์ ดิน น้ำ และป่าไม้ ต่างก็เป็นกระบวนการของนิเวศวิทยาที่เกื้อกูลกันและกัน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

*      ข้อดีของการการเกษตรแบบเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน
        1. มีอยู่มีกินเหลือได้แบ่งปัน และขายแลกเปลี่ยนสิ่งจำเป็นอื่นๆ   อาหารที่กินมีประโยชน์สูง   มีคุณค่าทางอาหารเพราะสดปลอดสารพิษ    ทำให้สุขภาพแข็งแรง ญาติพี่น้องแปลกใจที่พ่อจารย์ทองดีไม่เจ็บไม่ไข้ทั้งๆ  ที่ทำงานทั้งวัน และช่วยเหลือชาวบ้านในกิจกรรม-พิธีกรรมจนดึกดื่น เรียกได้ว่าเกษตรกรรมแบบนี้ทำให้มีคุณภาพชีวิตดี
        2. ปัจจัย 4  มีอยู่ในสวนอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม   แม้แต่ปัจจัยที่สนับสนุนบ้านอยู่อาศัยก็อยู่ในสวน   จึงไม่มีรายจ่ายใดๆ     ซ้ำมีรายได้ทุกครั้งที่ขาย เป็นกำไรหมดเพราะไม่มีทุนมีแต่ลงแรงเท่านั้น
        3.     ผลผลิตในนาและสวนไม่ต้องด่วนขาย คนซื้อมางอนง้อขอซื้อทำให้เรากลับมีศักดิ์ศรีอีกครั้ง เราหยิ่งได้เพราะเราไม่เดือดร้อน เรามีอยู่มีกินเราพึ่งตนเองได้ และพร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วย
        4. พ่อจารย์ทองดีเล่าว่า    ในอดีตก่อนมีเกษตรแนวนี้จะไปไหนมาไหนห่วงแต่ว่าลูกเมียจะเอาอะไรกิน   เวลาเพื่อนฝูงมาหาอึดอัดลำบากใจไม่มีอะไรไว้ต้อนรับ ให้เมียไปซื้อปลาทูเข่งมาปันสู่กันกิน    ปัจจุบันหายห่วงสบายใจ     มีกินมีใช้ มีเวลาช่วยเป็นหมอสูตร หมอขวัญ เฒ่าจ้ำ หมอดู ให้แก่เพื่อบ้าน และชาวบ้านใกล้เคียงได้มากยิ่งขึ้น
        5. เกษตรแบบนี้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกใช้อย่างคุ้มค่า  พื้นที่ดินไม่มีที่ว่างเปล่า ฟางข้าวใช้สุมคลุมดินช่วยเก็บความชุ่มชื้น และเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ย  เศษผัก และต้นไม้ใบไม้เป็นอาหารของสัตว์   มูลของสัตว์เป็นปุ๋ยและอาหารของปลา ดินดีขึ้นไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี    น้ำชุ่มชื้นดี พืชเขียวชะอุ่มตลอดทั้งปี
        ผลของเกษตรเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินของพ่อจารย์ทองดี จึงเป็นรูปแบบที่ดีสำหรับเกษตรกรรายย่อยอีกแบบหนึ่ง ในกระบวนการของการพัฒนาแบบยั่งยืน

แนวการดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน
        ที่โรงเรียน
                เมื่อเราอยู่ที่โรงเรียนเราก็ควรประหยัดเท่าที่เราจะทำได้ทำเหมือนโรงเรียน เป็นบ้านของเรา เช่น เมื่อเราเสร็จแล้วเราก็ควรปิดไฟปิดพัดลมให้เรียบร้อยก่อนออกจากห้องเรียน   เราไม่ควรทำลายข้าวของของโรงเรียน   เราต้องทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง   เราต้องใช้น้ำใช้ไฟให้ประหยัดเมื่อเราไม่ใช้ก็ต้องปิดไฟให้เรียบร้อย   เมื่อเราจะซื้อของให้ซื้อตามอัตภาพของตนไม่เกินฐานะ  ไม่ฟุ่มเฟือย  มีเหตุผลในการซื้อของ ไม่ใช่แค่อยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น  เราต้องรู้จักประหยัด  รู้จักอดออม   เราควรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้เพื่อนมีความสุขด้วยการให้  ไม่เห็นแก่ตัว ควรเห็นแก่ส่วนรวม  เมื่อเราเรียนวิชาใดๆก็ตามเราควรมีความรับผิดชอบในการทำงานไม่ประมาทในการ ส่งงาน  ควรตั้งใจเรียน  ตั้งใจฟังครู อาจารย์สอน  หรือเมื่อเวลาเราสอบเราควรมีความซื่อสัตย์สุจริตไม่ทุจริตในการสอบ  ไม่ลอกเพื่อน  ทำข้อสอบตามที่เรามีความรู้  ทำงานตามที่อาจารย์ให้เรารับมอบหมาย  ส่งงานตรงตามเวลา  รักงาน  รู้งาน  เอาใจใส่ในการทำงาน  ทำงานด้วยสติและปัญญา
             ที่บ้าน
    เมื่อเราอยู่ที่บ้าน  เราต้องช่วยพ่อแม่ประหยัด ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน  ท่าที่เราจะทำได้
เช่น

    * ปิดไฟ ปิดพัดลมเมื่อเราไม่เลิกใช้
    * ต้องฝึกการแยกขยะ  จะได้นำขยะเหล่านั้นกลับมาใช้งานใหม่ได้
    * ช่วยกันปิดน้ำเมื่อไม่ใช้แล้ว
    * ช่วยกันปลูกต้นไม้  เพื่อทำให้อากาศรอบ ๆ ตัวบ้านบริสุทธิ์
    * ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ  ลำคลอง  เพราะน้ำจะได้ไม่เน่าเสีย  และจะได้นำน้ำเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
    * ไม่เปิดปิดตู้เย็นบ่อย ๆ  เพราะจะทำตู้เย็นทำงานหนัก  และเปลืองไฟ
    * ใช้น้ำสุดท้ายของการซักผ้า  เพื่อนำมารดน้ำต้นไม้
    * ควรรีดผ้าครั้งละมาก ๆ โดยรีดผ้าที่มีหนามาก ๆ ก่อน
    * ปลูกพืชผักสวนครัวไว้ในบริเวณบ้าน  เช่น  พริก  กระเพรา  ข่า  ตะไคร้ มะนาว  ฯลฯ   เพื่อนำมาใช้บริโภค  และขาย
    *   เลี้ยงสัตว์  เช่น  ไก่  เป็ด  เพื่อนำไข่มาบริโภคและขาย
    *   นำของเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นของใช้และของแต่งบ้าน
    *   ควรเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิที่  25  องและควรปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเลกใช้งานประมาณ  15  - 20 นาที


บรรณานุกรม

www.school.obc.go.t h
www.sufficiencyecon omy.org
www.wikipedia.org