หัวข้อ: เลี้ยบ"ยันเกษตรกรได้เช่าที่ราชพัสดุ รอ9เดือนกลาโหมมอบแล้ว4แสนไร่ เริ่มหัวข้อโดย: P-LSV team ที่ สิงหาคม 10, 2008, 09:23:29 am เลี้ยบ"ยันเกษตรกรได้เช่าที่ราชพัสดุ รอ9เดือนกลาโหมมอบแล้ว4แสนไร่
มติชน 25 ก.ค. 51 - รออีก 9 เดือน เกษตรกรได้เช่าที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่แน่ ระบุกลาโหมให้มาแล้ว 4 แสนไร่ "เลี้ยบ"ยันไม่ให้สิทธินายทุนเช่าช่วง ถ้าเจอโดนยึดคืน ขณะที่อธิบดีธนารักษ์ชี้ควรให้รายใหญ่เช่า บอกได้ผลผลิตมากกว่า ก.เกษตรฯ เล็งใช้ระเบียบ ส.ป.ก.คัด "เฉลิม"เสนอให้กลุ่มรายได้ต่ำกว่าปีละ 3.2 หมื่น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการสัมมนาเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "มิติใหม่ที่ราชพัสดุ" ตอนหนึ่งว่า เขียนบทความครั้งแรกเมื่อปี 2500 เขียนสนับสนุนการสร้างเขื่อน เพราะได้ประโยชน์ ทั้งพลังงาน แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่ทว่าพวกเอ็นจีโอก็ต่อต้าน พอมีเขื่อน น้ำที่จะท่วมก็ไม่ท่วม หน้าแล้งก็มีน้ำใช้ ตอนน้ำท่วมพวกเอ็นจีโอไม่รู้ไปไหน แต่พอน้ำแห้งก็โผล่มาทุกที สำหรับสโลแกนงานนี้ที่ระบุว่า หลอมรวมทุกกลไก 1 ล้านไร่มิติใหม่ราชพัสดุนั้น เป็นชื่อที่ดี จึงขอฝากว่า 1 ล้านไร่ที่ราชพัสดุ หากจะเอาไปจัดการให้เช่าเพื่อเป็นรายได้นั้น ทุกกระทรวงต้องช่วยกัน ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำทั่วประเทศ "วันนี้ นายกฯมาให้นโยบาย ไม่ใช่มาอ่านแค่ 2 หน้าแล้วกลับ เดี๋ยวคนจะว่า นายกฯมึงรู้อะไรๆ แต่เมื่อปี 2517 ผมเคยไปดูการจัดรูปที่ดินบริเวณวัดสิงห์ จ.สิงห์บุรี 2 พันไร่ ดังนั้น การดำเนินการเรื่องที่ราชพัสดุครั้งนี้ ขอให้ดูเรื่องจัดรูปที่ดินไปด้วย" นายสมัครกล่าว จากนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีนโยบายจัดสรรที่ให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ แต่จะเน้นกระจายพื้นที่ให้เกษตรกรรายย่อย รายละประมาณ 15-20 ไร่ โดยมีระยะเวลาการเช่าพื้นที่ไม่เกิน 30 ปี ส่วนอัตราค่าเช่าจะดูตามทำเล ลักษณะพื้นที่ ซึ่งจะถูกหรือแพงเกินไป โดยจะจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน รับจ้างเพาะปลูก หรือมีที่ดินไม่เพียงพอที่จะดูแลครอบครัว "เราจะไม่ให้สิทธิกับนักธุรกิจเกษตรรายใหญ่มาใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนี้แน่นอน แต่ถ้าเขาต้องการซื้อพื้นที่ข้างเคียงที่ราชพัสดุเพื่อพัฒนาและเพาะปลูกในลักษณะใกล้เคียงกันก็ไม่มีปัญหา เพราะน่าจะช่วยพัฒนาพื้นที่เกษตรโดยรอบให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งที่ดีขึ้น" นพ.สุรพงษ์กล่าว และว่า กรณีที่เกรงว่าจะมีนายทุนเข้ามาสวมสิทธิพื้นที่นั้น เรื่องนี้จะระบุในสัญญาชัดเจนว่า เกษตรกรจะไม่สามารถให้ผู้อื่นเข้ามาเช่าช่วงพื้นที่ต่อได้ ต้องเพาะปลูกด้วยตัวเอง ทั้งนี้ จะจัดหน่วยตรวจสอบลงพื้นที่เป็นระยะ หากตรวจสอบพบว่ามีผู้ละเมิดสัญญารัฐจะยกเลิกสัญญาทันที นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจที่ราชพัสดุตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างในเรื่องของสภาพดิน ภูมิอากาศ น้ำ และปัจจัยการผลิต ว่ามีความเหมาะสมที่จะทำการเพาะปลูกพืชชนิดใด ทั้งพืชอาหาร และพืชพลังงาน เพื่อพิจารณาพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการ ควบคู่กับการส่งคืนที่ราชพัสดุของหน่วยงานต่างๆ ภายใน 3 เดือน ส่วนเงื่อนไขการให้สิทธิเช่าที่ราชพัสดุสำหรับเกษตรกร มี 3 หลักการสำคัญ คือ 1.ผู้ที่มีสิทธิเช่า ต้องเป็นเกษตรกรที่ยากจนและไม่มีที่ดินทำกิน โดยอาศัยฐานข้อมูลจากทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย 2.ต้องใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร และ 3.ไม่สามารถขายหรือแลกเปลี่ยนใดๆ จากผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ได้ ยกเว้นการตกทอดให้แก่ทายาทเท่านั้น ซึ่งจะนำรูปแบบการให้เช่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาพิจารณา รมว.เกษตรฯกล่าวว่า ส่วนแนวทางการป้องกันกลุ่มนายทุนที่จะกว้านซื้อที่และเข้ามาครอบครองที่ดินราชพัสดุที่จะให้เกษตรกรเช่านั้น จะประสานงานและตรวจสอบร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดยเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ หากพบว่ามีการขายที่ดินให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หรือนำที่ดินไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายเพิกถอนกรรมสิทธิ์การถือครองและยึดที่ดินนั้นคืนได้ทันที ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการสำรวจที่ราชพัสดุเพื่อส่งคืนกรมธนารักษ์ ขณะที่กระทรวงกลาโหม ได้แสดงความพร้อมส่งคืนแล้ว 5 แสนไร่ และได้เสนอให้วัดเกณฑ์ผู้มีสิทธิเข้าโครงการต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เกินปีละ 3.2 หมื่นบาท รวมทั้งเสนอให้มีการสำรวจพื้นที่ทั้งหมด เพื่อจัดสรรการปลูกพืชพลังงานทดแทนให้เหมาะสม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเร่งสำรวจที่ดินที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาส่งมอบให้กรมธนารักษ์ โดยเฉพาะที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกรมทางหลวง ยอมรับว่าหน่วยงานในสังกัดมีที่ดินจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้รองรับการก่อสร้างทางในอนาคต ที่ดินที่จะนำมาคืนให้กับกรมธนารักษ์ จึงต้องเป็นที่ดินที่ไม่ได้นำมาใช้จริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเวนคืนภายหลัง นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวยืนยันว่า จะสามารถเจรจาขอคืนที่ราชพัสดุจากส่วนราชการต่างๆ ทั่วประเทศได้ครบ 1 ล้านไร่ ภายใน 3 เดือนนับจากนี้ และจะใช้เวลากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าเช่าพื้นที่ประมาณ 6 เดือน และเตรียมติดประกาศให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาสมัครเข้าโครงการ แต่อาจเปิดกว้างให้เกษตรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่เป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มเกษตรกรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการแปรรูปสินค้า สามารถเช่าที่ราชพัสดุได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถทางด้านการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากกว่ารายย่อย "ตอนนี้เราได้ที่ดินจากกระทรวงกลาโหมประมาณ 4 แสนไร่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุที่มีขนาด 1 พันไร่ โดยเชื่อว่า ถ้ากำหนดเป้าหมายที่ขนาด 100 ไร่ เชื่อว่าจะได้ที่ราชพัสดุคืนอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ที่ 1 ล้านไร่ ได้คืนครบ 100% แน่" นางพันธ์ทิพย์กล่าว โดย : มติชน หัวข้อ: เศรษฐศาสตร์การเมือง ว่าด้วยที่ดินราชพัสดุ เริ่มหัวข้อโดย: P-LSV team ที่ สิงหาคม 10, 2008, 09:25:45 am เศรษฐศาสตร์การเมือง ว่าด้วยที่ดินราชพัสดุ
พลวัตเศรษฐกิจ : ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม มีความพยายามของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ในการปฏิรูปที่ดิน และบริหารการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และบางรัฐบาลมีความพยายามในการจัดการให้ "ชาวบ้าน" สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต หรือการใช้ที่ดินอย่างเท่าเทียมมากขึ้น วันนี้ รัฐบาลมีดำริจะนำที่ดินราชพัสดุที่ปล่อยทิ้งไว้ รกร้างว่างเปล่า นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตามข้อเสนอของกรมธนารักษ์ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรเช่าที่เพื่อนำไปปลูกพืชเพื่ออาหารหรือพลังงาน อย่างไรก็ตาม การจัดการในเรื่องนี้ มักมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นได้เสมอ หรือเอื้อประโยชน์ให้หัวคะแนนหวังผลทางการเมือง เนื่องจากมีช่องว่างในการทุจริต หากไม่มีมาตรการที่รัดกุมในการดูแล หรือไม่เปิดเผยให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานอย่างโปร่งใส กรณีที่ถึงขั้นทำให้รัฐบาลล้มมาแล้ว ก็คือ การแจกที่ดิน ส.ป.ก. ในสมัยรัฐบาลชวน มีการนำเอาที่ดิน ส.ป.ก. ไปแจกเศรษฐี แทนที่จะแจกคนจนตามนโยบาย การดำเนินการที่ไม่โปร่งใสดังกล่าว เป็นผลทำให้พรรคพลังธรรมถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล จนรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ แล้วก็ได้รัฐบาลบรรหาร ในสมัยนั้นก็มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอีก ไม่ว่าจะเป็นคดีผักสวนครัวรั้วกินได้ คดีแบงก์บีบีซี หลังจากนั้น ก็ได้รัฐบาลชวลิตมาบริหารประเทศ จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ขึ้น ต่อมาสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จนกระทั่งนำมาสู่ การรัฐประหาร 19 กันยายน รัฐบาลมักอยู่ไม่ครบวาระ หากไม่ล้มไปเพราะมีปัญหาอื้อฉาวทุจริตคอร์รัปชัน ก็มักมีปัญหาความด้อยประสิทธิภาพ ในการบริหารประเทศ หรือความแตกแยก และเกมการเมืองภายในรัฐบาล มีไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่รัฐบาลถูกขับไล่โดยมวลชน หรือล้มโดยฝ่ายค้าน นโยบายเรื่องที่ดินพัสดุ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลนี้ หากทำดี ก็จะเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน และระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก หากมีปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสม แม้กรณีเดียว รัฐบาลก็จะอยู่ลำบาก ขอให้นึกถึงประสบการณ์การแจกที่ดิน ส.ป.ก. ให้ดี เผลอพลาดไปแจกเศรษฐี รัฐบาลก็ล้มไปในที่สุด "ที่ดินราชพัสดุ" ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่าสิบสองล้านไร่ และที่ดินจำนวนมหาศาลของรัฐเหล่านี้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หลายคนมองในมิติเศรษฐกิจ และโอกาสของชาวบ้านในการมีปัจจัยการผลิต การทำมาหากินสร้างรายได้ ถือว่าเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง บนผืนดินเหล่านั้น หลายพื้นที่ถูกนักการเมือง และผู้มีอิทธิพลเข้ามาครอบครอง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ อย่างไม่ถูกกฎหมาย สมควรต้องนำมาจัดระเบียบใหม่ กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลที่ดินของรัฐ ได้พยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดระเบียบที่ราชพัสดุ และพยายามที่จะดึงที่ดินกลับมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง แต่ความพยายามส่วนใหญ่มักล้มเหลว เพราะการจัดระเบียบต้องอาศัยอำนาจทางการเมือง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม นโยบายของรัฐบาลที่ดำริจะเอาที่ดินราชพัสดุมาทำประโยชน์ให้กับประชาชน เป็นการตอบสนองต่อนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชน และสนับสนุนให้ชาวบ้านมีที่ทำกิน หาก "กรมธนารักษ์" ยุคนี้ สามารถทำได้สำเร็จ ก็ถือว่าสามารถพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจ และระบบการใช้ที่ดินของภาครัฐได้ ทำดีๆ และยึดถือความโปร่งใส จะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาการกระจายได้อีกด้วย เมื่อสามารถวางระบบการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ ให้ที่ดินราชพัสดุได้แล้ว บวกเข้ากับแนวความคิด "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน" ที่ราชพัสดุส่วนหนึ่ง สามารถนำมาแปลงเป็นทุน หรือระดมทุนเพื่อลงทุนโครงการของประเทศ ที่เรามีงบประมาณไม่เพียงพอ หรืออาจนำมาสร้างเป็นคลังสินค้า เพื่อเสริมระบบโลจิสติกส์ และระบบขนส่งมวลชน ทำให้ต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจในประเทศลดลงด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถนำที่ดินเหล่านี้ มาทำประโยชน์ในการรองรับกิจกรรมทางสังคม อาทิเช่น ลานกีฬา ลานวัฒนธรรม หรือห้องสมุด หรืออุทยานการเรียนรู้ต่างๆ หรือกิจการทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อาทิเช่น การปราศรัยเรียกร้องในเรื่องต่างๆ นโยบายของรัฐในเรื่องนี้ อาจจะได้รับการต่อต้านจากบรรดาผู้บุกรุกยึดครอง ที่อยู่มานานมาก การไปเชิญให้ออกเพื่อมาจัดระเบียบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย และในจำนวนนี้เป็นคนยากจนจริง ไม่มีที่ไป ส่วนพวกรับจ้างนายทุน ผู้มีอิทธิพล รุกที่ดินราชพัสดุก็ต้องแยกแยะออกมาให้ชัด ส่วนพวกที่เช่าที่อยู่ก็ทำให้สามารถแปลงสิทธิเช่าเหล่านี้ (ถือเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่ง) ให้เป็นทุนได้ อย่างที่จังหวัดนครราชสีมา กองทัพบกส่งมอบที่ราชพัสดุคืนแล้ว 300 ไร่ เพื่อให้กรมธนารักษ์ดำเนินการนำไปสร้างชุมชนและสังคม โดยแบ่งบ้านออกเป็น 2 ส่วน คือ บ้านสวัสดิการ และบ้านประชาชน ส่วนที่จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ โดยจะมีส่วนราชการและโรงเรียนด้วย ซึ่งกรมธนารักษ์จะพยายามนำสินค้าโอท็อป มาจัดหมวดหมู่ เป็น "เซรามิคเซ็นเตอร์" เพราะเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดลำปาง ซึ่งคนในพื้นที่น่าจะได้ประโยชน์และพอใจ การจัดระเบียบใหม่ที่ราชพัสดุนี้เป็นประโยชน์ แต่ต้องดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลนะครับ ถึงจะไม่สร้างปัญหาต่อรัฐบาล หัวข้อ: Re: เลี้ยบ"ยันเกษตรกรได้เช่าที่ราชพัสดุ รอ9เดือนกลาโหมมอบแล้ว4แสนไร่ เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ สิงหาคม 10, 2008, 12:42:28 pm นี่ก็เดือนสิงหาคมแล้ว ... smiley4
..ท่านใดทราบไหมว่าต่างจังหวัดติดต่อขอเช่าได้ที่ไหนครับ ..อยากปลูกต้นตะกูครับ :D HAPPY2!! |