พิมพ์หน้านี้ - ประมงสุดทนน้ำมันแพงประกาศขายเรือ-ทิ้งอาชีพจับปลา

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => เศรษฐกิจ => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มิถุนายน 01, 2008, 07:14:32 PM



หัวข้อ: ประมงสุดทนน้ำมันแพงประกาศขายเรือ-ทิ้งอาชีพจับปลา
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มิถุนายน 01, 2008, 07:14:32 PM
(http://www.komchadluek.net/images2007/komchadluk_r1_c3.jpg)

ชาวประมงระยองสุดทนวิกฤติน้ำมันแพง ประกาศขายเรือทิ้ง บางลำมูลค่ากว่าล้านบาท ขายได้ไม่ถึงแสน ด้านนายกสมาคมประมงฯเทขายเรือทิ้งอาชีพประมงทำร้านอาหาร ด้านศุลกากรภาค 4 ขู่แก๊งลักลอบขนน้ำมันเถื่อนชายแดนไทย-มาเลย์ โทษนักยึดรถ ขัง ปรับ20เท่าจากราคาของกลาง

(1มิย.) สถานการณ์ราคาน้ำมันแพงและไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงขณะนี้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนแทบทุกสาขาอาชีพ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสะพานปลาเสรี โชคกฤษดา ประสิทธิผล และท่าเทียบเรือบ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง ชาวประมงเรือประมงอวนล้อม เรือไดหมึก เรือลากเดี่ยว และเรือโดยสารข้ามเกาะเสม็ด หยุดออกจับปลาในทะเลมากว่าสัปดาห์แล้ว สาเหตุเกิดจากราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นลิตรละ 40 บาท เจ้าของธุรกิจเรือประมงจึงประสบปัญหาขาดทุน หลายรายจึงประกาศขายเรือทิ้ง

นายวิชิต โคกกระ ลูกเรือประมงกล่าวว่า เจ้าของเรืออวนล้อม อวนปู และเรือไดหมึก ขนาด 6 วา ประกาศขายเรือได้มีคนมาขอซื้อลำละ 5,500 บาทเท่านั้น เจ้าของเรือก็จำต้องยอมขายขาดทุนดีกว่าจอดแช่น้ำทะเลไปวันๆ โดยคนที่มาซื้อเรือจะนำลูกน้องมาถอดเอาชิ้นส่วนเก๋งเรือซึ่งเป็นไม้ ส่วนนอต อะลูมิเนียมไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า

"เรือประมงขนาด 9 วา ที่จอดเทียบท่าอีกลำ ก็ประกาศขายและมีคนมาซื้อไปแล้วในราคาไม่ถึง 1 แสนบาท ทั้งที่ราคาต่อเรือลำละ 1 ล้านบาทเศษ เจ้าของเรือบางรายบ่นเสียดายไม่ยอมตัดใจขาย คงปล่อยทิ้งไว้ก่อน ขณะที่สะพานท่าเทียบเรือหลายท่า มีเรือประมงจอดแช่หยุดออกหาปลาไม่ต่ำกว่า 50 ลำ เนื่องจากสู้ราคาน้ำมันแพงไม่ไหว หากออกเรือจะประสบปัญหาขาดทุน" นายวิชิตกล่าว

นายนิคม แซ่อึ้ง ผู้ดูแลสะพานประสิทธิผลกล่าวว่า เดิมสะพานประสิทธิผลมีเรือลากคู่ จับหมึกกระดองและปลา 40-50 ลำ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 4 ลำเท่านั้น ปัญหาคือราคาน้ำมันที่แพงมาก เจ้าของเรือทนการขาดทุนไม่ไหว ยอมตัดใจขายเรือทิ้งไปทำธุรกิจอื่นดีกว่า ทั้งนี้ นางกิมห่อ ลี้เซ่งเฮง นายกสมาคมประมงเพ ซึ่งประกอบธุรกิจเรือประมงมานาน มีเรือประมงจำนวนมาก ยังต้องขายเรือทิ้ง แล้วหันมาทำธุรกิจร้านอาหาร โดยอ้างว่ามีความสุขไม่เครียดเหมือนทำเรือประมง

ส่วนปัญหาน้ำมันตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย นายราฆพ ศรีศุภอรรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 กล่าวว่า ได้ประสานไปยังศุลกากรมาเลเซีย และผู้บริหารระดับสูงของมาเลเซีย แจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ที่ประชาชนไทยเข้าไปซื้อน้ำมันในประเทศมาเลเซีย ซึ่งราคาถูกกว่าในประเทศไทย แล้วลักลอบเข้ามาขายในไทยจำนวนมาก แม้ว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ศุลกากรของไทยพยายามสกัดจับกุม แต่ก็ไม่สามารถจะปราบปรามได้หมด ซึ่งอยากจะขอให้มาเลเซียช่วยหาทางแก้ไขด้วย โดยผู้บริหารระดับสูงของมาเลเซียได้สั่งการไปตามพรมแดนที่ติดกับไทยและสิงคโปร์ให้เข้มงวดในการเข้าไปเติมน้ำมันของรถต่างชาติ

ล่าสุดมาเลเซียเข้มงวดกวดขันผู้ที่เข้าไปเติมน้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์คนไทย ก่อนเข้าไปจะต้องตรวจสอบเข็มน้ำมันทุกคัน ส่วนขาออกจะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า เข้าไปเติมน้ำมันในประเทศเขาหรือไม่ หรือมีกิจกรรมในมาเลเซียสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าไม่จะทำการจับกุมและยึดรถ จะต้องประกันตัวออกมา รวมทั้งส่งฟ้องศาลโทษปรับ 20 เท่าของมูลค่าสินค้า

"ฝากเตือนคนไทยที่เข้าไปเติมน้ำมันในมาเลเซีย ว่าอย่าทำผิดกฎหมายของเขา หากท่านถูกจับและถูกดำเนินคดีไม่มีใครสามารถช่วยได้ เนื่องจากมาเลเซียเขาสูญเสียเงินงบประมาณในการชดเชยราคาน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือคนในประเทศของเขาปีละมหาศาล และจากมาตรการดังกล่าว ศุลกากรมาเลเซีย เชื่อว่าจะทำให้ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนทางบกตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียลดลงอย่างแน่นอน แต่ผมห่วงว่า เมื่อทางบกไม่สามารถนำน้ำมันเถื่อนเข้ามาได้ อาจมีการขนน้ำมันเหล่านี้ทางทะเล" นายราฆพกล่าว

ผอ.สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 กล่าวอีกว่า ได้วางมาตรการการเข้มงวดกวดขันป้องกันการลักลอบทางทะเล โดยประสานกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรส่วนกลาง นำเรือจากศุลกากรภาคที่ 4 ที่ด่านศุลกากรตากใบ จ.นราธิวาส และด่านศุลกากรสตูล ร่วมกับตำรวจน้ำไทยตรวจอย่างเข้มงวด กระทั่งจับกุมการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนทางด่านศุลกากรสตูลได้ทุกวัน วันละไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 ลิตร ส่วนใหญ่เป็นกองทัพมดที่ทยอยกันนำน้ำมันเข้ามา แล้วรวบรวมกันออกขาย ส่วนรายใหญ่ยังไม่มี

ที่ชุมนุมต้นแบบผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ นายประสิทธิ์ ไตรแก้ว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแก๋ว กล่าวว่า ยังเดินเครื่องผลิตตามปกติ แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จากลิตรละ 10 บาท เป็น 13 บาท ส่วนน้ำมันใช้แล้วจากภายนอกชุมชนสูงถึงลิตรละ 15 บาท ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลสูงขึ้น และราคาจำหน่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ชุมชนสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้ครั้งละ 150 ลิตร จำหน่ายให้คนในชุมชนรายละ 5-10 ลิตร ราคาลิตรละ 27 บาท

วันเดียวกัน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการสนทนาประสาสมัคร ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ว่า เมื่อวาน (31 พ.ค.) ตั้งใจไปดูชาวนาเกี่ยวข้าว หลายเรื่องหลายรูปหลายแบบ ข้าวใหม่เก็บไว้ จนเป็นข้าวเก่า ก็ไม่ขาย คนก็พูดกันอยากจะซื้อข้าวใหม่ ข้าวเก่าในสต็อกมากมายไม่มียาง ตนจึงต้องเอารัฐมนตรีและชาวต่างประเทศมาหุงข้าวให้ดู ตนมีหน้าที่ที่จะต้องผ่องถ่ายข้าวของชาวนาที่เก็บออกมา แต่มีปัญหาข้าวตกต่ำ จึงต้องไปคุยกับชาวนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกจะเอาเครื่องวัดความชื้นไปดู สมัยก่อนก็ใช้วิธีตาก ตนไปดูเรื่องข้าว ทำไมชาวนาไม่เอารถขนข้าวไปตาก เขาบอกว่า ระบบไซโลถ้ารัฐบาลมีเท่าใด ก็จะนำมาขาย ไม่น่าเชื่อรัฐทำข้าวถุงออกขาย พ่อค้ากดราคาทันที คนบริโภคก็บ่นข้าวถุงราคาแพง ชาวนาก็บ่นข้าวไม่ได้ราคา ต้องมาเทียบราคาให้ดูว่า ราคาขึ้นไม่มาก อย่างไรก็ตาม วันนี้ (1 มิ.ย.) นักวิชาการจะมาถกกันเรื่องข้าวลูกผสม