หัวข้อ: รู้ทันกฎหมาย -ซ่อมบ้าน เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ พฤษภาคม 29, 2008, 05:11:08 am (http://www.komchadluek.net/images2007/komchadluk_r1_c3.jpg)
ฝนฟ้ามาเยือนในช่วงเดือนอย่างนี้ คงต้องมีหลายบ้านที่มีงานซ่อมเพราะหลังคารั่วหรือรั้วพัง หากทำเองได้ก็ดีไปแต่ก็อาจเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องจ้างคนงานมาทำ จ้างคนมาซ่อมทั้งทีก็อยากได้คนมีฝีมือ ราคาถูกใจ แล้วยังต้องเสร็จไวๆ อีกด้วย ถ้าไม่ใช่การซ่อมใหญ่ที่ต้องใช้วิศวกร หาคนงานมาได้ก็คุมงานเอง แบบนี้ค่าจ้างอาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาทำงานซ่อมจะรัดเข็มขัดประหยัดเงินก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่ต้องคำนึงก็คือข้อผูกพันทางกฎหมาย การจ้างส่วนใหญ่เป็นการจ้างเหมา คือเหมาค่าแรงค่าของไป เราก็ไม่ต้องจุกจิกใจกับคนงาน บางทีอาจเหมาแต่ค่าแรงว่าเท่าไรส่วนข้าวของอุปกรณ์ที่ต้องใช้เราอาจไปหาซื้อมาเอง ไม่ก็ให้เขาซื้อให้แต่เราเป็นคนจ่ายให้คนขายโดยตรง ไม่ว่าจะเหมากันแบบไหนก็เป็นการจ้างเหมาเสมอไปหากเป้าหมายในการจ้างคือผลสำเร็จของงานที่ทำ ผลของมันก็คิอ ผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบหาคนงานมาให้ ดูแลงานซ่อมให้เบ็ดเสร็จไป และยังต้องรับผิดชอบประกันผลงานที่ทำไว้ด้วย กฎหมายไม่บังคับให้ต้องทำสัญญาเป็นตัวหนังสือ แค่ตกลงกัน เริ่มงานและจ่ายเงินก็เกิดเป็นสัญญาแล้ว และความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานซ่อมก็ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายให้ผูกพันเป็นเวลาหนึ่งปีในกรณีทั่วไป แบบนี้ก็สบายใจไประดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีเรื่องให้รำคาญใจเพราะส่วนใหญ่ผู้รับเหมาเขาไม่คอยรับเงินตอนจบ เริ่มต้นตกลงยังไม่ทันเริ่มงานก็มีขอเบิกค่าแรงบ้าง ค่าของบ้าง ระหว่างนั้นก็มีเบิกกันประปราย จะไม่ให้ก็กลัวงานไม่เสร็จ แต่ให้มากไปงานก็อาจไม่เสร็จได้เพราะท่านผู้รับเหมาเอาเงินไปแล้วหนีหน้าหายไปก็เป็นได้เหมือนกัน ไม่มีข้อกำหนดตายตัว อยู่ที่ข้อตกลงระหว่างกัน ส่วนใหญ่ก็จะคุยกันให้เข้าใจและต้องมีหลักฐานการจ่ายการรับไว้ให้ชัดเจน ในทางภาษี การจ้างแบบนี้ต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราต้องเก็บจากผู้รับเหมาจากยอดเงินที่เราตกลงจ้างกัน ดังนั้น ต้องคุยให้เข้าใจแต่แรกว่า ราคานี้รวมภาษีหรือไม่ หากไม่ได้เขียนหรือตกลงไว้ โดยกฎหมายต้องคิดต่างหากออกมา ไม่ว่าจะแยกจะรวมอย่างไร เราต้องนำเงินส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มส่งให้แก่รัฐ โดยต้องชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ได้เข้าในกระเป๋าเราเสียเมื่อไร งานซ่อมไม่ใหญ่ แค่จ้างคนมาทำไม่กี่คนไม่กี่วันก็ได้งานประหยัดเงิน คุณจะกลายเป็นนายจ้างซึ่งใช้แรงงานเขา ต้องเอาใจใส่ในสวัสดิการและมาตรการความปลอดภัย และอยู่ในข่ายของกฎหมายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดเวลาทำงานต่อวัน ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย สวัสดิการต่างๆ ที่ต้องให้ แม้จะจ้างไว้ไม่กี่วันก็ตาม ซ่อมเสร็จแล้วน้ำยังซึมยังรั่ว ก็ต้องปวดหัวจ้างกันใหม่ จะโทษให้เขารับผิดชอบก็อาจไม่ได้เพราะเราเป็นคนดูแลจัดการเองทั้งหมด ผลสำเร็จของงานจึงเป็นประการสำคัญในการฟันธงว่าจ้างอย่างไร ความรับผิดชอบตามกฎหมายก็จะแตกต่างกัน งานซ่อมเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องทำเมื่อไหร่ ก็ใส่ใจในข้อกฎหมายสักหน่อยเป็นดี |