พิมพ์หน้านี้ - ว่าว ภูมิปัญญาไทย แต่งเติมสีสันบนท้องฟ้า

นานาสาระ => นานาสาระ => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ เมษายน 20, 2008, 06:12:36 am



หัวข้อ: ว่าว ภูมิปัญญาไทย แต่งเติมสีสันบนท้องฟ้า
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ เมษายน 20, 2008, 06:12:36 am
ว่าว ภูมิปัญญาไทย แต่งเติมสีสันบนท้องฟ้า

(http://www.dailynews.co.th/web/images/logo.gif)

(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/culture/4/20/161257_73399.jpg)

ในช่วงอากาศร้อนอบอ้าวการเล่นว่าวนับเป็นกิจกรรม การละเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ว่าว ถือได้ว่าเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของช่างฝีมือพื้นบ้านของไทยในแต่ละท้องถิ่นที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวมาประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นของเล่นให้แก่ลูกหลาน
 
องค์ความรู้การทำว่าวจึงเป็นมรดกตกทอดทรงคุณค่าที่บรรพบุรุษคิดค้นถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานในแต่ละท้องถิ่น ชุมชนและบุคคลและด้วยความโดดเด่นของว่าว ส่วนหนึ่งจากความรู้ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รวบรวมเผยแพร่ไว้โอกาสนี้ขอนำเสน่ห์สีสันของว่าวที่แต่งแต้มท้องฟ้าคลายร้อนมาบอกเล่า ว่าวจุฬา ว่าวที่นิยมเล่นกันในภาคกลางมีลักษณะเป็น 5 แฉก ประกอบเป็นโครงขึ้นด้วยไม้ 5 อันซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ไผ่สีสุก อายุประมาณ 3-5 ปีซึ่งเนื้อไม้จะมีน้ำหนักเบา เหนียว ยืดหยุ่นสูง ไม่หักง่ายมาประดิษฐ์ซึ่งไม้ที่มีตำหนิหรือเป็นรอยด่างเนื้อไม้จะไม่เสมอกันเป็นเหตุทำให้ว่าวเลี้ยงตัวไม่ดี
 
ในการทำว่าวจะนำโครงว่าวขึงด้ายเป็นตารางตลอดตัวว่าวเรียกกันว่า ผูกสัก ใช้กระดาษปิดทับลงบนโครงซึ่งในวิธีการนี้อาจดูคล้ายทำได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงนั้นการทำว่าวเป็นภูมิปัญญาที่ผู้ทำจะต้องมีความอดทน มีสมาธิและเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอย่างยิ่ง เพราะหากทำไม่ถูกสัดส่วนว่าวจะไม่สามารถลอยตัวขึ้นได้หรืออาจจะลอยตัวขึ้นแต่จะเอียงซ้าย ขวา หมุนควงและดิ่งลงมาสู่พื้นในที่สุด ช่างแต่ละคนจึงมีเคล็ดลับในการทำว่าวแตกต่างกันไป

(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/culture/4/20/161257_73400.jpg)

นอกจากว่าวจุฬา ว่าวอีกชนิดที่มีเสน่ห์ยามล้อลมลอยอยู่บนท้องฟ้าได้แก่ ว่าววงเดือน หรือ ว่าวบุหลัน ซึ่งแปลว่า ว่าวเดือน นิยมเล่นในภาคใต้ตอนล่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะที่การตกแต่งว่าวเป็นลวดลายสวยงามคล้ายลายของเรือกอและ ส่วนบนของว่าวมีลักษณะคล้ายว่าวจุฬา แต่ในส่วนของหางจะเป็นรูปวงเดือน มักนิยมติดแอกหรือธนู ซึ่งทำให้เกิดเสียงเมื่อปะทะกับลม เป็นว่าวที่ขึ้นง่าย สูง นิ่ง และให้เสียงอ่อน เป็นต้น และไม่เพียงว่าวข้างต้นในแต่ละภูมิภาคยังมีการประดิษฐ์ว่าวที่มีเอกลักษณ์โดยการเล่นมีทั้งเพื่อความสนุกสนาน อนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรม
 
ขณะที่การเล่นว่าวต้องอาศัยกระแสลมเป็นปัจจัยสำคัญ ช่วงเวลาที่เหมาะจะมีทั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคมถึงเมษายนซึ่งช่วงเวลานี้จะมีลมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลพัดสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าลมตะเภา หรือ ลมว่าว พัดผ่านมา
 

(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/culture/4/20/161257_73401.jpg)

ในวิธีการเล่นว่าวนิยมเล่นด้วยวิธีการชักว่าวให้ลอยลมปักอยู่กับที่เพื่อดูความสวยงามของว่าวการชักว่าวแบบบังคับสายให้เคลื่อนไหวได้ตามความต้องการ เพื่อให้สูง งดงามหรือเกิดความไพเราะของเสียงว่าว และวิธีสุดท้าย การเล่นว่าวแบบต่อสู้กันบนอากาศ อย่าง ว่าวจุฬา-ปักเป้า ซึ่งมีชื่อเป็นที่กล่าวขานและจากสีสันเสน่ห์ของว่าวไม่เพียงช่วยผ่อนคลายความร้อนของอากาศ ยามว่าวลอยล้อลมบนท้องฟ้ายังสร้างความสุขความประทับใจอีกร่วมด้วย นับเป็นมรดกภูมิปัญญาล้ำค่าที่ควรช่วยกันสืบทอดรักษาให้คงอยู่สืบไป.

(http://ads.dailynews.co.th/news/images/2008/culture/4/20/161257_73402.jpg)


หัวข้อ: Re: ว่าว ภูมิปัญญาไทย แต่งเติมสีสันบนท้องฟ้า
เริ่มหัวข้อโดย: Hooto cha-am ที่ เมษายน 24, 2008, 10:24:35 am
 :P


หัวข้อ: Re: ว่าว ภูมิปัญญาไทย แต่งเติมสีสันบนท้องฟ้า
เริ่มหัวข้อโดย: bancha.2518 ที่ เมษายน 25, 2008, 01:10:33 am
เด็กรุ่นใหม่ เริ่มไม่รู้จักกันแล้วมั้งครับ บ่างรู้แต่ก็ไม่ทำเล่น มัวแต่เล่น คอมฯ เล่นเกมกันหมดแล้วครับ  :'(