"สำนักข่าวอิศรา" เขาทำหน้าที่สื่อ "สืบเสาะข้อมูล" ได้เก่งนะ!
แต่ใครเก่งกว่าใคร .......?
ระหว่างสำนักข่าวอิศรากับคณะทำงานที่ ป.ป.ช.ตั้ง (๒๔ ม.ค.๖๐) ไปสืบเสาะข้อมูล "สินบนโรลส์-รอยซ์"
เดี๋ยวก็รู้!
หัวข้อที่ ป.ป.ช.มอบให้คณะทำงานไปสืบเสาะ ก็คือ
"กรณีบริษัทโรลส์รอยซ์จ่ายสินบนให้อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัทการบินไทย
ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 777 รวม ๓ ครั้ง
ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๔๘ เป็นเงิน ๑,๒๕๓ ล้านบาท
และการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์รอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม
ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท.และบริษัท ปตท.สผ.เป็นเงินกว่า ๓๘๕ ล้านบาท"
เห็นหัวข้อปุ๊บ สิ่งแรกที่คิดแว็บ.......
นี่คืออีก ๑ ตัวอย่าง "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ต้องเอากระดูกแขวนคอ"
คนที่หวังตำแหน่ง-หวังยศ โดยยอมทำทุกอย่างตามเจ้านาย-นักการเมืองสั่ง
จงดูเรื่องจำนำข้าว เรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์นี้เป็นมรณานุสติ
ที่การบินไทย "ผู้บริหารและพนักงาน" ซวยก่อน
ที่ ปตท.-ปตท.สผ. "ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่" ซวยก่อน
ทั้งที่ทางปฏิบัติเป็นจริง..........
คนระดับนี้ มีอำนาจ "ชี้เป็น-ชี้ตาย" ด้วยวงเงินเฉียดแสนล้านเชียวหรือ?
"ใช่แน่หรือไม่ใช่" ในความเป็น "ตัวการ" ก็ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัด
ด้วยตำแหน่งหน้าที่ "รับรู้-ไม่ได้รับรู้" เป็นเรื่องหนึ่ง
แต่ด้วยความรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่ ถึงไม่ (ได้) รับ ก็ต้องรับ!
ไม่ใช่รับเงิน รับฎีกาคุกน่ะ!
พูดกันทางกฎหมาย คนนั่งหน้าแป้น คอยเป็นมือ-เป็นตีนให้นักการเมือง
เขาให้เซ็นอะไร ก็เซ็นไปทุกอย่างตามสั่ง แลกกับตำแหน่งนั่นน่ะ
คนเซ็น "ซวย" เพราะมีหลักฐาน
คนสั่ง "รวย" เพราะไม่เป็นหลักฐาน!
ทีนี้มาดูต่อ ถ้าตัวงาบ ไม่ใช่แค่ระดับผู้บริหาร-พนักงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจ
แล้วมีหลักฐานอะไรเป็นตัวบ่งชี้บ้างมั้ยว่า
"มีใคร-นักการเมืองคนไหน-พวกไหน คือแก๊ง 'ไอ้โม่งแดง' ที่งาบสินบน โรลส์-รอยซ์?"
ในสินบน ๓ ครั้ง.....
ครั้งที่ ๓ ช่วงปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ประมาณ ๒๕๔ ล้านบาท
ตามเอกสาร ป.ป.ช.อังกฤษ ที่สำนักข่าวอิศราเปิดเผย
เป็นจดหมายภายในโรลส์-รอยซ์ ฉบับลงวันที่ ๑๙ พ.ย.๔๗ บันทึกการประชุม
ร่วมกันระหว่าง นายหน้า ๓ นายหน้าส่วนภูมิภาค และคนในรัฐบาลไทย
ระบุบรรยากาศการประชุมครั้งนั้น ว่า
ช่างเป็นการประชุมที่ดีเหลือเกิน การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่
แอร์บัส A 340 และโบอิ้ง 777 กำลังอยู่ในวาระการประชุม
ของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤจิกายนนี้ (2547)
ก็มาดูตามวันที่ระบุ ปรากฏว่า ๒๓ พ.ย.๔๗ เป็นช่วง "รัฐบาลทักษิณ"
วันที่ ๒๓ พ.ย.นั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นผู้ลงนาม เสนอเรื่องขออนุมัติจัดซื้อต่อ ครม.
และ ครม.ก็อนุมัติ ด้วยวงเงิน ๙๖,๓๕๕ ล้านบาท
นี่คือฝ่ายการเมือง.........
"การเสนอ-การอนุมัติ" ด้วยมติ ครม.หน้าฉากไม่ใช่คำตอบ
ของคำว่า "สินบน" มันคือนโยบายและการบริหารตะหาก
ก็มาดูต่อที่ "ลูกมือการเมือง".......
ที่การบินไทย ใครคือผู้บริหารและพนักงานการบินไทยช่วงนั้น
ซึ่งต้องมีส่วนรู้เห็นในโครงการจัดซื้อตามหน้าที่
ตามนัยที่ ป.ป.ช.ตั้งคณะ-ตั้งประเด็น-ตั้งธง สืบสวน-รวบรวมข้อมูล
ก็ปรากฏว่า ช่วง มิ.ย.๔๕-มี.ค.๔๘...........
นายทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย
นายกนก อภิรดี เป็นผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
เหล่านี้คือบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ ต้องรู้-ต้องเห็น-ต้องเซ็น-ต้องเสนอ-ต้องรับผิดชอบ
ในการจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A 340 และโบอิ้ง 777 ที่ใช้ "เครื่องยนต์สินบน" โรลส์-รอยซ์!
เอาล่ะ ก็จบไปภาคหนึ่ง ทีนี้มาดูต่อ นอกจากตัวละครในภาคแรกแล้ว
ยังมีตัวละคร "แคบและชัด" ลงไปอีกชั้นหนึ่ง ว่านี่แหละ
แก๊ง "โม่งแดง" ตัวจริง ปรากฏร่างหรุบหรู่อยู่ใต้เงาจันทร์ที่สาดแสงโลมหล้า!
ตามหลักฐานที่สำนักข่าวอิศราตีแผ่
๔ ธ.ค.๔๗ ...........
อีเมล์ภายในของโรลส์-รอยซ์อีกฉบับระบุ คำสั่งซื้อ/ออร์เดอร์ของการบินไทย ได้รับการอนุมัติแล้ว
Calls between [certain Thai Government ministers
and a Thai Airways employee] yada, allpositive.
Airline still not heard the good word yet and not clear if POs signed.
[Intermediary 3 and the Regional Intermediary] have commitment from
[the Thai Government deputy minister whom they had met]
that it will be sorted by tomorrow.
"มีสายตรงระหว่าง (รัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลไทยกับพนักงานการบินไทย) เป็นไปด้วยดี
ทางสายการบินยังไม่ได้รับทราบข่าวดีใดๆ
และยังไม่มีท่าทีแน่ชัดถึงการเซ็นสัญญา POs (นายหน้า 3 รวมทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาค)
ได้รับคำมั่นสัญญาจากรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทย
ซึ่งพวกเขาได้พบก่อนหน้านี้ ว่าเรื่องราวดังกล่าวจะถูกไล่เลียงความชัดเจนภายในวันรุ่งขึ้น"
ท้ายอีเมล์มีข้อความด้วยว่า.............
"WARNING:-[the Regional Intermediary and Intermediary 3]
have dinner with [the Thai Government deputy minister
whom they had met] on 18th Dec and hence
[the Regional Intermediary] may suddenly decide to support
[Intermediary 3]'s request." [
]
"we should be firm in my view. Comments?"
"นายหน้าส่วนภูมิภาค กับคนกลาง 3 ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วยกัน
ในวันที่ 18 ธ.ค.กับรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทยคนหนึ่ง
ที่เคยพบกันมาก่อน และถ้าเป็นอย่างนั้น นายหน้าส่วนภูมิภาคอาจตัดสินใจกะทันหัน
เพื่อสนับสนุนคำขอของนายหน้า 3 ก็ได้ '[ ]'
พวกเราควรทำตามข้อเสนอ คิดเห็นว่ายังไง?
นั่นแน่.......
ไอ้โม่งแดง คือ "รัฐมนตรีช่วย" ที่เป็นตัวการ "หางโผล่" แล้วไง!
แล้วมันใคร คือ "รัฐมนตรีช่วย" ที่ร่วมยัดทานอาหารค่ำ
เมื่อ ๑๘ ธ.ค.๔๗ เพราะรัฐมนตรีช่วยรัฐบาลทักษิณมีเต็มกระโถน
ใจเย็นๆ "รัฐบาลทักษิณ" ระหว่าง ม.ค.๔๔-ม.ค.๔๘ "คลัง-คมนาคม" ใคร-เป็นใครบ้างล่ะ ก็มาดูกัน
-๑๗ ก.พ.๔๔ ครม.ชุดแรก
"คมนาคม" นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น รมว. นายประชา มาลีนนท์ และนายพงศกร เลาหวิเชียร เป็น รมช.
"คลัง" นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น รมว. นายวราเทพ รัตนากร และร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมช.
-๓ ต.ค.๔๕
คลัง:นายสมคิด-นายวราเทพ-ร้อยเอก สุชาติ เหมือนเดิม
"คมนาคม" เปลี่ยนยกชุด เป็น..........
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.นายพิเชษฐ สถิรชวาล นายนิกร จำนง เป็น รมช.
-๘ ก.พ.๔๖
"คลัง" ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.
นายสมคิด โยกไปเป็น "รองนายกฯ"
นายวราเทพ รัตนากร ยังคงเป็น รมช.
-๘ พ.ย.๔๖
"คลัง" ยังคงเป็น ร้อยเอกสุชาติ รมว. และนายวราเทพ รมช.
"คมนาคม" นายสุริยะ รมว.คงเดิม
"นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี" เข้ามาเป็น รมช.แทนนายพิเชษฐ
-๑๐ มี.ค.๔๗
"คลัง" สมคิด กลับมาเป็น รมว. สุชาติ ไปเป็นรองนายกฯ
วราเทพ รัตนากร ยังอยู่ในตำแหน่ง รมช.เหนียวแน่น
"คมนาคม" นายสุริยะ รมว. และนายวิเชษฐ์ เป็น รมช.ตามเดิม
ครับ...
ทีมรัฐมนตรีคลัง นายสมคิด รมว. นายวราเทพ รมช. และทีมคมนาคม
นายสุริยะ รมว. นายวิเชษฐ์ รมช. จนสิ้นเทอมรัฐบาลทักษิณ เมื่อ ๖ ม.ค.๔๘
ก็จะเห็นว่า "รัฐมนตรีช่วยว่าการ" ในกระทรวงหลัก มี ๒ รมช.คือ
"นายวราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีช่วยคลัง
"นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี" รัฐมนตรีช่วยคมนาคม
ทั้ง ๒ คนนี้ ผมไม่ได้บอกว่าเป็น "รัฐมนตรีช่วย" ตามเอกสารโรลส์-รอยซ์ เพียงแต่บอกว่า ..........
เป็นรัฐมนตรีช่วย ในกระทรวงคลัง-คมนาคม และอยู่ในตำแหน่งตามช่วงเวลานั้นเท่านั้น
ส่วน "รัฐมนตรีช่วย" ที่ไปยัดทานอาหารค่ำกันตามเอกสารโรลส์-รอยซ์
คือใคร-คนไหน ไว้ให้คณะทำงาน ป.ป.ช.หรือ สตง.เขาบอกเอง!
แต่น่าสนใจนะ ครม.ทักษิณ ๔ ปี ปรับกว่า ๑๓ ครั้ง
มีคนเดียวเป็น "รัฐมนตรีช่วย" ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนเลย
คือ "
นายวราเทพ รัตนากร" ในตำแหน่ง รมช.คลัง
กระทั่งรัฐบาลทักษิณ ๒ ปี ๒๕๔๘
๑๑ มี.ค.๔๘ ตั้ง ครม.ปุ๊บ ชื่อแรกเห็นปั๊บ "นายวราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง!?
อะไรจะ "ดี-เด่น-ดัง" ผลงานเข้าตานายใหญ่-นายหญิง ผูกขาดเก้าอี้ รมช.คลังได้นิรันดร์กาลขนาดนั้น!
สมคิด-สุริยะซะอีก เมื่อเสร็จกิจ ตามติดมาเป็น รมว.คลัง-รมว.คมนาคมได้ ๕ เดือน ก็ย้าย
สมคิดไปพาณิชย์ แล้วให้ "นายทนง พิทยะ" จากประธานบอร์ดการบินไทย รับโบนัสเป็นรัฐมนตรีคลัง
สุริยะไปอุตสาหกรรม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล มาเป็น รมว.คมนาคมแทน
"วราเทพ รมช.คลัง" คนเดียวจริงๆ สถิตเป็น "นางกวัก" ประจำไทยรักไทยของนายใหญ่-นายหญิง
เกิดกับรัฐบาลทักษิณ เมื่อ ๑๗ ก.พ.๔๔ อยู่ในตำแหน่งจนตายพร้อมรัฐบาลทักษิณ ๒ ที่ถูกบิ๊กบังปฏิวัติ ๑๙ ก.ย.๔๙
ก็จบด้วยคำถามประจำวัน..........
ใครเอ่ย....รับประทานอาหารค่ำด้วยกันเมื่อวันที่ ๑๘ ธ.ค.๔๗ กับแก๊งสินบนโรลส์-รอยซ์?
Cr:
http://www.thaipost.net เปลว สีเงิน