
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน ภาคเหนือ-อีสาน-ตะวันออก รับมือฝนตกหนัก 4-6 ตุลาคมนี้ พิษ พายุมูจีแก ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือน 32 จังหวัด เตรียมพร้อม...
เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม 2558 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่องพายุโซนร้อน "มูจีแก" ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมา พายุโซนร้อน "มูจีแก" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูด 18.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคม 2558
ทั้งนี้ พายุมูจีแก จะส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยในช่วงวันที่ 4-6 ตุลาคม 2558 โดยบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย
สำหรับกรุงเทพมหานคร ในวันนี้มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เผยว่า พายุมูจีแกจะส่งผลให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวัน และภาคใต้ จึงได้ประสานแจ้งเตือนให้ 32 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือ ซึ่งทาง ปภ. ได้จัดเจ้าหน้าที่และประสานมิสเตอร์เตือนภัยติดตามพยากรณ์อากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทันทีที่เกิดภัย
สำหรับ 32 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนักจากพิษพายุมูจีแก ประกอบด้วย
ภาคเหนือ
- พิษณุโลก
- ตาก
- สุโขทัย
- อุตรดิตถ์
- เพชรบูรณ์
- ลำปาง
- แม่ฮ่องสอน
- เชียงใหม่
- ลำพูน
- เชียงราย
- พะเยา
- น่าน
- แพร่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ขอนแก่น
- กาฬสินธุ์
- มหาสารคาม
- ร้อยเอ็ด
- สกลนคร
- นครพนม
- มุกดาหาร
- บึงกาฬ
- หนองคาย
- อุดรธานี
ภาคตะวันออก
- ชลบุรี
- ระยอง
- จันทบุรี
- ตราด
ภาคใต้
- ระนอง
- พังงา
- ภูเก็ต
- กระบี่
- ตรัง
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมอุตุนิยมวิทยา