วันนี้ ลูกชายผมเรียนชั้นป.2 มาถามผมอีกแล้วครับ ว่าอักษรนำคืออะไร ...ผมมึนตึ๊บเลบครับ ... 
....ลองค้นgoogle ดู ..เขาว่ามาดังนี้

อักษรนำ : ความสับสน ในการสอนหลักภาษาไทย
ผมสอนหลักภาษาไทยมานาน เกือบ ๓๐ ปี ดังที่เคยเล่าไว้ เคยเรียนภาษาไทยมาหลายสถาบัน เคยอ่านตำราหลักภาษาไทยมาหลายเล่ม เคยเข้าประชุม อบรม สัมมนา เสวนา อยู่บ่อยๆ
(ผมกำลังคุยโม้ว่ามีประสบการณ์นั่นแหละ) พอมาสอน มาวัดผลประเมินผลเรื่อง อักษรนำทีไร
ผมอึดอัดมาก ท่านลองติดตามมานะครับ
อักษรนำ คืออย่างไร ผมจะลองหยิบหนังสือมา ๔ เล่มที่มีความแตกต่างกันเป็น ๓ ลักษณะ
ลักษณะแรกเป็นหนังสือหลักภาษาไทย ของท่านอาจารย์กำชัย ทองหล่อ(ผมให้หมายเลข๑) กับวารสารแม็ค ประถมปลาย ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๙(หมายเลข๒) ลักษณะที่ ๒เป็นหนังสือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ของคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ(หมายเลข๓) ลักษณะที่ ๓ หนังสือเรียนภาษาไทย ป.๔ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ของสำนักพิมพ์ อจท.(หมายเลข๔)
หนังสือหมายเลข ๑ให้ความหมายของอักษรนำ ว่า อักษรนำคือ พยัญชนะ ๒ ตัวร่วมอยู่ในสระตัวเดียวกัน บางคำก็ออกเสียงร่วมกันสนิท เช่น หนู หมอ..อยู่ อย่า..บางคำก็เสียงคล้ายกับเป็น ๒ พยางค์ เนื่องจากต้องออกเสียงพยัญชนะตัวหน้าประสมกับพยัญชนะตัวหลัง แต่พยัญชนะทั้ง ๒ นั้น ประสมกันไม่สนิทกลมกลืนเหมือนอักษรควบแท้ จึงฟังดูคล้ายกับมีเสียงสระอะดังออกมาแผ่วๆ แต่อย่างไรก็ตาม เสียงของคำย่อมบ่งชัดว่าเป็นพยัญชนะประสมกัน เป็นตัวเดียวกัน และเป็นพยางค์เดียว เช่น กนก ขนม จรัส ฉมวก แถลง ผนวก ฝรั่ง ไสว
หนังสือหมายเลข ๒ ให้ความหมายของอักษรนำว่า อักษรนำคือคำที่มีพยัญชนะสองตัวประสมสระเดียวกัน ออกเสียงสองพยางค์ พยางค์หน้าหรืออักษรนำออกเสียงสระอะกึ่งมาตรา พยางค์หลังหรืออักษรตามออกเสียงสระที่ประสมอยู่
หนังสือหมายเลข ๓ บอกว่าคำอักษรนำ คือคำที่มีพยัญชนะ ๒ ตัวประสมสระเดียวกัน
หนังสือหมายเลข ๔ บอกว่า อักษรนำคือคำที่มีพยัญชนะสองตัวซ้อนกัน พยัญชนะตัวแรกเป็นอักษรสูงหรืออักษรกลาง พยัญชนะตัวที่สองเป็นอักษรต่ำเดี่ยว...เวลาออกเสียง พยัญชนะตัวแรกจะออกเสียงวรรณยุกต์สูง-ต่ำตามพยัญชนะตัวแรกเช่น ขนุน..เสมอ...ตลาด..อร่อย..(แล้วมาหยอดตรงท้ายว่า หากอักษรตัวหลัง ที่ตามอักษรสูงหรืออักษรกลาง ไม่ใช่อักษรต่ำเดี่ยว เวลาออกเสียง ไม่ต้องเปลี่ยนระดับเสียงวรรณยุกต์เหมือนอักษรสูงหรืออักษรกลางที่นำมาข้างหน้า เช่น ไผท เผชิญ
ทีนี้ผมจะมาอธิบายความแตกต่าง ส่วนอื่นๆหนังสือทั้ง ๔ เล่มอธิบายไว้คล้ายๆกัน แต่ส่วนที่น่าสังเกตมีดังนี้ หนังสือหมายเลข ๓ เขียนหมายเหตุไว้ดังนี้
มีหนังสือหลักภาษาไทยบางเล่ม ยกตัวอย่างคำอักษรนำที่มีเสียงพยางค์หน้าเน้นเสียงอะ เช่น คำว่า สบาย สบง ขบวน ทนาย ฯลฯ และระบุว่าเป็นอักษรนำ ซึ่งความจริงยังไม่ถูกต้อง เพราะคำอักษรนำจะต้องเป็นคำที่เป็นอักษรสูงหรืออักษรกลางนำอักษรต่ำเดียว จึงจะจัดเป็นอักษรนำ เพราะคำเหล่านี้แม้จะออกเสียง ๒ พยางค์และพยางค์หน้าออกเสียงอะโดยไม่ประวิสรรชนีย์ก็จริง แต่เสียงพยางค์ของคำทั้ง ๒ เป็นอิสระแก่กัน เช่นคำว่าสบาย อ่านว่าสะ-บาย ตัว บ ไม่ต้องออกเสียงสูงตามตัว ส และตัว บ ไม่ใช่อักษรต่ำเดี่ยว จึงไม่จัดเป็นอักษรนำ คำว่า ทนาย อ่านว่า ทะ-นาย ตัว ท เป็นอักษรต่ำไม่ใช่อักษรสูงหรืออักษรกลาง อักษรนำจะต้องใช้พยัญชนะตัวแรกเป็นอักษรสูงหรืออักษรกลางเท่านั้น จึงใคร่ขอให้ครูทำความเข้าใจให้ชัดเจนในเรื่องนี้
จากหมายเหตุนี้จึงน่าจะขัดแย้งกับหนังสือหมายเลข ๑ หมายเลข ๒ และหมายเลข ๓ ตรงท้ายๆ เพราะหนังสือหมายเลข ๑ มีตัวอย่างที่อักษรสูงนำอักษรสูงก็มี เช่น สถาน เสถียร อักษรต่ำนำอักษรต่ำเดี่ยวก็มีเช่น โพยม เชลย อักษรสูงนำอักษรกลางเช่น แสดง เผอิญ เผดียง หนังสือหมายเลข ๒ ยกตัวอย่างคล้ายๆหนังสือหมายเลข ๑ ตัวอย่างที่ยก ว่าเป็นอักษรนำ ก็เหมือนหนังสือหมายเลข ๑ (น่าจะใช้หนังสือหมายเลข ๑ เป็นแหล่งเรียนรู้) ตัวอย่างที่ยกเพิ่มมาคือ ทลาย มณี เป็นต้น
ส่วนหนังสือเล่มที่ ๔ นั้นตอนแรกก็ให้ความหมายสอดคล้องกับหนังสือหมายเลข ๓ แต่ตอนท้ายไปมีเงื่อนไขและตัวอย่างเพิ่มขึ้น ผมจึงจัดไว้เป็นลักษณะที่ ๓
เมื่อเป็นอย่างนี้ครูภาษาไทยเราจะทำอย่างไร ท่านลองทำข้อสอบของผมข้อนี้
๑. ข้อใด ไม่จัดเป็นอักษรนำ?
ก. หน้า
ข. อยาก
ค. สนาม
ง. ทลาย
ท่านว่าข้อสอบข้อนี้มีตัวเลือกที่ถูกต้องหรือไม่..............ท่านผู้รู้ช่วยอธิบาย และตัดสินที ครูภาษาไทยผู้ด้อยปัญญา แต่มากด้วยประสบการณ์อย่างผมกลุ้มกลัด อัดอั้นจริงๆ
........
http://gotoknow.org/blog/pisootjai/95154เพื่อนๆท่านใดเก่งภาษาไทยช่วยอธิบายให้เข้าใจง่ายๆซัก2-3บรรทัดทีเถอะ จะขอบคุณมากๆ อิๆ
