การสมาทานศีล
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การสมาทานศีล  (อ่าน 1282 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: ตุลาคม 26, 2010, 04:17:43 pm »



ความหมาย.-
    ศีล แปลว่า ปกติของสิ่งต่าง ๆ อันเป็นสภาวธรรมที่มีที่เป็นกับสิ่งนั้น ๆ เช่น ดวงอาทิตย์เป็นดวงไฟ
ที่ร้อนและให้แสงสว่าง ความร้อนและความสว่างถือว่าเป็นสภาวะปกติของดวงอาทิตย์ถ้าดวงอาทิตย์ยังร้อน
ยังให้แสงสว่างอยู่ ก็กล่าวได้ว่าดวงอาทิตย์ยังมีปกติยังรักษาปกติของตนไว้ได้ หากเมื่อใดดวงอาทิตย์เกิด
ไม่ร้อนหรือไม่ให้แสงสว่างขึ้นมา เราก็เรียกว่าดวงอาทิตย์ผิดปกติหรือเสียปกติไป

 

ปกติเป็นความหมายของศีลดังนี้
    คนเราโดยทั่วไปก็มีปกติคือมีศีลประจำตัวอยู่ทุกคนแล้ว ปกติของคนคือไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน
ไม่ลักขโมยทรัพย์สินของกันและกัน ไม่ล่วงละเมิดในคู่ครองของกัน ไม่มักมากในกาเมประเวณี ไม่โกหก
หลอกลวงกัน ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียผลประโยชน์ด้วยคำพูดของคน ไม่หลงลืมสติ ไม่ติดสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ
ทุกชนิดนี่คือปกติของคน หากผู้ใดเป็นคนเหี้ยมโหด ชอบทารุณ ชอบฆ่าคนอื่น ชอบลักขโมยทรัพย์สินของคน
อื่น เป็นต้น ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำผิดปกติของคนไป คือผิดไปจากคนธรรมดาปกตินั่นเอง ซึ่งการกระทำนั้นแม้ทาง
บ้านเมืองและสังคมตามปกติก็ไม่ยอมรับ

    ดังนั้น ศีลจึงหมายถึงสิ่งที่เป็นปกติวิสัยที่มีอยู่ประจำในทุกคนเป็นธรรมดา
การสมาทานศีลก็คือการยอมรับว่าตัวเองมีปกติอย่างไร แล้วรักษาปกติของตนนั้น ๆ ไว้ ไม่ให้ล่วงละเมิดปกติของตนโดยการรักษาปกติของกาย ปกติของปาก(วาจา) ให้แสดงออกในทางที่ถูกต้องคลองธรรม ไม่นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่นด้วยการล่วงละเมิดปกตินั้นๆ ของตน

 

จุดมุ่งหมายในการสมาทานศีล.-
    การสมาทานศีล เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า การรับศีล ก็เพื่อปฏิญาณตนต่อหน้าพระผู้ให้ศีลและต่อตนเองว่า
จะไม่ล่วงละเมิดข้อห้ามนั้น ๆ จะรักษาปกติของตนไว้ เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นเป็นเบื้องต้น ด้วยมีความ
ตั้งใจแน่วแน่ด้วยตนเองโดยไม่ต้องบังคับว่าจะงดเว้นจากความชั่วทุจริตผิดปกติของตน อันจะเกิดทางกาย ทาง
วาจาต่อไป

    เพราะผู้มีจิตใจสูงด้วยคุณธรรมมีความประพฤติเป็นปกติดีย่อมบรรลุคุณธรรมชั้นสูงต่อไปได้ง่าย
อนึ่ง ในการทำบุญต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อจะให้ทาน จะมีพิธีรับศีลเสียก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้จิตใจได้รับการ
ฟอกให้สะอาดบริสุทธิ์เป็นเบื้องต้นด้วยเครื่องชำระคือศีล เพื่อให้กายวาจาอยู่ในระดับปกติธรรมดาเสียก่อน เพื่อ
ให้สมควรเป็นที่รองรับคุณความดีอื่นๆ ต่อไป เหมือนช่างย้อมผ้า เมื่อจะย้อมผ้านั้น ๆ เขาจะนำผ้ามาซักให้สะอาด
เสียก่อนแล้วจึงลงมือย้อม ทั้งนี้เพื่อให้สีติดเนื้อผ้าได้สนิททนทาน ดังนั้น ก่อนที่จะทำบุญต่าง ๆ จึงต้องชำระใจ
ให้บริสุทธิ์เสียก่อน เพื่อให้ใจบริสุทธิ์นั้นรับบุญที่ทำได้เต็มที่

 

อานิสงส์ของการสมาทานศีลก่อนให้ทาน.-
    สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนแนวทางแห่งการทำบุญให้ทานที่จะได้อานิสงส์มากแก่ผู้กระทำ
สรุปใจความได้ว่า "การให้ทานควรเลือกให้ เลือกทั้งผู้ให้ สิ่งที่ให้ และผู้รับ ทานที่เลือกให้พระองค์ทรงสรรเสริญ และย่อมมีผลมีอานิสงส์มาก เหมือนชาวนาเลือกพันธ์ข้าวดีแล้วหว่านลงในนาดี ย่อมได้ผลมาก ฉะนั้น เมื่อผู้ให้
เป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้รับก็เป็นผู้บริสุทธิ์ ทานของผู้นั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์มาก เพราะบริสุทธิ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อ
ผู้ให้หรือผู้รับมีศีลบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ทานนั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์ลดน้อยลงมา เพราะบริสุทธิ์เพียงฝ่ายเดียว เมื่อผู้
ให้ก็ไม่บริสุทธิ์ ผู้รับก็ไม่บริสุทธิ์ ทานนั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์น้อย เพราะทั้งสองฝ่ายไม่บริสุทธิ์" ดังนี้

    ดังนั้น ในการทำบุญให้ทานทุกครั้ง ท่านจึงสอนให้รับศีลเสียก่อน เพื่อให้ตนเองบริสุทธิ์ทางกายวาจาใจ
ทานที่ให้หรือบุญที่จะทำจะได้มีผลมีอานิสงส์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ท่านผู้ฉลาดในการทำบุญจึงได้ประสบผลบุญ
ตามปรารถนาตลอดมา โดยเมื่อถึงคราวทำบุญก็ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ รักษาปกติกาย วาจาให้เรียบร้อย
สมบูรณ์ โดยเวลารับศีลก็เต็มใจรับ รับด้วยความตั้งใจ เวลารักษาศีลก็เต็มใจตั้งใจรักษา ไม่ยอมให้ศีลด่างพร้อย
ด้วยประการต่าง ๆ โดยเฉพาะในขณะทำบุญ จะประคองศีลของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งทีเดียว

 

วิธีสมาทานศีล.-
    การทำตนให้มีศีล โดยปกติมักเข้าใจว่าต้องไปรับกับพระเท่านั้นจึงจะใช้ได้ และจึงจะเป็นศีลถูกต้อง
มีอานิสงส์มาก ความจริงการรักษาศีลหรือทำตนให้มีศีลนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน มีทั้งวิธีที่รับกับพระและไม่ได้รับ
กับพระ แต่จะเป็นวิธีไหนก็ตามล้วนมีผลมีอานิสงส์ทั้งสิ้น ในพระพุทธศาสนา ท่านสอนวิธีมีศีลไว้ ๓ แบบ คือ

    ๑.แบบสัมปัตตวิรัติ
        แบบนี้ไม่ต้องรับจากพระ ไม่ต้องกล่าววาจาสมาทานใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เกิดมีสามัญสำนึกในการ
จากความชั่วทุจริตต่าง ๆ เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีด้วยตนเอง แล้วเว้นจากการทำผิด เช่น มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
กับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ พอที่จะยักยอกหรือฉ้อโกงเอามาได้ แต่ไม่ทำ ทั้ง ๆ ที่ทำได้ ทั้งนี้ เพราะมาคิดว่า การยัก
ยอกฉ้อโกงนี้เป็นบาปทุจริต แม้ยักยอกเอาไปได้ เงินทองนี้อาจจะอำนวยประโยชน์และให้ความสุขได้จริง แต่เป็นความสุขที่เจือด้วยความทุกข์ เพราะต้องหวาดผวาระแวงภัยระวังตัวอยู่เสมอ กลัวเขาจะจับได้ เป็นต้น ทั้งยังจะทุกข์หนักยิ่งกว่าทุกข์เพราะไม่พอกินไม่พอใช้เสียอีก หรือมาคิดว่า การยักยอกฉ้อโกงเขา อย่างนี้เป็น
สิ่งไม่เหมาะไม่ควรแก่ตน เราเป็นมนุษย์เป็นผู้มีใจสูงมีวัฒนธรรม เล่าเรียนมาก็สูง มาทำอย่างนี้จะเหมาะหรือ
ถ้าเราทำ ระดับจิตใจของเราก็จะลดระดับต่ำลง ต่อไปจะได้ใจทำซ้ำอีก หนักเข้าก็จะชาชินกับความชั่วอย่างนี้
ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะลดระดับต่ำลงเรื่อย ๆ ดังนี้เป็นต้น

        เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วก็เว้นจากการกระทำนั้น ๆ ไม่ยอมทำตามใจปรารถนาที่เกิดขึ้นครั้งแรก ทั้งนี้
เพราะมาเกิดสามัญสำนึกอายชั่วกลัวบาปขึ้นมาเอง อย่างนี้ก็เป็นศีลเหมือนกัน แม้การคิดงดเว้นจากการล่วงละ
เมิดศีลข้ออื่น ๆ นอกจากที่ยกตัวอย่างมานี้ด้วยตนเอง ก็จัดเป็นศีลแบบสัมปัตตวิรัติเช่นกัน ผู้มีศีลแบบนี้ เป็นผู้
เอาตัวรอดจากความชั่วเฉพาะหน้าได้

    ๒. แบบสมาทานวิรัติ
        แบบนี้เป็นแบบที่รับกับพระหรือจากผู้มีศีลอื่น คือต้องมีบุคคลอื่นเป็นสักขีพยานเสียก่อนจึงรักษาได้
แบบนี้เป็นแบบที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป เรียกว่ารักษาศีลด้วยมีเจตนาตั้งใจรับด้วยการสมาทานจากผู้อื่น ผู้มีศีล
แบบนี้อาจล่วงละเมิดศีลของตนได้ง่ายหากไม่มีผู้อื่นเห็น เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังใจไม่ให้เผลออีกเหมือนกัน
เพราะถ้าเผลอเมื่อไร จะล่วงละเมิดศีลข้อนั้น ๆ ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยลงทันที

        วีธีฝึกรักษาศีลแบบนี้ เมื่อไม่อาจจะสมาทานจากพระทุกวันได้ จะสมาทานเองก็ได้เหมือนกัน โดย
ตั้งใจสมาทานเองทุกวันก่อนออกจากบ้านไปทำงาน หรือตอนเช้า ๆ เมื่อตื่นนอน ด้วยการประนมมือเข้าหา
พระพุทธรูปบูชาที่บ้านหรือในที่ทำงาน หรือหากแขวนพระแขวนเหรียญไว้ที่คอ ก็กำพระกำเหรียญนั้นขึ้นประนม
พร้อมตั้งใจอธิษฐานว่า

        ปาณาติปาตา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ฆ่าสัตว์
อะทินนาทานา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ลักทรัพย์
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ประพฤติล่วงประเวณี
มุสาวาทา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่พูดเท็จ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ดื่มสุรายาเมาทุกชนิด
    ทำเช่นนี้ก็ชื่อว่าได้ปฏิญญาว่าจะรักษาศีลแล้ว ต่อไปก็พยายามตั้งใจรักษาปฏิญญานั้นให้ดี ต้องนึกอยู่
เสมอว่าตัวเองได้สมาทานศีลมาแล้ว

    ๓. แบบสมุจเฉทวิรัติ
    แบบนี้เป็นแบบที่จะงดเว้นเองหรืองดเว้นเพราะสมาทานก็ได้ แต่สูงกว่าสองแบบแรกโดยมีความตั้งใจ
เด็ดเดี่ยวที่จะงดเว้นจากบาปทุจริตต่าง ๆ โดยเด็ดขาด ตั้งใจรักษาศีลตลอดไป เรียกว่า "รักษาศีลตลอดชีพ"
แบบนี้เป็นแบบที่เคร่งครัดมาก มีผลอานิสงส์มาก เพราะเป็นแบบของพระอริยะเจ้า ซึ่งคนเราสามารถจะดำเนิน
รอยตามได้ โดยวิธีตั้งใจงดเว้นทุกวันก่อนนอนหรือก่อนออกไปทำงานนอกบ้านว่า
        ปาณาติปาตา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่ฆ่าสัตว์ ตลอดชีวิต
อะทินนาทานา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่ลักทรัพย์ ตลอดชีวิต
กาเมสุมิจฉารา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่ประพฤติล่วงประเวณี ตลอดชีวิต
มุสาวาทา เวระมะณี ข้า ฯ จะพูดเท็จ ตลอดชีวิต
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี ข้า ฯ จะดื่มสุรายาเมาทุกชนิด ตลอดชีวิต
    ทั้ง ๓ แบบนี้ เป็นการทำตนให้มีศีลจากง่ายไปหายาก ผู้หวังความสุขความเจริญในชีวิต ก็อาจฝึกจาก
วิธีต้นไปหาวิธีปลายได้ และไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในเพศไหนวัยใด หากทำได้ ย่อมได้รับอานิสงส์เท่าเทียมกันหมด

อานิสงส์ของศีล.-
    ๑.โภคสมฺปทํ เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติ สามารถบริโภคใช้สอยทรัพย์ที่เกิดมีแก่ตนได้เต็มอิ่ม
        โดยไม่ต้องหวาดระแวงอะไร
    ๒.กลฺยาณกิตฺตึ เป็นเหตุให้มีชื่อเสียงดี มีเกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนไว้ใจได้ ทำให้มีอนาคตดี
        เพราะได้รับความไว้วางใจในความประพฤติ
    ๓.สมุหวิสารหํ เป็นเหตุเป็นคนแกล้วกล้า อาจหาญ สง่าผ่าเผย ในเวลาเข้าสังคม
๔.อสมฺมุฬฺหํ เป็นเหตุให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ ไม่หลงเพ้อดิ้นรนเวลาใกล้ตาย
๕.สุคติปรายนํ เป็นเหตุให้เข้าถึงสุคติภูมิ เมื่อตายไปแล้ว.
               

 

การสมาทานศีลห้า.-
    ศีลห้า จัดเป็นศีลพื้นฐานเบื้องต้นที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมทุกหมู่เหล่า เพราะเป็นการ
ป้องกันความโหดเหี้ยม ความเห็นแก่ตัว ความมักมากในกาม ความไม่จริงใจต่อกัน และความเผลอสติมัวเมา
มิให้เกิดขึ้นกับบุคคลในสังคมนั้นๆ ดังนั้น หากคนในสังคมต่างมีศีลห้าด้วยกันแล้ว ก็เป็นหลักประกันได้ว่าสังคม
นั้นจะมีแต่ความสงบสุขอย่างแท้จริง สังคมจะอยู่ด้วยความรักความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และเป็นมิตรกัน
ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา และเพศพรรณ


วิธีรับหรือสมาทานศีลห้า.-
    เมื่อต้องการสมาทานศีลห้าจากพระ พึงกล่าวคำอาราธนาก่อน ดังนี้
            มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม
ตติยมฺปื มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม

    (ถ้ารับเพียงคนเดียว เปลี่ยน มยํ เป็น อหํ เปลี่ยน ยาจาม เป็น ยาจามิ)
ต่อไปพึงว่าตามพระไปทีละตอน ๆ โดยออกเสียงดังชัดเจนพอสมควร ดังนี้
           
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ( ๓ หน)
           
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
   
        ต่อไปพระท่านจะว่า "ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ" ผู้รับไม่ต้องว่าตาม แต่เมื่อท่านว่าจบ พึงรับว่าอาม ภนฺเต
เท่านั้น แล้วพระท่านจะว่าต่อไป
            ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

ต่อจากนี้ไปพระท่านจะว่าสรูปศีลว่า
            อิมานิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ.
สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย ฯ

ในขณะที่พระกำลังว่าสรุปศีลนี้ ผู้รับพึงกล่าวเบา ๆ พอได้ยินคนเดียวว่า
            อิมานิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ สมาทิยามิ ๓ หน เป็นการให้ปฏิญาณว่าจะสมาทานรักษาศีล ๕
นี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ต่อไป เมื่อจบแล้วพึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง เป็นเสร็จพิธีการสมาทานศีลห้า ฯ


................... .....



บทความจาก

http://www.geocities.com/watthasai


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: