สิ่งหนึ่งที่ผมมีเสมอคือ ความหวัง ในชีวิต ผมเชื่อว่า ความหวัง และ กำลังใจ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครหรือสิ่งใด แต่อยู่ที่ตัวเราเอง มองโลกอย่างไร คิดอย่างไร มองโลกให้ยาก หรือมองโลกให้ง่ายโดย ... หนุ่มเมืองจันท์

Positive Thinking

*ในสิ่งเดียวกันเราสามารถมองได้ 2 แบบ ทั้งทางลบและทางบวก
... เรานำกระดาษขาวแผ่นหนึ่ง จุดสีดำลงที่กลางกระดาษ ลองถามเพื่อนสิครับว่า เห็นอะไรในกระดาษบ้าง ส่วนใหญ่จะบอกว่าเห็นจุดสีดำ ทั้งที่ “จุดดำ” นั้นเป็นจุดเล็กๆ นิดเดียวบนกระดาษขาว มีน้อยคนที่จะตอบว่า เห็นกระดาษสีขาว ทั้งที่สีขาวมีเนื้อที่มากกว่าจุดสีดำหลายร้อยเท่า
*แก้วน้ำใบหนึ่งมีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว คนหนึ่งเห็นบอกว่ามีน้ำ “แค่” ครึ่งแก้ว อีกคนบอกว่ามีน้ำ “ตั้ง” ครึ่งแก้ว
*บริษัทรองเท้าในอิตาลี 2 แห่งส่งเซลล์แมนไปเกาะแห่งหนึ่ง คนบนเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย เซลล์แมนคนแรกบอกเจ้านายว่า “นายครับ ไม่ต้องมาอีกแล้วครับ คนในเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย” เซลล์แมนคนที่สองบอกเจ้านายด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “นายครับ โอกาสขายมีมากเลยครับ เพราะคนในเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย”
... คนหนึ่งเห็น “ปัญหา” คนหนึ่งเห็น “โอกาส”
*โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ แห่งพานาโซนิคเคยกล่าวไว้ว่า “การเล็งเห็นแต่สิ่งไม่ดี และคิดในเชิงลบ ไม่อาจแก้ปัญหาต่างๆ ได้”
... ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อมไร้ข้อบกพร่อง แต่ละคนมีทั้งข้อดี และข้อเสีย แต่ละคนมีทั้งความแข็งแกร่ง และอ่อนแอ
คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมถึงไม่ใช้ “จุดแข็ง” ของเขาให้เป็นประโยชน์ ทำไมมุ่งตำหนิติเตียนต่อ “ความผิดพลาด” ต่างๆ ของเขาเป็นด้านหลัก
หลายปีที่ล่วงมา ผมพบเห็นนักธุรกิจผู้มีความสามารถพิเศษหลายคนล้มเหลวในการเป็นผู้จัดการ เพราะเขากระทำต่อพนักงานราวกับเป็นความบกพร่องมากกว่าเป็นทรัพยากรอันมีค่าขององค์กร
ไอน์สไตน์

*วาทะของ “ไอน์สไตน์” ในเรื่องต่างๆ หลายแง่มุม มีหลายประโยคที่อ่านแล้วยิ้ม
อย่างเช่น “ข้าพเจ้าไม่เคยกังวลเกี่ยวกับอนาคตเลย เพราะมันมาถึงเร็วพออยู่แล้ว”
*ทฤษฎีสัมพันธภาพนั้นถือเป็นการปฏิวัติวงการฟิสิกส์โลก เป็นทฤษฎีที่โด่งดัง แต่ยากจะเข้าใจ แต่ “ไอน์สไตน์” กลับอธิบายทฤษฎีที่ยากแสนยากด้วยประโยคสั้นๆ ให้เลขานุการของเขาฟัง
“หนึ่งชั่วโมงที่นั่งกับสาวสวยบนม้านั่งในสวนผ่านไปเหมือน 1 นาที แต่ 1 นาทีที่นั่งบนเตาร้อนๆ ดูเหมือน 1 ชั่วโมง”
*“ไอน์สไตน์” นั้นเป็นคนถ่อมตัว เวลาคนฉลาดถ่อมตัวนั้นดูน่ารัก
วันหนึ่งมีคนจะไปปรึกษา “ไอน์สไตน์” เกี่ยวกับทฤษฎีบางอย่างที่เขาติดขัดอยู่ ใครไปคุยกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกถ้าไม่สั่นก็เกินไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ก็เหมือนกัน เขาอธิบายแนวคิดและเขียนสมการบนกระดาษด้วยอาการตื่นเต้น แต่พอเขาขยับมือ “ไอน์สไตน์” ก็บอกว่า “เขียนช้าๆ หน่อยนะ ฉันเป็นคนเข้าใจอะไรไม่เร็วนัก”
*“ไอน์สไตน์” ยังเป็นคนเชื่อมั่นในพลังแห่งจินตนาการ เขาบอกว่า “จินตนาการสำคัญยิ่งกว่าความรู้ เพราะความรู้นั้นจำกัด แต่จินตนาการนั้นอยู่ล้อมรอบโลก”
*ประโยคเสียดสีของนักวิทยาศาสตร์ของโลก... “ข้าพเจ้ารอดตายมาจากสงคราม 2 ครั้ง ภรรยา 2 คน และฮิตเลอร์”
ไม่แน่ใจว่า “ไอน์สไตน์” หมายความว่า ภรรยา 2 คนของเขานั้นน่ากลัวเทียบเคียงกับสงครามและฮิตเลอร์
หรือว่าสิ่งที่น่ากลัวในชีวิตของเขาคือฮิตเลอร์ สงคราม 2 ครั้ง และการมีภรรยาพร้อมกัน 2 คน !!!
ความล้มเหลว
*“บิล เกตต์” ชอบจ้างผู้ประกอบการที่เคยล้มเหลวมาก่อนมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ “ไมโครซอฟท์”
เหตุผลง่ายๆ ก็คือ มีแต่ผู้ที่เคยล้มเหลวเท่านั้นที่รู้ดีว่าเส้นทางของความล้มเหลวมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และความล้มเหลวนั้นเจ็บปวดเพียงใด
ด้วยประสบการณ์ดังกล่าว จะทำให้เขาไม่นำพาองค์กรไปเส้นทางนี้อีก
*... คนที่รบชนะติดต่อกัน 100 ครั้ง การรบครั้งที่ 101 จะอันตรายที่สุด...
*“โธมัส อัลวา เอดิสัน” นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟคนแรก ... ครั้งหนึ่งผู้ช่วยของเขา บ่นกับเขาว่า “เราทำการทดลองเรื่องนี้มา 700 ครั้งแล้ว เรายังไม่พบอะไรเลย”
“เอดิสัน” หัวเราะ แล้วบอกว่า “เราไม่ได้ล้มเหลว แต่เราได้เรียนรู้อะไรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น... อย่างน้อยที่สุดตอนนี้เราเรียนรู้แล้วว่ามี 700 วิธีที่ไม่ควรทำ”
*บางครั้งความล้มเหลว ก็กลายเป็นความสำเร็จได้… “โคลัมบัส” ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นคนล้มเหลวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
เพราะเป้าหมายแท้จริง “โคลัมบัส” ตั้งใจจะไปอินเดีย !!!
แม้ “ทุกข์” ยัง “สุข”
*คนเราส่วนใหญ่ที่มี “ความทุกข์” เพราะเราชอบเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า
ทำไมรวยไม่เท่าคนนี้
ทำไมสวยสู้คนนี้ไม่ได้
ทำไมเพื่อนคนนี้ได้งานดีกว่าเรา ฯลฯ
เพราะเลือกที่จะเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า ความรู้สึกต่ำต้อยจึงเกาะกุมใจ
แต่ถ้าทุกครั้งในชีวิตเมื่อมี “ความทุกข์” มาประจันหน้า เรามองมันอย่างเข้าใจ และเทียบกับคนที่ทุกข์กว่า เราจะรู้สึกว่าความทุกข์ของเราเล็กน้อยเหลือเกิน
หากวันนี้ใครมี “ความทุกข์” ผมแนะนำให้อ่านหนังสือ “เอดส์ไดอารี่” เป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่เป็นเอดส์ในช่วงวัยที่กำลังสดใส เธอเผชิญหน้ากับ “ความตาย” ที่รออยู่เบื้องหน้าด้วยความเข้าใจ สร้างมุมมองใหม่ให้กับชีวิต เป็นมุมมองที่ไม่ทุกข์
เขาใหญ่ - เราเล็ก
*ความยิ่งใหญ่ของ “ป่า” ทำให้มนุษย์ตระหนักว่าเราเป็นเพียงผู้อาศัย มิใช่ “เจ้าของ” โลกใบนี้ ...
โลกในป่าหมุนช้ากว่าโลกในเมือง ความช้าทำให้เราพิถีพิถันกับทุกสิ่งมากขึ้น
โลกแห่งป่าทำให้เรามีเวลามองและสังเกต คิดและสรุป ป่าตะโกนสอนธรรมะเราอยู่ตลอดเวลา
*ใน “ป่า” ก็มีอารมณ์ขัน... ทุกวันที่วนเวียนอยู่ในเขาใหญ่ เราจะเจอกับเจ้าลิงน้อยเป็นประจำ คงเป็นเพราะมีคนมาให้อาหารมันเป็นประจำ ทำให้ “เจี๊ยกน้อย” เรียนรู้การนั่งรอรับผลไม้จากคน เสียสัญชาตญาณสัตว์ป่าหมดเลย
บางตัวเรียบร้อยหน่อยก็นั่งเฉยๆ แต่บางตัวก็ทะลึ่งหันก้นให้
“หนูรู้แล้วว่าทำไมลิงชอบกินผลไม้” เด็กน้อยที่ร่วมขบวนทะลุกลางป้องขึ้นมา
“ทำไมล่ะ” ผมถาม
“เพราะลิงท้องผูก” เป็นคำเฉลยที่ทะแม่งพิกล
“รู้ได้ไงว่าลิงท้องผูก” ผมยังสงสัย
“ดูสิคะ ก้นแดงทุกตัวเลย มันคงอึไม่ออก พ่อแม่เลยสอนให้กินผลไม้เยอะๆ”
คมคิด “คนดัง”
*แจ๊ก เวลซ์ : “จงเปลี่ยนแปลง ก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง”
*เทียม โชควัฒนา : “ใครทำดีกับเราให้จำ แต่ทำดีกับใครให้ลืม”
*บิล เกตส์ : “จงอย่าเปลี่ยนใจกลับไปกลับมา แต่จงใช้เวลาและคิดให้ดีเพื่อตัดสินใจให้เด็ดขาด โดยไม่ต้องย้อนคิดถึงเรื่องเดิมหากไม่จำเป็น”
*แจ๊ก เวลซ์ : “การลงโทษในความล้มเหลว จะทำให้ไม่มีใครกล้าทำสิ่งใด”
*อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยบอกว่าปรัชญาของทีมแมนยูฯ นั้นเรียบง่ายอย่างยิ่ง
“จงยิงประตูมากกว่าคู่แข่ง 1 ประตู”
วัฒนธรรม
*ฝรั่งคนหนึ่งไปทานข้าวกับเพื่อนชาวจีน เขาเห็นเพื่อนคนจีนกินไก่แล้วคายกระดูกออกมาไว้ข้างจาน ในขณะที่ตัวเองเขี่ยกระดูกไก่ไว้ในจานตัวเอง
แม้จะรู้สึกสกปรก แต่ก็ไม่กล้าเอ่ยปากกับเพื่อน ทุกครั้งที่กินข้าวด้วยกัน ฝรั่งคนนี้จะเก็บความรู้สึกนี้ไว้ในใจ
จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนชาวจีนกลับเป็นฝ่ายเอ่ยปากก่อน
“ขอโทษนะเพื่อน ถ้าสิ่งที่เราถามทำให้เพื่อนไม่พอใจ” เขาทำท่าเกรงใจ
“ถามจริงๆ เถอะ เวลาทานอาหารแล้วเอาเศษอาหารหรือกระดูกไว้ในจาน เพื่อนไม่รู้สึกว่าสกปรกบ้างหรือ”
ฝรั่งฟังแล้วยิ้ม นึกขำในใจ ขณะที่เขารู้สึกว่าการคายกระดูกไว้ข้างจานสกปรก เพื่อนชาวจีนก็รู้สึกเหมือนกันว่า การทิ้งกระดูกไว้ในจานสกปรก
... นี่คือมุมมองที่แตกต่าง จากรากฐานวัฒนธรรมที่แตกต่าง ...
ความสุข “วันนี้”
*หนังสือของพระไพศาล วิสาโล มีตอนหนึ่งท่านเล่าเรื่อง “นักธุรกิจพันล้าน” คุยกับ “ชาวประมง”
นักธุรกิจเจอชาวประมงคนหนึ่ง นอนเอกเขนกอยู่ข้างเรือจึงพูดขึ้น
“ทำไมลุงไม่ออกไปจับปลาล่ะ”
“ผมจับได้มากพอแล้ว” ชาวประมงตอบ
“แล้วทำไมไม่ไปจับให้มากขึ้นล่ะ”
“จับมากๆ ทำไมกัน” เขาสงสัย
“จับมากๆ จะได้มีเงินไปซื้อเครื่องยนต์ติดเรือไปจับปลาในทะเลลึกๆ ได้”
“เพื่ออะไร”
“เพื่อลุงจะได้มีเงินมากขึ้น และซื้อเรือเพิ่มขึ้นจนเป็นกองเรือประมงเลย”
“มีทำไมกองเรือประมง” ลุงถามต่อแบบงงๆ
“อ้าว ลุงจะได้เป็นเศรษฐี นั่งเล่นนอนเล่น ไม่ต้องทำอะไรน่ะสิ” นักธุรกิจอธิบาย
ชาวประมงฟังแล้วก็หัวเราะ “นั่งเล่นนอนเล่น... “ เขาทวนคำ
“ก็ผมกำลังทำอยู่แล้วไงตอนนี้”
แง่งามของการเดินช้า
*จากหนังสือ “ร่มไม้เรือนใจ” ของพระไพศาล วิสาโล
*เรื่อง “ต้นน้ำแห่งอุดมคติ” ... ต้นน้ำที่แท้จริงเป็นเพียงน้ำหยดเล็กๆ ที่ล้นจากรากไม้ใหญ่น้อยในป่า จากหยดน้ำนี้ได้กลายมาเป็นแม่น้ำใหญ่ ...
พระไพศาลนำปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้มาอธิบายการเคลื่อนตัวจาก “อุดมคติ” สู่ “ขบวนการ” ดังนี้
1. แม่น้ำอันกว้างใหญ่ไพศาลล้วนมีจุดกำเนิดจากหยดน้ำกระจิริด บ้างก็ซึมจากดิน บ้างก็หล่นจากฟ้า
2. ความยิ่งใหญ่และความอัศจรรย์ของธรรมชาตินั้นไม่ได้เกิดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ หากเกิดจากการประสานกันของสิ่งต่างๆ จนเป็นเครือข่าย
ต้นน้ำนั้นอยู่กระจายไปหมด ตรงนี้ก็ใช่ ตรงนั้นก็ใช่ ไม่มีตรงไหนผูกขาดความเป็นต้นน้ำได้เลย
3. น้ำกว่าจะกลายเป็นกระแสใหญ่ก็ต้องเจือจางอะไรต่อมิอะไรเข้าไปมิใช่น้อย บางช่วงหมองคล้ำด้วยมลพิษ ตรงกันข้ามกับต้นน้ำ ที่แม้จะแบบบางและดูเล็กน้อย แต่ก็บริสุทธิ์ใสสะอาด
การเป็นขบวนการที่ใหญ่โตนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประนีประนอมและเจือจางความเข้มข้นลงไป
ถ้ารักจะสร้างขบวนการขึ้นมา ต้องรู้จักยืดหยุ่นและไม่ยึดติดกับอุดมคติเกินไป อุดมคติดั้งเดิมต้องเจือจางไป ไม่มากก็น้อย แต่ถ้ายืดหยุ่นเกินไป ก็ต้องกลายเป็นมลพิษในที่สุด
4. ทั้งต้นน้ำและแม่น้ำต่างก็มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็มีบทบาทต่างกันด้วย
เราแต่ละคนสามารถเลือกได้ว่าตนเองรักจะเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลังในทางจิตใจและสติปัญญา หรือเป็นกำลังสำคัญของขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง
*ปรัชญาแห่งธรรมชาติ ปรัชญาแห่งต้นไม้บอกว่า ...
“เมื่อต้นไม้ถูกหักกิ่ง มันไม่เคยเสียเวลาให้กับความเจ็บปวดท้อแท้ หากแต่พยายามยืดแทงหน่อขึ้นมาใหม่ แล้วปล่อยกิ่งแห้งนั้นให้ตกลงดินกลายป็นปุ๋ยโอชะให้แก่ราก เพื่อเป็นอาหารหล่อเลี้ยงลำต้นต่อไป
ความทุกข์ยากวันนี้มาเพื่อที่จะผ่านเลยไป อย่ายึดมันเอาไว้ และก็อย่าปล่อยมันผ่านไปเฉยๆ เก็บบางเสี้ยวมาแปรเปลี่ยนเป็น “อาหาร” แก่ปัญญาและจิตใจเราบ้าง
ทุกครั้งที่เผชิญกับ “ปัญหา” และ “ความทุกข์” ขอให้คิดว่าเราเป็น “ต้นไม้” ยามถูกหักกิ่ง
*การเดินทางที่เหน็ดเหนื่อยและยากลำบากคงคล้ายๆ กับการขึ้นเขาสูงชัน
... กลวิธีที่ชาวเขาทั้งหลายสอนคนพื้นราบในการขึ้นเขาสูง คือการเดินช้าๆ ...
ในเวลาขึ้นเขานั้น เราไม่ได้สู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกเท่านั้น หากยังจะต้องต่อสู้กับนิสัยความเคยชินของตนเองอีกด้วย
... “ความเคยชิน” ก็คือ “กรอบประสบการณ์” ในอดีตของแต่ละคน ...
คนที่เดินขึ้นเขาอย่างรวดเร็วไม่มีโอกาสได้เห็นความงามสองข้างทาง มีแต่คนเดินช้าเท่านั้นที่แลเห็น และสัมผัสความงามได้อย่างอิ่มเอิบใจ
... ลุยงานหนักเพื่อหวังได้พักเมื่อเสร็จงาน ... ความสุขและการผ่อนคลายฝากไว้กับอนาคต
ทั้งๆ ที่เราสามารถจะสัมผัสสิ่งนั้นได้ในปัจจุบัน ท่ามกลางงานที่เราทำอยู่ขณะนี้
มองโลกง่ายง่าย สบายดี
*ผมไม่แปลกใจที่โลกใบนี้จะมีมหาเศรษฐีจำนวนมากหน้าตาขยุกขยุย ไม่รู้จักรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่อีกมุมหนึ่ง คนเก็บขยะหัวเราะเสียงดัง
คนส่วนใหญ่ที่ทุกข์ระทมเพราะแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ มักเชื่อว่าเพราะปัญหามันยิ่งใหญ่เกินแก้ไข
โดยลืมไปว่าต้นเหตุแท้จริงคือเราตั้งโจทย์อย่างไรให้กับตัวเราเอง
โจทย์ที่เรารู้สึกว่ามันแก้ไม่ได้
บางทีปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราแก้โจทย์ไม่ถูกต้อง
แต่เป็นเพราะเราตั้งโจทย์ให้กับชีวิตตนเองยากเกินไป
ลองหัดตั้งโจทย์ง่ายๆ ให้กับชีวิตบ้าง บางที “ความสุข” อาจไม่ไกลเกินไขว่คว้า
โจทย์ยากก็เหมือน “กางเกงยีนส์” โจทย์ง่ายก็เหมือน “กางเกงวอร์ม”
“กางเกงวอร์ม” ถอดง่ายกว่า “กางเกงยีนส์


ที่มาวชกดอดคอม