ภาพจาก หนังสือเรื่อง สิ่งพิมพ์คลาสสิค
ประวัติไม้ขีดไฟ
ไม้ขีดไฟกำเนิดขึ้นในค.ศ.1827 โดยนักเคมีชาวอังกฤษชื่อจอห์น วอล์คเกอร์ ไม้ขีดที่ทำขึ้นทำจากเศษไม้จุ่มปลายด้วยส่วนผสมของแอนติโมนีซัลไฟด์ โปตัสเซียมคลอเรต และกาวจากยางไม้ เมื่อเอาไม้ขีดที่ทำขึ้นมานั้นไปขีดกับอะไรที่มีผิวที่หยาบๆ เช่น กระดาษทราย ก็จะทำให้เกิดการเสียดสีจนเกิดประกายไฟ ไม้ขีดแบบนี้เรียกกันว่า ลูซิเฟอร์ ผู้ถือแสงสว่าง แต่ไม้ขีดที่มีส่วนผสมชนิดนี้มีปัญหาตรงที่ขีดติดบ้างไม่ติดบ้าง
ต่อมาใน ค.ศ.1930 ชาร์ลส์ โซเรีย ชาวฝรั่งเศสได้ผลิตไม้ขีด ไฟที่ปลายหุ้มด้วยฟอสฟอรัสเหลืองซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้ดี แต่ฟอสฟอรัสเหลืองเป็นวัตถุมีพิษ ทำให้คนในโรงงานไม้ขีดป่วยเป็นโรคที่เรียกว่า Phossy Jaw ซึ่งโรคนี้มีอาการร้ายแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตเลยก็ว่าได้
ต่อมาในปี ค.ศ.1940 มีการค้นพบฟอสฟอรัสแดงที่มีความปลอดภัยในการทำไม้ขีดไฟขึ้น โดยไม้ขีดไฟชนิดนี้จะจุดได้ก็ต่อเมื่อขีดลงบนพื้นที่ที่เตรียมไว้เท่านั้น ส่วนหัวไม้ขีดนั้นจะถูกหุ้มด้วย โปตัสเซียมคลอเรต และข้างกล่องไม้ขีดไฟจะถูกฉาบด้วยฟอสฟอรัสแดง เมื่อโปตัสเซียมคลอเรต ตกกระทบหรือเสียดสีกับฟอสฟอรัสแดงจะเกิดปฏิกิริยาความร้อนมากพอที่จะทำให้จุดไฟติดได้ ส่วนวัสดุก็ใช้ทำก้านไม้ขีดไฟได้ด้วย เช่นด้วยเคลือบขี้ผึ้ง และกระดาษแข็งเคลือบขี้ผึ้ง แต่ไม้เป็นวัสดุที่ใช้ทำก้านไม้ขีด ได้ดีที่สุด ไม้สำหรับทำก้านไม้ขีดควรจะเป็นไม้สีขาว ไม่มีกลิ่น เนื้อไม้ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไปนิยมใช้ไม้มะยมป่า ไม้มะกอก ไม้อ้อยช้าง ไม้ปออกแตก เป็นต้น ก่อนจุ่มทำหัวไม้ขีดจะต้องเอาปลายก้านไม้ขีดที่จะติดหัวนั้นไปจุ่มขี้ผึ้งพาราฟินก่อน หากเนื้อไม้แข็งเกินไปก็จะไม่ดูดซึม พาราฟิน พาราฟิน นี้จะเป็นตัวส่งผ่านจากหัวไม้ขีดไปสู่ก้านไม้ขีดหากไม่มีพาราฟินพอขีดไฟติดปุ๊บไฟก็จะดับปั๊บ และหากเนื้อของไม้อ่อนไปก้านไม้ขีดก็จะไม่คงรูปเป็นก้านตรงได้
ไม้ขีดไฟในประเทศไทย
ไม้ขีดไฟยุคแรกๆ ที่เข้ามาขายในเมืองไทยเข้ามาประมาณกลางสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นไม้ขีดจากประเทศสวีเดนที่มีบาทหลวงมาเผยแพร่ศาสนานำเข้ามา และต่อมาก็เป็นไม้ขีดไฟของญี่ปุ่นที่มีการจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งไม้ขีดไฟเหล่านี้จะมีตราและสลากบนกล่องไม้ขีดไฟมากมายโดยนักสะสมไม้ขีดไฟจะเรียกฉลากไม้ขีดไฟนี้ว่า "หน้าไม้ขีดไฟ" นักสะสมที่รวบรวมสะสมหน้าไม้ขีดไฟนิยมเก็บไว้ในสมุดบัญชีเล่มใหญ่ๆแล้วปิดกาวหรือเจาะกระดาษสอดมุมไว้ ไม้ขีดไฟของญี่ปุ่นนั้นจะมีมากกว่าประเทศอื่นโดยจะมีรูปหน้าไม้ขีดหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปคน รูปสัตว์ รูปผลไม้ รูปดอกไม้ และจะมีคำว่า "เมด อิน เจแปน" เป็นภาษาอังกฤษบอกไว้ข้างใต้หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของหน้าไม้ขีดเพื่อบ่งบอกว่าไม้ขีดไฟนั้นมาจากประเทศญี่ปุ่น และในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ญี่ปุ่นก็ได้ทำ หน้าไม้ขีดไฟเป็น ภาพวาดของรัชกาลที่ 5 ทรงม้าในหลายๆ แบบ โดยใต้รูปจะเขียนเป็นภาษาไทย ว่า "พระรบ" ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะเป็นคำว่า "พระรูป" มากกว่าแต่เนื่องจากญี่ปุนคงเผลอลืมใส่ ป ปลา แทน บ ใบไม้ และลืมใส่ สระ อู หรือไม่งั้นก็เพราะชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยจะรู้ภาษาไทยมากมายเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ยังมีรูปทหารยืนถือธงช้างอยู่ข้างพระองค์และรูปช้างสองเชือกหันหน้าเข้าหาพระจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รูปบนหน้าไม้ขีดไฟหรือที่เรียกกันว่าศิลปะบนกลักไม้ขีดไฟยังมีอีกมาก ซึ่งรูปวาดเหล่านี้ก็อาจจะวาดเพื่อการโฆษณาสินค้า หรือมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
ต่อมาในรัชกาลที่ 7 คนไทยก็สามารถผลิตไม้ขีดไฟเอง ได้ทำให้การนำเข้าไม้ขีดต่างประเทศลดลงในที่สุด โรงไม้ขีดในไทยยุคต้นๆ ได้แก่ บริษัทมิ่นแซจำกัด ผลิตตรานกแก้ว ตรารถกูบ , บริษัทตังอาจำกัด ผลิตตรามิกกี้เม้าท์ ตราแมวเฟลิกซ์, บริษัทไทยไฟ ผลิตตรา 24 มิถุนา เป็นรูปพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย บริษัทเอเชียไม้ขีดไฟจำกัด ผลิตชุด ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งการผลิตหน้าไม้ขีดนี้ก็เพื่อให้ประชาชนที่ใช้ไม้ขีดไฟได้รับความรู้อีกทางหนึ่ง บริษัทสยามแมตซ์แฟ็กตอรี่ ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นบริษัทไม้ขีดไฟไทย ผลิตตรา ธงไตรรงค์ ตราพระยานาค ซึ่งมีขายมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ไม้ขีดไฟกับโลกในปัจจุบัน
สถานการณ์ของไม้ขีดไฟในปัจจุบันเริ่มลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานการผลิตไม้ขีดไฟ หรือสินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่าย ซึ่งหากหาสาเหตุของการลดลงนี้ก็คงไปพ้นคำว่า "เทคโนโลยี" โดยในปัจจุบันสังคมที่เราอยู่กันนี้เป็นยุค ไอที ยุคการสื่อสาร ยุคเทคโนโลยี และเป็นที่แน่นอนว่าสินค้าต่างๆ ที่ผลิตมาอุปโภค บริโภค ก็ต้องสนองความต้องการของคนในยุคนี้ให้ดีที่สุด ความต้องการในข้อนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของความสะดวกสบาย ทำให้ไม้ขีดไฟที่มีข้อจำกัดในการใช้ในบางสถานการณ์เช่นไม้ขีดไฟที่ชื้นจากการเปียกน้ำจะใช้ไม่ได้ นี่ก็คือข้อบกพร่องอย่างหนึ่งของไม้ขีดไฟในการพกพาไปตามสถานที่ต่างๆ ได้สะดวก เทคโนโลยี เลยมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตสินค้า มาใช้แทน ไม้ขีดไฟ และนั่นก็คือ "ไฟแช็ค" นั่นเอง ซึ่งไฟแช็คนี้มีความสะดวกสบายกว่าไม้ขีดไฟ สามารถสนองตอบต่อความต้องการของคนในยุคนี้ได้ดีกว่า ไม้ขีดไฟซึ่งกำลังจะกลายเป็นตำนานไปแล้วในไม่ช้า
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยราคำแหง กับวิชาการดอทคอม
www.lib.ru.ac.th