กว่าที่มนุษย์จะเขียนหนังสือด้วย ปากกา หรือ ดินสอ ดังเช่นในปัจจุบัน ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการขีดเขียนเป็นเวลานานหลายพันปี
จุดกำเนิดเส้นสายลายเขียน
กว่าที่มนุษย์จะเขียนหนังสือด้วย ปากกา หรือ ดินสอ ดังเช่นในปัจจุบัน ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการขีดเขียนเป็นเวลานานหลายพันปี
ในยุคอดีต มนุษย์อาจจะใช้นิ้วจุ่มดิน หรือหินสีที่บดเป็นผงผสมกับยางไม้ หรือกาวจากหนังสัตว์ ขีดเขียนบนผนังถ้ำ หรือเพิงผา ก่อนจะนำมาสู่การเขียนบนแผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะ ไปจนถึงการเขียนบนใบไม้ (เช่น คัมภีร์โบราณที่เขียนบนใบลาน) มาจนถึงการประดิษฐ์กระดาษขึ้นใช้
ปากกาทำจากต้นไม้ยุคแรก
ชาวอียิปต์โบราณเป็นชาติแรกที่ใช้แปรงเขียนหนังสือ บนแผ่นกระดาษที่ทำจากต้นปาปิรุส (Papyrus) เป็นการเริ่มต้นวิธีการเขียนด้วยการปล่อยหมึกหรือสีบนแผ่นรองเขียน เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือด้วยพู่กัน ของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นแนวความคิดเบื้องต้นที่พัฒนาไปสู่การประดิษฐ์ปากกา
ชาวกรีกโบราณประดิษฐ์ปากกาขึ้นจากต้นกกไส้กลวง (Reed Pen) หรือไม้ไผ่ (Bamboo) ด้วยการปาดให้มีปากหลายๆ แบบ ทำให้เขียนเส้นได้หลายขนาด ปากกานี้ไม่ใช้หมึก แต่ใช้เขียนบนผิวไม้ที่เคลือบขี้ผึ้งไว้ทำให้เกิดรอยเป็นตัวอักษาบนผิวขี้ผึ้ง
มีหลักฐานที่พบว่า ปากกาจากต้นกก หรือไม้ไผ่นี้ เริ่มมาตั้งแต่ 3000 ปี ก่อนคริสตกาล และใช้ต่อเนื่องกันจนถึงยุคกลาง ก่อนค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยปากกาขนนกราว ศตวรรษที่ 7
ปากกาขนนกและพู่กันไม้
การนำวัสดุผิวเรียบมาเป็นสิ่งรองเขียนก่อให้เกิดการพัฒนา เครื่องเขียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับการใช้สอย มนุษย์เริ่มนำขนนก หรือขนห่านมาทำเป็น ปากกา เรียกว่า ปากไก่ สามารถเขียนได้คมชัดและเขียนติดต่อกันได้นาน
ปากกาก้านขนนก (Quill Pen) กำเนิดขึ้นในช่วง ค.ศ.700 ทำจากขนนกหลายชนิด นับเป็นอุปกรณ์การเขียนที่ยืนยาวกว่าพันปี คู่กับแผ่นหนังรองเขียนที่ผลิตจากหนังสัตว์ ซึ่งต้องการเครื่องเขียนที่มีความแหลมคม ทำให้ปากกาก้านขนนกจะต้องเปลี่ยนใหม่เป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์
ในขณะที่ปากกาก้านขนนก เป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศอังกฤษ จนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเขียนหนังสือของชาวตะวันตก (รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่เขียนและลงนามในปี ค.ศ.1787 เป็นผลผลิตของปากกาขนนกเช่นกัน) แต่ทางด้านชาวตะวันออกกลับนิยมใช้ พู่กันไม้ มากกว่า อย่างไรก็ตาม เครื่องเขียนทั้งสองต่างไม่มีหมึกในตัวเอง ต้องจุ่มหมึกทุกครั้งที่ใช้เขียน ทำให้เขียนไม่สะดวก
ปากกาโลหะแต่ไร้หมึก
ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 มนุษย์เริ่มประดิษฐ์ ปากกา ที่มีปากเป็นโลหะและมีรอยผ่าตรงกลางปาก ทำให้เขียนได้นาน โดยไม่ต้องจุ่มหมึกทุกครั้งที่เขียน สำหรับบ้านเราอาจคุ้นเคย ในชื่อ ปากกาคอแร้ง (dip pen หรือ nib pen) ที่ด้ามจับมักทำจากไม้ เปลี่ยนหัวได้หลายแบบ เหมาะสำหรับเขียนภาพลายเส้น ตัวอักษร และการ์ตูน มักใช้กับหมึกสีดำที่เรียกว่า India Ink
ในช่วงเวลานั้นมีการผลิตปลายปากกาด้วยวัสดุต่างๆ กัน เช่น เขาสัตว์ เปลือกหอย เหล็กและทอง เป็นต้น ออกมามากจนเป็น โรงงานอุตสาหกรรมแข่งขันกันในเรื่องความสวยงาม พร้อมกล่องบรรจุ และที่ใส่หมึกควบคู่ไปกับปากกาด้วย แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถประดิษฐ์ปากกาที่มีหมึกในตัวเองได้
อรุณรุ่งแห่งปากกาหมึกซึม
ปี ค.ศ.1884 ลูอิส เอ็ดสัน วอเตอร์แมน (Lewis Waterman) นักคิดค้นชาวอเมริกันได้ผลิตปากกาที่มีหมึกในตัว เรียกว่า ปากกาหมึกซึม (Fountain Pen) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเป็นผลสำเร็จ โดยมีแรงจูงใจจากความมุ่งมั่นจะทำปากกาให้ดีขึ้น ภายหลังที่สูญเสียลูกค้าไปโดยยังไม่ทันเซ็นสัญญา เนื่องจากปากการุ่นแรกประสบปัญหาหมึกรั่ว เขาจึงนับเป็นบิดาแห่งปากกาหมึกซึมโดยแท้
หลังจากนั้น มีการคิดค้นพัฒนาปากกาชนิดนี้ให้มีคุณภาพดีขึ้นใช้งานสะดวก และมีรูปทรงสวยงาม จนกลายเป็นการผลิตดในระดับอุตสาหกรรม ทั้งในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ สืบต่อมา นักประดิษฐ์ปากกาที่มีชื่อเสียง เช่น จอร์จ พาร์คเกอร์ วอลเตอร์ เอ.เชฟเฟอร์ ซึ่งกลายมาเป็นแบรนด์ปากกาที่ครองความเป็นจ้าวแห่งเครื่องมือสำหรับการเขียนมานานหลายสิบปี
ปฏิวัติสู่ปากกาลูกลื่น
ปี ค.ศ.1888 คู่แข่งใหม่ของปากกาหมึกซึมถือกำเนิดขึ้น โดยผู้คิดค้นชาวอเมริกัน คือ จอห์น เจ.ลาวด์ (John J. Loud) สร้างปากกาลูกลื่นที่มีลูกกลิ้ง (Ball) กลมๆ เล็กๆ อยู่ที่ปลายปากเวลาเขียนลูกกลิ้งนี้จะหมุนทำให้หมึกออกมาติดบนกระดาษ สามารถขีดเขียนบนพื้นที่หยาบๆ ที่ไม่ใช่กระดาษได้ด้วย
แต่ผู้พัฒนาปากกาลูกลื่น (Ballpoint pen) ให้ใช้งานได้อย่างจริงจัง ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ชาวฮังกาเรียน ชื่อ ลาซโล โจเซฟ บิโร (Laszlo Josef Biro) ซึ่งได้แนวคิดจากหมึกแห้งเร็วที่ใช้ในการพิมพ์หนังสือยุคนั้น นำมาบรรจุลงในปากกา ทำให้หมึกไม่ไหลและหยดออกมาจนเปื้อนกระดาษ จนกลายเป็นต้นแบบปากกาลูกลื่น หรือปากกาหมึกแห้งในทุกวันนี้
แม้บิโร จะจดทะเบียนลิขสิทธิ์นวัตกรรมของตนในปี ค.ศ.1938 แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เขาต้องหนึนาซีไปอยู่ที่ฝรั่งเศส สเปน จนสุดท้ายไปอยู่ยังกรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า และพยายามผลิตปากกาลูกลื่น ออกจำหน่าย ในปี ค.ศ.1940 แต่เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ทำให้ต้องขายลิขสิทธิ์ให้แก่กองทัพอากาศอังกฤษ และสหรัฐฯ ในราคาไม่กี่เหรียญฯ
BIC ตำนานลูกลื่นยุคใหม่
จากนักบินที่ต้องการปากกาลูกลื่นมาทดแทนปากกาหมึกซึม ซึ่งมักมีปัญหาหมึกรั่วไหลในระดับความสูง ต่อมาบริษัทเอกชนหลายรายหันมาผลิตปากกาลูกลื่นแบบเดียวปากกา บิโรกันยกใหญ่ แต่ด้วยสงครามราคาและการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ได้ชักนำให้ปากกาลูกลื่นถึงจุดตกต่ำจนผู้คนคลายความนิยมลง ในที่สุดปากกาหมึกซึมกลับมาครองตลาดอีกครั้ง
ในปี ค.ศ.1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาร์เซล บิค (Marcel Bich) บารอนแห่งฝรั่งเศส เกิดความคิดที่จะประดิษฐ์ปากกาที่ไม่ต้องมีขวดหมึก เพื่อฉีกแนวตลาด ภายหลังได้แรงบันดาลใจจากการพบเห็นทหารเรืออเมริกัน ใช้ปากกาลูกลื่น ระหว่างสงครามต้องจับปากกาตั้งฉากกับกระดาษเท่านั้น อีกทั้งน้ำหมึกยังข้น จับเป็นก้อน ที่ปลายปากกาจนเลอะเทอะ ทั้งมือและกระดาษที่เขียน
บิคมองเห็นโอกาสทางการตลาดของการผลิตปากกาที่ไร้ขวดหมึกจำนวนมาก จึงนำเงินกำไรที่ได้จากการผลิตชิ้นส่วนปากกาหมึกซึมดินสอกดและด้ามปากกาพลาสติกที่ทำอยู่ก่อนหน้านั้นมาทุ่มเทในการพัฒนาและผลิตปากกาลูกลื่นด้ามพลาสติกที่ทั้งเบา หมึกลื่นไหลดี ราคาถูก ออกมาเป็นผลสำเร็จพร้อมกับตั้งบริษัท BIC (ใช้ชื่อตนเองโดยตัด h ออก) ขึ้นมาผลิตปากกายี่ห้อเดียวกับชื่อบริษัท
ต่อมาในปี 1950 ทีมดีไซเนอร์ของบิค ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ปากกาลูกลื่น BIC รุ่น Cristal ประกอบกับลงทุนในเทคโนโลยี การผลิตแบบใหม่ ใช้เวลาเพียง 10 ปี ส่งผลให้บิค สามารถครองตลาดปากกาในยุโรปและอเมราได้ โดยมียอดขายปากการุ่นนี้ มียอดขายสูงถึง 14 ล้านด้ามต่อวันเลยทีเดียว
สารพัดปากกาหลากสีสัน
ปัจจุบันมีการพัฒนาปากกาในรูปแบบใหม่ๆ ออกมามากมาย เช่น ปากกาหมึกลบได้ (Erasable ballpoint pen) เริ่มผลิตโดย Papermate ในปี ค.ศ. 1979 ในแบรนด์ Erasermate จนถึงปากกาหมึกเจล ที่มีลักษณะทำงานคล้ายลูกลื่น แต่เรียกว่า Rollerball pen ใช้หมึกชนิดผสมน้ำมิใช่น้ำมัน หรือเรียกว่า หมึกเจล ซึ่งดูดซับกระดาษได้ดี และ เคลื่อนไหวได้คล่องตัวมากกว่า อีกทั้งมีหลายสีให้เลือก รวมทั้งสีพิเศษ แบบผสมโลหะ หรือมีประกายระยิบระยับ
ปากกาทำสัญลักษณ์ (Marker) หรือที่บ้านเราเรียกปากกาเมจิก ปลายปากกาทำจากสักหลาด (Felt-tip) เป็นอีกชนิดหนึ่งของปากกายุคใหม่ที่ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ขนาดเล็กสุดสำหรับขีดเขียนบนกระดาษ ขนาดกลางให้เด็กวาดภาพระบายสี หรือ ขนาดใหญ่ไว้เขียนบนกล่อง หรือกระดานไว้ท บอร์ด (ชนิดหมึกลบได้) นอกจากนี้ยังประยุกต์มาเป็นปากกาเน้นข้อความ (Highlighter) อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และวิชาการดอทคอม
http://www.thailandpost.com/