
โทรศัพท์มือถือและเครื่องรางที่เราใช้
โลหะที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าได้ดี เรียงตามลำดับได้คือ 1.เงิน 2.ทองแดง 3.ทอง 4.อะลูมิเนียม 5.ทังสเตน 6.เหล็ก 7.สเตนเลส 8.แพลทินัม และ 9.ตะกั่ว
เชื่อกันว่า ใครมีโลหะตัวนี้ประดับกาย ยามฝนฟ้าคะนองพึงระวังไว้ เพราะตัวอย่างมีให้เห็นอยู่เนืองๆ กล่าวกันว่า แม้แต่ที่ทำเป็นเครื่องรางของขลังก็อย่าวางใจ เพราะกลายเป็นศพกลางทุ่งนามานักต่อนักแล้ว
อย่างเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ระหว่างที่นายวิเชียร นางศรี คิดการ สองสามีภรรยานอนอยู่ในกระท่อม เกิดพายุฝนกระหน่ำหนัก แล้วฟ้าก็ผ่าลงมา ทำให้นายวิเชียรและนางศรีเสียชีวิต
เมื่อค้นหาสาเหตุ เจ้าหน้าที่พบว่า สองสามีภรรยาสวมสร้อยตะกรุดทำจากทองแดง บริเวณลำคอมีรอยไฟไหม้ เรือนกายดำเกือบทั้งตัว เจ้าหน้าที่จึงลงความเห็นว่า ตะกรุดทองแดงที่นายวิเชียรและนางศรีห้อยนั่นเองที่เป็นสื่อมรณะ
ตะกรุดสเตนเลส...ก็เชื่อว่าเป็นสื่อมรณะได้เช่นกัน
อย่างกรณีฟ้าผ่าที่ทุ่งนาหมู่ที่ 11 บ้านท่าเตียน ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิม�บางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้เคราะห์ร้ายมีถึง 3 ศพ คือ นายจำรูญ นุ่มดี อายุ 57 ปี เป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 นางสมคิด แช่มธูป อายุ 51 ปี น้องสาว ของนายจำรูญ และนายสาธิต แช่มธูป อายุ 25 ปี ลูกของนางสมคิด
เจ้าหน้าที่พบว่า ในตัวนายจำรูญมีโทรศัพท์มือถือในกระเป๋ากางเกงด้านขวา นางสมคิดสวมสร้อยสเตนเลส และนายสาธิตห้อยตะกรุดสเตนเลสที่คอ
หลังเกิดเหตุ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี แสดงทรรศนะในเรื่องนี้ว่า
จากสภาพศพของผู้ตายมีทั้งโทรศัพท์มือถือ สร้อย และตะกรุดสเตนเลสอยู่ในตัว เบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่า ขณะเกิดเหตุฟ้าผ่าลงมาที่ต้นไม้จนลำต้นแยกจากกัน ระหว่างนั้นผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน ยืนอยู่ใกล้กับจุดฟ้าผ่า ประกอบกับทั้งสามมีสื่อล่อสายฟ้าที่สามารถดูดกระแสไฟฟ้าที่ผ่าลงมาเข้าหาตัวได้ กระแสไฟฟ้าจึงวิ่งเข้าหาตัวจนเสียชีวิต
ปรากฏการณ์สามีและภรรยาถูกฟ้าผ่าตายในกระท่อม ในทุ่งนา บ้านหนองมะงง ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ และอีก 3 ศพ ที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับนักแสวงหาเครื่องรางของขลังที่ทำมาจากวัสดุล่อสายฟ้าไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นตะกรุดทำด้วยสเตนเลสหรือทองแดง และรับมาจากมือหลวงพ่อใด เมื่อฟ้าผ่าลงมารับสายฟ้าได้ด้วยกันทั้งนั้น
เครื่องประดับแม้แต่ลูกประคำเงินก็เชื่อว่าเป็นสื่อล่อฟ้า
อย่างเหตุการณ์ที่เกิดกับนางสาวบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ถูกผ่าระหว่างฝนตกปรอยๆ ขณะจะล่องเรือที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา สาเหตุมาจากสร้อยประคำเงินที่คล้องคอ
โชคดีที่นางสาวบุญรัตน์เพียงแต่บาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น
โทรศัพท์มือถือ เชื่อกันว่าเป็นสื่อมรณะตัวใหม่ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2550 คนงานชาวกัมพูชากว่า 10 คน ทำงานในไร่มันสำปะหลัง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ขณะฝนตกมีชาวกัมพูชาคนหนึ่งโทรศัพท์ใต้ต้นไม้ เกิดฟ้าผ่าลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุถึง 3 ศพ และบาดเจ็บสาหัสอีก 6 ราย
ความรู้เรื่องฟ้าผ่านี้ ระหว่างความคิดเห็นของชาวบ้านและความเชื่อ ที่เชื่อตามๆกันมา กับข้อเท็จจริงทางวิชาการต่างกัน
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายว่า ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส ภายในก้อนเมฆเองและพื้นดินต่างมีประจุไฟฟ้าที่ต่างกันคือประจุบวกและประจุลบ
เมื่อประจุที่ต่างกันวิ่งเข้าหากันก็จะทำให้เกิดฟ้าผ่าขึ้น
เหตุนี้ฟ้าผ่าจึงเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อน หรือฟ้าแลบ รวมถึงฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้นดินซึ่งเป็นประเภทที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นอันตรายกับคนส่วนใหญ่มากที่สุด
"ฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้นดิน เกิดขึ้นเมื่อประจุลบ (อิเล็กตรอน) เคลื่อนที่จากฐานเมฆลงมาที่อากาศผ่านเข้ามาใกล้พื้นดิน ซึ่งประจุลบนี้สามารถเหนี่ยวนำให้วัตถุที่พื้นผิวของโลกซึ่งอยู่ "ใต้เงาเมฆ" มีประจุเป็นบวกได้ทั้งหมด พร้อมทั้งดึงดูดประจุบวกจากพื้นดินให้ไหลขึ้นมาตามต้นไม้ หลังคาบ้าน หรือบริเวณใดก็ได้ที่เป็นที่สูง เมื่อประจุลบกับบวกมาเจอกันเคลื่อนที่สวนทาง จึงเกิดเป็นกระแสโต้กลับและเกิดเป็นฟ้าผ่าได้ในที่สุด"
ดังจะเห็นได้ว่า วัตถุและพื้นที่ทุกจุดใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเป็นจุดที่ถูกฟ้าผ่าได้หมดแม้ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้าก็ตาม
จุดเสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่ามากที่สุดคือบริเวณที่สูง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า หลังคาบ้าน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ประจุบวกสามารถเชื่อมโยงกับประจุลบได้ง่ายที่สุด ขณะที่ชิ้นส่วนโลหะ เช่น สร้อย แหวน กระดิ่งแขวนคอวัว แทบจะไม่มีผลต่อการเป็นสื่อล่อฟ้าเลย
สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ที่ไม่ได้ถูกฟ้าผ่าโดยตรง ดร.บัญชาบอกว่า สามารถได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าใน 3 รูปแบบ คือ1.ไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสกับสิ่งที่ถูกฟ้าผ่า เช่น หากหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า เสาอากาศ และมีบางส่วนของร่างกายแตะกับสิ่งที่ถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าก็จะไหลเข้าสู่ลำตัวได้โดยตรง
2.ไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง (side flash) กล่าวคือ แม้จะไม่ได้แตะจุดที่ฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าก็อาจจะ "กระโดด" เข้าสู่ตัวคนทางด้านข้างได้ (ภาพ Side Flash)
3.กระแสวิ่งตามพื้น (step voltage) คือ กระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งจากจุดที่ถูกฟ้าผ่าออกไปยังบริเวณโดยรอบ เช่น จากลำต้นลงมาที่โคนต้นไม้และกระจายออกไปตามพื้นดิน ซึ่งมักเป็นบริเวณที่น้ำเจิ่งนอง หากกระแสดังกล่าววิ่งผ่านเข้าสู่ตัวคน ก็ย่อมทำอันตราย โดยในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ ทำให้ถึงแก่ความตายได้
สำหรับกรณีกระแสวิ่งตามพื้น เคยมีกรณีเหตุการณ์ฟ้าผ่าวัวจำนวนมากตายและสันนิษฐานว่า เกิดจากกระดิ่งโลหะที่แขวนคอเป็นตัวล่อ ซึ่งความจริงแล้วโอกาสที่สายฟ้าจะผ่าลงมาตรงกระดิ่งขนาดเล็กของวัวพร้อมกันหลายๆ ตัวนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้
อาจารย์ยังแนะนำว่า สถานที่หลบภัยจากฟ้าผ่าคือภายในตัวอาคาร หรือรถยนต์ที่ปิดกระจก โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่สัมผัสกับวัสดุที่เชื่อมต่อกับอาคารหรือตัวรถด้านนอกซึ่งอาจถูกฟ้าผ่าได้
ข้อควรปฏิบัติขณะฟ้าฝนคะนองคือ ควรงดการใช้โทรศัพท์ แบบมีสาย ถอดปลั๊กโทรทัศน์ และไม่ควรเล่นอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์ เพราะกระแสไฟฟ้าจากอาคารสามารถวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ได้
ขณะที่คนซึ่งอยู่กลางแจ้งเมื่อเกิดฟ้าผ่าให้นั่งยองๆ ก้มศีรษะเพื่อลดตัวให้ต่ำที่สุด เท้าชิดกันและเขย่งเล็กน้อยเพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไฟไหลมาตามพื้น
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่า คลื่นโทรศัพท์มือถือและโลหะที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ไม่ใช่ตัวล่อให้ฟ้าผ่า
ต่อไปนี้จึงเป็นความคิด ของแต่ละคนว่าจะเลือกเชื่อใคร.
ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม............... 
ที่มา
http://www.thairath.co.th/today/view/7214