การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง
มกราคม 22, 2025, 08:07:40 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง  (อ่าน 4784 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18848


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« เมื่อ: มิถุนายน 19, 2008, 09:02:39 pm »

   
       เมื่อช่วงต้นปี นางสิริพร ไศละสูต อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ในปี 2549 กระทรวงพลังงานจะไม่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนไปยังไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์อีก เพราะทั้ง 2 ต่างเป็นเรื่องที่มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงแทน
       
       จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าว ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ นักวิทยาศาสตร์ในสังกัดกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) กระทรวงพลังงาน ก็เปิดเผยเช่นกันว่า ขณะนี้ พ.พ.ได้ให้การสนับสนุนเอกชนและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพื่อทำการวิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cells อยู่ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเงินทุนการวิจัยจะมาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงาน
       
       แต่การสนับสนุนเหล่านี้ก็จะต้องผ่านการพิจารณาและทำข้อเสนอโดย พ.พ. ซึ่งดูแลเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนด้วย นอกจากนี้เงินวิจัยยังอาจมาจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งเน้นให้การสนับสนุนงานวิจัยขั้นพื้นฐานอีกทางหนึ่ง
       
       ดร.บุญรอด เสริมว่า ในปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนไทย 2 รายที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงอยู่ คือ บริษัท ไฮเจน เพาเวอร์ จำกัด ที่ได้ซื้อเซลล์เชื้อเพลิงจากประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้งาน ณ อ.วังน้อย จ.อยุธยา และบริษัท เซเลเนี่ยม ไทยแลนด์ จำกัด ที่ซื้อวิธีการผลิตมาจากประเทศออสเตรเลียแล้วมาประกอบเองในประเทศ
       
       เซลล์เชื้อเพลิง ...(ยอมรับ) วิมานในอากาศ…งบน้อย-ทำเองไม่ได้
       
       กระนั้น ต่อแนวทางที่นางสิริพร กล่าว ดร.บุญรอด แก้เกี้ยวว่า นางสิริพรคงอาจไม่ได้หมายความเช่นนั้น “การให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวในครั้งนั้นของคุณสิริพร ผมเองก็ได้ติดตามฟังอยู่ด้วย แต่คิดว่าเรื่องเซลล์เชื้อเพลิงยังเป็นขั้นตอนในการวิจัยมากกว่าการนำไปใช้งานจริง และยังไม่สามารถเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างในเร็วๆ นี้ แต่คงเป็นพลังงานทางเลือกชนิดหนึ่งในอนาคต” นักวิทยาศาสตร์จาก พ.พ. กล่าว
       
       ส่วนความเป็นไปได้ของการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงในประเทศไทย รศ.ดร.อภิชัย เทอดเทียนวงษ์ นักวิจัยบัณฑิตร่วมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านเซลล์เชื้อเพลิง และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวโดยยอมรับว่า ณ เวลานี้ คนไทยยังไม่สามารถผลิตเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อใช้งานอย่างจริงจังเองได้ แต่มีบุคลากรด้านนี้พร้อมอยู่แล้ว ปัจจัยสำคัญคือ เงินทุนสำหรับการวิจัยที่มีน้อยมาก และเทียบไม่ได้กับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่ทุ่มทุนกับการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงนี้ปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปี จึงจะขยายกำลังการผลิตจากขนาดเล็กมาสู่ในเชิงพาณิชย์ได้ในที่สุด
       
       “ดังนั้น หากนักวิจัยไทยได้รับทุนการวิจัยที่เพียงพอก็เชื่อว่าเราทำได้ โดยสาเหตุที่ต้องใช้งบวิจัยมากเพราะสารเคมีและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพงมาก เช่น แพลตตินัมที่เราไม่สามารถผลิตเองได้ ดังนั้นเซลล์เชื้อเพลิงสำหรับประเทศไทยจึงยังมีต้นทุนที่สูงมากกว่าพลังงานแบบอื่นๆ แต่ก็เชื่อว่าต่อไปหากมีการผลิตในจำนวนมากก็น่าจะมีราคาถูกลง เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือที่ราคาถูกลงแถมยังมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ อีกด้วย”
       
       ส่วนการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงฝีมือคนไทย รศ.ดร.อภิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมายังเป็นการผลิตในหน่วยเล็กๆ และมีกำลังการผลิตไม่มาก เช่น 50 วัตต์ 100 วัตต์ หรือ 200 วัตต์ แต่ก็เชื่อว่าเซลล์เชื้อเพลิงแบบไดเร็กแอลกอฮอล์ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของเซลล์เชื้อเพลิงแบบเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน เป็นเซลล์เชื้อเพลิงที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด เพราะประเทศไทยสามารถผลิตแอลกอฮอล์จากพืชผลการเกษตรภายในประเทศได้
       
       “ดีทรอย์เอเชีย” อีกวิมานที่สานฝันเซลล์เชื้อเพลิง?
       
       รศ.ดร.อภิชัย คาดการณ์ด้วยว่า ภายใน 5 ปี หากมีเงินทุนเพียงพอ การวิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงของไทยก็น่าจะมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจได้ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าหลายประเทศ เพราะมีฐานความรู้มาจากต่างประเทศที่ทำมาก่อนแล้ว นอกจากนั้นก็เชื่อด้วยว่าหากรัฐบาลเร่งรัดการผลักดันให้ไทยเป็นดีทรอยด์แห่งเอเชียเร็วได้เท่าใด การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงของไทยก็น่าจะรวดเร็วขึ้นเพียงนั้น เพราะต่อไปเซลล์เชื้อเพลิงจะเข้ามามีบทบาทต่อวงการยานยนต์อย่างแน่นอน
       
       ทั้งนี้ ศ.ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ผอ.โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และประธานกรรมการวิชาการบัณฑิตร่วมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน เซลล์เชื้อเพลิงยังมีอุปสรรคมากมาย อาทิ ต้องมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักต้องน้อยลง ราคาต้องต่ำลงกว่านี้มากๆ และต้องทำให้น่าไว้วางใจมากขึ้น
       
       รวมทั้งในส่วนของก๊าซไฮโดรเจนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้น ก็จะต้องเปลี่ยนจากการเป็นเชื้อเพลิงราคาแพงเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกลงมากจนแข่งขันกับเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้ และต้องพัฒนาให้พกพาในยานยนต์สะดวก มีความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงเมื่อมีการใช้งานแล้ว ต้องทำให้มั่นใจว่ามีสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนอย่างทั่วถึง
       
       “สภาพปัจจุบันของเซลล์เชื้อเพลิง สรุปได้ว่า แม้เซลล์เชื้อเพลิงจะเป็นพลังงานที่มีศักยภาพสูง มีอนาคตสดใส แต่ยังมีปัญหาอีกมากในการใช้เป็นเครื่องต้นกำลังที่ผลิตพลังงานให้แก่ยานยนต์ หากดูครบวงจรแล้วเซลล์เชื้อเพลิงไม่ได้เปรียบเทคโนโลยีอย่างอื่นมากนัก ทั้งในแง่ของอัตราการใช้เชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังต้องพัฒนาอีกมาก นอกจากนั้นแล้ว เซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้ในยานยนต์ต่างๆ ยังมีคู่แข่งสำคัญคือรถไฮบริดที่หลายประเทศพัฒนาได้แล้ว เช่น รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ารุ่นอัลทิส และพรีอุส ของญี่ปุ่น” ศ.ดร.นักสิทธิ์ กล่าว
       
       เปิดใจเอกชนผู้นำเข้า “เป็นพลังงานทางเลือกสำหรับภาคอุตสาหกรรม”
       
       ส่วน ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไฮเจน เพาเวอร์ จำกัด ผู้นำเข้าเซลล์เชื้อเพลิงประเภทเซลล์เชื้อเพลิงแบบคาร์บอเนตหลอมเหลวจากสหรัฐอเมริกา เผยว่า ขณะนี้หลายประเทศตื่นตัวกับเซลล์เชื้อเพลิงมาก อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยในยุโรปมีการวางแผนทำท่อส่งก๊าซไฮโดรเจนไปยังบ้านเรือนเหมือนท่อส่งแก๊สหุงต้มไปตามบ้านทีเดียว โดยในขณะนี้ มีบริษัทผู้ผลิตเซลล์เชื้อเพลิงแล้วกว่า 200 บริษัททั่วโลกแล้ว
       
       เช่นเซลล์เชื้อเพลิงประเภทคาร์บอเนตหลอมเหลวที่ได้ใช้อยู่ เชื่อว่าจะเข้ามามีบทบาทในกลุ่มพลังงานทดแทน ที่ซึ่งต้องการไฟฟ้าคงที่ในเมือง มีขนาดเล็ก ไม่มีมลภาวะ ลดข้อห้ามทางกฎหมาย ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการพึ่งพาตัวเอง โดยผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ ติดตั้งง่าย และลดการใช้ไฟฟ้าหลวงในช่วงพีคไทม์ หรือในที่ที่สายไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งก็ไม่ได้หวังทดแทนไฟฟ้าหลวงแต่อย่างใด แต่เป็นไฟฟ้าสำรองหรือส่วนเสริมการใช้งานมากกว่า
       
       อย่างในปีนี้ บริษัท ไฮเจน ก็ได้รับโครงการจากบริษัท ปตท. จำกัด ต่อเนื่องมาจากปี พ.ศ.2547 ให้ไปติดตั้งโรงงานนำร่องให้กับศูนย์วิจัย ปตท.กำลังการผลิต 50 กิโลวัตต์ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการติดตั้ง และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 250 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนศูนย์วิจัย ส่วนความร้อนที่ได้ก็จะนำไปทำระบบความเย็นต่อไป โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีบางส่วนที่ได้พัฒนาเองด้วย เช่น ส่วนควบคุมการไหลเวียนของระบบเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและใช้ก๊าซไฮโดรเจนให้คุ้มค่ามากที่สุด
       
       ด้านค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเซลล์เชื้อเพลิงแบบคาร์บอเนตหลอมเหลว ทพ.อดิเรก เผยว่า จะอยู่ที่ประมาณ 80-100 ล้านบาท/เมกกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการใช้งาน หรืออาจมีขนาดที่เล็กกว่า 1 เมกกะวัตต์ก็ได้ ซึ่งจะใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการผลิตต่อเนื่อง ไม่ต้องการให้เกิดไฟฟ้าตกหรือดับ เพราะจะทำให้ต้องเดินเครื่องใหม่ ซึ่งกว่าจะเข้าที่ก็ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เช่น ในโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ที่ต้องสูญเสียเม็ดพลาสติกประมาณ 500 กก. ในการเดินเครื่องใหม่ ส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น
       
       หรือหากไม่ติดเซลล์เชื้อเพลิงแต่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยก็จะต้องเสียค่าติดตั้งประมาณ 80 ล้านบาทต่อไฟฟ้า 500-750 กิโลวัตต์ แถมยังต้องเสียค่าไฟฟ้าแยกอีกส่วนหนึ่งด้วย ขณะที่เซลล์เชื้อเพลิงจะผลิตไฟฟ้าให้โรงงานได้เลย นอกจากนี้ เซลล์เชื้อเพลิงที่ติดตั้งยังสามารถเลือกใช้แหล่งพลังงานได้หลายชนิดเช่น เมทานอล เอทานอล หรือก๊าซชีวภาพจากฟาร์มปศุสัตว์ก็ได้
       
       ไบโอดีเซลแค่เริ่มต้น ส่วนแก๊สโซฮอล์กำลังไปได้สวย
       
       กลับมาที่ ดร.บุญรอด อีกครั้ง เมื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการพัฒนาไบโอดีเซลของไทยที่ระบุว่ามีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว เขากล่าวว่า โดยมากแล้วจะเป็นการนำร่องในชุมชนท้องถิ่นระดับเล็กๆ อาทิ การเผยแพร่ให้ความรู้ และการสาธิตการผลิตไบโอดีเซลด้วยตัวเอง ส่วนวัตถุดิบหลักที่ใช้ยังคงปาล์มน้ำมัน รองลงมาคือสบู่ดำ ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางเป้าหมายขยายการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคใต้ นอกจากนี้ยังจะขยายการผลิตไปยังพม่าและกัมพูชาด้วย เพราะผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ
       
       สำหรับสบู่ดำ ดร.บุญรอด ระบุว่า ขณะนี้ยังส่งเสริมเพียงการปลูกเองใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย และพึ่งพาตนเอง โดยมีกำลังการผลิตไม่มาก เช่น 200-300 ลิตร/วัน ส่วนการขยายไปในเชิงพาณิชย์ต้องดูที่ปริมาณผลผลิตก่อน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่พันธุ์ของสบู่ดำที่ต้องการให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก ซึ่งมีการพัฒนาอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเห็นผลในเร็ววัน ทว่าภายใน 10 ปีก็น่าจะเห็นผลได้ชัดเจนขึ้น
       
       “ความก้าวหน้าในปัจจุบัน เรายังเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยอยู่ในระบบสาธิตเท่านั้น แต่ก็ถือว่าค่อนข้างเร็วแล้ว นิมิตหมายอันดีอย่างหนึ่งคือ การที่ภาคเอกชนหันมาให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ส่วนเรื่องการพัฒนาเครื่องผลิตไบโอดีเซล เชื่อว่าคนไทยสามารถสร้างเองได้ อาทิ บริษัท โกลเด้น ไบโอดีเซล (ประเทศไทย) จำกัด จ.สมุทรสาคร ที่ดัดแปลงโรงงานผลิตน้ำมันพืชมาเป็นโรงงานไบโอดีเซลที่มีกำลังการผลิต 200,000 ลิตร/วัน”
       
       แต่สำหรับแก๊สโซฮอล์ ดูจะมีความหวังมากกว่า ซึ่งเขาแจกแจงว่า การผลิตเอทานอลเพื่อใช้ทำแก๊สโซฮอล์สามารถทำได้ง่าย และปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากกว่าไบโอดีเซลมาก เพราะไม่ติดปัญหาด้านวัตถุดิบคือ กากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยมีพร้อมอยู่แล้ว และมีกำลังการผลิตประมาณ 3-4 แสนลิตร/วัน เชื่อว่าภายในปีนี้ ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตแก๊สโซฮอล์ได้ถึงวันละ 1 ล้านลิตร
       
       “ประชาชนรู้จักและยอมรับแก๊สโซฮอล์มากขึ้น จนมีอุปสงค์มากกว่าอุปทานมาก แต่เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้แม้อยากขยายศูนย์บริการแก๊สโซฮอล์เพิ่มแต่ก็ไม่สามารถทำได้ แต่เชื่อว่าหากน้ำมันยังมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นในปัจจุบัน กอปรกับหากกากน้ำตาลและมันสำปะหลังมีราคาตกต่ำ ก็อาจทำให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์แทนน้ำมันขยายวงกว้างมากขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อใช้แทนน้ำมันให้ได้ 10% ก่อนปี 2554” ดร.บุญรอด กล่าวทิ้งท้าย
       
       การพัฒนาพลังงานทดแทนยังคงเดินหน้าต่อไป โดยมีเศรษฐกิจของชาติ และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นตัวตั้ง “เซลล์เชื้อเพลิง” จึงเป็นพลังงานทดแทนอีกชนิดหนึ่งที่ประชาชนเห็นด้วย และอยากเห็นความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์เพื่อทดแทนน้ำมันของไทยก็ยังไม่มั่นคงเท่าที่ควร …
       
       ข้อกังขาหนึ่งที่ควรระวังให้มากคือ คำถามที่ว่า “แล้วไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ล่ะ?” ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังแล้วหรือ? หรือว่ามีแนวทางชัดเจนที่ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแล้ว!!? มิฉะนั้น อาจทำให้ประชาชนเกิดความลังเลสงสัย และไม่เชื่อมั่นต่อภาครัฐอีกต่อไป เพราะทุกทีที่ภาครัฐประกาศนโยบายออกมาครั้งใด ก็เป็นเพียง “การสร้างวิมานในอากาศ” เท่านั้นเอง
http://www.blogth.com/blog/Science/Science/4910.html


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!