‘รัฐบาลสมัคร ’คนไทยแบกหนี้เพิ่ม
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
กันยายน 22, 2024, 12:55:31 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ‘รัฐบาลสมัคร ’คนไทยแบกหนี้เพิ่ม  (อ่าน 1322 ครั้ง)
P-LSV team
Senior Member
member
*

คะแนน104
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 36


« เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2008, 11:30:04 AM »



 ‘รัฐบาลสมัคร ’คนไทยแบกหนี้เพิ่ม-‘มิ่งขวัญ’ทำป่วน!
    ผลงานรัฐบาล 3 เดือนแรกเยี่ยม ตั้งหน้าตั้งตาดันสินค้าเกษตรทุกชนิดพุ่งกระฉูด เน้นเอาใจเกษตรกรเป็นพิเศษ ไม่สนผู้บริโภคทั่วไปรับสภาพไหวหรือไม่ “มิ่งขวัญ”เด่นสุดปั่นราคาข้าวพุ่งเกินเหตุ ต่างชาติโต้กลับชะลอซื้อจนราคาทรุด จนชาวนาออกโรงประท้วง ดิ้นสุดฤทธิ์ประกันราคาข้าว คนวงการเมินแค่พยุงราคาไม่ให้หล่นเท่านั้น นักวิชาการสวดดันราคาพ่อค้าได้ประโยชน์ มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนไม่มี ชี้ราคาน้ำมันดันประเทศสู่วิกฤติ
       
       การแถลงผลงานของรัฐบาลในการบริหารประเทศรอบ 3 เดือนในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ดูเหมือนว่าแท้ที่จริงผลงานหลักของรัฐบาลอยู่ที่ความมุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มากกว่าการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจที่รุมเร้าในเวลานี้ ส่อเค้าว่าอายุของรัฐบาลผสมภายใต้แกนนำอย่างพรรคพลังประชาชนน่าจะเหลือเวลาในการบริหารประเทศอีกไม่นาน โดยเฉพาะตัวเร่งอย่างการตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชนที่จ่อคิวอยู่
       
       หลังจากเข้ารับหน้าที่ในการบริหารประเทศต้นเดือนกุมภาพันธ์กระทรวงที่โดดเด่นในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนคงเป็นกระทรวงการคลังที่มีนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เจ้ากระทรวงที่เข็นมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าของมนุษย์เงินเดือน ตามมาด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรจากโครงการพักหนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และกระตุ้นการลงทุนให้กับภาคการผลิตรวมถึงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพียงแค่มาตรการชุดนั้นหลังจากนั้นทุกอย่างก็เงียบหายไป
       
       แต่ที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่องมาตลอดนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คือมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ที่ฉวยจังหวะวิกฤติการณ์อาหารโลก หลังจากที่ผู้ส่งออกข้าวหลายประเทศประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกข้าวได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวโดยหันไปปลูกพืชทดแทนพลังงาน ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกมีน้อยราคาจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
       
       ตามมาด้วยการปรับขึ้นราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 5 บาทของกระทรวงอุตสาหกรรม สุวิทย์ คุณกิตติ ที่ได้สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นแรงหนุนหลัก ที่เหลือเป็นเพียงความพยายามเล็ก ๆ อย่างเช่น การนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศของสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ความพยายามลดค่าไฟฟ้าของพลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ กระทรวงพลังงาน
       
       นอกนั้นเป็นความพยายามเร่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอาเนื้อหาหลักของปี 2540 มาใช้ รวมถึงการได้ตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ จากยงยุทธ ติยะไพรัช มาเป็นชัย ชิดชอบ จนทำให้เกิดการต่อต้านจากหลายฝ่าย
       
       ดันราคา-ปัญหาตาม
       
       การหยิบฉวยวิกฤติราคาข้าวในตลาดโลกมาใช้ในการสร้างราคาข้าวในประเทศให้ถีบตัวขึ้นตามของกระทรวงพาณิชย์ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกพุ่งจาก 6,000-8,000 บาท โดดขึ้นเป็น 15,000-20,000 บาทต่อตัน ราคาข้าวหอมมะลิพุ่งเกินกว่า 30,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้ราคาข้าวที่คนไทยบริโภคในประเทศปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้าวหอมมะลิอย่างดีขายที่ 210 บาทต่อ 5 กิโลกรัม
       
       “นับเป็นความสำเร็จของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยให้ชาวนามีรายได้จากการขายได้สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะท่านออกมาให้ข้อมูลสภาพการณ์ในตลาดโลกและในประเทศ คำแนะนำว่าควรจะขายที่ราคาเท่าไหร่ ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่บุคคลระดับรัฐมนตรีให้นั้นได้กลายเป็นตัวเร่งให้ขบวนการเร่งเก็บข้าวในราคาถูกเกิดขึ้น ราคาข้าวจึงถีบตัวขึ้นภายในระยะเวลาสั้น” แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าว

 
 
 
 
       โรงสีมีข้าวเต็มสต๊อก ขณะที่ผู้ซื้อต่างประเทศทราบดีว่าราคาข้าวของไทยนั้นเพิ่มขึ้นจากการสร้างราคา จึงชะลอคำสั่งซื้อออกไป โรงสีที่มีข้าวเต็มสต๊อกล้วนต้องแบกต้นทุนไว้กับธนาคารจึงต้องหาทางปล่อยข้าวออกมา เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง สุดท้ายราคาข้าวก็ลดลง แต่เจ้ากระทรวงพาณิชย์ก็ยังออกมาให้ข้อมูลว่ามีคำสั่งซื้อรออีก 6.7 ล้านตัน เพื่อหวังตรึงไม่ให้ราคาข้าวลดลงไปกว่าเดิม
       
       วันนี้เราได้เห็นการออกมาเรียกร้องของชาวนาที่ให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ พร้อมทั้งข้อเสนอให้รับซื้อข้าวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อตัน
       
       ไม่รู้ว่าท่านรัฐมนตรีเข้าใจกลไกการค้าข้าวดีพอหรือยัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นพิสูจน์ชัดว่าเกมการค้าข้าวนั้นไม่ง่าย คำว่ามีความต้องการข้าว ไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อจะต้องซื้อจากประเทศไทยเพียงประเทศเดียว และไม่จำเป็นจะต้องซื้อในเวลานี้เท่านั้น หากเห็นว่าราคาขายสูงเกินไปก็อาจสั่งซื้อเพียงเล็กน้อยเช่นกรณีของฟิลิปปินส์ หรือที่มาเลเซียก็สามารถซื้อในราคาต่ำกว่าตลาด
       
       อีกไม่ช้าข้าวล็อตใหม่ ๆ จะออกสู่ตลาด ประเทศอินเดียหรือเวียดนามน่าจะส่งออกได้มากขึ้น แน่นอนว่าราคาข้าวในบ้านเราก็ต้องลดลงตามไปด้วย เราจะได้เห็นการออกมาประท้วงของชาวนามากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้นทุนในการผลิตข้าวรุ่นที่กำลังปลูกต้องแบกทั้งค่าปุ๋ยที่แพงขึ้นเท่าตัว ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ค่าแรง สารเคมี สิ่งที่รัฐบาลสร้างเอาไว้ด้วยภาพที่สวยหรู ท้ายที่สุดจะกลายเป็นการทำร้ายชาวนา ที่สำคัญเสถียรภาพของรัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหนหรือจะทิ้งปัญหาไว้ให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา
       
       ประกันราคาข้าวแค่ยาหอม
       
       ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เตรียมรับประกันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ 1.9-2 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวเปลือกจ้าว 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว 9,000 บาทต่อตันสำหรับความชื้นมาตรฐาน 15%
       
       แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีไทยกล่าวว่า ราคาที่รัฐบาลกำหนดมานั้นถือเป็นราคาปกติที่ซื้อขายกันอยู่แล้ว เรามองว่ารัฐบาลพยายามตั้งฐานราคาดักคอโรงสีเพื่อไม่ให้ราคาข้าวต่ำกว่าที่เป็นอยู่มากกว่า ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นรัฐบาลคงทำไม่ได้เพราะรัฐไม่มีเครื่องมือในด้านสถานที่จัดเก็บ
       
       ที่ผ่านมาโรงสีถูกมองว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่กดราคาข้าวลง ในความเป็นจริงรัฐบาลต้องพิจารณาด้วยว่าราคาข้าวที่ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลสร้างราคาข้าวสูงเกินไป เมื่อผู้ซื้อรู้ทันและดึงเกมไว้ราคาจึงตกลง อีกทั้งเราเป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งออกกับชาวนา ถ้าผู้ส่งออกซื้อข้าวที่ราคาต่ำเราก็ต้องซื้อจากชาวนาต่ำตามไปด้วย หรือการรับซื้อข้าวจากชาวนานั้นเราก็ต้องพิจารณาว่าข้าวที่นำมาขายนั้นเป็นข้าวที่มีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นข้าวที่ได้มาตรฐานเราไม่เคยที่จะกดราคารับซื้อ
       
        แก้ปัญหาค่าครองชีพเหลว
       
       นี่เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวนาที่ได้ประโยชน์ไปในช่วงแรก และอาจต้องเจ็บตัวในระยะเวลาต่อมา แต่กลุ่มคนใช้แรงงานทั่วไปได้รับผลกระทบโดยตรงนับตั้งแต่ราคาข้าวเพิ่มขึ้น กระทรวงพาณิชย์ดูเหมือนมีความพยายามหาทางบรรเทาความเดือดร้อน ด้วยนำเข้าในสต๊อก 2.1 ล้านตันออกมาทำข้าวถุง 3 แสนถุง ขายที่ราคา 120 บาทต่อ 5 กิโลกรัม จากราคาตลาดที่ 150-160 บาท
       
       จากการจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมาหมดอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญจุดจำหน่ายมีค่อนข้างจำกัด และมีจำหน่ายเพียงบางจังหวัดเท่านั้น จึงไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ นอกจากนี้หากมองว่าเป็นกลวิธีที่จะดึงให้ราคาข้าวถุงที่จำหน่ายทั่วไปลดลงมานั้น ผู้ประกอบการข้าวถุงเองก็ออกมายืนยันแล้วว่าไม่สามารถดึงราคาข้าวที่จำหน่ายทั่วไปนั้นให้ลงมาได้ เนื่องจากข้าวธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์นั้นมีปริมาณน้อย
       
       ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ยังเข้าไปเป็นเจ้าภาพให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในการจัดให้ผู้ซื้อพบกับผู้ขายที่เชียงใหม่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่จะตามมาคือผู้ที่ปลูกเงาะ มังคุด ทุเรียน หรือผลไม้อื่น ๆ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปหาตลาดให้กับผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้ทั้งหมดหรือไม่ หากทำไม่ครบภาพการเทผลไม้ทิ้งกลางถนนก็คงมีให้เห็นอีกในไม่ช้า
       
       ย้อนไปเมื่อครั้งที่ท่านรัฐมนตรีเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ เมื่อเห็นเนื้อหมูมีราคาแพงที่กิโลกรัมละ 120 บาท จึงสั่งให้มีหมูธงฟ้าขายกิโลกรัมละ 98 บาททันที ถึงวันนี้หมูเนื้อแดงก็ยังคงขายที่ 110-115 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากหมูธงฟ้าเป็นหมูเนื้อแดงช่วงหัวไหล่และหาซื้อยาก สูตรในการแก้ปัญหาไม่แตกต่างจากข้าวถุงธงฟ้าที่นำออกมาขายในเวลานี้
       
       “จึงไม่แน่ใจว่าการบริหารงานของเจ้ากระทรวงพาณิชย์ ทำไปเพื่อหาเสียงกับกลุ่มเกษตรกร ลดความไม่พอใจของผู้บริโภค ช่วยพ่อค้ารายใดรายหนึ่งหรือไม่ หรือบริหารงานไม่รอบคอบโดยมีทุกข์ของประชาชนเป็นเดิมพัน”
       
       ไม่เพียงราคาพืชผลการเกษตรที่แพงขึ้นกันถ้วนหน้าจะกลายเป็นผลงานของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ราคาน้ำตาลที่ปรับรวดเดียว 5 บาทต่อกิโลกรัมก็สร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคและผู้ผลิตรายอื่น ๆ ไม่น้อยเช่นกัน
       
       อีกทั้งการปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาดจนดีเซลปรับขึ้นเป็น 35.24 บาท ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนับจากนี้สินค้าทุกชนิดจะต้องปรับตัวขึ้นอีก ค่ารถโดยสารสาธารณะทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ค่าเรือโดยสาร ล้วนแล้วแต่จ่อคิวปรับขึ้นทั้งสิ้น
       
        พ่อค้ารับเต็ม ๆ
       
       รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงราคาสินค้าเกษตรที่แพงอยู่ในเวลานี้ว่า การเพิ่มรายได้ของรัฐบาลไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาให้ของแพง เพิ่มราคาด้านเดียว เพราะคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือพ่อค้าคนกลาง
       
       สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคือการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตของเกษตรกรลง ซึ่งจะทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ในราคาไม่แพง เกษตรกรก็ได้กำไรพอๆ กับราคาสินค้าที่แพงอยู่ในเวลานี้ รวมถึงการลดขั้นตอนของการค้าลง ยิ่งสินค้าผ่านขั้นตอนมากเท่าไหร่ราคาสินค้าก็แพงมากขึ้นเท่านั้น และผู้ที่ต้องแบกรับภาระคือผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง
       
       “การแก้ปัญหาลักษณะนี้คนที่เป็นพ่อค้ามักจะไม่เคยมองในเรื่องโครงสร้าง ถ้าเป็นนักบริหารต้องทำให้ชาวนาอยู่ได้ กรรมกรก็อยู่ได้เช่นกัน”
       
       ถึงเวลานี้รัฐบาลต้องมองผลกระทบของค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะนี้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยไม่ถึง 5 พันบาทค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 210 บาท ค่าอาหารเพิ่มขึ้น 510 บาทต่อเดือน รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกทาง ต้องแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่แก้เฉพาะจุดอย่างที่เป็นอยู่
       
       แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 2-11 บาทนั้นย่อมไม่เพียงพอต่อราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว หากปล่อยให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดคนเมืองถล่มรัฐบาล และในระยะปานกลางคนชนบทจะถล่มรัฐบาลเพราะค่าครองชีพแพงจากของที่ผลิตส่วนใหญ่มาจากส่วนกลาง รวมไปถึงชาวนาเองที่ได้ประโยชน์จากขายข้าวเปลือกได้ในราคาสูง ท้ายที่สุดแล้วเงินที่ขายข้าวเปลือกได้อาจไม่พอที่จะซื้อข้าวสารกิน ถือเป็นเรื่องเศร้าของคนไทย
       
        ผลงานเด่นเพิ่มค่าครองชีพ
       
       แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมกล่าวว่า ดูเหมือนรัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญกับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นค่อนข้างน้อย 3 เดือนที่ผ่านมามีแต่ผลักดันให้สินค้าขึ้นราคาผิดกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยมองผลที่จะตามมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ผลิตและผู้บริโภคเองรับสภาพค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ไม่ไหว
       
       เงินเฟ้อ 6.2% ในเดือนเมษายนเป็นสัญญาณบ่งบอกแล้วว่า ทิศทางดอกเบี้ยในประเทศคงต้องปรับขึ้น ย่อมกลายเป็นอุปสรรคต่อมาตรการของกระทรวงคลังที่ออกมาในช่วงแรก โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พยายามกระตุ้นลดค่าธรรมเนียมการโอนต่าง ๆ เมื่อดอกเบี้ยแพงใครจะซื้อ อีกทั้งค่าก่อสร้างในปัจจุบันแพงขึ้นกว่าเดิมจากราคาวัสดุก่อสร้าง-เหล็กที่ปรับเพิ่มขึ้น เราได้เห็นผู้รับเหมาทิ้งงานกันหลายโครงการ ท้ายที่สุดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ
       
       ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันหมด ข้าวของที่แพงขึ้นย่อมทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง การท่องเที่ยวในประเทศย่อมต้องหดตัวตาม แม้ว่ารัฐจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นนั้นกระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาให้ออกว่าเพิ่มขึ้นเพราะผู้คนใช้จ่ายมากขึ้น หรือเพิ่มขึ้นเพราะคนต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น
       
       เห็นได้จากตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตช่วง 3 เดือนแรกที่การใช้จ่ายของภาคประชาชนเติบโตเพียง 0.49% เท่านั้น และที่น่าสนใจคือแม้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างจะลดลงแต่ยอดหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนกลับเพิ่มขึ้น 3.13% สอดคล้องกับหนี้ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนของสินเชื่อบุคคลที่ 3 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้น 3.79% หากเทียบกับงวดเดียวกันในช่วง 1 ปีเพิ่มขึ้น 23.12%
       
       เรามองว่าราคาน้ำมันที่ขึ้นมาในระดับนี้ถือว่าอันตรายต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว อีกทั้งรัฐยังไม่มีมาตรการใดออกมาบรรเทาความเดือดร้อนเหล่านี้อย่างจริงจัง มีแต่ความพยายามผลักดันให้สินค้ามีราคาแพง การสร้างคะแนนนิยมจากกลุ่มเกษตรกรเพียงช่วงสั้น ๆ ที่เหลืออยู่ด้วยการเอาคนทั้งประเทศมาแบกภาระแทนรัฐบาล ท้ายที่สุดเกษตรกรก็จะประสบปัญหาไม่แตกต่างจากผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องแบกรับค่าครองชีพแพงจากผลงานของรัฐบาล
 
 


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!