หากอ่านบทความไม่พอดีกับจอมือถือ ดูเนื้อหาและคลิปวีดีโอที่เกี่ยวข้อง> เว็บไซต์ใหม่ของพวกเรา w ww.ubmthai.com เวอร์ชั่นสมาร์ทโฟน >>คลิ๊ก!!
https://www.pohchae.com/2020/01/21/tetanus/ประวัติและสาเหตุ
ปี ค.ศ. 1884 Nicolaier ได้นำดินมาละลายในน้ำ และเอาส่วนที่เป็นน้ำฉีดเข้าไปในหนูไมซ์ หนูตะเภา และกระต่าย ปรากฎว่าสัตว์แสดงอาการเป็นโรคบาดทะยักออกมา ต่อจากนั้นมาอีก 5 ปี Berlin ได้ทำการแยกเชื้อ Clostridium tetani จากสปอร์โดยนำสปอร์ไปให้ความร้อนที่ 81 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 60 นาที แล้วจึงนำไปเพาะเชื้อในสภาพที่ไม่มีอ๊อกซิเจน เชื้อ C. tetani เป็นพวกบาซิลลัสที่มี แฟลกเจลล่ารอบตัว เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย รูปสปอร์มีลักษณะเหมือนไม้ตีกลอง คือ ปลายข้างหนึ่งจะมีลักษณะกลมใหญ่ขึ้นมา เป็นแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอ๊อกซิเจน เชอ C. tetani พบมีทั่วไปตามพื้นดิน โดยเฉพาะในบริเวณที่ม้าอาศัยอยู่
สาเหตุของบาดทะยัก
เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสตริเดียมเตตานิ (Clostridium tetani) ตัวเชื้อมีลักษณะเป็นรูปแท่งที่ปลายมีสปอร์ (Spore) ซึ่งเป็นจุดพักตัวของเชื้อแบคทีเรียเพื่อรอการเจริญเติบโตเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จึงทำให้มีรูปร่างเหมือนไม้เทนนิส เชื้อโรคนี้มีอยู่ทั่วไปตามดิน ฝุ่น ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ (เช่น หมู ไก่ สุนัข แมว หนู วัว ควาย) รวมทั้งผิวหนังและอุจจาระของคน ตัวเชื้อบาดทะยักสามารถถูกทำลายได้โดยง่ายด้วยความร้อน แต่สปอร์ของเชื้อจะมีความทนทานต่ออุณหภูมิ (ทนต่อน้ำเดือดได้นานถึง 20 นาที) ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อ (เช่น แอลกอฮอล์ ฟีนอล ฟอร์มาลดีไฮด์) และสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ๆ
เชื้อบาดทะยักสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง คือ ผ่านทางบาดแผลสด โดยการแปดเปื้อนถูกดิน ฝุ่น อุจจาระ มูลสัตว์ ฯลฯ ที่มีสปอร์ของเชื้อบาดทะยักอยู่ (ส่วนใหญ่จะเป็นบาดแผลตามผิวหนังที่มีขนาดเล็กและลึก เช่น แผลจากตะปูตำ เศษไม้ตำ และมีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากบาดแผลอื่น ๆ เช่น แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกสัตว์กัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลในช่องปาก (ฟันผุ รักษารากฟัน ถอนฟัน) แผลผ่าตัดที่ระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่มาตรฐานหรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด เป็นต้น), ผ่านทางแผลเรื้อรัง (เช่น แผลเบาหวาน แผลเป็นฝี), ผ่านทางสายสะดือในเด็กทารกแรกคลอด (เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักและการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือทารก), แผลในช่องหู (จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก), แผลจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (มักพบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดหรือกลุ่มผู้สักลาย) และยังมีบางกรณีที่ไม่พบสาเหตุว่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางใด
จากนั้นเชื้อจะแบ่งตัวเจริญเติบโตที่บริเวณบาดแผล ซึ่งเชื้อจะเจริญได้ดีในที่ที่มีออกซิเจนน้อย ได้แก่ บาดแผลที่ลึกและแคบ เช่น บาดแผลถูกตะปูตำ แต่ก็อาจเจริญได้ในบาดแผลถลอกและบาดแผลในลักษณะอื่น ๆ ได้เช่นกัน แล้วสปอร์ของเชื้อก็จะงอกและผลิตสารพิษออกมา 2 ชนิด คือ เตตาโนลัยซิน (Tetanolysin) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบบทบาทที่แน่ชัดของสารพิษชนิดนี้ และสารพิษอีกชนิดที่มีบทบาททำให้เกิดโรคบาดทะยักชื่อว่า เตตาโนสะปาสมิน (Tetanospasmin หรือ Tetanus toxin) ซึ่งสารพิษชนิดนี้เมื่อเทียบโดยน้ำหนักแล้วถือว่าเป็นสารพิษที่มีพิษรุนแรงมาก เพราะในปริมาณเพียงแค่ 2.5 นาโนกรัม (1 กรัม เท่ากับ 1 ล้านนาโนกรัม) ต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้แล้ว
ระบาดวิทยา
คน
ในสมัยก่อนจะพบทารกแรกเกิดเป็นบาดทะยักกันค่อนข้างบ่อย เรียกว่า บาดทะยักในทารกแรกเกิด (Tetanus neonatorum) เนื่องจากการคลอดที่ไม่สะอาด เช่น การคลอดตามบ้านโดยใช้ไม้รวกหรือตับจากตัดสายสะดือ รวมถึงการดูแลสะดือของทารกที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้น้ำหมากน้ำลายบ้วน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อและกลายเป็นบาดทะยักได้ ซึ่งมักจะพบว่ามีอาการในช่วงหลังคลอดประมาณ 4-14 วัน (บาดทะยักในทารกแรกเกิด หรือที่คนโบราณเรียกว่า ลมสะพั้น ลมตะพั้น สะพั้น หรือตะพั้น หมายถึง อาการชัก มือเท้ากำในเด็กอ่อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือบาดทะยัก)
ในปัจจุบัน โรคนี้พบได้น้อยลงทั้งในผู้ใหญ่และทารกแรกเกิด เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน มีการคลอดที่สะอาดปลอดภัย และมีการดูแลสะดือทารกที่ถูกต้องมากกว่าในสมัยก่อน
หมายเหตุ : คำว่า Tetanus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก Teinein ซึ่งแปลว่า ยืดอก สาเหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เป็นเพราะผู้ป่วยบาดทะยักจะมีอาการการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นทั่วตัว โดยทำให้แผ่นหลังมีการยืดตัวออกเป็นท่าทางที่เป็นรูปแบบเฉพาะ..
ระยะฟักตัวของโรคผันแปรจาก 2 3 วัน จนกระทั่งเป็นหลายสัปดาห์ อาการทั่วๆ ไปที่เห็นได้ชัด คือมีกล้ามเนื้อกระตุก และมีลักษณะของกรามแข็งหรืออ้าปากไม่ได้ (lockjaw ) หลังจากนั้นจะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ คอ แขน ลำตัว และขา การกระตุกครั้งแรกๆ อาจมีเป็นระยะ และต่อไปจะกระตุกตลอดเวลา อาการกระตุกจะมากขึ้นถ้ามีเสียงดัง หรือแสงสว่างมากระตุ้น ในที่สุดผู้ป่วยจะตายเนื่องจากหายใจไม่ได้ทำให้ขาดอ๊อกซิเจน โรคนี้มีรายงานเป็นในทารกคลอดใหม่ที่ตัดสายสะดือไม่สะอาด และใช้ยากลางบ้านใส่แผล
การติดต่อ
การติดต่อของโรคเกิดได้จากสปอร์เข้าทางบาดแผลของผิวหนัง ในสหรัฐอเมริกาเคยมีรายงานผู้เป็นบาดทะยักในคนติดยาเสพติด ที่ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด แผลที่ถูกตะปูตำหรือไม้ตำ แผลไฟไหม้หรือแผลผ่าตัด หรืออาจเข้าทางช่องคลอด เนื่องจากมีแผลมาจากการขูดมดลูกหรือทำแท้ง สปอร์ซึ่งคงทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อเมื่อเข้าไปในบาดแผลแล้วจะเปลี่ยนมาเป็นรูปตัวเชื้อ (vegetative form) จะปล่อย tetanolysin และ tetanospasmin ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายเม็ดเลือดและทำลายประสาทจึงทำให้เกิด อาการของโรคขึ้น
โรคนี้พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงส่วนมากพบในเขตชนบทบ่อยกว่าในเมืองหลวง ในบริเวณที่เลี้ยงม้าหรือในอุจจาระม้าพบว่ามีเชื้อ C. tetani ดังนั้น บุคคลที่ดูแลม้าหรือคลุกคลีอยู่กับสัตว์พวกนี้จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้อื่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามักพบผู้ป่วยเป็นในฤดูร้อน และเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง และส่วนมากพบในรัฐที่อยู่ทางตอนใต้ เช่นในมณรัฐฟลอริดาและอลาบาม่าพบ 1.5 และ 1.3 ต่อแสนของประชากร (Axnick and Plexander, 1957) ส่วนมากพบในพวกนิโกรบ่อยกว่าพวกผิวขาวประมาณ 5 6 เท่า สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ 1,000 2,000 รายต่อปี ในปี พ.ศ. 2521 มีผู้ป่วย 2,168 ราย และตาย 455 ราย ส่วนมากพบในวัยหนุ่มสาวมากและอาชีพของผู้ป่วยส่วนมากทำการเกษตรกรรม เพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิง การที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทยเป็นแรงงานชายเสียส่วนมากและการทำงานอาจมีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลตามมือและเท้าได้ ดังนั้นผู้ชายจึงมีการเสี่ยงต่อโรคบาดทะยักมาก สำหรับเด็กแรกเกิด 1 เดือน มีแนวโน้มของการเป็นโรคเพิ่มขึ้น
สัตว์
สัตว์ที่เป็นโรคบาดทะยักมาก คือ ม้า ซึ่งเป็นมากกว่าโค 50 เท่า มักมีบาดแผล ซึ่งอาจเกิดจากการทิ่มตำจากวัตถุ หรือจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากการตอน การผ่าตัดก็ตามมักพบเสมอว่าเป็นบาดทะยัก ในโค กระบือ และแพะแกะก็เช่นเดียวกัน เป็นโรคโดยเชื้อเข้าทางบาดแผล สำหรับในสุนัข และไก่งวงมีความต้านทานต่อ นิวโรท๊อกซินของเชื้อนี้ได้ดีมากจึงไม่ค่อยพบโรคนี้ในสัตว์ดังกล่าว
การสังเกตอาการของโรคในระยะเริ่มแรกในสัตว์สำคัญมากโดยเฉพาะในม้า อาการเริ่มแรกม้าจะไม่อยากเคลื่อนไหว แต่อาหารคงกินเป็นปกติ ต่อไปจะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ และถ้ายืด คอ หัว และหางออกจะมีอาการเกร็ง การกระตุกของกล้ามเนื้อจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อทำเสียงดังให้เกิดขึ้นใกล้ๆ สัตว์ป่วยจะหายใจตื้นและถี่
การควบคุมและป้องกัน
การป้องกันที่ดีคือให้ท๊อกซอยด์ (toxoid) สำหรับในทารกที่เกิดมาใหม่ๆ อาจป้องกันได้โดยให้ active immunization กับแม่ก่อน โดยวิธีนี้ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่โดยผ่านทางรก วิธีนี้ใช้ปฏิบัติกันในบ้านเรา สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น สัตวแพทย์ ผู้ดูแลสัตว์ทดลอง เกษตรกร หรือผู้มีบาดแผลควรได้รับ
ท๊อกซอยด์สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค การให้ความรู้แก่มารดาในเรื่องการตัดสายสะดือทารกแรกเกิด โดยวิธีการปราศจากเชื้อจำเป็นอย่างยิ่ง การรักษาโดยให้แอนตีท๊อกซินที่เตรียมมาจากคนให้ผลดีกว่าเตรียมมาจากม้า เพราะภาวะแทรกซ้อนหรืออาการแพ้ไม่ค่อยมี และอีกประการหนึ่ง halflife ของโกลบูลินในของคนจะอยู่นานกว่าของม้า แอนตีท๊อกซินควรให้ในรายที่ยังไม่เคยได้รับ active immunization มาก่อน เมื่อคนมีบาดแผลถูกหนามตำ หรือถูกสัตว์กัดควรให้ท๊อกซอยด์จะช่วยป้องกันโรคได้.
รายละเอียดเพิ่มเติม
อาการของโรคบาดทะยัก
โรคบาดทะยักมีระยะฟักตัวของโรค คือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนกระทั่งเกิดอาการประมาณ 5-15 สัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในระหว่าง 6-15 วัน โดยระยะฟักตัวยิ่งสั้นมากเท่าไร โรคจะยิ่งรุนแรงและอันตรายมากขึ้นเท่านั้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบาดทะยัก จะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่เกิดอาการทั่วร่างกาย เป็นกลุ่มที่พบได้มากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้เหมือนกับโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ
ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง (Lockjaw) เนื่องจากกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวเกิดการหดเกร็งและแข็งตัว ทำให้มีอาการขยับปากไม่ได้ กลืนลำบาก ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ ผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่าย ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ หน้าอก หน้าท้อง หลัง แขนและขา ทำให้มีอาการคอแข็ง ท้องแข็ง หลังแอ่น (Opisthotonus)
อาการชักเกร็งของแขนขาและกล้ามเนื้อทุกส่วนจะเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ เพียงช่วงสั้น ๆ เมื่อถูกสิ่งที่มากระตุ้น เช่น การได้ยินเสียงดัง ๆ การถูกสัมผัสตัว แสงสว่างเข้าตาจากแสงแดดหรือแสงไฟจ้า เป็นต้น และในขณะที่มีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วยบาดทะยักจะมีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากโรคลมชัก โรคสมองอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว และทุกครั้งที่ชักจะรู้สึกปวดมาก
ถ้าอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นยาวนาน ผู้ป่วยจะหายใจได้ลำบาก ทำให้ขาดอากาศและตัวเขียว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง คือกล้ามเนื้อทั้งตัวหดเกร็งและแข็งตัวอย่างรุนแรงพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ หลอดลมหดเกร็ง จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแขนขาหดตัว หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดหัวใจหยุดเต้น มีไข้สูงมาก และ/หรือมีเหงื่อออกทั่วตัว
บาดทะยักที่เกิดขึ้นในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือประกอบกับการที่มารดาไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก จึงไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อให้ลูกได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ เด็กทารกมักมีอาการร้องกวน ไม่ยอมดูดนม อ้าปากไม่ได้ มีการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งมักจะเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณ 50-80% แต่ถ้าสามารถมีชีวิตรอดจากโรคนี้มาได้ ก็มักจะมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตและสติปัญญา
กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบได้ค่อนข้างน้อย จะมีแค่อาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อใกล้บริเวณบาดแผลเท่านั้น ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง (พิษของเชื้อจะไม่ลุกลามเข้าสู่สมองและไขสันหลัง) มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1%
กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ศีรษะ เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมาก เกิดจากผู้ป่วยมีอุบัติเหตุที่ศีรษะหรือจากการติดเชื้ออักเสบของหูชั้นกลาง ทำให้พิษของเชื้อเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณใบหน้าและอาจลุกลามเข้าสู่สมอง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง
ภาวะแทรกซ้อนของบาดทะยัก
อาจพบอาการขาดออกซิเจนในขณะชัก อาการขาดอาหารเพราะกลืนไม่ได้ ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากการแข็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูด กระดูกสันหลังหรือกระดูกแขนขาหักจากการชัก การเกิดลิ่มเลือดของหลอดเลือดในปอด ปอดติดเชื้อแทรกซ้อน ปอดอักเสบ ปอดทะลุ ปอดแฟบ (Atelectasis) การเกิดระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เป็นผลแทรกซ้อนสำคัญที่มักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะควบคุมได้ยาก ได้แก่ ความดันโลหิตขึ้นสูงมากผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบเต้นช้า เต้นเร็ว และหัวใจหยุดเต้น และในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจและหัวใจวายถึงเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคบาดทะยัก
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคบาดทะยักได้จากอาการทางคลินิกเป็นหลัก ประวัติการมีบาดแผลตามร่างกาย การตรวจร่างกาย และประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ซึ่งในบุคคลที่เคยได้รับวัคซีนครบและได้ฉีดกระตุ้นตามกำหนดก็จะไม่มีโอกาสเป็นโรคบาดทะยัก สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะไม่มีการตรวจจำเพาะสำหรับโรคนี้ ซึ่งการตรวจจะเป็นการตรวจเพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกัน เช่น
การตรวจหาสารพิษสตริกนีน (Strychnine) ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษชนิดนี้ที่อยู่ในยาฆ่าแมลง จะมีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยัก ถ้าประวัติการได้รับสารพิษของผู้ป่วยไม่ชัดเจน ก็จำเป็นต้องตรวจหาสารพิษชนิดนี้ด้วย
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ส่วนใหญ่จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมักมีปริมาณของเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น
การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid examination) จะพบว่าปกติ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่ทำให้มีไขสันหลังและสมองอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งคล้ายคลึงกัน
การตรวจเพาะเชื้อ (Microbiological culture) วิธีนี้ไม่สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ เพราะผิวหนังปกติของคนเราก็มีเชื้อบาดทะยักเจริญอยู่ได้เป็นปกติอยู่แล้ว ตราบใดที่เราไม่มีบาดแผลและได้รับการฉีดวัคซีนครบตามกำหนดก็จะไม่เป็นบาดทะยัก
ในรายที่เป็นโรคบาดทะยัก สิ่งที่แพทย์มักตรวจพบมีดังนี้
ส่วนมากจะพบมีบาดแผลอักเสบ (ในทารกมักพบว่ามีสะดืออักเสบ) แต่ในบางรายอาจไม่พบบาดแผลที่ชัดเจนก็ได้
มักตรวจพบอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ใบหน้ามีลักษณะเหมือนยิ้มแสยะ คอแข็ง หลังแอ่น และมีอาการชักเกร็งเป็นพัก ๆ เมื่อถูกสิ่งที่มากระตุ้น (ถ้าเป็นมาหลายวัน อาจมีกลิ่นปากร่วมด้วย)
อาจมีไข้ต่ำ ๆ (ไข้มักไม่สูงมาก ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบแทรก) หรือไม่มีไข้ก็ได้
รีเฟล็กซ์ของข้อ (Tendon reflex) มักไวกว่าปกติ
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีชีพจรเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ไข้ขึ้นสูง หลอดเลือดส่วนปลายตีบ
วิธีรักษาโรคบาดทะยัก
หลักของการรักษาโรคบาดทะยัก คือ การกำจัดเชื้อบาดทะยักที่เป็นตัวผลิตสารพิษ การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว การรักษาเพื่อประคับประคองไปตามอาการที่เป็น และการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำอีก
กำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสปอร์ของเชื้อที่กำลังเจริญเติบโต ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลที่ยังไม่หายดี แพทย์จะทำการเปิดปากแผลให้กว้าง ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เพื่อช่วยลดปริมาณของเชื้อโรคที่อยู่ในบาดแผล
การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว โดยจะเป็นการให้สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) เข้าไปทำลายสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือด ด้วยการฉีดอิมมูนโกลบูลินต้านพิษบาดทะยัก (Human tetanus immune globulin HTIG) ในขนาด 500 ยูนิต เข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าไม่มีอาจใช้เซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก (Tetanus antitoxin TAT) ในขนาด 10,000-100,000 ยูนิต โดยแบ่งฉีดเข้ากล้ามและเข้าหลอดเลือดดำ และให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ในขนาด 1.2 ล้านยูนิต ฉีดเข้าหลอดเลือดทุก 6 ชั่วโมง (เด็กให้ในขนาด 100,000-200,000 ยูนิต/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 4 ชั่วโมง) หรือเมโทรไนดาโซล (Metronidazole) ขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง (เด็กให้ในขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำนาน 7-10 วัน (แอนติบอดีที่ใช้ทำลายสารพิษนี้จะเข้าไปทำลายได้เฉพาะสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น แต่จะไม่สามารถทำลายสารพิษที่เข้าสู่เส้นประสาทได้)
การรักษาประคับประคองตามอาการ แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาไปตามอาการที่เป็น เช่น ดูแลรักษาบาดแผล, ให้สารน้ำ เกลือแร่ และอาหาร, ให้ยากันชัก เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam) เพื่อลดการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อ แต่ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผลและผู้ป่วยยังมีอาการหดเกร็งมาก เสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจ, ใส่ท่อหายใจในรายที่ต้องเจาะคอ, ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูงมากก็ให้ยาควบคุมความดันโลหิต, ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นก็อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นต้น
การให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก (DTP) ผู้ป่วยทุกรายที่หายจากโรคแล้ว จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อบาดทะยักไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
ผู้ป่วยบาดทะยักในระยะเริ่มแรกที่มีอาการขากรรไกรแข็งและคอแข็ง โดยที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีและไม่มีไข้ขึ้น อาจแยกไม่ได้ชัดเจนจากอาการข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว แพทย์จะรับตัวไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด ถ้าเกิดจากยามักมีประวัติเกิดอาการหลังการใช้ยาและอาการจะทุเลาลงได้เองเมื่อหมดฤทธิ์ยาภายใน 6-8 ชั่วโมง หรือหลังจากให้ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)
ในส่วนของผลการรักษานั้น ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มที่เป็นก็มักมีโอกาสหายขาดได้ อาจต้องใช้เวลารักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยการทำกายภาพบำบัดนานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน แต่ถ้าปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง เช่น หลังแอ่นแล้ว โอกาสรอดก็น้อยลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในทารกหรือผู้สูงอายุ ส่วนผู้ป่วยที่มีระยะฟักตัวของโรคสั้น มีไข้สูง หรือชักตลอดเวลาก็มีโอกาสเกิดอันตรายมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน และโดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยโรคนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 50% ส่วนบาดทะยักในทารกแรกเกิดจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 50-80%
วิธีป้องกันบาดทะยัก
โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (Diptheria, Tetanus toxoids and Pertussis DTP) แต่เดิมวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักถูกผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จในทหารตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาวัคซีนชนิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปของวัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน หรืออาจเป็นแบบวัคซีนรวมอื่น ๆ สำหรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักนั้นมีดังนี้
ในเด็กเล็กควรได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน ตั้งแต่อายุได้ 2, 4 และ 6 เดือน และเพิ่มอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นก็ให้ฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี* (ส่วนในผู้ที่ไม่เคยฉีดตอนเด็กมาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ครบตามกำหนดและควรฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี)
ผู้ป่วยทั่วไปหรือในเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปที่มีบาดแผล หากเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาแล้ว 3 ครั้งหรือมากกว่า ถ้าเป็นกรณีที่มีบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) กระตุ้น 1 เข็ม แต่ถ้าได้รับการฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 10 ปี ก็ไม่ต้องฉีด ส่วนในกรณีที่เป็นบาดแผลอื่น ๆ เช่น บาดแผลที่แปดเปื้อนดินโคลน ฝุ่น น้ำลาย มูลสัตว์ อุจจาระคน บาดแผลจากการถูกสัตว์กัด บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บาดแผลจากอาวุธ บาดแผลจากการบดขยี้ บาดแผลจากเศษแก้วในกองขยะ บาดแผลที่ถูกตำ หรือบาดแผลที่ลึกและแคบ ให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) กระตุ้น 1 เข็ม แต่ถ้าได้รับการฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 5 ปี ก็ไม่ต้องฉีด และทั้งสองกรณีไม่ต้องฉีดยาต้านพิษบาดทะยัก (HTIG หรือ TAT) แต่อย่างใด
ส่วนผู้ป่วยทั่วไปหรือในเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปที่มีบาดแผลและเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักน้อยกว่า 3 ครั้ง หรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนแน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดหรือบาดแผลอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) 1 เข็ม และต่อไปให้ฉีดซ้ำอีก 2 เข็มทุก 1 เดือน รวมเป็น 3 เข็ม นอกจากนี้ถ้าเป็นบาดแผลอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาก็ควรได้รับการฉีดยาต้านพิษบาดทะยัก (HTIG หรือ TAT) เพิ่มเติมด้วย แต่ถ้าเป็นบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดก็ไม่ต้องฉีดยาต้านพิษบาดทะยักแต่อย่างใด
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนรวม 3 เข็ม โดยในเข็มแรกให้เริ่มฉีดเมื่อมาฝากครรภ์เป็นครั้งแรก ส่วนเข็มที่ 2 ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี (ถ้าฉีดไม่ทันในขณะตั้งครรภ์ก็ให้ฉีดหลังคลอด) ส่วนในกรณีที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม ควรฉีดอีก 2 เข็ม โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน (แต่ถ้าเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ควรให้ฉีดอีก 1 เข็ม โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน) จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ส่วนในกรณีที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนอย่างน้อย 3 เข็ม และเข็มสุดท้ายฉีดมานานกว่า 10 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม และให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี สำหรับในเรื่องของการทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ควรคลอดกับบุคลากรที่รู้จักรักษาความสะอาดในการทำคลอด ถ้าจำเป็นต้องคลอดกันเองที่บ้านก็ควรใช้กรรไกรที่ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อแล้วมาตัดสายสะดือเด็ก และควรทำความสะอาดสะดือของเด็กทารกอย่างถูกต้องด้วย
เมื่อมีบาดแผลที่ถูกตะปูตำ หนามตำ สัตว์กัด ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือบาดแผลสกปรก ควรชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที และควรพิจารณาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักตามคำแนะนำที่กล่าวมา เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเชื้อบาดทะยักสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ๆ มีความทนทานต่ออุณหภูมิ ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อ ดังนั้นการล้างแผลเองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือเบตาดีน จึงไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่บาดแผลให้หมดไปได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรกระทำ
หมายเหตุ : สาเหตุที่ต้องฉีดกระตุ้นทุก 10 ปีนั้น เนื่องมาจากภูมิคุ้มกันโรคจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา และอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคเมื่อได้รับสารพิษของเชื้อบาดทะยัก แต่การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักถี่เกินไปคือน้อยกว่า 10 ปี ก็อาจทำให้มีอาการปวดมากบริเวณที่ฉีด มีอาการบวมแดงที่อาจเกิดขึ้นทั้งแขนที่ฉีดได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เป็นโรคบาดทะยักแต่อย่างใด.