วิธีเลิกใช้สเตียรอยด์
ผู้ป่วยที่กำลังรักษาโรคกับหมอ โดยหมอสั่งใช้สเตียรอยด์ขนาดสูง เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ยาต่อ หมอจะค่อยๆลดขนาดยาลงให้ โดยหมอจะไม่ให้หยุดหรือเลิกใช้ยาในทันที เพื่อไม่ให้เกิดภาวะช็อก ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะหยุดยาได้
ผู้ป่วยโรค เอสแอลอี (SLE หรือโรคพุ่มพวง) โรคไตรั่ว โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคอื่นๆที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องกินสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิคุ้มกันไว้ แต่หากผู้ป่วยอยากจะเลิกใช้สเตียรอยด์ เนื่องจากกลัวผลเสียจากการใช้ยาหรือทนผลข้างเคียงจากการใช้ยาไม่ไหว จะต้องปรึกษาหมอและเภสัชกรก่อน เพื่อพิจารณาผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นหลังจากหยุดใช้ยา และขอให้ระลึกไว้เสมอว่า แม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกมากมายที่มาทดแทนการใช้สเตียรอยด์ได้ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การฝังเข็ม การรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็ก แต่ผลการรักษาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน การรักษาโดยใช้แพทย์ทางเลือกจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นในบางกรณีอาจเกิดผลเสียมากกว่าการใช้สเตียรอยด์เสียอีก
ผู้ที่ซื้อยาสมุนไพร ยาแผนโบราณหรืออาหารเสริมมากินเองเป็นเวลานานแล้ว หากสงสัยว่ายาที่กินจะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ขอให้รีบไปให้หมอตรวจ เพื่อปรึกษาวิธีลดการใช้ยา ห้ามหยุดยาเองโดยทันทีเด็ดขาดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และไม่ควรกินยาที่สงสัยนั้นต่อ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบต่างๆของร่างกายซึ่งเป็นอันตรายมาก..
การได้รับยาสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นจากยาชุด ยาลูกกลอน ยาสูตรสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาพระ รวมทั้งยาที่อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาได้สารพัดโรค เนื่องจากยาเหล่านี้มักจะมีส่วนผสมของยาในกลุ่มสเตียรอยด์อยู่ ทำให้เห็นผลในการบรรเทาทุกอาการได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ผู้ใช้ยาจึงมักรู้สึกพึงพอใจกับผลของยา โดยไม่ได้มุ่งรักษาที่สาเหตุของโรคโดยตรง แต่ยิ่งใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานมากขึ้นเท่าใด อาการไม่พึงประสงค์ของ steroid ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความรุนแรงของโรคที่มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่ตรงสาเหตุอย่างทันท่วงที จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้โดยเด็ดขาด.
△ตัวอย่าง ยา อาหาร เครื่องสำอาง ที่มีสเตียรอยด์
.
△ยาสเตียรอยด์ที่อยู่ในยาชุด
ในบรรดายาชุดที่มาจากร้านขายยา ร้านชำ ในชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ยาชุดเเก้ปวด แก้ไข้ แก้ประดง แก้กินผิด ล้วน แล้วแต่พบยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ในชุดนั้น บางชุดมีเพรดนิโซโลน บางชุดมีเด็กซ่าเมทาโซน บางชุดมีเบต้าเมทาโซน หรือบางชุดอาจจะมียาสเตียรอยด์รวมถึง 2 ชนิด
.
.
.
รู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ใดมีสเตียรอยด์?
1. การตรวจโดยใช้เครื่องมือตรวจด้วยตนเอง
หากเราสงสัยว่า ยาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่ใช้อยู่นั้นมีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือไม่ เราสามารถทดสอบได้ด้วยชุดตรวจสอบสเตียรอยด์เบื้องต้น (Steroid test kit อ่านว่า สเตียรอยด์-เทส-คิท หรือเรียกสั้นๆ ว่า เทสคิท) ที่มีใช้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือ ชุดตรวจสอบสเตียรอยด์เบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเราสามารถใช้ทดสอบได้ว่ายาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่สงสัยนั้น มีส่วนผสมของสารสเตรียรอยด์หรือไม่ หรือหากพบอาการผิดปกติใกล้เคียงกับการได้รับยาสเตียรอยด์นานๆ ให้ส่งตัวอย่างตรวจที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต หรือ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.)
2 . การส่งตรวจ
ชุดตรวจสอบ สเตียรอยด์เบื้องต้น (เทสคิท) เป็นชุดตรวจสอบที่ทำให้เราทราบว่าตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบมีสเตียรอยด์หรือไม่ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าสเตียรอยด์ที่ปลอมปนนั้น เป็นสเตียรอยด์ชนิดเดกซาเมธาโซนหรือเพรดนิโซโลน และไม่สามารถบอกได้ว่าสเตียรอยด์ที่ปลอมปนนั้นมีปริมาณเท่าไร..
หากเราต้องการทราบชนิดของสเตียรอยด์หรือปริมาณสเตียรอยด์ที่ปลอมปนอยู่ เราจำเป็นจะต้องส่งตัวอย่างยาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่สงสัยไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยทั่วไปสามารถส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ได้ที่
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 14 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ในการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการนั้น ผู้ประสงค์ที่จะส่งตรวจวิเคราะห์ ตัวอย่างยาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่สงสัย ต้องเตรียมตัวอย่างให้ได้จำนวนหรือปริมาณตามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด เช่น การส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อหาชนิดของสเตียรอยด์ที่ปนเปื้อนในยาแผนโบราณ หากเป็นชนิดเม็ดหรือแคปซูลต้องเตรียมตัวอย่างไม่น้อยกว่า 5 เม็ดหรือแคปซูล หากเป็นชนิดผงต้องไม่น้อยกว่า 20 กรัม หากเป็นชนิดน้ำต้องไม่น้อยกว่า 120 มิลลิลิตร โดยในการส่งตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ สามารถส่งได้ด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ อย่างไรก็ตามก่อนส่งตรวจตัวอย่างยาวิเคราะห์ ควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การเตรียมตัวอย่าง การนำส่งตัวอย่าง ค่าบริการในการตรวจวิเคราะห์ การรับฟังผลวิเคราะห์... :www.pohchae.com เรียบเรียง