หากอ่านบทความไม่พอดีกับจอมือถือ คลิ๊ก!!ดูเนื้อหาเกี่ยวข้อง> w ww.ubmthai.com เวอร์ชั่นสมาร์ทโฟน >> www.pohchae.com.
.
https://goo.gl/AoqYDD
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.ubmthai.com
การเลี้ยงแพะพ่อพันธุ์ (BUCK)
ลูกแพะที่คัดไว้ทำพันธุ์จะต้องดูแลให้อาหารอย่างดี เมื่ออายุครบ 3 เดือน ต้องแยกลูกตัวผู้ออกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการผสมก่อนวัยอันควร เมื่อครบ 10 เดือน จึงจะใช้แพะหนุ่มเพื่อการผสมพันธุ์โดยเริ่มผสมน้อยๆ ครั้งไปก่อน อัตราที่เหมาะสมคือ 1:20-25 ตัว (ตัวผู้1ตัวต่อแม่พันธุ์20-25 ตัว) พ่อแพะต้องการพื้นที่กว้างๆ สำหรับออกกำลังกายเมื่อไม่ได้คุมฝูง เพื่อไม่ให้อุ้ยอ้ายขี้เกียจ
.
การเลี้ยงดูแม่แพะ (DOE)
ลูกแพะเพศเมียที่คัดเลือกไว้ทำพันธุ์ ต้องแยกจากตัวผู้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน เพื่อป้องกันการผสมกันก่อนกำหนด เพราะเพศเมียสามารถผสมพันธุ์และตั้งท้องได้ตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน ถ้าผสมอายุยังน้อยจะทำให้แคระเเกร็น ลูกเกิดมาไม่แข็งแรง แพะสาวควรเริ่มผสมเมื่ออายุ 8-10 เดือน หลังคลอด 60 วัน ก็สามารถผสมพันธุ์ได้อีก เมื่อผสมติด น้ำนมจะลดลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นแพะรีดนมควรหยุดรีดนมหลังผสมติดประมาณ 3 เดือน หรือก่อนกำหนดคลอด 6-8 สัปดาห์
แม่แพะทั้งอ้วนและไม่อ้วน
ในเดือนสุดท้ายก่อนคลอดจะต้องควบคุมไม่ให้น้ำหนักลดลงโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันโรคคีโตซิส ซึ่งจะพบมากในแม่แพะที่อ้วนมากๆ (
https://goo.gl/cB4bbj) แล้วเกิดเบื่ออาหารหรือกินอาหารน้อยลงในช่วงก่อนคลอด 3 วัน
เนื่องจากแม่แพะสามารถคลอดลูกได้ครั้งละ 1-5 ตัว การที่แพะจะให้ลูกกี่ตัวขึ้นอยู่กับ..
-การจัดการ โดยเฉพาะการเร่งอาหารแร่ธาตุและวิตามิน (Flushing) เช่นเดียวกับในสุกรซึ่งจะทำให้ลูกดกขึ้น
-ความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์ ขนาดและอายุแม่พันธุ์ รวมทั้งลักษณะพันธุกรรมอีกด้วย แม่แพะกินอาหารข้นเสริมวันละ 0.5 กิโลกรัม จะทำให้สุขภาพแข็งแรง ให้น้ำนมมาก และที่สำคัญทำให้แม่แพะนั้นเป็นสัดหลังคลอดเร็ว ผสมติดง่ายและให้ลูกแฝดมากขึ้น
.
การเลี้ยงดูแม่แพะใกล้คลอดและหลังคลอด
- หยุดรีดนมหรือหย่านม ก่อนคลอดอย่างน้อย 50 วัน เพื่อให้ลูกในท้องมีอาหารไว้สร้างความเจริญเติบโตได้เต็มที่ เต้านมเตรียมพร้อมให้คืนสภาพปกติเพื่อจะผลิตน้ำนมเลี้ยงลูก ยังช่วยป้องกันโรคเต้านมอักเสบอีกด้วย
- อย่าให้แม่แพะอ้วน ให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้ามีไขมันที่หน้าท้องมากประกอบกับลูกในท้องที่มีขนาดโตขึ้น ทำให้พื้นที่กระเพาะลดลง ร่างกายได้รับอาหารไม่พอ
- อย่าให้เกิดภาวะที่ร่างกายต้องดึงไขมันที่สะสมไว้ที่หน้าท้องมาชดเชยอาหารคาร์โบไฮเดรตจน เป็นผลให้แม่แพะบางรายแสดงอาการป่วยด้วยโรคคีโตซิส (Ketosis) (ภาวะที่ร่างกายมีสาร Ketone มากกว่าปกติ ทำให้ไขมันข้นขึ้น แข็งขึ้น เหม็นที่เรียกว่าเหม็นหืนขึ้น ทำให้ไขมันใช้ประโยชน์ได้น้อยลง เกิดได้ทั้งไขมันในร่างกายและไขมันนอกร่างกาย) และไข้นมในระยะก่อนและหลังคลอด โดยจัดอาหารให้แม่แพะให้ถูกต้อง
- ให้ระบบทางเดินอาหารแม่แพะใกล้คลอดปกติ รับประทานอาหารได้เพียงพอตามความต้องการ
- อย่าให้แม่แพะบาดเจ็บที่ท่อระบบสืบพันธุ์เช่น โรคมดลูกอักเสบ และเต้านมอักเสบ
- ป้องกันไม่ให้ลูกแพะป่วยด้วยโรคติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย ไข้ข้ออักเสบ หวัด ปอดบวม
.
การหยุดรีดนมแม่แพะ (DRY)
การหยุดรีดนมแม่แพะต้องทำให้ถูกหลัก มิฉะนั้นอาจเป็นโรคเต้านมอักเสบได้ ถ้าแม่แพะให้นมน้อยกว่าวันละ 1.8 กก. สามารถทำให้นมแห้งได้โดยการหยุดรีดเท่านั้นเองไม่ยุ่งยาก แต่หากแม่แพะยังคงให้น้ำนมสูงอยู่ ต้องลดอาหารข้นลงเรื่อยๆ และชดเชยอาหารข้นด้วยหญ้าแห้งคุณภาพดี ให้น้ำดื่มลดลง เมื่อแม่แพะให้น้ำนมลดลงน้อยกว่าวันละ 0.9 กก. ก็สามารถหยุดรีดนมได้
.
การป้องกันโรคไข้นม (HYPOCALCEMIA,MILK FEVER)
ไข้นมเป็นอาการป่วยในแม่แพะหลังคลอด เนื่องจากระดับธาตุแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ ดังนั้นการจัดการให้อาหารแก่แม่แพะท้องใกล้คลอดที่มีธาตุแคลเซียมในปริมาณมากจะป้องกันโรคนี้ได้ เช่น ให้อาหารหยาบพวกหญ้าตระกูลถั่วก่อนคลอดอย่างน้อย 3 สัปดาห์
.
โปรแกรมการถ่ายพยาธิในแม่แพะก่อนคลอด
การถ่ายพยาธิแม่แพะตั้งท้อง
ก่อนกำหนดคลอดประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการกำจัดพยาธิภายในโดยตรงแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพของลูกแพะเกิดใหม่ด้วย โดยเฉพาะในฟาร์มที่มีปัญหาเรื่องพยาธิภายในอย่างรุนแรง แม่แพะที่เป็นโรคพยาธิจะให้น้ำนมน้อยกว่าแม่แพะที่ได้รับการถ่ายพยาธิแล้ว การถ่ายพยาธิยังป้องกันไม่ให้พยาธิระบาดจากแม่ไปยังลูกด้วย
ไทอาเบนดาโซล (THIABENDAZOLE) เป็นยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมและควรเลือกใช้กับแม่แพะก่อนคลอด
.
การป้องกันโรคกล้ามเนื้อลีบขาว (WHITE MUSCLE DISEASE)
โรคกล้ามเนื้อลีบ ไม่มีแรง เกิดบ่อยในแพะ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีธาตุซีลีเนียม (Se) ในดินต่ำ ซึ่งถ้าไม่ได้รับเพิ่มจากแร่ธาตุเสริมหรือจากอาหารข้นจะเป็นเหตุให้สัตว์ขาดธาตุ Se ดังนั้นในแม่แพะท้องก่อนครบกำหนดคลอด 60 วัน
ควรฉีดวิตามินอี และธาตุซีลีเนียม (SELENIUM TOCOPHEROL INJECTION) จะป้องกันลูกแพะแสดงอาการเป็นโรคดังกล่าวได้ และจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
.
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเป็นพิษ (ENTEROTOXAEMIA BOOSTER DORE)
เป็นโรคที่สำคัญและพบบ่อยในแพะ ถ้าแก้ไขไม่ทันแพะป่วยจะตายในอัตราสูง สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียมชนิดซีและดี (CLOSTRIDIUM TYPE C AND D) ดังนั้นจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้แก่แม่แพะก่อนคลอดประมาณ 45 วัน และ 15 วัน ตามลำดับ เป็นการเพิ่มความคุ้มโรคนี้ในน้ำนมแม่ แล้วถ่ายทอดความคุ้มโรคไปยังลูก โดยการดูดนมน้ำเหลือง
.
การป้องกันโรคบาดทะยัก (TETANUS BOOSTER DOSE)
แม่แพะและลูกแพะอาจเป็นโรคบาดทะยักได้ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุของโรคนี้เข้าทางบาดแผล ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในแม่แพะก่อนครบกำหนดคลอด 45 วัน และ 15 วัน ตามลำดับ ลูกจะได้รับความคุ้มโรคจากแม่ทางนมน้ำเหลืองเช่นเดียวกัน
การจัดการการคลอด..
การเตรียมการคลอด..
คอกคลอด (KIDDING PEN)..
คอกคลอดควรมีพื้นที่อย่างน้อย 5 ตารางฟุต ผนังคอกทึบ 3 ด้าน ส่วนด้านที่เหลือปล่อยให้โปร่งเพื่อระบายอากาศ สร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงสามารถขัดถู ฆ่าเชื้อโรคได้ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคคอกคลอดให้เรียบร้อย ให้รองพื้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้งเพื่อป้องกันอากาศหนาวและเปียกชื้น หากหนาวมากๆ ต้องกกด้วยไฟฟ้าให้ความอบอุ่นเหมือนในสุกร คอกคลอดควรเป็นที่สงบ ถ้าไม่มีคอกคลอดก็ใช้วิธีผูกล่ามแม่แพะไว้ใกล้ๆ คอก จะได้ช่วยเหลือดูแลได้ทันท่วงที จัดภาชนะใส่น้ำสะอาดและอาหารไว้นอกคอกคลอด ซึ่งแม่แพะสามารถกินถึงได้อย่างสบาย เพราะถ้าหากวางอ่างน้ำไว้ในคอกคลอด ลูกแพะแรกเกิดอาจจะตกลงไปได้ แยกแพะเข้าขังในคอกคลอดก่อนคลอดอย่างน้อย 2-3 วัน
.
กระบวนการคลอด
โดยปกติแพะแกะจะอุ้มท้องประมาณ 150 วัน (144-153 วัน)
เมื่อแม่แพะใกล้คลอดจะสามารถลูบคลำสัมผัสลูกในท้องตรงบริเวณสวาปด้านขวา ซึ่งนูนออกเห็นได้ชัดโดยเฉพาะก่อนคลอด 2-3 ชั่วโมง อาการที่แม่แพะแสดงให้เห็นว่าการคลอดจะเกิดขึ้นแล้วดังนี้
- กระวนกระวาย หงุดหงิด และย่ำเท้าตลอดเวลา
- ส่งเสียงร้องดัง และมองดูสวาปตัวเอง
- เต้านมเต่งคัด และมีน้ำนมหยดไหล
- มีน้ำเมือกไหลออกทางช่องคลอด
- เมื่อมีถุงน้ำคร่ำ (AMNIOTIC SAC,WATER BAG) ออกมาและแตก จากนั้นลูกแพะควรจะคลอดภายใน 2-3 นาที
ถ้าแม่แพะแสดงอาการดังกล่าวแต่การคลอดลูกยังไม่เกิดขึ้น แสดงว่ากระบวนการคลอดถูกขัดขวางหรือผิดปกติ ควรให้สัตวแพทย์ช่วยเหลือโดยทันที
ต้องหาสาเหตุโดยการล้วงทางช่องคลอด ก่อนตรวจต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณอวัยวะเพศ และใช้น้ำมันพืชหรือน้ำมันพาราฟินหล่อลื่นมือเพื่อจะได้ล้วงเข้าสะดวก ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุท่อระบบสืบพันธุ์ ถ้าหากสามารถใช้มือเกาะขาหน้าทั้งสองโดยมีหัวลูกแพะอยู่ตรงกลาง แสดงว่าลูกคลอดอยู่ในท่าปกติ ให้พยายามดึงออกอย่างระมัดระวัง แต่ถ้าตรวจพบขาหลังทั้งสองข้าง แสดงว่าคลอดผิดท่า ซึ่งก็สามารถดึงออกได้เช่นกัน บางครั้งอาจช่วยด้วยการดึงออกไม่ได้ต้องให้สัตวแพทย์ช่วย.
หรืออีกตำราการเลี้ยงแพะ ของอาจารย์สมเกียรติ สุวรรณสมุทร เขียนไว้ว่า วันที่ใกล้คลอดเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น จนถึงระยะ 1-2 วันกล่อนคลอดเต้านมจะเต่งตึงมาก และมีน้ำนมคั่งหรือไหลออกมา ท้องหรือสีข้างจะยุบตัวลง อวัยวะเพศบวมแดง และมีน้ำเมือกไหลออกมา
แม่แพะจะมีอาการหงุดหวิด กระวนกระวาย เดินวนไปวนมา ผุดลุกผุดนั่งหรือส่งเสียงร้อง ใช้ขาตะกุยที่นอนไปรอบๆ หรือใช้จมูกดมตามพื้น แม่แพะจะทำท่าเบ่งท้องหลายครั้ง น้ำเมือกที่อวัยวะเพศจะข้นมากขึ้น และขาวในที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแม่แพะจะคลอดลูกภายใน 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า
การคลอด แม่แพะจะยืนคลอด โดยมีถุงน้ำคร่ำออกมาก่อน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก็จะเห็นลูกแพะโผล่ออกมาตามแรงเบ่ง ตามด้วยจมูก หัว และลำตัวในที่สุด เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วแม่แพะก็จะเลียตามตัวลูกจนสะอาด โดยเริ่มเลียที่จมูกลูกเพื่อจะได้รับอากาศทำให้หายใจสะดวก ต่อจากนั้นลูกแพะจะพยายามทรงตัวลุกขึ้นยืน และลูกแพะจะหาเต้านม เมื่อพบแล้วจะเริ่มดูดนม กระดิกหางอย่างมีความสุข แสดงว่าแม่มีน้ำนมไหลให้ลูกได้ดูดกินแล้ว และแม่ก็จะยืนเลียตัวลูกแพะจนกว่าเนื้อตัวจะแห้ง
.
การเกิดรกค้าง (RETAINED PLACENTA)
รกค้างในแพะพบน้อยกว่าในโคนม ปกติรกควรออกมาหลังจากคลอดภายในไม่กี่ชั่วโมง การจัดน้ำอุ่นที่สะอาดให้แม่แพะกินหลังคลอด เชื่อว่าจะช่วยขับรกให้เร็วขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากอุณหภูมิร่างกายแม่แพะลดลงเพราะออกแรงเบ่งและสภาพอากาศหนาวขณะคลอดลูก นอกจากนี้การเกิดรกค้างและมดลูกอักเสบเป็นหนองอาจมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุซีลีเนียมก็ได้
ถ้าแม่แพะคลอดแล้ว 12 ชั่วโมงยังมีรกค้าง ขอให้สัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญล้วงปลดรกที่ค้างและใช้นิ้วมือเกี่ยวแล้วค่อยๆ ดึงออก ถ้าไม่สามารถล้วงออกได้แก้ไขโดยการฉีดยาปฏิชีวนะและยาไดเอททิลสติลเบสโตรล (Diethylstilbestrol) (ฮอร์โมนเพศ) ขนาด 10-15 มิลลิกรัม เพื่อเปิดปากมดลูกและขับรกที่ค้างออกได้
ขณะคลอดลูกหรือหลังคลอดลูก ให้ทำความสะอาดเต้านมทันที โดยการฟอกสบู่แล้วล้างด้วยน้ำอุ่นแล้วเช็ดให้แห้ง เมื่อแม่แพะเลียตัวลูกแพะแห้งดีแล้ว ให้แยกลูกออกจากแม่ ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน อ่อนๆ (2%) จุ่มสายสะดือ ผูกและตัดให้เรียบร้อยด้วยกรรไกรหรือมีดสะอาด ให้เหลือไว้ยาวประมาณ 6 นิ้ว จุ่มไอโอดีนอีกครั้งหนึ่ง และอาจจุ่มทิงเจอร์ไอโอดีนอีกครั้งในวันที่สอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จนเป็นโรคไข้ข้ออักเสบ (Jointill, Navel ill)
.
การป้องกันลูกแพะป่วยในระยะแรกเกิด
การป่วยของลูกแพะแรกเกิดมักมีสาเหตุมาจากข้อบกพร่องในการจัดการต่างๆ เช่น การให้อาหารแม่แพะใกล้คลอดไม่ถูกต้อง เช่น ให้อาหารที่มีคุณภาพในระยะท้ายของการรีดนมจนอาจทำให้แม่แพะอ้วนเกินไป ยิ่งถ้าไม่ได้ออกกำลังกายก่อนคลอดอย่างเพียงพอจะเกิดโรคคีโตซิสได้ง่าย ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้แม่แพะให้นมน้อยหรือไม่ให้น้ำนมเลย
จนทำให้ลูกแพะขาดอาหารหรืออดนม (Starvation) อ่อนแอ ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย หวัด ปอดบวม ได้ง่าย
การฉีดวิตามิน เอ ดี อี ขนาด 500,000 ยูนิต เข้ากล้ามเนื้อ ในระยะ 30 วัน และ 15 วัน ก่อนครบกำหนดคลอด จะช่วยป้องกันไม่ไห้แม่แพะและลูกแพะขาดวิตามินเหล่านี้ ทำให้ลูกแพะแรกเกิดมีร่างกายสมบูรณ์
คอกคลอดและอุปกรณ์ไม่สะอาดและไม่พร้อม ขนาดของฝูงก็มีผลต่ออัตราการตายกล่าวคือฝูงขนาดเล็กแพะก็จะตายน้อย ส่วนฝูงขนาดใหญ่อัตราการตายจะสูงขึ้น อาจถึง 30-40% การจัดการให้แพะมีน้ำหนักแรกเกิดดีและมีสุขภาพแข็งแรง
การปฏิบัติต่อลูกแพะ ระยะ 2-3 ชั่วโมงหลังคลอดอย่างใกล้ชิด เช่น ช่วยให้มันหายใจอย่างรวดเร็วที่สุด ตรวจดูว่ามีน้ำเมือกอุดจมูกหรือปากหรือไม่ ถ้ามีรีบเอาออกโดยการใช้มือล้วง และอาจต้องช่วยกระตุ้นการหายใจด้วยการจับขาหลังทั้งสองหิ้วเอาหัวห้อยลง เขย่าๆ และแกว่งไปมา จะทำให้ลูกแพะหายใจได้เร็วขึ้นและแรงขึ้น และช่วยเช็ดตัวให้แห้งเร็วขึ้นด้วยผ้าสะอาดเพื่อช่วยกระตุ้นการหายใจและเพิ่มความอบอุ่น การจัดสิ่งแวดล้อม อาหาร และอายุการหย่านมที่เหมาะสม เหล่านี้ล้วนทำให้อัตราการตายลดลง
องค์ประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อจำนวนลูกแพะในการคลอดแต่ละครั้ง
แพะสามารถให้ลูกได้ 1-5 ตัว คนส่วนใหญ่ต้องการให้แม่แพะคลอดลูกแฝดเพราะนอกจากจะได้จำนวนตัวต่อครอกมากแล้ว ลูกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักแรกเกิดลดลงเป็นสัดส่วนตามจำนวนตัวลูกที่คลอดออกมาด้วย ไม่ทำให้เป็นสาเหตุให้คลอดยาก ถ้าคลอดลูกตัวเดียวส่วนมากมักเอาส่วนหน้าออกซึ่งถือเป็นท่าปกติ
แต่ก็อาจพบปัญหาการคลอดยากที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากลูกแพะเอาหัวออกก่อนคือ ส่วนขาหน้าทั้งสองข้างยังคงคาค้างอยู่ หรืออาจจะเอาขาหน้าออกแต่หัวยังค้างอยู่ เป็นต้น
องค์ประกอบที่มีผลต่อจำนวนลูกต่อครอก ดังนี้
- ฤดูกาล ช่วงเวลาการผสมที่อากาศหนาวเย็น(กลางเดือนตุลาคม-มกราคม) กลางวันสั้นกว่ากลางคืนจำนวนไข่จะตกมาก โอกาสที่จะมีลูกดกจะสูงกว่าฤดูร้อน
- การเร่งอาหาร (Flushing) ก่อนการผสมพันธุ์แม่แพะควรให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกกว่าปกติ เช่นเดียวกับที่ทำในแกะและสุกร สามารถเพิ่มจำนวนลูกต่อครอกได้
- สุขภาพ แม่แพะที่ได้รับการถ่ายพยาธิภายในและกำจัดพยาธิภายนอกอย่างเคร่งครัด ทำให้ไม่เกิดโรคโลหิตจางก่อนผสมพันธุ์ จะช่วยให้ได้ลูกแพะจำนวนเพิ่มขึ้น
.
การจัดการเพื่อให้ลูกแพะแรกเกิดมีความต้านทานโรคสูง
ลูกแพะเกิดใหม่ติดเชื้อโรคได้ง่ายและรุนแรง เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 2-3 ทาง คือ ทางปาก จมูก และสายสะดือ การลดการติดเชื้อทำได้โดยพยายามให้แม่แพะคลอดในคอก หรือพื้นที่ซึ่งได้ทำความสะอาดแห้งและฆ่าเชื้อโรคแล้ว รองพื้นห้องด้วยวัสดุที่สะอาด อาจจะใช้หญ้าแห้งหรือฟางข้าว ป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น เช่น สุนัข แมวหรือแพะตัวอื่นเข้าไปในคอกคลอด
ต้องให้ลูกแพะแรกเกิดได้กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) ภายใน 15 นาทีหลังคลอด ก่อนที่ลูกแพะจะได้รับเชื้อโรคใดๆ เข้าสู่ร่างกาย แรกๆ ควรรีดจากเต้าให้กินในภาชนะหรือในขวดนมที่มีหัวดูด และได้รับจำนวนมากด้วย เพื่อเพิ่มความต้านทานโรคให้สูงขึ้น เพราะก่อนคลอด 24 ชั่วโมง สารโปรตีน (Gamma globulin ) ซึ่งมีอยู่ในกระแสเลือดของแม่แพะจะผ่านเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลือง (Mammary glands) มากกว่าปกติอย่างมากซึ่งมีส่วนของสารคุ้มโรคทุกชนิดที่อยู่ในตัวแม่แพะปนอยู่ นมน้ำเหลืองมีส่วนประกอบของวิตามินเอปริมาณมาก และยังมีสารโปรตีน น้ำตาลแลคโตส โกลบูลินและสารอื่นๆ จำนวนสูงกว่าน้ำนมธรรมดาซึ่งทำให้ระบบทางเดินอาหารและระบบหายใจต้านทานโรคได้ดี สารภูมิคุ้มโรคจากน้ำเหลืองจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผนังเยื่อบุทางเดินอาหารได้ดีที่สุดในระยะแรกเกิดเท่านั้น เมื่ออายุมากขึ้นการดูดซึมจะน้อยลงตามลำดับ และเมื่ออายุครบ 3 วันแล้ว สารภูมิคุ้มโรคจะสร้างความต้านทานโรคขึ้นเอง (Active immunity) ซึ่งแล้วแต่มันจะได้รับแอนติเยนชนิดใด
หากสังเกตุเห็นเต้านมแม่แพะคัดเต่งหลังคลอดหลายชั่วโมงแสดงว่าลูกแพะไม่สามารถดูดนมน้ำเหลืองจากแม่ได้ แก้ไขโดยการผูก แม่แพะไว้แล้วจับลูกแพะเอาปากคาบหัวนมโดยตรงเลย บางครั้งอาจจะต้องใช้มือรีดนมจากเต้าเข้าปากลูกแพะ หรือใช้ขวดนมเด็กป้อน
หากลูกแพะไม่ได้รับนมน้ำเหลืองอาจเนื่องจากแม่ตาย จำเป็นต้องให้ยาระบายแก่ลูกแพะ เช่น น้ำมันพืชขนาด 15 - 30 ซี.ซี. เพื่อขับขี้เทา (Muconium or Jaecal matter) หรือบางรายต้องสวนทวารเช่นเดียวกับทารกแรกเกิด
การเลี้ยงดูลูกแพะระยะดูดนมและการหย่านม
โดยทั่วไปลูกแพะแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม เพศผู้จะหนักกว่าเพศเมียเล็กน้อย รายที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยจะอ่อนแอ ต้องช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด อัตราการเจริญเติบโตของลูกแพะในระยะดูดนมประมาณวันละ 200 กรัม
ถ้าแม่แพะตายลูกแพะสามารถฝึกให้ดูดนมจากขวดหรือกินจากจานหรือกระป๋องได้ไม่ยาก
น้ำนมที่ใช้เลี้ยงแพะควรอุ่นก่อนทุกครั้ง (อุณหภูมิ 40-60 องศา ซ.) ในระยะอายุแรกเกิดถึง 3 สัปดาห์ ให้กินนมวันละ 4 ครั้ง แล้วค่อยๆ ลดลงเหลือวันละ 2 ครั้ง
โดยธรรมชาตินมแพะดีกว่านมโคหรือกระบือ นั่นคือนมแพะมีคุณสมบัติใกล้เคียงนมคนมาก แต่ในบางครั้งเราก็สามารถใช้นมโคเลี้ยงลูกแพะได้ (นมโคเจอร์ซี่ไม่เหมาะที่จะใช้เลี้ยงแพะ เพราะมีโมเลกุลของไขมันนมใหญ่เกินไป ทำให้ย่อยยาก)
ลูกแพะจะเริ่มกินอาหารข้นได้เมื่ออายุประมาณ 3 สัปดาห์
ลูกแพะที่ไม่ใช้ทำพันธุ์ควรตอนตั้งแต่อายุ 2 - 4 สัปดาห์ นิยมใช้วิธีผ่าเอาลูกอัณฑะออก ควรทำในตอนเช้าที่มีอากาศเย็นจะทำให้เสียเลือดน้อย นอกจากนี้อาจใช้วิธีหนีบด้วยคีมหนีบ (Burdizzo) หรือใช้ยางรัด
อายุ 3 เดือน หย่านมลูกแพะได้ สอนให้แพะรู้จักกินอาหารเสริม และเสริมแร่ธาตุในอาหารด้วย แยกลูกแพะตัวผู้ออกจากตัวเมียเพื่อป้องกันการผผสมพันธุ์ก่อนวัยอันควร ทำให้แพะแคระเกร็น ลุกแพะเพศเมียเลี้ยงรวมกับฝูงแม่พันธุ์ได้ เมื่อสาวเต็มที่คืออายุ 10-12 เดือนจึงผสมพันธุ์
.
การรีดนมแพะ
แพะมีนม 2 เต้าเท่านั้น เต้านมแพะพันธุ์นมจะใหญ่และสวย หัวนมขนาดใหญ่และยาวพอประมาณ สามารถรีดนมด้วยมือหรือรีดด้วยเครื่องได้เช่นเดียวกับโค
แม่แพะที่อยู่ในระยะรีดนมต้องดูแลเป็นพิเศษ ต้องไม่ให้แม่แพะรีดนมถูกรบกวนจากคนแปลกหน้า อย่าเปลี่ยนคนเลี้ยงและคนรีดนม อย่าให้มีเสียประหลาดรบกวน เช่น เด็กร้อง สนุขเห่าหอน ในขณะรีดนมอย่าให้สุนัข แมว หรือแม่แพะตัวอื่นเข้าไปรบกวนโดยเด็ดขาด เพราะภาวะเครียดและตกใจจะทำให้แม่แพะลดการหลั่งน้ำนม รีดนมด้วยความนุ่มนวล รีดนมให้เสร็จภายใน 5 นาที ภายหลังจากเช็ดทำความสะอาดเต้านม เพราะถ้าช้ากว่านี้จะไม่มีสารฮอร์โมนออกซี่โตซิน (Oxytocin) ออกมาช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
ขั้นตอนการรีดนม
- เตรียมภาชนะสำหรับรีดนม
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอก
- นำแพะเข้าซองรีด ซึ่งเป็นไม้และมีที่หนีบคอ มีถาดอาหารให้แพะกินเพื่อความเพลิดเพลิน
- เตรียมแม่แพะเพื่อรีดนมโดยทำความสะอาดเต้านมด้วยน้ำอุ่นผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำยาเช็ดรอบเต้านมและหัวนม การเช็ดด้วยผ้านอกจากจะทำให้สะอาดและแห้งแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้แม่แพะขับน้ำนมอีกด้วย
- การรีดนมด้วยมือ ควรนั่งรีด โดยเริ่มถูบริเวณเต้านมจากด้านหลังไปด้านหน้าเพื่อเป็นการกระตุ้นให้หลั่งน้ำนม
- น้ำนมที่รีดได้จากการบีบรีด 2-3 ครั้งแรก ให้เก็บใส่ภาชนะแยกไว้เพื่อตรวจโรคเต้านมอักเสบก่อน หรือรีดทิ้งเสีย เพราะน้ำนมส่วนนี้เป็นแหล่งที่หมักหมมเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เต้านมอักเสบ (Mastitis)
- ในกรณีที่ตรวจพบว่าแม่แพะเป็นโรคเต้านมอักเสบก็ไม่ควรใช้นมที่รีดได้นั้นบริโภค จงแยกแม่แพะป่วยออกจากฝูงเพื่อรักษา แม่แพะที่สงสัยว่าเป็นโรคเค้านมอักเสบควรรีดหลังจากรีดตัวอื่นๆ เสร็จแล้ว เป็นการป้องกันไม่ให้โรคแพร่ไปสู่แม่แพะตัวอื่นๆ
- กรรมวิธีการรีดนมให้ใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้บีบกดหัวนมไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมไหลย้อนกลับเข้าเต้านม จากนั้นบีบนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย รีดลงมาที่ปลายหัวนม น้ำนมจะไหลพุ่งสู่ถังที่เตรียมไว้ แรงกดที่เต้านมจะต้องสม่ำเสมอ ไม่ดึงและกระตุกเต้านมและหัวนมลง จากนั้นผ่อนแรงกดนิ้วที่หัวนม เพื่อน้ำนมจะได้ไหลออกจากเต้านมลงมาอีก ปฏิบัติเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนกว่าน้ำนมจะหมดเต้านม.
ขอขอบคุณ
http://thaigoatclub.blogspot.com/2007/09/blog-post_21.html
http://tulyakul.blogspot.com/2012/10/blog-post_16.html
https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%A5%..
https://i.ytimg.com/vi/PtzTjy6a0wM..
ป้ายกำกับ:
คลังสมองubmthai.com