แบบจำลองพระเมรุมาศ 3 มิติ แอนิเมชั่น มิติใหม่แห่งการเขียนแบบพระเมรุมาศย
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แบบจำลองพระเมรุมาศ 3 มิติ แอนิเมชั่น มิติใหม่แห่งการเขียนแบบพระเมรุมาศย  (อ่าน 3077 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1887
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13886


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 29, 2017, 08:42:46 am »

คลิปนี้ ผมดู 3 -4 เที่ยว ทำให้มีแรงบันดาลใจ

ข้าพระบาท Lightning Talk ตอน แบบจำลองพระเมรุมาศ 3 มิติ แอนิเมชั่น มิติใหม่แห่งการเขียนแบบพระเมรุมาศย

http://www.youtube.com/v/ZXfVjNjxU38?version=3&hl=th_TH" type="application/x-shockwave-flash


Cr: saisawan khayanying

ถ้าย้อนเวลากลับไปสัก 20 ปี  อายุสัก 45 แล้วมี โปรแกรม

AutoCAD

3D

Solidworks (ค่าเรียน  เหยียบหมื่น)

ผมจะ ยอมเสียเงินไปเรียน

ณ ขณะนี้ มันไม่ทัน สะแล้ว ตาฝ้าฟาง หมดเวลา



บันทึกการเข้า

eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1887
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13886


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: ตุลาคม 29, 2017, 10:12:49 am »

Transdisciplinary   

คือ การที่นักวิจัยหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในหัวข้อเรื่องหนึ่ง   
แล้วไม่เพียงแต่จะโยนให้โจทย์ให้กันในภายหลัง แต่กลับตั้งโจทย์ร่วมกันตั้งแต่แรก แล้วลงมือทำวิจัยด้วยกัน   
คือ ไปไหนก็ไปด้วยกัน   เห็นข้อมูลเหมือน ๆ กัน   แล้วแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่ตลอดเวลา เสมือนเป็นคน ๆ เดียวกัน
แต่แยกเป็นหลายร่าง   ต่างคนต่างช่วยกันคิดและท้าทายกันด้วยคำถามใหม่ ๆ อยู่เสมอ   
จากนั้นพยายามตอบคำถามในส่วนที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ   แล้วผนึกคำตอบทั้งหมดเข้าด้วยกัน   
แล้วยังต้องฝ่าด่านคำถามหรือข้อสงสัยจากผู้ร่วมงานจากสาขาอื่น     
หากทุกคนสามารถหาจุดที่เป็นที่พอใจของทั้งทีมได้แล้ว   จะได้เป็นคำตอบที่สมบูรณ์ของงาน   
คำตอบที่ได้จึงไม่ใช่เพียงการตอบโต้กันข้ามโต๊ะเหมือนที่เกิดขึ้นใน Interdisciplinary   
แต่เป็นการกลั่นเข้าด้วยกันของหลายสาขาวิชา   
โดยใช้กระบวนการคือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและยาวนาน   
ซึ่งทีมวิจัยจะได้คำตอบของทีมออกมาซึ่งทุกสาขาที่มาร่วมให้การยอมรับและมั่นใจว่าจะสามารถนำไป
ปฎิบัติได้จริง   



การศึกษาเชิงบูรณาการแนว Transdisciplinarity (TD)
 
            1. Transdisciplinarity (TD) คืออะไร ?
            2.หลักการพื้นฐานของ Transdisciplinarity (TD) มีอะไรบ้าง ?
            3.Transdisciplinari ty (TD) จะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมของไทยได้อย่างไร ?
 
1. Transdisciplinarity (TD) คืออะไร ?
            ก่อนที่จะอธิบายความหมายของ Transdisciplinarity (ต่อไปนี้จะเรียกว่า TD)
จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความเป็นมาและพัฒนาการของศาสตร์ก่อน ก่อนหน้าศตวรรษที่ 17
ความรู้ต่างๆยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นสาขาวิชา มนุษย์เราจะศึกษาสิ่งต่างๆแบบเหมารวมกันไป
ทั้งปรัชญา ศาสนา สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
           การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ในศตวรรษที่ 17 ทำให้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสูง
อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ แยกตัวออกจากปรัชญาซึ่งทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำ
เกิดความชำนาญเฉพาะด้านอันก่อให้เกิดผลดีในแง่ที่ทำให้นักวิชาการแต่ละสาขาสามารถพัฒนา วิจัย
และต่อยอดองค์การความรู้เฉพาะสาขาของตน ความชำนาญเฉพาะด้านก่อให้เกิดการพัฒนา
องค์ความรู้ของศาสตร์ในสาขาของตนได้อย่างรวดเร็ว

ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ได้เกิดสังคมศาสตร์
ซึ่งต้องการพัฒนาเป็นเป็นศาตร์เฉพาะสาขาเพื่อให้เกิดความชำนาญในศาสตร์ของตน
(เช่นเดียวกับความสำเร็จของวิทยาศาสตร์)
การแบ่งงานกันทำ และพัฒนาศาสตร์ออกเป็นด้านต่างๆ มีผลดีในแง่ของของการพัฒนาความชำนาญเฉพาะสาขา
ทำให้ศาสตร์แต่ละสาขามีการเจริญเติบโตและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
           การวิจัยแบบบูรณาการ หรือ การวิจัยแบบสหวิชาเป็นการวิจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างสำคัญต่อการวิจัยในประเทศไทย โดยมีหลักการคือ
การวิจัยแบบบูรณาการต้องสามารถนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในทันที
ประชากรและชุมชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย และต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะมองไปข้างหน้า
หรือภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Integrated ซึ่งคือ
การรวมเข้าด้วยกันของ ๓-๔ สาขา (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2546)

           การวิจัยแบบบูรณาการจึงเป็นการดำเนินการแบบองค์รวม
ที่เป็นการเชื่อมโยงส่วนต่างๆให้เป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำผลที่ได้จากการวิจัยไปขยายผล
เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
การวิจัยแบบบูรณาการจึงไม่ใช่การวิจัยเพื่อหาความรู้อย่างเดียว
แต่ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ
ไม่ใช่งานวิจัยที่เก็บอยู่ในห้องสมุด ซึ่งจากการศึกษาพบว่า
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีรูปแบบการทำวิจัย ดังนี้
             Multidisciplinary research คือ การที่นักวิจัยจากหลายสาขามาทำงานวิจัยร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หรือ หัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง โดยแบ่งงานวิจัยตามความถนัดของนักวิจัยแต่ละคนตามความถนัด เช่น
นักวิจัยวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยศึกษาผลกระทบทางด้านเทคนิค
นักเศรษฐศาสตร์ทำการวิจัยศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
นักสังคมศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบทางสังคม เป็นต้น

การเขียนวิเคราะห์งานวิจัยก็แยกกันเป็นบทๆ จากนั้นก็จะรวมรวมทั้งหมดออกเป็นเข้าเป็นเล่มเดียวกัน
ปัญหาในเรื่องนี้คือหากวิจัยแต่ละสาขาเขียนไปละเรื่อง
ทำให้ขาดการบูรณาการให้เป็นทิศทางเดียวกัน
ซึ่งการทำวิจัยแบบ Multidisciplinary research เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถดึงความสามารถของนักวิจัย
จากสาขาต่างๆมาใช้ร่วมกัน แต่เป็นเพียงการวิจัยที่ต่างคนต่างทำ
ไม่ต่างจากการทำวิจัยเดี่ยวในเรื่องของตนเอง

                เมื่อความรู้สมัยใหม่ที่แยกศาสตร์ออกเป็นสาขาต่างๆโดยแต่ละสาขา
วิชาต่างให้ความสนใจเฉพาะศาสตร์ของตนเอง อันก่อให้เกิดคำถามว่าศาสตร์แต่ละสาขาไม่สามารถรับใช้สังคม
เพื่อก่อให้เกิดการทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาต่างๆภายในสังคมได้เลย
อันทำให้เกิดแนวคิดที่จะเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆเข้าหากัน
รูปแบบแรกเรียกว่า Multidisciplinary Approach (MD) ซึ่งเกิดในทศวรรษ 1740s
อันเนื่องจากการขยายตัวของแนวคิดพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioralism)
ที่ต้องการนำระเบียบวิธีการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาใช้ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์
จึงก่อให้เกิดแนวคิดที่จะนำความรู้ทางด้านสถิติ คณิตศาสตร์ ฯลฯ
มาใช้ในทางสังคมศาสตร์ ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านต่างมองเห็นความสำคัญ
ที่จะต้องนำแนวคิดทางสังคมการเมืองมาใช้ในการอธิบายถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ

             MD เป็นแนวคิดที่ยอมรับให้การศึกษาของศาสตร์แต่ละสาขา
สามารถหยิบยืมศาสตร์จากสาขาอื่นมาใช้ในการศึกษา เพื่อเพิ่มพลังในการอธิบายให้แก่ศาสตร์ของตนเองได้
(เช่น นักเศรษฐศาสตร์ยืม concept บางตัวมาจากรัฐศาสตร์ ฯลฯ)
โดยแต่ละศาสตร์ ต่างยังคงมีการแยกขาดจากกัน เป็นอิสระต่อกัน
และรักษาความชำนาญเฉพาะด้านของตนเหมือนเดิม

               Interdisciplinary researchคือ การที่นักวิจัยจากหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หรือหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง โดยรอบแรกแต่ละคนจะแยกกันไปศึกษาไปสาขาของตนก่อนแล้วนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น
แต่แทนที่จะเอาแต่ละบทมาประกอบกันเป็นเล่มเฉยๆ จะต้องมีการประชุมกันเพื่อหารือและวิเคราะห์ผลกระทบ
ที่สาขาหนึ่งจะมีต่ออีกสาขาวิชาหนึ่ง เนื่องจากการแก้ปัญหาด้านหนึ่งอาจจะก่อปัญหาอีกด้านหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
ผลการศึกษาในแต่ละด้านต้องมีการสอดรับ เช่น ผลกระทบด้านเทคนิคที่วิศวกรเสนอมา
จะมีผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร
ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับนักวิจัยในการนำผลการวิจัยไปใช้ปฏิบัติว่า
มีความชัดเจนว่าจะนำผลไปใช้ปฏิบัติในทิศทางใด

             ต่อมาได้เกิดแนวคิดใหม่ ที่เรียกว่า Interdisciplinary Approach (ID)
ซึ่งเสนอให้มีการเชื่อมโยงต่อกันระหว่างศาสตร์อย่างเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น
โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาประสานความร่วมมือระหว่างกัน ทำงานร่วมกัน
เพื่อนำไปสู่การบูรณาการของศาสตร์
(coordinate and integration-oriented collaborati9on between researchers from different disciplines.)
โดยการเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่างๆเข้าหากัน จนทำให้ศาสตร์แต่ละสาขากลายเป็นเนื้อเดียวกัน คือ
ล้มเลิกพรมแดนในการแบ่งแยกสาขาวิชา โดยคาดหวังว่าเมื่อรวมศาสตร์ระหว่างสาขาเข้าด้วยกันแล้ว
ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่อันทำให้สามารถนำไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
ลึกซึ้งมากขึ้นความรู้ในแนวทาง ID ได้แก่สตรีนิยม ประวัติศาสตร์เชิงโครงสร้างการศึกษา
เศรษฐศาสตร์แนวสถาบัน เศรษฐศาสตร์การเมือง ฯลฯ

              Trans-disciplinary research คือ การวิจัยที่นักวิจัยหลายสาขามาทำวิจัยร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
โดยนักวิจัยต้องทำโจทย์การวิจัยร่วมกัน แบบไปไหนไปด้วยกัน เห็นข้อมูลเหมือนกัน
แล้วแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่ตลอดเวลา เสมือนเป็นคนๆเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจาก
การศึกษารูปแบบเก่าๆที่มีมุมมองให้นักศึกษาเรียนรู้แต่ในโรงเรียนหรือการฝึกอาชีพในมหาวิทยาลัย
เพื่อออกไปประกอบอาชีพเดียวตลอดชีวิตการทำงาน กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
เพราะกระแสในยุคโลกาภิวัตน์ ประชากรในอนาคตต้องมีการเรียนรู้หลายครั้งตลอดชีวิต
การเรียนรู้ในตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญของโลกในทศวรรษหน้า
การศึกษาในศาสตร์ต่างๆเป็นแนวโน้มที่เกิดการแต่งงานระหว่างสาขาทั้งสิ้น
ซึ่งนักวิจัยต้องต่างคนต่างช่วยกันคิด แล้วผนึกคำตอบทั้งหมดเข้าด้วยกัน
แล้วต้องฝ่าด่านคำถามหรือข้อสงสัยจากผู้วิจัยในสาขาอื่นหากนักวิจัยในทีมต้องสามารถหาข้อสรุปร่วมกัน
จึงจะได้เป็นคำตอบที่เป็นคำตอบที่สมบูรณ์ของงานวิจัย ตัวอย่างเช่นวิทยาศาสตร์ยุคใหม่
เปรียบเหมือนวงซิมโฟนีที่มีผู้เล่นหลายคน มีเวทีและรอบให้แสดงเป็นเรื่องเป็นราว
ต่างจากนักคนตรีฉายเดี่ยวซึ่งเหลือให้เล่นข้างฟุตบาทกับสถานีรถไฟใต้ดินเท่านั้น (ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ. 2549)
              ส่วนแนวคิด Transdisciplinary Approach เกิดในทศวรรษ 1970s
โดยก่อรูปขึ้นจากองค์การ swissAlps ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ได้จัดทำโครงการ “Man and Biosphere Programme” ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้ใช้
 “แนวคิดระบบเชิงบูรณาการ” (integrated systems approach)
และเน้นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ชาวพื้นเมืองและผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย
แนวคิด TD มีลักษณะคล้ายกับ ID ในแง่ที่ต่างให้ความสำคัญกับการบูรณษการระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างถึงที่สุดแล้ว จะพบว่าแท้จริงแล้ว TD มีความแตกต่างจาก ID อย่างสำคัญกล่าวคือ

            1.ในขณะที่ ID เน้นการบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่างๆซึ่งเป็นศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใน
สถาบันทางวิชาการเท่านั้น (เช่น การบูรณาการระหว่างเศรษฐศาสตร์กับรัฐศาสตร์)
แต่ TD เน้นการบูรณาการความรู้ทุกๆประเภท ทั้งในความรู้ในสถาบันทางวิชาการ
(วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ฟิสิก เคมี ชีวะ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สังคมศาสตร์ ฯลฯ)
และภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ด้วย

           2. ในขณะที่ ID ถือว่ากิจกรรมทางวิชาการ เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
(มีแต่นักวิชาการเท่านั้นที่จะเรียนทฤษฎีและทำวิจัยที่ลึกซึ้งได้)
แต่ TD มองว่ากิจกรรมทางวิชาการจะต้องมาจากความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้าน
โดยมองว่าความร่วมมือของชาวบ้านเป็นหัวใจของ TD เนื่องจากปราการแรก
ปัญหาเกิดขึ้นในท้องถิ่นซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นย่อมมีความรู้ในเรื่องนั้นๆเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
(เช่นระบบนิเวศในพื้นที่ป่า การทำเกษตร การจับปลา ลักษณะนิสัยของปลาแต่ละชนิด การแล่นเรือ สมุนไพร ฯลฯ)

และประการที่สอง ชาวบ้านเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ซึ่งเมื่อชาวบ้านเป็นเจ้าของปัญหาโดยตรง ชาวบ้านจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา (ร่วมกับนักวิชาการ)
การแก้ปัญหาใดๆที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ไม่มีส่วนรับรู้ หรือชาวบ้านไม่เห็นด้วย
ย่อมก่อให้เกิดความล้มเหลวตั้งแต่ต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

           3. ในขณะที่ ID มองว่าการวิจัยจะต้องนำเครื่องมือทางด้านทฤษฎีและมโนทัศน์นามธรรม
ทางวิชาการมาใช้ในการศึกษาปัญหา แต่ TD เน้นศึกษาปัญหาโดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลรูปธรรม (ร่วมกับชาวบ้าน)
ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทอันเฉพาะเจาะจง เพื่อทำให้สามารถเข้าใจปัญหา
อันมีลักษณะเฉพาะเจาะจง ไม่แน่นอน และมีความซับซ้อนได้อย่างลึกซึ้ง

           4. ในขณะที่ ID แยกขาดระหว่าง “การศึกษาวิจัย” (ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ) กับ
 “ประยุกต์งานวิจัยไปใช้ในการแก้ไขปัญหา” (เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ)
แต่ TD ผนวกรวม “การศึกษาปัญหา” เข้ากับ “การแก้ไขปัญหา” เข้าด้วยกัน
ผ่านการทำงานที่ประสานกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างชาวบ้าน-นักวิชาการ-และฝ่ายปฏิบัติ
การวิจัยตามแนวคิด TD จึงมีลักษณะคล้ายกับ participatory action research

            ซึ่งรูปแบบหนึ่งของการทำวิจัยแบบ Trans-disciplinary research ที่นิยมทำในปัจจุบัน คือ
การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ซึ่งมีลักษณะเด่น ๑๐ ประการ ดังนี้ (พันธุ์ทิพย์ รามสูตร. 2545:64-69)

              ๑) เป็นการสร้างความรู้ (Produce knowledge) โดยการผสมผสานระหว่างความรู้จากนักวิชาการกับ
ความรู้พื้นบ้านหรือความรู้ในท้องถิ่น เปรียบเสมือนกับแม่น้ำ 2 สายไหลบรรจบเป็นสายเดียวกัน
ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้ใหม่เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน (Co-Generative learning) ซึ่งค่อยๆขยับขยาย
จากการมีส่วนร่วมเพียงบางส่วนจนเป็นการมีส่วนร่วมเต็มรูปแบบระหว่างชาวบ้านกับนักวิจัย
และสร้างความรู้สึกร่วมกัน ผสมผสานทฤษฎีกับการปฏิบัติให้เกิดความรู้ใหม่

                ๒) รูปแบบของความรู้ที่ได้จากการวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นลักษณะปฏิสัมพันธ์
(Interactive) และ สหวิทยาการ (Interdisciplinary) ซึ่งเป็นวิถีชีวิตเป็นปริทัศน์ทางจิต
ที่รวมเอาความอยากรู้อยากเห็นเข้ากับการเปิดใจกว้าง การผจญภัยเข้ากับการค้นพบสิ่งใหม่เป็นความต้องการ
ที่จะเสริมความรู้แก่ตนเองโดยผ่านวิธีการใหม่ เป็นความมุ่งมั่นว่า
การค้นพบสิ่งใหม่หมายถึงการเปิดหนทางใหม่การเป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary)
ไม่ใช่จากการเรียนแต่จากการปฏิบัติเป็นผลของการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น
การวิจัยแบบมีส่วนร่วมไม่เป็นเพียงแค่สหวิทยาการเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้ข้ามสาขาวิชา (Trans-disciplinary)
คือเป็นความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจที่ข้ามพ้นเขตแดนของวิชาชีพ
ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเจาะจงออกไปสู่ความหลากหลายกว้างขวางเป็นการขยายปริทัศน์
จากเฉพาะสาขามากกว่า สหวิทยาการ(Interdisciplinary) ที่มีความเกี่ยวกันเพียง ๑-๒ สาขาเท่านั้น

              ๓) การวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นการลงมือกระทำให้ความเข้าใจออกมาเป็นรูปธรรมเป็น
ความจริง (Act to transform reality) ดังนั้นจึงเป็นการสะท้อนความคิด
ลงมือปฏิบัติและสะท้อนความคิดแล้วลงมือปฎิบัติ (Reflection-Action-Reflection Action)
จึงเท่ากับเป็นการทบทวนความคิดหรือสะท้อนความคิดของตนเองแล้วนำไปลงมือปฏิบัติ (Direct Act)
เป็นการชี้นำการปฏิบัติที่มักจะได้ยินในฐานะที่เป็นคำพูดของนักการเมือง
แต่ก็มีความหมายทางจิตวิทยาที่ทำให้บุคคลตระหนักถึงการที่ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตนหรือตนชี้นำตนเอง

              ๔) การลงมือปฏิบัติความรู้หรือใช้ความรู้ลงสู่การปฏิบัติ (Practical) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของการวิจัย
แบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการชูประเด็นปัญหาที่สำคัญและเป็นจริงของท้องถิ่น
ซึ่งเป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยวิธีการเรียนที่ไม่เน้นความรู้ที่เป็นทฤษฎี
แต่เน้นการวิเคราะห์วิจารณ์ การวิจัยแบบมีส่วนร่วมจึงเป็นองค์กรขั้นพื้นฐานระดับติดดิน (Grass Root) ที่ให้โอกาสคน
โดยใช้กระบวนการพัฒนาให้คนสามารถดำรงอยู่แลพัฒนาบทบาทของตนเองได้

             ๕) การวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการเบ็ดเสร็จ (Inclusive) ที่ใช้ทรัพยากรอย่างมี
ประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยการสร้างความรู้ วิธีการและความรู้ที่มีอยู่
โดยไม่พยายามแยกหรือจำกัดขอบเขตสิ่งใด ทุกความคิดเห็นจะได้รับการรับฟัง
และยอมรับเป็นการให้โอกาสทุกคนได้เรียนรู้ (Learning for all)

            ๖) กระบวนการวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นสิ่งที่มีตัวตน มีชีวิต มีรูปร่าง (Organic)
เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ไม่มีเวลาจำกัด เป็นรูปแบบที่ไม่สามารถกำหนดแผนการล่วงน้า
ไม่สามารถทำนายผลล่วงหน้าได้อย่างวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาตามที่นักวิจัย
เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชน และเลื่อนไหลไปตามความขึ้นลงของสถานการณ์โดยไม่มีทฤษฎีตายตัว
ไม่มีกฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์หรืออุดมการณ์เป็นกรอบกำหนด การไหลขึ้นลงตามกระแสนี้
ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Authentic Participation)
การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหยั่งรากลึกในแนวคิดของวัฒนธรรมประเพณีของคนทั่วไป

           ๗) การวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมการนำเสนอการเปลี่ยนจุดเน้นจากข้อสรุป และผลของการ
วิจัยมาเป็นการเน้นที่กระบวนการและบริบทแทน นักวิจัยภายนอกจำเป็นต้องมีความรู้
และความผูกพันต่อกลุ่มชาวบ้าน รวมทั้งความสนใจของเขาหาไม่แล้วจะไม่สามารถ
สร้างความเชื่อถือไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ในการวิจัยแบบมีส่วนร่วม

             ๘) สังคมนิเวศน์ (Ecological society) ชุมชน (Community) เป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดที่บุคคล
จะสามารถเชื่อมโยงอดีตปัจจุบัน และอนาคตของตนเองเข้าด้วยกันในการวางแผนที่จะควบคมเป้าหมายชีวิตของตน
โดยการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างสังคมนิเวศน์ที่คนในชุมชนมีการพึ่งพาอาศัยกัน
ล้มเลิกระบบเจ้านาย สร้างความผสมผสานกลมกลืนระหว่างมนุษยชาตกับธรรมชาติ
และมนุษย์กับมนุษย์ให้เกิดขึ้นใหม่ สังคมนิเวศจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ของสมาชิกสังคมในลักษณะของความเป็นประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกันเท่านั้น

             ๙) การวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นการมองอนาคต (Future oriented)
ดังนั้นนักวิจัยแบบมีส่วนร่วมต้องรู้วิธีสร้างฉากสำหรับการเรียนรู้ในชุมชน
การจัดการในลักษณะที่ไม่มีการจัดทำโปรแกรมสำเร็จรูปหรือตายตัว
การทำให้เกิดการช่วยตนเองของชุน การสร้างแนวทางสำหรับการกระทำแนวทางปฏิบัติที่ไม่เคยมีอยู่ก่อน
การทบทวนการปรับเปลี่ยนการปรับปรุงระบบที่เป็นสมาชิกอยู่การพัฒนาตัวอย่างโครงสร้าง
หรือภาพลักษณ์ที่จะปะติดประต่อให้เกิดอนาคตที่ต้องการเหล่านี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถที่จะฝันของบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา

            ๑๐) การวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นการมองโลกในแง่ดี (Optimistic) ตามหลักการพื้นฐาน
แนวคิดปลดปล่อยที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถที่จัดการเรื่องต่างๆในสังคมของเขาได้
ซึ่งการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเป็นวิธีการที่จะส่งเสริมศักยภาพด้านนี้ของบุคคล โดยเชื่อว่า
อิสรภาพของมนุษย์มีความสำคัญที่สุดและมนุษย์มีสิทธิและอำนาจที่จะแสวงหา
อิสรภาพแก่ตนเองด้วยการปลดปล่อยตนเอง (Self-Emancipation) และการปลดปล่อยที่แท้จริง
จะได้มาจากการที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ที่ประชาชนทุกคน
เป็นผู้กระทำ โดยอาศัยความรู้ที่ทุกคนสร้างขึ้นเอง

              นอกจากนี้ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
ในการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม(PAR) ต้องมีแนวคิดความเชื่อพื้นฐานดังนี้ (ณรงค์ศักดิ์ จักรกรณ์. 2549:24-26)

              ๑. คนมีศักยภาพทางสมองสูง สามารถคิด เรียนรู้และเผชิญปัญหาด้วยตนเอง
หรือร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผชิญปัญหาด้วยตนเอง หรือร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            ๒. คนหรือกลุ่มบุคคล สามารถเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้เองได้ถ้ามีแรงกระตุ้น และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
            ๓. การเรียนรู้เริ่มจากความศรัทธา ได้แก่ ความศรัทธาในตนเอง ในความรู้ ในบุคคลอื่น ในครู/วิทยากร
            ๔. รูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน การร่วมมือกันเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมการเรียนรู้
            ๕. การเรียนรู้และการเผชิญปัญหาจะมีประสิทธิภาพ ถ้าผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้และเผชิญปัญหาร่วมกัน
            ๖. บุคคลหรือกลุ่มบุคคล จะเรียนรู้หรือเผชิญปัญหาได้มีประสิทธิภาพ เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมและมีส่วนในการรับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน
            ๗. การพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ การคิดของบุคคลจะต้องสมบูรณ์
สมดุลสมองได้รับการพัฒนาทั้งซีกซ้ายและซีกขวา กล่าวคือสมองซักซ้ายจะต้องคิดแบบเป็นเหตุผล
ส่วนสมองซีกขวาเน้นการคิดเชิงสร้างสรรค์ คิดแบบจิตนาการ
              ๘. การพัฒนาสังคมจะรอดพ้นจากวิกฤติได้ต้องมุ่งเน้นการพัฒนา “คน”
แต่ละคนให้สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ร่วมและร่วมมือกันกับผู้อื่นในชุมชน/สังคม พัฒนาชุมชน/สังคมให้เข้มแข็ง
             ๙. วิกฤต ที่ปรากฏอยู่สามารถแก้ไขได้ต้องปฏิรูปวิธีคิด หรือกระบวนทรรศน์ของคนและสังคมใหม่
ให้บุคคลมีความเข้าใจตนเอง (self awareness)
มีความเข้าใจผู้อื่น (emphaty)
เข้าใจสังคม (social awareness)
มีความตระหนักสำนึกที่เข้าร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาชุมชน/สังคม
           ๑๐. การพัฒนาต้องคำนึงถึงรากฐานทางวัฒนธรรม ความเชื่อของแต่ละชุมชน
ซึ่งแตกต่างกันอย่างหลากหลายจัดโอกาสให้คนแต่ละชุมชนมีส่วนร่วมวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง
ร่วมกันเลือกทางเลือกในการแก้ปัญหาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเอง
           ๑๑. การพัฒนาจะเกิดความยั่งยืนได้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
โดยให้ประชาชนสามารถจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรของตนเอง (self organization) ร่วมกันคิด
ร่วมทำให้เกิดความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ และค่อยพัฒนาขยายให้ใหญ่
กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาสู่ความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรและชุมชน
          ๑๒. ผู้นำ ทั้งที่เป็นผู้นำตามธรรมชาติและผู้นำโดยตำแหน่งเป็นเสมือนแกน
หรือเสาหลักในการพัฒนาของแต่ละกลุ่มในแต่ละชุมชน
          ๑๓. กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางปัญญา
ให้แก่ผู้นำและคนในชุมชน ซึ่งเสมือนรากแก้วที่จะสร้างความเป็นประชาชนและความเข้มแข็งแก่ชุมชน
          ๑๔. การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลคิดเป็น เรียนรู้และ
สร้างสรรค์กระบวนการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้
         ๑๕. สังคมอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็ว การรวมกลุ่มเพื่อการร่วมมือและแข่งขัน
เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น บุคคลจำเป็นจะต้องเรียนรู้และมีกระบวนทรรศน์ใหม่
จึงจะสามารถปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม
อนาคตได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข
          ๑๖. สังคมไทยจะพ้นวิกฤตและพัฒนาสู่ความยั่งยืนได้จะต้องมีคนกล้าหาญทางจริยธรรม
มีจิตสาธารณะและเสียสละและทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น กระแสความดี ความงาม
ความถูกต้องเป็นประชาสังคมต้องเป็นกระแสหลักของสังคม
             การแยกศาสตร์ออกเป็นสาขาต่างๆมีจุดอ่อนในแง่ที่
            1) เมื่อศาสตร์ต่างๆแยกออกเป็นสาขาวิชาแล้ว
แต่ละสาขาต่างมุ่งให้ความสนใจเฉพาะศาสตร์ของตน
โดยไม่สนใจศาสตร์ในสาขาอื่นๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
ไม่สนใจศึกษาบริบทสังคม ฯลฯ โดยแต่ละสาขาก็วางตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ต้องการพัฒนาความก้าวหน้าในศาสตร์ของตน
และมีอคติที่กีดกันศาสตร์อื่นๆก่อให้เกิดกำแพงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศาสตร์ต่างๆ
           2) การแยกศาสตร์ออกเป็นสาขาต่างๆทำให้ศาสตร์แต่ละสาขา
ไม่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เป็นจริง
เช่นความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสมมติให้ตัวแปรทางการเมืองเป็นตังคงที่ (constant)
เพื่อจะได้ศึกษาเฉพาะตัวแปรทางเศรษฐกิจ
(เช่น demand and supply กำหนด price) ทั้งๆที่ในความเป็นจริง
จะพบว่าปัจจัยทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง “ราคา” อย่างใกล้ชิด
(นโยบายของรัฐในการประกันราคาสินค้า นโยบายเปิดเสรี
นโยบายส่งเสริมการลงทุน นโยบายภาษี การผูกขาดทางเศรษฐกิจ ฯลฯ)
เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำความเข้าใจปัญหาสังคมใดๆ
ก็ตามไม่สามารถเป็นไปได้โดยใช้ศาสตร์เฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งอย่างแน่นอน
           3) เมื่อผู้เชี่ยวชาญนำความรู้เฉพาะด้านของศาสตร์ในสาขาของตน
ไปใช้ในการวิจัยก็จะพบว่าผลการวิจัยไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสังคมได้จริงๆ
ด้วยเหตุที่เป็นข้อจำกัดของศาสตร์เฉพาะสาขานั่นเอง เช่น
นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
นักสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ
นักสังคมศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโสเภณี
ปัญหายาเสพติดปัญหานักเรียนยกพวกตีกันได้

              โดยสรุปหัวใจของการพัฒนาประเทศคือ การผลักดันการวิจัยให้ลงสู่ชุมชน
ท้องถิ่นของประเทศซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเจริญอย่างยั่งยืน
ชุมชนมีองค์ความรู้ใหม่ มีขวัญและกำลังใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน
การวิจัยปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นช่องทางหนึ่งในการที่จะเชื่อมโยงข้อมูล
และแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมได้ ช่องว่างหรือกำแพงขัดขวางนั้นก็หายไป
เมือเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้ว จึงจะเปลี่ยนวิธีปฏิบัติได้ (สุรจิต ชิรเวทย์. 2549)
การสร้างชุมชนให้มีพลังอำนาจขึ้นมาประชาชนต้องมีส่วนร่วมโดยเริ่ม
ตั้งแต่การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและประเมินสถานการณ์ร่วมกันกับนักวิชาการและนักวิจัย
ตลอดจนเลือกสรรวิธีการที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหากำหนดแผนการและแผนกลยุทธ์
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางการบูรณาการการศึกษากับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
 
การวิจัยข้ามพรมแดนและสหวิทยาการ
              ผศ.ดร.ธงชัย สมบูรณ์ ได้ให้แนวคิดการวิจัยข้ามพรมแดนและสหวิทยาการไว้ว่า
การสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ ณ ปัจจุบันกลายมาเป็นบริบทสำคัญอย่างยิ่งกับการอยูร่วมกันในสังคมโลก
ที่เชื่อว่าจะปกติสุขได้ถ้าทุกคนเข้าใจในความต่างสีของวัฒนธรรม
จะเห็นได้ว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาการค้นคว้าวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
มีการสร้างข้อความรู้แห่งการพัฒนามากขึ้น ( Research and Development) งานวิจัยประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือ
การวิจัยข้ามพรมแดนและสหวิทยาการ โดยมีปรากฎการณ์อีกประการหนึ่งการทำงานวิจัยในประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งมีทีมนักวิจัยไทยและนักวิจัยต่างชาติร่วมมือกัน และการวิจัยในลักษณะนี้จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะการได้แลกเปลี่ยนมุมมอง การร่วมวิจัย สิ่งนี้คงไม่ยังประโยชน์เฉพาะความรู้ใหม่
ที่จะถูกสถาปนาขึ้นในแวดวงวิชาการ แต่ยังผลโยงใยไปถึงคุณค่าแห่งวัฒนวิถี ธรรมเนียมปฏิบัติ
และความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นระหว่างผู้ที่ทำวิจัยในต่างแดนขณะปฏิบัติงาน
              การวิจัยแบบสหวิทยาการที่เกิดขึ้นครั้งแรก เห็นจะเป็นการวิจัยที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนภูมิพลในช่วงปี พ.ศ. 2502 – 2505 เป็นงานวิจัยที่นักวิจัยได้ร่วมมือกันทำ 7 สาขา
ถึงแม้ว่างานครั้งนี้จะได้นำเอาความเป็นลักษณะสหวิทยาการ (Multidisciplinary Research)
แต่ก็เป็นการศึกษาตาม “เรื่องราว” ในพื้นที่เขตเดียวกัน

             สหวิทยาการ : ฐานคติพื้นฐาน  สหวิทยาการมีความเชื่อว่า สาขาวิชาการต่าง ๆ
ที่สนใจเกี่ยวข้องกันบางสาขาวิชามีสมรรถนะขีดจำกัดด้านแนวคิดและวิธีวิทยา (approach / methodology)
บางครั้งในขณะที่สาขาที่ใกล้เคียงสามารถอธิบายคำตอบได้ ฉะนั้น ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ
หากพิจารณาและพินิจจากหลายมุมมองคงจะเข้าใจถึงแก่นแกนได้ดีกว่าเพียงลำพังจากมองแค่สาขาใดสาขาหนึ่ง
นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย (Cross – fertilization)
นักวิชาการกลุ่มที่ชื่นชอบการวิจัยแบบสหวิทยาการ เห็นว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของงานวิจัย
มิได้อยู่ที่หลักการ (principle) หรือวิธีวิทยา หากอยู่ที่การปฏิบัติ (action)
การประสานงาน (coordination) ระหว่างนักวิจัยสาขาต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ควรตระหนักกว่า
การประชุมวิจัยแบบสหวิทยาการบางครั้ง (จากประสบการณ์ของผู้เขียน) นักวิจัย
มักจะพูดในสิ่งตนเองรู้มากกว่าที่จะฟังคนอื่น จึงเสียโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งเกิดความรู้สึกถูกครอบงำจากบางสาขาวิชา (Disciplinary Dominance)

               ความจริงแห่งศาสตร์ ศาสตร์แต่ละศาสตร์มีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป
จึงทำให้เกิดความสงสัยต่อไปว่า จริงหรือ จำเป็นหรือ ที่จะนำศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านั้นมาผสมผสานกัน
ได้ตามหลักแห่งวิชาการ เพราะแต่ละวิชาจะมีองค์ประกอบทางด้านวิชาการ 2 พื้นที่ คือ
พื้นที่แก่นแกน (core area) และพื้นที่ชายขอบ (marginal area)
ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีก็จะเหมือนชุมชนเมือง ซึ่งล้อมรอบด้วยชุมชนชนบท
พื้นที่ชายรอบเหล่านั้น คือ สาขาย่อย (subfield) ที่แยกตัวออกจากพื้นที่แก่นแกน
 
            จะเห็นได้ว่าการวิจัยแบบข้ามพรมแดนและสหวิทยาการ
ส่วนมากจะเกิดขึ้นที่สาขาย่อยบริเวณชายขอบและแตกตัวเป็นสาขาย่อย ๆ อีก
แต่อย่างไรก็มีการทับซ้อนของแกนกลางของสาขาหลัก เพราะพื้นที่แกนกลางของแต่ละสาขาต่าง
ก็มีแนวทางและจุดมุ่งหมายแห่งศาสตร์ชัดเจน การหยิบยืมฐานคติแนวคิดและวิธีวิทยา
จากสาขาหลักเป็นสิ่งที่ไม่ยากและปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่การสร้างข้อความรู้ใหม่
จากสาขาย่อยค่อนข้างยาก ในงานเขียนของ Muzafer สิ่งที่ Muzafer Sherif และ Corolyn W. Sherif
เรียกว่า interdisciplinary กับสิ่งที่ Mattei Dogan และ Robert Pahre เรียกว่า cross-disciplinary
เป็นสิ่งที่คล้ายกันมาก การศึกษาหรือวิจัยในลักษณะดังกล่าว ปกติก็มักกระทำกันในสาขาวิชาที่มีความใกล้ชิดกัน
มีประเด็นสนใจเหลื่อมซ้อนกันในสายสังคมศาสตร์ หรือแม้แต่ในบางสาขาวิชาในสายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
เช่น รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา แต่การวิจัยร่วมกับสายวิชาที่แตกต่างกันมาก
เช่น มนุษยศาสตร์ (humanities) กับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน

              Dogan และ Pahre ได้อธิบายถึงขั้นตอนของการแตกสาขาย่อยอย่างเด่นชัด
แต่ที่ Muzafer และ Corolyn มิได้ให้ความสนใจกับกระบวนการดังกล่าวมากนัก
ดังนั้นจึงดูคล้ายกับว่า สิ่งที่ Muzafer และ Corolyn เรียกว่า Interdisciplinary
คือการซ้อนทับของพื้นที่แกนกลางนั้นเป็นไปได้ยาก หากแต่เป็นการเหลื่อมซ้อนของพื้นที่ชายขอบ
ความสัมพันธ์ของสาขาหลักในเรื่องเฉพาะบางเรื่อง
ซึ่งเกิดขึ้นตรงบริเวณชายขอบนั้น Dogan และ Phare เรียกว่า Cross-disciplinary

                           ผศ.ดร.ธงชัย สมบูรณ์ ถูก“ตีตรา” ให้เป็นนักวิจัยสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มีมุมมองว่า การวิจัยที่เป็นลักษณะ Interdisciplinary หรือ Cross-boundary สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ
การปรับแนวคิดฐานคติของศาสตร์ที่เรานำมาผสมผสานให้มีจุดร่วมกัน “ลดความต่างสร้างความเหมือน”
เปิดใจให้กว้างในการยอมรับว่า “ความจริงมิได้มีสิ่งเดียว” ก็จะทำให้ผู้วิจัยสามารถก้าวข้ามไปสู่
ความเป็น Transdisciplinary อย่างแน่นอน “การท่องเที่ยวไปในแดนไกล เสมือนการทะยานสู่โลกกว้าง
ที่จะได้ลิ้มชิมรสชาติแห่งวิมุติ เคียงคู่กับอิสรภาพ เสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามให้กับชีวิต
แต่กระนั้นความสุขที่หยิบยืมจากธรรมชาติอันเรียงรอบ
ตลอดจนการฝึกฝนตัวตนให้อยู่ในมาตรฐานแห่ง
ความเป็นมนุษย์ที่ สมบูรณ์ได้ด้วย ธรรมะ ย่อมวิเศษอีกเท่าตัว”
 
2. หลักการพื้นฐานของ Transdisciplinarity (TD) มีอะไรบ้าง ?
               กล่าวโดยสรุป การวิจัยแบบ TD เป็นรูปแบบที่มีความจำเป็นในสังคมปัจจุบัน
เนื่องจากปัญหาในปุจจุบันนี้เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนสูงและมีความไม่แน่นอนอย่างสูง
นอกจากนี้แต่ละปัญหายังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง
ก่อให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมาก อันนำไปสู่การถกเถียงถึงวิธีการมองปัญหา
สาเหตุของปัญหา และแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างกว้างขวาง

             การวิจัยแบบ TD ประกอบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
             1.การระบุปัญหาและกำหนดโครงสร้างเพื่อดึงผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วม (Problem Identification and Structuring)
เนื่องจากปัญหาปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาความยากจน
เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย
อันก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในประเด็นต่างๆ
การระบุปัญหาเป็นกระบวนการลดความซับซ้อนของปัญหา โดยการระบุผู้ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งจะนำมาเข้าร่วมในกระบวนการวิจัย สร้างสะพานเชื่อมระหว่างความรู้แบบวิทยาศาสตร์กับการปฏิบัติ
ปัญหาอาจถูกระบุขึ้นใหม่ๆโดยพิจารณาถึงปัญหาที่มีความสัมพันธ์กับวิธีคิดของชาวบ้านในโลกแห่งชีวิต
อาทิ การเชื่อมต่อเข้าด้วยกันระหว่างทัศนะในการมองที่แข็งทื่อในแต่ละทัศนะ
เพื่อก่อให้เกิดการมองแบบใหม่ๆในการรับรู้สิ่งต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดการคิดสร้างสรรค์
ในขั้นตอนนี้จัดวางโครงการวิจัยเอาไว้ภายใต้บริบท โดยการนำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มาใช้
พร้อมๆกับความรู้จากตัวอย่าง TD ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นจึงมองผ่านวิธีคิดของชาวบ้านในโลกแห่งชีวิต
ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความต้องการ ผลประโยชน์ เทคโนโลยี กฎ ระเบียบ การปฏิบัติ
และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งการวิจัยแบบ TD จะต้องให้คำอธิบายต่อประเด็นเหล่านั้นทั้งหมด

             2. การวิเคราะห์ปัญหา (Problem Analysis) โดยการแบ่งออกเป็นปัญหาย่อยๆ (sup-problems)
ซึ่งการตอบปัญหาย่อยหนึ่งๆจะต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับปัญหาย่อยอื่นๆ
และหลังจากนั้นจึงนำปัญหาย่อยทั้งหมดมาบูรณาการเข้าด้วยกัน
ในขั้นตอนนี้จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มาจากกลุ่มต่างๆ
ซึ่งบ่อยครั้งที่พวกเขาจะได้ปฏิสังสรรค์ต่อกันอย่างเปิดเผย ความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น
จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้น โดยแต่ละฝ่ายจะต้องมีทัศนะที่เปิดกว้าง
มีเหตุผล และมีทัศนคติที่ยืดหยุ่นเพื่อการปรับตัวเข้าหากัน
           3. การทำผลที่ได้รับให้ปรากฏเป็นจริง (Bringing results to fruition) เป็นกระบวนการ
ที่จะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ในการวิจับแบบ TD ถือว่าการทำให้ผลที่ได้รับปรากฏเป็นจริง
จะสามารถบรรลุได้ในรูปของการทดลองในโลกแห่งความเป็นจริง
เพื่อว่าจะได้มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมๆกับได้รับการเรียนรู้จากกระบวนการดังกล่าว

           สำหรับความรู้ที่ใช้ในกระบวนการวิจัยแบบ TD จำแนกออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
           1.ความรู้เกี่ยวกับระบบ (Systems Knowledge) เป็นการตั้งคำถามต่อกำเนิดและความเป็นไปได้

ที่จะพัฒนาปัญหาต่อไปอีกในอนาคต รวมทั้งการตีความปัญหาที่เกิดขึ้นจากมุมมองของชาวบ้านภายใต้โลกแห่งชีวิต
ความรู้เชิงระบบจะประสบกับความยุ่งยากในการจัดการกับสภาวะที่ไม่แน่นอน
ซึ่งความไม่แน่นอนของปัญหาจะก่อให้เกิดความท้าทาย และทำให้เกิดการโอนย้ายออก
จากวิธีคิดเชิงทฤษฎี/นามธรรมของนักวิชาการ เพื่อเดินทางเข้าสู่การเพ่งพินิจต่อกรณีรูปธรรมที่เกิดขึ้น
ภายใต้บริบทอันเฉพาะเจาะจง ซึ่งความซับซ้อนและไม่แน่นอนของปัญหา
ได้ก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกัน
อันนำไปสู่การอภิปรายถกเถียงและการเสนอทางออกที่แตกต่างกัน

            2. ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง (Target Knowledge)
เป็นการตั้งคำถามที่เชื่อมโยงไปสู่การระบุถึงความต้องการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายที่ต้องการ
และแนวทางปฏิบัติที่ดีกว่าเดิม ในขั้นตอนนี้จะประสบกับการท้าทายที่จะต้องให้ความกระจ่าง
ต่อตำแหน่งแห่งที่อันแตกต่างหลากหลาย และทีมงานจะต้องจัดลำดับความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ
ตามสถานะของมันที่จะเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาความรู้และการปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย

            3.ความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformation Knowledge)
เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับเครื่องมือทางเทคนิค กฎหมายเครื่องมือทางสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ
ที่สามารถนำมาใช้ได้ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการปฏิบัติที่เป็นอยู่เดิม
พร้อมๆกับนำเสนอวิธีการปฏิบัติที่พึงปรารถนาสำหรับเข้ามาแทนที่ ในขั้นตอนนี้จะต้องพิจารณาถึงเทคโนโลยี
ที่ใช้อยู่เดิม กฎ ระเบียบ วิธีการปฏิบัติ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดำรงอยู่
โดยจะต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้โครงสร้างต่างๆ ที่ดำรงอยู่เดิมไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง
พร้อมๆกับทำให้โครงสร้างเดิมมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ได้

            สามารถสรุปแนวคิด TD ออกมาให้อยู่ในรูปของ proposition จำนวน 15 ข้อดังนี้
           Proposition1:การวิจัยแบบ TD เป็นการวิจัยที่อาศัยความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ
ภายในชุมชนทางวิชาการและอาศัยการอภิปรายถกเถียงระหว่างนักวิจัยกับสังคมในวงกว้าง
ดังนั้น TD จึงสามารถข้ามพ้นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างสาขาวิชาของศาสตร์ต่างๆ
และระหว่างศาสตร์กับความรู้ในรูปของภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่ในสังคม
รวมทั้งการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับข้อเท็จจริง การปฏิบัติ และค่านิยมต่างๆระหว่างฝ่ายต่างๆ

           Proposition 2:TDเป็นรูปแบบการวิจัยที่เหมาะสมกับการค้นหาแนวทางการแก้ไข
ปัญหาที่วางอยู่บนฐานของสาสตร์ ภายในกรอบคิดของโลกชีวิตอันเป็นปัญหา
ที่มีความซับซ้อนมีความไม่แน่นอน มีการประเมินเชิงคุณค่าได้อย่างหลากหลายและเกี่ยวข้องกับประโยชน์
ได้เสียของหลายฝ่าย ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว
การวิจับแบบ TD สามารถเพิ่มพูนคุณภาพการยอมรับและการสร้างความยั่งยืน
ในการแก้ไขปัญหาได้โดยผ่านการเชื่อมโยงความรู้ทางศาสตร์กับความรู้ทางสังคมที่มีอยู่

          Proposition 3:การวิจัยแบบ TDจะต้องไม่กำหนดปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า
แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายๆฝ่าย (ทั้งนักวิชาการด้านต่างๆและชาวบ้าน)
เพื่อดำเนินการระบุปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงการระบุปัญหา
เข้ากับการค้นหาปัญหา และการผลักดันผลให้เกิดเป็นจริง โดยผ่านการวิจัยแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก
กลับไปกลับมาหลายครั้ง พร้อมๆกับกระบวนการเจรจาต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ

            Proposition 4:ในการวิจัยแบบ TDจะต้องไม่กำหนด “กฎ” หรือ “หลักการ”
เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญ และการนำความสามารถของศาสตร์แต่ละสาขารวมทั้งความรู้ของชาวพื้นเมือง
เอาไว้ล่วงหน้าแต่การมีส่วนร่วมจะดำเนินไปเองในระหว่างกระบวนการวิจัย
อันจะนำไปสู่การบูรณาการขององค์ความรู้จากหลายๆแหล่งเพื่อนำไปสู่การอธิบาย
การผลิต และการบูรณาการความรู้ที่ต้องการตามมา

              Proposition 5:ในการวิจัยแบบ TDจะถูกก่อรูปขึ้นภายใต้บริบทของปัญหารูปธรรม
และภายในที่ตั้งทางสังคมที่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ดังนั้นผลที่ได้รับจึงมีความถูกต้องและใช้ได้ในบริบทดังกล่าว
อย่างไรก็ตามหากมีการอธิบายถึงเงื่อนไขทางด้านบริบทของการเกิดปัญหาดังกล่าว
 จะทำให้สามารถสร้างเป็นโมเดลและแนวคิดทั่วไปเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาบริบทอื่นๆได้อีกด้วย

            Proposition 6:คุณภาพของการวิจัยแบบ TD ขึ้นอยู่กับแนวคิดการบูรณาการที่ถูกต้อง
ระหว่างความรู้จากหลายๆแหล่ง โดยความรู้แต่ละสาขาต่างต้องการการพัฒนาความชำนาญเฉพาะด้าน
ของตนเองการวิจัยแบบ TDจะไม่มีความหมายถ้าความรู้จากศาสตร์เฉพาะสาขาไม่สามารถ
สร้างคุณูปการให้เกิดขึ้นได้ดังนั้นในการกระตุ้นให้ศาสตร์แต่ละสาขาสามารถ
ใช้ศักยภาพของตนในการสร้างผลให้เกิดเป็นจริง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน
เพื่อประสานความเชื่อมโยงระหว่างความชำนาญเฉพาะด้าน
ของแต่ละศาสตร์ให้เข้ากับความเชี่ยวชาญตามแบบฉบับของ TD 

              Proposition 7:กระบวนการมีส่วนร่วมในการวิจัยแบบ TD ประกอบด้วยการปฏิสังสรรค์
และการต่อรองที่มีการจัดโครงสร้าง จัดขั้นตอน และการเลือกสรร โดยจะต้องมีการพิจารณาถึงความแตกต่างทางด้าน
ทรัพยากร เป้าหมาย และคุณค่าต่างๆ รวมทั้งการเป็นตัวแทนของกลุ่มทางสังคมที่ต่างกัน
(ทั้งผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์ในสาขาต่างๆ และชาวบ้านจากกลุ่มต่างๆ)
ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ทุกฝ่ายหันมายึดถือแนวคิด
ที่จะร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกัน อันจะเป็นสะพานเชื่อมโยงผู้ที่มีสถานะต่างกัน
ให้หันหน้ามาร่วมมือกันได้ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย
อันถือว่าเป็นประตูสำคัญที่จำนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างมีจุดหมาย

            Proposition 8:ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การบูรณาการ จำเป็นต้องใช้ร่วมกับวิธีการ “recursive method”
(หมายถึง กระบวนการวิจัยซ้ำๆกลับไปกลับมาหลายๆครั้ง) กล่าวคือในกระบวนการศึกษาแบบกลับไปกลับมา ซ้ำๆหลายๆครั้ง
โดยใช้การเชื่อมโยงวิธีการบูรณาการที่แตกต่างกัน
(อาทิ การพัฒนากรอบทฤษฎีร่วมกัน การประยุกต์ใช้โมเดล และผลิตผลรูปธรรมที่ได้รับร่วมกัน)
จะนำไปสู่ความสำเร็จของ TD ขณะเดียวกันการจัดการวิจัยแบบ TD จะต้องรักษาความสมดุล
ระหว่างความร่วมมือเพื่อเป้าหมายร่วม กับการรักษาประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละฝ่าย

              Proposition 9:การวิจัยแบบ TDจะต้องให้ความสนใจต่อความแตกต่างในคุณค่า
และผลประโยชน์อย่างจริงจัง ดังนั้นจะต้องโน้มน้าวให้แต่ละฝ่ายเน้น “การเรียนรู้ร่วมกัน”
ในกระบวนการร่วมมือและการเจรจาต่อรอง แต่ละฝ่ายไม่ควรดื้อดึงอยู่ในตำแหน่งของตน
แต่จะต้องยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวเข้าหากัน ทีมงานจะต้องจัดสรรเวลาให้เพียงพอ
สร้างความเป็นเจ้าของในปัญหาร่วมกัน และสร้างความสำนึกในคุณค่าร่วมกัน
โดยผ่านกระบวนการไตร่ตรองสะท้อนความคิด (reflexivity) ระหว่างนักวิจัยด้วยกันเอง
ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการต่อปัญหาความไม่แน่นอน
และจัดการกับเส้นแบ่งพรมแดนของความรู้ระหว่างสาขาได้

            Proposition 10:โครงการ TD จะต้องใช้ภาวการณ์นำที่เน้นรักษาความสมดุลระหว่าง
ช่วงเวลาที่อาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆอย่างเข้มข้น กับช่วงเวลาที่จะต้องใช้ความรู้จากศาสตร์เฉพาะสาขา
ในระดับลึกการสร้างสมดุลระหว่างช่วงเวลาทั้งสองอย่างเหมาะสม
จะช่วยผ่อนคลายภาระงานทางด้านการบริหารลงพร้อมๆกับจัดเตรียมช่องทางในการสื่อสารที่ชัดเจน
ช่องทางในการบูรณาการและการไตร่ตรองสะท้อนความคิด
รวมทั้งการเสริมสร้างให้เกิดการยอมรับในทุกๆฝ่าย
โดยเปิดกว้างให้แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ร่วมทีมได้โดยง่าย

            Proposition 11:การพัฒนาแนวทางการฝึกอบรมและการจัดการศึกษาแบบ TD
จะต้องเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับศาสตร์ในสาขาวิชาที่เป็นจุดกำเนิด
นอกจากนี้ยังต้องสร้างความสามารถในการสื่อสารและความร่วมมือ ผ่านการปฏิบัติ
โดยให้ความสำคัญกับการไตร่ตรองสะท้อนความคิดและการพัฒนาทักษะทางด้านทฤษฎี
และระเบียบวิธี ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันระหว่างศาสตร์แต่ละสาขาวิชาได้

            Proposition 12:การประเมินผลการวิจัยแบบ TD จะต้องข้ามพ้นวิธีการแบบเดิม
โดยหันมาเน้นการประเมินคุณสมบัติด้านการบูรณาการและการสร้างความร่วมมือ
ระหว่างศาสตร์ในสาขาวิชาต่างๆและระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย
การออกแบบงานวิจัยที่เน้นการศึกษาแบบกลับไปกลับมาหลายๆครั้ง
และเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการควบคุมคุณภาพภายใน นักวิจัยจะต้องสร้างความสมดุล
ระหว่างความสามารถเฉพาะด้าน กับการข้ามพ้นสาขาวิชาในกระบวนการสารเสวนาเชิงวิพากษ์
และสร้างสรรค์ (constructive and critical dialogue) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายในทีม TD

            Proposition 13:การวิจัยแบบ TD ที่ดีและเป็นรูปธรรม จะต้องเสริมด้วยการยกระดับพื้นฐาน
ของความเป็นศาสตร์และการยอมรับในศาสตร์ของมัน ซึ่งความพยายามดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ
สามารถข้ามพ้นกระบวนการวิจัยแบบ TD โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาและเสริมสร้าง
นวัตกรรมที่เกี่ยวกับทฤษฎี และระเบียบวิธี ซึ่งความท้าทายดังกล่าวนี้จะสามารถบรรลุผลได้
ก็ต่อเมื่อมีการขยายเครือข่ายของกลุ่มออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น
อันจะทำให้สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกันระหว่าง TD และศาสตร์เฉพาะสาขา
รวมทั้งการสร้างระบบการควบคุมคุณภาพที่เหมาะสม

           Proposition 14:ในการพัฒนาวิจัยแบบ TD การเสริมสร้างรากฐานให้กับความเป็นศาสตร์ของ TD
และการเสริมสร้างขีดความสามารถทางนวัตกรรมให้แก่ศาสตร์ที่มีส่วนร่วมต่างๆนั้น
จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งทางด้านสถาบันให้แก่ศาสตร์ TD และชุมชนวิชาการของมัน
ซึ่งสามารถทำได้โดยการผนวก TD เข้าสู่สถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้ว ทั้งการสร้างผลวิจัย
การเปิดหลักสูตร ขยายไปสู่การสร้างความเป็นวิชาชีพและการสร้างผู้เชี่ยวชาญทางด้าน TD
นอกจากนี้เครือข่ายของกลุ่มเพื่อน TD ก็ยังมีความสำคัญในการสนับสนุนให้ TD
กลายเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ภายในชุมชนทางวิชาการ

           Proposition 15:การพัฒนา TD จะต้องดำเนินการไปควบคู่กับ
การอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางภายในสังคม ถึงบทบาทของศาสตร์ที่มีต่อสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาสตร์ประสบกับการท้าทายจากปัญหาที่ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอน
ขณะเดียวกันชุมชนทางวิทยาศาสตร์ก็กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงครั้งแล้วครั้งเล่า
ถึงบทบาทของคุณค่าและผลประโยชน์อันแตกต่างหลากหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัย
 
3.Transdisciplinari ty (TD) จะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมของไทยได้อย่างไร ?

              สังคมไทยยังคงยกย่อง “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา” โดยยังไม่ยอมรับใน TD แต่ประการใด
ซึ่งปัญหาการยกย่อง/ให้สถานะพิเศษแก่ผู้เชี่ยวชาญ
ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่ไร้ทางออกแก่สังคมไทยดังต่อไปนี้:

              ประการแรก การดูถูกดูแคลนชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดยผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อว่าชาวบ้าน ซึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ(หรือเรียนน้อย)จะมีความรู้
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคาดหวังว่า ชาวบ้านจะเป็นได้แต่เพียงผู้รับการพัฒนา
โดยผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินการ

              ประการที่สอง ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่
เนื่องจากมองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ ใช้อารมณ์ ขาดเหตุผล
คำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะให้ชาวบ้าน
มีส่วนร่วมในนโยบาย หรือการดำเนินโครงการแต่ประการใด

              ประการที่สาม การศึกษาของผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถให้คำตอบ
สำหรับการแก้ไขปัญหาได้ เช่นการศึกษา EIA ของสิ่งแวดล้อมมักประสบปัญหา
ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในท้องถิ่น อันทำให้สังคมไทยในปัจจุบันไม่ให้การเชื่อถือต่อรายงาน EIA
แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาปัญหาเศรษฐกิจ นักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาปัญหาทางการเมือง
นักรัฐประศาสนศาสตร์ที่ศึกษาปัญหาระบบราชการ นักสังคมสงเคราะห์ที่ศึกษา
ปัญหายาเสพติด/นักเรียนยกพวกตีกัน ฯลฯ การศึกษาของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเหล่านี้
ประสบความล้มเหลวทั้งสิ้น ไม่สามารถนำผลการศึกษาไปแก้ไขปัญหาได้จริง

             ประการที่สี่ การท้าทายต่อความชอบธรรมของผู้เชี่ยวชาญ พร้อมๆกับการพัฒนา/เติบโตของขบวนการประชาสังคม
ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในการกำหนดโครงการขนาดใหญ่อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อน
อ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน การก่อสร้างท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ บ่อบำบัดน้ำเสีย โรงกำจัดขยะ
นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย
แต่ถูกกีดกันจากเจ้าของโครงการ แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 และฉบับปี 2550 ต่างบัญญัติให้ประชาชน
มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายที่มีอาจส่งผลกระทบ
แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานเจ้าของโครงการมักจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยผ่านการทำ “ประชาพิจารณ์”
เพียงหนึ่งวันและเป็นการจัดการมีส่วนร่วมแบบ “ปาหี่”
อันทำให้ประชาชนไม่พอใจ นำไปสู่การประท้วงอย่างรุนแรงและยืดเยื้อในหลายๆกรณี

           ปัจจุบันนี้ถือว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรจะเปิดรับ Transdisciplinarity (TD)
โดยนักวิชาการจะต้องยอมถ่อมตัวลงมาทำงานร่วมกับชาวบ้าน
เปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ยอมรับในความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
ใช้วิธีปรึกษาหารือร่วมกับชาวบ้านภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ
ไม่ใชศัพท์แสงทางวิชาการ ผ่อนคลาย
และเปิดกว้างต่อการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านอย่างจริงใจ

           ประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำ TD มาใช้ในสังคมไทย ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อ
ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในสาขาวิชา TD ที่จะเกิดขึ้นใหม่แล้ว แต่ยังมีประโยชน์อื่นๆอีกกล่าวคือ

            1.เป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นับวันจะสลายลงตามลำดับให้กลับมา
เป็นความรู้ที่เข้มแข็งและผสมกับศาสตร์ในสถาบัน
ซึ่งจะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความรู้ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

           2. กระบานการวิจัยแบบ TD ซึ่งนำชาวบ้านมาเข้าร่วมในการวิจัย
จะทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นจนเกิดความมั่นใจในตัวเอง
และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกจากเดิมที่มีลักษณะ passive object ไปสู่ active subject
ชาวบ้านจะมีความเชื่อมั่นว่าสามารถสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองได้

          3.กระบานการวิจัยแบบ TDทำให้ชาวบ้านไม่ตกเป็นเหยื่อโครงการพัฒนาของรัฐ
เหมือนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากชาวบ้านที่สูญเสียประโยชน์จากโครงการ
สามารถสื่อสารผ่านการพูดในเวทีสารเสวนาต่างๆเพื่อให้เจ้าของโครงการรับทราบ
และจะต้องหันมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดแก่ชาวบ้านอย่างเหมาะสม

          4. กระบานการวิจัยแบบ TD จะลดความขัดแย้งทางสังคมลง เนื่องจากชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวิจัย
จะทำให้ผลการวิจัยสามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของชาวบ้านได้
นอกจากนี้ยังทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ
ก่อเกิดความรักและหวงแหนโครงการ อันจะทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง

          5. การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน จะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้
เนื่องจากจะมีชาวบ้านและสื่อมวลชนเข้าไปร่วมงานด้วย อันนำไปสู่การถ่วงดุลอำนาจ
และการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรม การทุจริต/คอรัปชั่นจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นโดยง่าย

          การศึกษา  Transdisciplinarityทำให้เข้าใจได้ว่าการพัฒนาประเทศ
ผ่านการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากในปัจจุบันนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมหาศาล
และนำไปสู่หนทางอันตีบตันในการพัฒนานั้น เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทย
ยังคงเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน/เฉพาะสาขาวิชามากเกินไป
ให้การยกย่องและให้อภิสิทธิ์แก่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากเกินไป
ในขณะที่แต่ละสาขาวิชาต่างทำตัวคับแคบ เต็มไปด้วยอคติ เข้าข้างสาขาตัวเอง
กีดกันสาขาอื่น อันทำให้การประสานระหว่างสาขาใหม่มาสามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย
ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ได้นำไปสู่การไม่ยอมรับ Transdisciplinarity
 
           แต่น่าเสียดายที่ การวิจัยโดยศาสตร์ที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา นั้น
ไม่สามารถให้คำตอบที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันได้
นอกจากนี้ยังนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไร้ทางออก
 
แหล่งอ้างอิง
สุจิตรา สามัคคึธรรม มหาวิทยาลัยเกริก  การศึกษาเชิงบูรณาการแนว Transdisciplinarity (TD)
ผศ.ดร.ธงชัย สมบูรณ์ การวิจัยข้ามพรมแดนและสหวิทยาการ Cross-boundary Interdisciplinary Research
ดร.ขวัญมิ่ง คำประเสริฐ  การบูรณาการงานวิจัย

 ping!

Cr: http://oknation.nationtv.tv/blog/krerkkkiat/2013/08/28/entry-1
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: