พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง พร้อมด้วย นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้สนธิกำลังกับ พล.ต.ต.สมชาย ทองศรี ผบก.ปคบ. และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุมครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม พ.ต.อ.วัฒนา แก้วดวงเทียน รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.กุณฑบ ฉลาดแพทย์ ผกก.1 บก.ปคบ. พ.ต.อ.ประเสริฐ วิจิตรทัศนา ผกก.2 บก.ปคบ. และนายสังวร เสนาโลหิต ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร พร้อมนักวิชาการเกษตร ร่วมกันนำกำลังตรวจค้นโรงงานผลิตปุ๋ยไม่ได้มาตรฐานแบบปูพรม จำนวน 5 จุดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง เปิดเผยภายหลังว่า การตรวจค้นโรงงานผลิตปุ๋ยไม่ได้มาตรฐานในครั้งนี้ ได้มีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทั้งหมด 5 จุดด้วยกัน ทั้งใน จ.นครปฐม นครราชสีมา และกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ..
จุดที่ 1 สถานที่ผลิต เลขที่ 52/1 ม.7 ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยพบเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยน้ำสูตรนาโน ตรากอแก้วนาโน มีนายสุเทพ ตันจริยภรณ์ เป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ จากการเข้าตรวจสอบพบเป็นสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี โดยมีนายชุมพล ตันจริยภรณ์ รับเป็นผู้ดูแล ทางเจ้าหน้าที่จึงได้อายัดปุ๋ยสูตรน้ำที่ระบุข้างขวดว่า เป็นน้ำอินทรีย์สกัด จำนวน 2,864 ขวด บรรจุขนาดขวดละ 1 ลิตร เพื่อนำไปตรวจสอบคุณสมบัติ
จุดที่ 2 สถานที่ผลิต เลขที่ 2/2 ม.1 ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ได้ของกลางเป็นปุ๋ยสูตรเม็ด บรรจุแคปซูล ตราซุปเปอร์กรีน จำนวนมาก จึงได้นำอายัดไว้เพื่อตรวจสอบ
จุดที่ 3 สถานที่ขายปุ๋ยแคปซูล ตราอีเขียวนาโน บริษัท เบส วีแคนดู อินเตอร์ไพร์ส จำกัด เลขที่ 412/12 โครงการเอชทูโอ แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพฯ จุดที่ 4 สถานที่จำหน่ายเอ็นไซม์นาโน จำกัด เลขที่ 153/31-33 ซอยนาทอง 7 อาคารอมรพันธ์ 2 ชั้น 12 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ และจุดที่ 5 สถานที่จำหน่ายปุ๋ยแคปซูลอีเขียวนาโน เลขที่ 222/151 ถนนสามวา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ.กล่าวว่า การจับกุมดังกล่าวเนื่องจากได้มีเกษตรกรร้องเรียนเข้ามาว่า ปุ๋ยทั้ง 2 ยี่ห้อมีการโฆษณาเกินจริง และมีราคาสูง โดยอ้างว่าเป็นสารสกัดอินทรีย์ เช่น สูตรน้ำจะใช้ 1 ขวดต่อข้าว 25 ไร่ และได้ผลดีเกินคาด ส่วนสูตรเม็ดถ้าใช้ร่วมกับสารอาหาร หรือปุ๋ยสูตรอื่นๆ ให้ลดปริมาณลงเหลือ 1 ใน 3
ซึ่ง 1 แคปซูลจะสามารถนำไปฉีดได้ 2-5 ไร่
“แต่ที่น่าตกใจคือ เมื่อสอบถามไปยังผู้ผลิตที่จังหวัดนครปฐมนั้น ผู้ผลิตได้บอกว่ารับจ้างผลิตน้ำสกัดสารอินทรีย์ให้แก่ลูกค้าจากกรุงเทพฯ ในราคาขาย
ต้นทุนขวดละ 60 บาท และมีพ่อค้าคนกลางมารับไปขายต่อในราคา 110 บาท ซึ่งเมื่อมาจำหน่ายให้แก่เกษตรผ่านสื่อต่างๆ จะเพิ่มมูลค่าถึง 2,500 บาทต่อหนึ่งขวด ซึ่งถือว่าเป็นการโฆษณาเกินจริง และไม่ได้มาตรฐานของการเป็นปุ๋ยสำหรับการเกษตร โดยต่อไปจะมีการขยายผลติดตาม
จับกุมให้หมดไปจากท้องตลาดซึ่งมี 2 ชนิดที่พบตอนนี้คือ อีเขียวนาโน และก่อแก้วนาโน ซึ่งรวมของที่ทำการอายัดไว้ทั้ง 5 แห่งมีมูลค่าสูงถึง 27 ล้านบาท”
ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานผลิตจะมีการอ้างข้อกำหนดในการผลิตปุ๋ย ในค่า NPK ซึ่งระบุคุณสมบัติของการผลิตปุ๋ยไว้ที่ 2.0 และ 1.8-1.9 เพื่อเลี่ยงในการจดทะเบียนขึ้นเป็นปุ๋ยเพื่อให้ง่ายต่อการทำการตลาด และโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งค่าต่างๆ เริ่มมีการทำให้ใกล้เคียงกับปุ๋ยมากขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน จึงเข้าข่ายจะหลอกลวงเกษตรกรได้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งผลการกระทำความผิดไว้ 3 ฐานความผิดคือ 1.ก่อให้เกิดการเข้าใจผิดในแหล่งดำเนิน สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าตนเองจะเป็นเจ้าของหรือผู้อื่นโฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รูหรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
2.ผลิตหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ต้องขึนทะเบียน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตามมาตรา 30(5), 32 พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 และ 3.ผลิตหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามาตรา 12 , 57 พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังตรวจสอบจุดผลิต และจำหน่ายปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน ทางเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวผู้ที่เป็นผู้ดูแล และผู้ประกอบการในการผลิต และจำหน่ายหลายรายเข้าดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมถึงอายัดสิ่งของทั้งหมดเพื่อดำเนินคดีทันทีในวันเดียวกันนี้
จาก
http://www.1009seo.com/