แยกพระ-แยกโจร 'คนผ้าเหลือง'
"พุทธศาสนา" เปรียบดั่ง "แก้วรัตนะ" มีชิ้นเดียวใน ๓ โลก ธุลี-เครื่องทำให้เศร้าหมอง เป็นเพียงสิ่งจรมา
กรณีธัมมชโย ก็ดี กรณีมหาเถรสมาคมวินิจฉัยว่า ธัมมชโยโกงแล้วคืนถือว่าไม่ผิด ไม่เป็นปาราชิก ก็ดี
นั่น....เหมือนฝุ่นธุลี ปลิวมาแปดเปื้อน
เหมือนแมลงวัน สัตว์ที่กินอาจมเป็นวัตร บินมาเกาะแก้วรัตนะ!
เราทั้งหลายในความเป็นพุทธบริษัทที่ "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสฝากแก้วรัตนะดวงนี้ไว้ให้ช่วยกันรักษาเป็นสมบัติมนุษยชาติ
ก็ควรใช้ผ้าสะอาด เช็ด-ปัด ฝุ่นธุลี มีสติ ทะนุถนอม ด้วยมือเบา ระวังมิให้พลาดพลั้ง กระทบกระทั่งถึง "แก้วรัตนะ" กระเทือน
การขับไล่สัตว์-ด้วง-หนอน และ "แมลงวันหัวเหลือง-หัวโล้น" อันมีมูตรคูถและกองขยะเน่าเป็นที่เกาะอยู่กิน ก็เช่นกัน
เราอย่าใช้ความรัก ความหวงแหนในแก้วรัตนะ ทำหน้าที่พุทธบริษัทแบบหุนหันพลันแล่น คว้ามีด คว้าไม้ คว้าอะไรได้ ก็ด่าขรม ฟาดเปรี้ยงปร้าง โครมคราม
แบบนั้น...สัตว์ร้าย ด้วง หนอน แมลงวันหัวเหลือง-หัวโล้น.......
นอกจาก "ไม่ไป และ ไม่ตาย"!
แต่ "แก้วรัตนะ" จะแตกกระจายไปก่อน จากการทำหน้าที่ผลีผลาม ขาดสติ ขาดหลักการและขาดความรับผิดชอบเท่าที่ควร
สรุป คือ อย่าพูด-โพสต์ ข้อความและภาพ ด้วยข้อความและคำหยาบช้า "ด่าพระ"!
เพราะ "พระ" ในองค์รวมแห่งความเป็นพุทธบุตรแท้จริง พระคุณเจ้าจะไม่ทำอะไรเป็นเหตุให้ต้องใช้ถ้อยคำและความรู้สึกด้านลบตอบสนองเช่นนั้น
แต่ที่ทำเป็นเหตุให้ไม่ชอบใจ โกรธ ต้องด่ากันอยู่เวลานี้ นั่นเป็นพวกอลัชชี-เดียรถีย์ เป็นตาลยอดด้วน เป็นเถนเฒ่าเอาพรรษา อาศัยผ้าธงชัยพระพุทธศาสนาคลุม
ซึ่งเป็นธรรมดาในแต่ละสังคม-องค์กร-ศาสนา ซึ่งประกอบด้วยชนหมู่มาก มีที่มาหยาบ-ละเอียดต่างกัน ไหลรวมเข้ามาปะปนบ้างเป็นธรรมดา
ดังนั้น แยกส่วนด้วยจิตใคร่ครวญให้ดี ค่อยทำไปด้วย "แยกแยะ" วัด-พระ-ผ้าเหลือง-ศาสนา-องค์ธรรม-อลัชชี-โจรแฝง และแมลงวันหัวเหลือง-หัวโล้น บนความรับผิดชอบที่ถูก-ที่ควรเถิด
แม้สมัยพุทธกาล ก็มี-ก็เป็น เช่นนี้!
ควรต้องเข้าใจ ศีลของพระ ๒๒๗ ข้อ มิใช่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเอง หากแต่บัญญัติแต่ละข้อในขณะพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั่นแหละ
คือมีคนเข้ามาบวช แล้วทำไม่เหมาะ-ไม่งาม ชาวบ้านต่างตำหนิ ติเตียน ว่าเป็นการกระทำไม่เหมาะภาวะสงฆ์สาวก
เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงเรียกประชุมสงฆ์ และตรัสไต่ถามเรื่องราวจากพระที่ก่อเหตุ
ได้ความแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นข้อห้าม เรียกว่า "อาบัติ" พระรูปใดทำอีกต้องถูกปรับอาบัติ ตามความหนัก-เบา
ส่วนพระรูปที่เป็นต้นเหตุ ถือเป็น "ต้นบัญญัติ" นับจากบัญญัติเป็นข้อห้ามแล้ว ทำอีกต้องอาบัติทันที
ในเว็บ "มูลนิธิศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา" มีผู้ถาม-ตอบไว้สรุปย่อๆ ดังนี้
"อาบัติ" คือ การตกไป ตกไปจากความดี
เป็นโทษ ที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อ (พระวินัยบัญญัติ) ที่พระพุทธเจ้าตรัสห้าม
กล่าวโดยชื่อ อาบัติมี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก/สังฆาทิเสส/ถุลลัจจัย/ปาจิตตีย์/ปาฏิเทสนียะ/ทุกกฏ/ทุพภาษิต
กล่าวโดย โทษมี ๓ สถาน คือ
๑.อาบัติอย่างหนัก ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น ขาดจากความเป็นภิกษุ อันหมายถึง "ปาราชิก" ซึ่งเป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เรียกว่า อเตกิจฉา
๒.อาบัติอย่างกลาง ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องอยู่กรรม (ปริวาส หรือมานัตโดยประพฤติวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตน อันหมายถึง สังฆาทิเสส)
๓.อาบัติอย่างเบา ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น ต้องประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน แล้วจึงจะพ้นโทษนั้นได้ ได้แก่ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต
อาบัติอย่างกลางและอย่างเบานั้น เป็นอาบัติที่ยังแก้ไขได้ เรียกว่า สเตกิจฉา
ความหมายของอาบัติแต่ละอย่าง
(๑) อาบัติปาราชิก ผู้พ่ายแพ้ ขาดจากความเป็นภิกษุ
(๒) อาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ
(๓) อาบัติถุลลัจจัย อาบัติที่เกิดจากการกระทำที่หยาบคาย
(๔) อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติที่ทำให้ความดีงามตกไป
(๕) อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติที่ต้องแสดงคืนกับบุคคลที่ทำให้ต้องอาบัติ
(๖) อาบัติทุกกฏ อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม
(๗) อาบัติทุพภาษิต อาบัติที่เกิดจากการพูดไม่ดีไม่เหมาะสม
ครับ...เพียงอยากเสริมเป็นความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ เบื้องต้น เพราะหมู่นี้ เรื่องพระ-เรื่องศาสนาจะฮิต เพื่อการพูด/ฟัง/โพสต์ ที่เหมาะสม ศึกษาไว้หน่อยก็ดี
กรณีธัมมชโยและมหาเถรสมาคม ไม่ถือเป็น "ต้นบัญญัติ" เพราะสิ่งที่ทำ เคยมีพระนอกรีต-นอกรอยทำมาก่อน แล้วพระพุทธองค์ทรงบัญญัติเป็นข้อไว้กว่า ๒๕๕๘ ปีมาแล้ว
ห้ามทำ ถ้าทำเป็นอาบัติทันที!
ฉะนั้น ธัมมชโยยักยอกทรัพย์เป็นของตน แม้คืน ก็ต้องอาบัติขั้นครุกาบัติ คือร้ายแรง ขาดจากความเป็นพระสถานเดียว
แต่การที่มหาเถร กลับช่วยกันปกปิด-บิดเบือนอาบัติ โดยอ้างว่า "เรื่องนานกว่า ๑๗ ปีแล้ว ยกประโยชน์ให้แมลงวันหัวเหลือง-หัวโล้น เพื่อ 'ความปรองดอง' ไปเถอะ"!
นั่น...ไม่มีในพุทธบัญญัติ ตั้งกว่า ๒ พันปี ไม่เคยมีใครอัปรีย์อ้างปรองดองลบพระวินัย ก็เพิ่งมี "มหาเถรกลายธรรม" ยุคนี้แหละ ทึกทัก ๑๗ ปี ปรองดอง ล้างอาบัติปาราชิก!
ก็ขอกราบเรียนพระคุณเจ้า...........
มหาเถรองค์ใด ช่วยปกปิดอาบัติทั้งอาบัติตัวเอง และอาบัติผู้อื่น เช่น ธัมมชโย รวมทั้งตัดสินอธิกรณ์แบบ "บิดเบือนพระวินัย" อันพระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
ล้วนผิดศีล ต้องอาบัติ คือเป็นผู้ตกไปจากความดี ความข้อนี้ พระคุณเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลาย ทราบ "ด้วยจิตละอาย" รู้อยู่...แต่ก็ยังทำ ใช่ไหมขอรับ?
วันนี้ ขึ้น ๖ ค่ำ อีก ๙ วัน ก็จะเป็นวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ!
ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีนี้ สำคัญยิ่ง เพราะตรงกับวันที่ ๔ มีนาคม เป็น "วันมาฆบูชา"
วันมาฆบูชา คือวันที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันเป็น "หัวใจพระพุทธศาสนา" คือ "โอวาทปาติโมกข์" ต่อพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น เป็นครั้งแรก
พระคุณเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลาย อันมีคณะกรรมการ "มหาเถรสมาคม" ปกครอง โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ทำหน้าที่สังฆราชะ
พระคุณเจ้าทราบใช่ไหมขอรับ....?
ว่าการทำให้ "สังฆกรรมวิบัติ" ด้วยเจตนา เป็นอกุศลกรรม เท่ากับปิดประตูสวรรค์-นิพพาน และเปิดประตูนรกรับ โดยเฉพาะกับ "พระผู้เป็นเสียเอง"!
การลงพระอุโบสถ ร่วมฟังพระปาติโมกข์ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ นั่นคือสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้มีศีลวิบัติเข้าร่วม
และคำว่าศีลวิบัติ ไม่เพียงอลัชชีอย่างธัมมชโยเท่านั้น พระผู้ปกปิดอาบัติ ต่อให้สูงชั้นอภิมหาสมเด็จ ถ้าไม่แสดงอาบัติตามขั้นตอนความผิด หนัก-กลาง-เบา ให้ถูกต้อง-ครบถ้วนก่อน
ถ้าร่วมสังฆกรรม ก็จะทำให้สังฆกรรมนั้นวิบัติ!
ดังนั้น วันพระ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้......!
พระคุณเจ้าผู้ทรงสมณศักดิ์สูงในฐานะ "มหาเถรสมาคม" ผู้มีศีลบริสุทธิ์-บริบูรณ์ครบถ้วนดีแล้วทั้งหลาย
จงสดับโอวาทปาติโมกข์ สำเหนียกด้วยจิตธรรมเถิด..........
แล้วน้อมโอวาทปาติโมกข์ ข้อ ๒ อันเป็นบัญญัติตามคำสั่งของ "สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า" เข้ามาเปรียบเทียบ-ใคร่ครวญกับองค์พฤติกรรมความผิดของธัมมชโย ที่พระคุณเจ้าตัดสินไปว่า "ไม่ผิด" นั้น
ว่า............
พระพุทธองค์ "ตรัสผิด" ไปจากที่มหาเถรกลายธรรม ทำ เพื่อธัมมชโย
หรือ....
มหาเถรกลายธรรม "ทำผิด" ไปจากคำที่พระพุทธองค์ตรัส เพื่อธัมมชโย?
โย ปน ภิกฺขุ คามา วา อรญฺญา วา อทินฺนํ เถยฺยสงฺขาตํ อาทิเยยฺย, ยถารูเป อทินฺนาทาเน ราชาโน โจรํ คเหตฺวา หเนยฺยุ วา พนฺเธยฺยํ วา ปพฺพาเชยฺยํ วา, โจโรสิ พาโลสิ มูโฬฺหสิ เถโนสีติ ตถารูปํ ภิกฺขุ อทินฺนํ อาทิยมาโน, อยมฺปิ ปาราชิโก โหติ อสํวาโส.
คำด่า ต่อให้ โซ่ หวาย ไม่ทำให้ "ผู้มีใจฝึกแล้วประเสริฐ" ระลึกสำนึกรู้ในผิด-ถูก-ชั่ว-ดี ได้
กับความเป็น "ภิกษุภาวะ" ส่วนมาก จะมีพื้นฐานมาจากการเป็นผู้มีใจฝึกแล้วประเสริฐ
ฉะนั้น การปฏิบัติจากพุทธบริษัท ด้วยหันหลังให้ เป็นการ "คว่ำบาตร" พระรูปนั้น หมู่คณะนั้น และคำเตือน-คำตำหนิ อันประกอบด้วยธรรม
จะมีน้ำหนัก ยิ่งกว่า โซ่-แส้-หวาย และคำด่าทอใดๆ
เพราะคำประกอบด้วยธรรม จะเฆี่ยนตี-โบย "จิตสำนึก" สมณะนั้นๆ ให้ตกนรกหมกไหม้ "ตายทั้งเป็น" ซึ่งมันเป็นความตาย ลึกและทรมานกว่า "นรกขุมที่ ๘" สำหรับพระที่ "ยิ่งยศ-ยิ่งใหญ่"
แต่...."เหยียบย่ำ-ทำลาย" พุทธธรรมจากโอษฐ์พุทธองค์!
Cr. เปลว สีเงิน
http://www.thaipost.net/