ชาวเน็ตหวั่นใจ พ.ร.บ.ไซเบอร์ ฉบับใหม่ เข้าถึงข้อมูลได้ทันที ดักจับทั้งบัญชี-รหัสผ่าน ยึดอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยที่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังคงต้องผ่านการกลั่นกรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลเองก็ไม่คิดจะล้วงข้อมูลประชาชน
นอกจากนี้ พ.ร.บ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จะเน้นไปที่การพัฒนาซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ระบบการให้บริการ การขาย แต่ไม่มีการเข้าไปยุ่งเรื่องความเป็นส่วนตัว พ.ร.บ.นี้ มีขึ้นมาเพื่อปิดกั้นสิ่งไม่ดี เพราะในบางครั้งเมื่อมีการจาบจ้วงสถาบันจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ทางรัฐบาลก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่ดูแล และรัฐบาลก็เข้าไปปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ได้ เนื่องจากต่างชาติไม่มีกฎหมายแบบไทย ดังนั้น พ.ร.บ. นี้ จึงมีออกมาเพื่อให้บ้านเมืองสงบปลอดภัย เพราะบ้านเรากับบ้านเขาไม่เหมือนกัน ซึ่งตอนนี้จะมีการยกร่างฯ ก่อน และต้องผ่านกรรมาธิการอีก 3 ขั้นตอน เชื่อว่า พ.ร.บ.นี้ จะยังไม่มีผลบังคับใช้ง่าย ๆ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลต้องการที่จะผลักดันออกกฎหมายควบคุมการใช้คอมพิวเตอร์ ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยที่ นายอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิตอล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 13 ฉบับ ดูจะมีความมั่นคงมากกว่า ทั้งยังไม่กระทบเรื่องทรัพยากรพื้นที่การสื่อสารที่ถูกบีบให้แคบลง จากเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2540 รัฐจะดูแลคลื่นทั้งหมด และจะแจกจ่ายคลื่นไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์และกองทัพ แต่หลังจากปี พ.ศ. 2540 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ทำให้เกิดการกระจายคลื่นสู่เอกชนมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก แต่หากใช้ พ.ร.บ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ประเทศไทยก็จะกลับสู่การจัดสรรคลื่นและทรัพยากรเหมือนช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540
นอกจากนี้ ในขณะที่พื้นที่การสื่อสารแคบลง กลับมีการควบคุมมากขึ้น ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ไซเบอร์ ซึ่งจะมีการเข้าถึงข้อมูลของเอกชน ประชาชน โดยไม่มีการคานอำนาจตรวจสอบ เราไม่ปฏิเสธว่า รัฐมีอำนาจในการจัดการอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่อำนาจที่มากเกินไป อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จึงควรมีกลไกมาช่วยคานอำนาจตรงจุดนี้ทั้งก่อนและหลังการดำเนินการ เช่น การขอคำสั่งศาลหากต้องกระทำการที่เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือควรมีหน่วยงานร้องเรียนและเยียวยา แต่กลับไม่พบกฎหมายชุดนี้
นอกจากนี้ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแห่งชาติ ได้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนจากเดิมไปมาก อาจทำให้กลไกไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจเอาไว้ จากร่างเดิมที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้เสนอ สนช. ไปนั้น กำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแห่งชาติ มาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ผอ.สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) และผู้แทนจากเอกชน แต่ร่างใหม่ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพกลับถูกตัดออกหมด และเพิ่มเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เข้ามาแทนที่ อีกทั้งร่างฯ เดิมนั้น มีสายการบังคับบัญชาชัดเจน แต่ร่างฯ ใหม่นี้ ถูกกำกับดูแลโดยสำนักงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่อยู่ภายใต้สายงานบังคับบัญชาเดียวกัน จึงกังวลว่า จะมีการตรวจสอบที่โปร่งใสหรือไม่
อย่างไรก็ดีภายในสัปดาห์หน้า เครือข่ายพลเมืองเน็ต จะจับมือกับ 5 องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมความเห็นเพิ่มเติม ยื่นคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ เพื่อเสนอให้กับ สปช. สายปฏิรูปสื่อ แต่จะไม่ส่งข้อเสนอแนะหรือเรียกร้องให้ สปช. ทำอะไรบ้าง เพราะเห็นว่าที่มาของ สปช. ไม่ถูกต้องเท่าไร อย่างไรก็ตาม ยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดูแลกฎหมายในภาพรวม อาจเข้าไปช่วยดูว่ากฎหมายทั้ง 10 ฉบับนี้ ขัดกับหลักกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่
นอกจากนี้ สโป๊กดาร์กทีวี รายการออนไลน์ชื่อดัง ยังได้เผยแพร่คลิปในรายการ เจาะข่าวตื้น เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนำเสนอเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเสนอว่า ครม. ได้อนุมัติ ร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับความปลอดภัยและการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล จำนวน 8 ฉบับ และมีมาตราที่สำคัญ เช่น มาตราที่ 10 ที่ขยายอำนาจในการเข้าถึงบัญชี คอมพิวเตอร์ และระบบ โดยไม่ต้องขออำนาจศาล สามารถทำได้เลย อีกทั้งเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ดักจับข้อมูล ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ อุปกรณ์ ได้ทันทีโดยไม่มีหมายศาล หรือหากมีการไลน์คุยกัน เพื่อนัดกันทำสิ่งผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็สามารถยึดโทรศัพท์มาตรวจสอบได้ทันที
ในวันเดียวกัน ยังมีรายงานระบุว่า ขณะนี้มีการขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในไทย ในการเอาอุปกรณ์ไปติดตั้งที่ดาต้าเซ็นเตอร์ มีกำหนดติดตั้งเสร็จในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อดักจับทราฟฟิกผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก และจะสามารถดูชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านได้ ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคน อาจจะเจอเหตุการณ์ให้ระบุยืนยันตัวตน และมีการแจ้งจากเฟซบุ๊กว่า มีการเข้าใช้งานจากแหล่งที่ไม่ปลอดภัย เป็นลักษณะของการถูกเข้าถึงข้อมูลในเฟซบุ๊ก
http://www.1009seo.com/