ข้าวมันไก่ อาจปนเปื้อนอหิวาต์เทียม ถ้าเลือดไก่ไม่สุกอหิวาต์เทียม คือ เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ในอาหารทะเล
แต่ล่าสุดกลับพบการปนเปื้อนในเลือดไก่ ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับข้าวมันไก่ ถือเป็นครั้งแรกของโลก งั้นต้องระวังกันหน่อยแล้ว
เรื่องไก่ ๆ กลายเป็นปัญหาปากท้องของคนเดินดินกินข้าวแกงซะอย่างนั้น เมื่อเมนูที่หาซื้อง่ายตามท้องถนนหนทางอย่าง "ข้าวมันไก่" เป็นตัวการที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยด้วยอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษ ซึ่งภายหลังกระทรวงสาธารณสุขตรวจพบว่า "เชื้ออหิวาต์เทียม" ในเลือดไก่ดิบที่เสิร์ฟมากับจานข้าวมันไก่นั่นเอง
ฟังอย่างนี้แล้ว คนที่ชอบทานข้าวมันไก่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป เพราะจริง ๆ แล้ว เรายังสามารถทานข้าวมันไก่ได้ แต่ต้องตรวจสอบสักนิด ก่อนอื่นต้องไปทำความรู้จักกับ "อหิวาต์เทียม" กันหน่อย
อหิวาต์เทียม คืออะไร? เชื้ออหิวาต์เทียม หรือเชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับอหิวาตกโรค แต่เป็นคนละสายพันธุ์ และมีความรุนแรงน้อยกว่ามาก ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย จึงมักพบเชื้อนี้ในอาหารทะเลหลายชนิด เช่น ปู กุ้ง หอยแมลงภู่ หอยแครงที่ลวกไม่สุก และก็เป็นคำตอบที่ว่าทำไมหลายคนทานอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุกแล้วถึงมีอาการอาหารเป็นพิษ เพราะฤทธิ์ของแบคทีเรียชนิดนี้จะไปทำให้ทางเดินอาหารอักเสบนั่นเอง
และอย่างที่บอกว่า เชื้ออหิวาต์เทียมนี้มักพบในอาหารทะเล ดังนั้นการพบเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ที่ถือเป็นครั้งแรกของโลก จึงสร้างความฉงนให้วงการแพทย์มากทีเดียว และต้องตรวจสอบต่อไปว่า เชื้ออหิวาต์เทียมไปปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไรกัน? โดยคาดว่าต้นตอการปนเปื้อนมาจากโรงงานเชือดไก่ในพื้นที่ที่ระบาด
อาการป่วยจากเชื้ออหิวาต์เทียม รุนแรงแค่ไหน? เมื่อติดเชื้ออหิวาต์เทียมแล้ว คนนั้นจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง บางคนก็เป็นไข้ หนาวสั่นร่วมด้วย อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร แต่ก็สามารถหายได้เองภายใน 3 วัน และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำคือ น้อยกว่า 1 ต่อ 1,000
ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ รักษาอย่างไร? หากมีอาการอาหารเป็นพิษเกิดขึ้น กรมควบคุมโรคก็แนะนำให้ดูแลผู้ป่วยดังนี้
1. ให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส รวมทั้งดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
2. ให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด แต่ห้ามงดอาหาร
3. หากผู้ป่วยเป็นเด็กทารก สามารถให้นมแม่ได้ แต่หากเด็กดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิม แต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
4. ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
โดยปกติแล้วอาการจะดีขึ้นได้เอง แต่ถ้า 3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422