"ถวัลย์ ดัชนี" ศิลปินแห่งชาติวัย74 เสียชีวิตแล้วป่วยตับอักเสบนาน 3 เดือน ตั้งศพวัดเทพศิรินทร์ วันที่ 3 ก.ย.
มีรายงานว่า นาย ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 วัย 74
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 มีรายงานข่าวว่า นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ได้เสียชีวิตลงแล้ว
หลังล้มป่วยจากอาการตับอักเสบเมื่อช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ที่เฟซบุ๊ก Doytibet Duchanee (ดอยธิเบศร์ ดัชนี) บุตรชาย ถวัลย์ ดัชนี โพสต์ระบุว่า
"พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหน พ่อจากไปแต่เพียงร่างกายแต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณ
และลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล
พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษา หลับให้สบายนะพ่อ
เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอ
และเราจะพบกัน...รักพ่อสุดหัวใจ
กราบเท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย"
สำหรับประวัติของนายถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2482 สิริอายุ 75 ปี
เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นจิตรกร ช่างเขียนรูป แห่งดอยสูงเชียงราย
ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อ พ.ศ.2544
ทั้งนี้ จะมีการสวดพระอภิธรรมศพศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์
ที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลา 7 วัน ก่อนจะทำการขอพระราชทานเพลิงศพ
สำหรับนายถวัลย์ ปัจจุบันอายุ 74 ปี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2482 ที่จังหวัดเชียงราย
เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่
พ.ต.สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม) นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) และนายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม)
สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุ๊ค มีบุตร 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี
ด้านการศึกษา ได้สำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ก่อนเข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง
ด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น
ด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว
โดยภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
และแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย
เมื่อจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี 2500 ได้เดินตามแนวทางของดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง
ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ปฏิมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้เขาได้พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริง
ไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ
พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น
ที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าไม่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นแท้จริงแล้วจะได้เพียงอนุปริญญา
และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น
ยังได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อ
ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ระหว่างที่ศึกษาศิลปะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของเขาโดดเด่น
เป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง
จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะ ระดับนานาชาติอยู่เสมอ
ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show
และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
นับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย
ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะเป็นอย่างมาก จนเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2557
ประเทศไทยได้สูญเสียเขา "ถวัลย์ ดัชนี" ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ด้วยความอาลัย.