ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวัติ และเส้นทางการทำงาน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือที่สื่อมวลชนเรียก "บิ๊กตู่" (มาจากชื่อเล่นว่า "ตู่") เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร และได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นรุ่นที่ 12 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 จนสำเร็จการศึกษา
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ "ทหารเสือราชีนี" จากนั้นเติบโตในสายงาน ณ กรมทหารราบที่ 21 เรื่อยมา โดยดำรงตำแหน่งเสนาธิการ, รองผู้บังคับการ จนได้รับตำแหน่งผู้บังคับการกรม ก่อนจะย้ายไปรับตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือ "บูรพาพยัคฆ์" และมีความก้าวหน้าในสายงานตามลำดับ จากรองผู้บัญชาการกองพล เป็นผู้บัญชาการกองทัพ จนถึงรองแม่ทัพภาคที่ 1
กระทั่งปี พ.ศ. 2549 พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหาร ครั้งนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังมียศเป็นพลตรี ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้รับคำสั่งโดยตรงจาก พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ยศในขณะนั้นคือ พลโท) แม่ทัพภาคที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ในเวลาต่อมา พลโทอนุพงษ์ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้เลื่อนชั้นยศขึ้นเป็นพลโท และเข้ารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หลังการรัฐประหาร รวมทั้งรับตำแหน่งรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงเดือนกันยายน 2551
จากนั้น ในปี 2553 พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก มีกำหนดเกษียณอายุราชการ สื่อมวลชนในช่วงนั้นต่างจับตามอง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตที่จะขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป เพราะเป็นบุคคลที่มีความสามารถ อีกทั้งยังมีความสนิทสนมกับ พล.อ. อนุพงษ์ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ มาโดยตลอด โดย พล.อ. ประยุทธ์ นับถือ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นเสมือนพี่และอาจารย์คนหนึ่ง และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก เป็นช่วงที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง จากการที่กลุ่ม นปช. ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังคงคาราคาซังอยู่ นายอภิสิทธิ์ จึงแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ตลอดระยะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้พบเจอเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาหลายครั้ง กระทั่งล่าสุดกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในปลายปี 2556 และยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งปี ก็ได้มีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้เจ้าหน้าที่ทหารออกมายืนเคียงข้างประชาชน เพราะมีมือมืดลอบใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนอยู่บ่อยครั้ง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย ขณะที่อีกฝ่ายเรียกร้องให้ทหารอยู่ในที่ตั้ง อย่ากระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ นั่นจึงทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนกองทัพหลายต่อหลายครั้ง เพื่อย้ำในหน้าที่ของทหาร
แต่ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จึงออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ระบุว่า หากสถานการณ์รุนแรงมีแนวโน้มถึงขั้นจะเกิดจลาจล ทหารจำเป็นต้องออกมาระงับอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อไม่ให้ผู้ใดทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อีก ซึ่งการประกาศแถลงการณ์ครั้งนั้น ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่
กระทั่งในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาดูแลสถานการณ์ พร้อมกับเชิญตัวแทน 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล, ตัวแทนวุฒิสภา, ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, ตัวแทน กปปส. และตัวแทน นปช. เข้าวงประชุมหารือแก้ไขปัญหาประเทศ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 แต่ไม่ได้ข้อสรุป จึงนัดมาประชุมร่วมกันใหม่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
จนเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตัวแทน 7 ฝ่ายได้เข้าร่วมประชุมกันอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ภายหลัง พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งควบคุมตัวทุกคนขึ้นรถตู้ไปยัง ร.1 รอ. ก่อนจะแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจการปกครองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถือเป็นการประกาศรัฐประหารอีกครั้งที่เกิดขึ้นประเทศไทย
จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้ามามีบทบาทในการเดินหน้าจัดระเบียบสังคม พร้อมประกาศแผนโรดแม็ป 3 ขั้น เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยในขั้นที่ 2 มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาร่างกฎหมาย พร้อมกับเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งสื่อทุกสำนักคาดการณ์ว่า ชื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ น่าจะมาวิน และก็เป็นดังคาด เมื่อในการประชุม สนช. เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม สมาชิก สนช. ได้ลงมติเห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย ด้วยคะแนน 191 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และลาป่วย 3 เสียง ซึ่งจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครอบครัว และลูกสาวฝาแฝด ในด้านชีวิตครอบครัวนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมรสกับรองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา อดีตอาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรสาวฝาแฝดด้วยกัน 2 คน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นพี่ชายของพลโท ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3
และนี่ก็คือประวัติของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบัน ที่ตัดสินใจทำรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29
w w w.hilight.kapook.co
m/view/102536