อยู่ ๆ การรักษาที่เรียกว่า กัวซา ก็ฮิตขึ้นมาในเมืองไทย มีการเปิดให้บริการกันหลายแห่ง กัวซา เป็นเทคนิคการรักษาที่อธิบายกันแบบไทย ๆ ว่า การขูดพิษรักษาโรค ซึ่งบังเอิญว่าเป็นเทคนิคแบบเดียวกับรูปแบบการรักษาที่นิยมทำกันในครอบครัวของชาวกัมพูชาที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า ก็อกขะยอล เลยอยากบอกเล่าเทคนิควิธีและประโยชน์ของการรักษาแบบนี้มาฝากกัน
ก๊อกขะยอล เป็นการสกัดโรคเบื้องต้น ใช้บำบัดกันภายในครอบครัว ลูกทำให้แม่ แม่ทำให้ลูก คนในสมาชิกครอบครัวทำให้กัน โดยการหาวัสดุแข็ง ๆ ไม่คมไม่บาดผิวมาขูดบนผิวหนังเพื่อไล่ลมภายในร่างกาย มักจะทำเวลาที่รู้สึกมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สบายตัว มึนหรือปวดศีรษะ หรือมีอาการประเภทที่ระบุได้ไม่ชัดว่าเจ็บปวดบกพร่องที่ตรงไหนของร่างกาย แต่เมื่อมีอาการ ส่วนมากก็จะขูดรักษากันตั้งแต่ต้นคอไล่ลงไปจนตลอดบริเวณแผ่นหลัง เมื่อขูดแล้วจะทำให้ผู้ถูกขูดรู้สึกสบายตัวขึ้น เพราะเลือดถูกกระตุ้นให้ไหลเวียนดีขึ้นจากการขูดผิว
เมื่อขูดเสร็จผิวบริเวณที่ถูกขูดจะเป็นสีคล้ำ ๆ เหมือนช้ำเลือดแต่จะค่อย ๆ จางหายไปโดยไม่มีอาการเจ็บปวด แต่สีคล้ำของผิวช้ำ ๆ ก็คือพิษที่ถูกสะสมอยู่ในร่ายกายนั่นเอง รอยช้ำที่ปรากฏตามผิวหนังหลังขูดก็ไม่ต่างจากการทำกัวซา ซึ่งให้เหตุผลเหมือนกันด้วยว่ารอยช้ำที่เห็นคือพิษในร่างกาย
วัสดุแข็ง ๆ สำหรับนำมาขูดผิว หรือทำก็อกขะยอล ที่หาง่ายที่สุดก็อาจจะเป็นเหรียญ ด้ามหวีที่ทำจากเขาสัตว์ ช้อน ซึ่งเทคนิควิธีการรักษาแบบนี้มีหลักฐานว่าชาวกัมพูชาใช้เป็นการรักษาโรคพื้นฐานที่กันที่ไหนก็ได้เพราะง่ายมาก โดยถูกบันทึกไว้ไว้ในหนังสือเรื่อง 4 ปีนรกในเขมร ของยะสึโกะ นะอิโตะ ภริยาชาวญี่ปุ่นของอดีตทูตกัมพูชาประจำประเทศญี่ปุ่นที่ต้องติดอยู่ในสงคราม เขียนเล่าวิธีการรักษาแบบก๊อกขะยอลไว้ด้วย โดยช่วงสงครามเหรียญเงินหายาก เธอเลยใช้ด้ามช้อนขูดผิวแทน แต่ถ้าหาอะไรไม่ได้จริง ๆ ฝาตลับยาหม่องที่ใช้ทาเพื่อให้ขูดลื่นขึ้นก็เอามาใช้ขูดได้เหมือนกัน
เห็นไหมว่า ก๊อกขะยอล เป็นเทคนิคการรักษาแบบพื้นฐานที่ทำเองก็ได้ หรือจะพึ่งพาทำกันเองระหว่างคนในครอบครัว เป็นการช่วยสกัดโรคเบื้องต้นง่าย ๆ ด้วยเทคนิคพื้นบ้านที่เอามาแชร์ใช้ต่อกันได้ในฐานะคนอาเซียนได้อย่างดี ถ้าลองดูแล้วเห็นผล ก็ไม่ต้องไปเสียเงินรักษาโรคจากอาการที่หนักขึ้น แถมการผลัดกันทำให้กันในครอบครัว ก็ยังส่งเสริมสุขภาพจิตกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย
อ้างอิง จากรายงานการศึกษาภาคสนาม ณ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ของนักศึกษาปริญญาโท คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์, 2553.
รูป
www.blogspot.com